วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555

บินเดี่ยวเที่ยวอินเดีย ตอนที่6 แบกเป้เที่ยวจัยปูร์ ชมพระราชวังซิตี้พาเลซและหอดูดาวจันตาร์มันตาร์ (City Palace & Jantar Mantar)

         พระราชวังซิตี้พาเลซ (City Palace) สร้างขึ้นสำหรับลูกหลานของตระกูลมหาราชาสะหวายจัย ซิงห์ที่2  (Maharaja Sawai Jai Singh II) ซึ่งปัจจุบันยังคงพำนักอยู่ที่นี่บนอาคาร 7 ชั้น ค่าเข้าชมสถานที่สำหรับชาวต่างชาติราคา 300 รูปี รวมค่ากล้องถ่ายรูปแล้ว นอกจากนี้ยังมีบริการหูฟังไกด์ในราคา 80รูปีด้วย ทางเข้าสามารถเข้าได้สองทางคือ ทางเข้าจากประตูตริโปเลีย (Tripolia Gate) และ ประตูอุดัยโปล (Udai Pol)  เราจะพาทุกท่านเข้าทางประตูอุดัยโปล ที่อยู่ตรงกันข้ามกับฮาวามาฮาลบาซ่าร์
ประตูชั้นนอก อุดัย โปล (Udai Pol) ทางเข้าพระราชวัง 
ชมกันชัดๆ ว่าตรงกลางประตูมีองค์พระพิฆเนศรอยู่ด้วย

เมื่อเข้ามาแล้วจะเจอประตูชั้นในอีกชั้นที่มีภาพวาดมหาราชาสะหวายจัย ซิงห์ที่2

หน้าพระราชวังซิตี้พาเลซมีรถรับจ้างให้บริการตลอด 
บริเวณจุดซื้อตั๋วเข้าชมภายใน ไม่มีส่วนลดพิเศษ

ป้ายบอกราคาเข้าชม และทหารนั่งเฝ้าประตู

             เมื่อเข้าประตูไปได้แล้วจะพบกับโรงเก็บราชรถและร้านขายของที่ระลึกในเขตพระราชวัง เป็นพวกเสื้อผ้าและเครื่องประดับเงิน ด้านขวามือหากใครกระหายน้ำที่นี่มีคาเฟ่ (Palace Café) ให้บริการด้วย แต่ราคาค่อนข้างสูง ตอนกลางวันมีอาหารบุฟเฟ่ต์ให้บริการด้วย
ด้านขวามือเป็นร้านขายของที่ระลึกของพระราชวัง 
เครื่องประดับเงินงานเลียนแบบของโบราณ ราคาแพงมาก

ร้านขายของเก่าก็มีให้เลือกชมที่นี่ 
โรงเก็บราชรถ 
Palace Cafe

                จุดแรกที่จะพาไปชมคือเหยือกเงินโบราณ (Silver Jar) สองใบ ที่ตั้งอยู่ในดิวันอิกัส (Diwan-i-khas) หรือศาลาว่าราชการ ภายในตกแต่งด้วยโคมไฟห้อยระย้าจากยุโรป และเหยือกเงินตั้งคู่ สูงประมาณ 160 ซม. จุน้ำได้ 900ลิตร ภาษาฮินดีเรียกเหยือกนี้ว่า Gangajali ซึ่งเคยใช้บรรจุน้ำศักดิ์สิทธิ์จากแม่น้ำคงคาเพื่อนำไปใช้ในพิธีราชาภิเษกของกษัตริย์เอ็ดเวิร์ดที่ 7 ในอังกฤษ
ภายในเขตพระราชวังยังคงทาสีแดง ตึกด้านหลังคือวังในปัจจุบัน 
เหยือกเงินโบราณตั้งคู่กันตรงทางเข้า 
ทหารยามที่นี่แต่งกายด้วยหมวกเทอร์บันแบบโบราณสมัยมหาราชา

                ส่วนหางบัตรจากตั๋วเข้าชมสามารถนำไปเข้าชม พิพิธภัณฑ์เครื่องแต่งกาย (Textile Museum) ที่ตั้งอยู่ภายใน Mubarak Mahal (มูบารัค มาฮาล) เป็นพิพิธภัณฑ์ที่แสดงเครื่องแต่งกายของมหาราชาและมหารานีในยุคต่างๆ ภายในห้ามถ่ายรูป จึงไม่สามารถนำภาพเครื่องแต่งกายสวยๆมาอวดผู้อ่านได้
พิพิธภัณฑ์เครื่องแต่งกายของมหาราชาในยุคต่างๆ

             ชมเครื่องแต่งกายเสร็จให้เดินย้อนกลับมาลอดซุ้มประตูที่มีทหารเฝ้ายามสวมหมวกเทอร์บัน (Turban) ลักษณะคล้ายผ้าโพกศีรษะของชาวซิกข์ซึ่งเป็นสไตล์การแต่งตัวของรัฐราชาสถาน         เพื่อข้ามกลับมาชมห้องแสดงภาพวาดประวัติความเป็นมาของมหาราชาในยุคต่างๆในดิวันอิอัม (Diwan-i-am) ด้านในห้ามถ่ายรูปอีกตามเคย
ซุ้มประตูสุดแสนอลังการด้วยงานแกะสลักหินอ่อน 
ประตูทองเหลือง

                 จุดสุดท้ายให้เดินลอดซุ้มเข้าไปด้านหลังสุดของพระราชวังจะเป็นส่วนของลานนกยูง (Peacock Courtyard) ซึ่งถือเป็นไฮไลต์ของพระราชวังแห่งนี้ เพราะนี่คือจุดที่สวยงามที่สุด มีชื่อเรียกเป็นภาษาฮินดีว่า Pitam Niwas Chawk อ่านออกเสียงว่า ปิทาม นิวาส ชอว์ก เป็นลานแสดงกลางแจ้งของเหล่านางรำ  ลานนี้ล้อมรอบด้วยประตูสุดอลังการ 4 บาน ทุกบานล้วนมีภาพวาดแทนสัญลักษณ์ของ 4 ฤดู ดังนี้ ประตูบานที่สวยที่สุดคงหนีไม่พ้นประตูนกยูงที่เป็นประตูมิติเชื่อมระหว่างลานนกยูงกับโลกภายนอก ซึ่งประตูนกยูงเป็นตัวแทนของฤดูฝน ประตูดอกบัวแทนฤดูร้อน ประตูโค้งสีเขียวแทนฤดูใบไม้ผลิ ประตูดอกไม้สีม่วงแทนฤดูหนาว ซึ่งทั้งสี่ประตูนี้ชมได้จนไม่รู้เบื่อเลยทีเดียว
บริเวณลานนกยูง (Pitam Niwas Chawk) 
ประตูนกยูงเป็นทางเข้าออกและประตูดอกบัวที่ปิดตาย 

ประตูสีเขียวแทนฤดูใบไม้ผลิ และประตูสีม่วงแทนฤดูหนาว

ด้านบนสุดของประตูทุกแห่งจะมีรูปสลักองค์ทวยเทพประจำศาสนาฮินดู 
ความงดงามและละเอียดอ่อนของภาพวาดและรูปสลักนูนต่ำ



           ด้านหลังสุดของพระราชวังเป็นอาคารทาสีเหลืองสูง 7ชั้น มีชื่อว่า จันดรา มาฮาล  (Chandra Mahal) เป็นเขตพระราชฐานส่วนตัวที่คนภายนอกเข้าไปเยี่ยมชมไม่ได้  เป็นที่พำนักของตระกูลมหาราชาสะหวายจัยซิงห์ที่2  ณ ที่แห่งนี้ เราได้เจอสาวไทยสองคนมาเที่ยวตามลำพังเลยได้เข้าไปทัก พวกเธอมากัน 11วัน และแบกเป้เที่ยวรัฐราชาสถานได้หลายเมือง  เลยได้ให้เธอช่วยถ่ายรูปให้ก่อนที่จะเดินทางออกไปยังหอดูดาว จันตาร์มันตาร์  (Jantar Mantar)อันเป็นที่หมายต่อไป 

พระราชฐานส่วนตัว จันดรามาฮาล (Chandra Mahal) 
ประตูนกยูงจะเป็นประตูที่ผู้คนนิยมมาถ่ายรูปด้วยมากที่สุด

            หอดูดาวจันตาร์มันตาร์ (Jantar Mantar) เพิ่งได้รับการประกาศยกย่องเป็นมรดกโลกเมื่อปีที่แล้วนี่เอง สร้างขึ้นมานับร้อยปีโดยมหาราชาสะหวายจัย ซิงห์ที่2  (Maharaja Sawai Jai Singh II) นั่นเอง เพราะท่านทรางพระปรีชาสามารถและสนพระทัยในด้านดาราศาสตร์ จึงทรงคิดค้นอุปกรณ์ต่างๆขึ้นมาด้วยพระองค์เอง  หอดูดาวแห่งนี้ตั้งอยู่ตรงข้ามกับประตูออกของซิตี้พาเลซ ค่าเข้าชม 100 รูปี ไม่ยกเว้นสำหรับคนไทย  เวลาเปิดทำการ 9.00-16.30น.
หอดูดาวจันตาร์มันตาร์อยู่ติดกับพระราชวังซิตี้พาเลซ 
สองสาวคนไทยที่บังเอิญเจอกันก่อนที่จะเข้าไปชมด้านใน

             สิ่งก่อสร้างภายในถือว่ายิ่งใหญ่และคุ้มค่าเหมาะกับการเยี่ยมชม ทั้งนาฬิกาแดดที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปฎิทิณคำนวณดวงดาว ข้างขึ้นข้างแรม พระอาทิตย์ ที่สมัยโบราณใช้คำนวณวันเวลาที่เหมาะสมกับการออกรบ ส่วนอุปกรณ์อะไรเป็นอะไรนั้น เราไม่มีความรู้ด้านดาราศาสตร์ไม่สามารถแถลงไขข้อข้องใจได้ รอให้ท่านผู้รู้มาตอบท้ายบทความก็แล้วกัน เป็นอันว่าสิ่งที่สะดุดตาเราอีกแห่งคือ ตารางเทียบภาษาที่ใช้ในการเรียกดาวนพเคราะห์ที่เราหามานานแล้ว อยู่ที่นี่เอง จากจุดนี้ถ้าเราเงยหน้าขึ้นไปก็พอจะมองเห็นป้อมปราการใหญ่ๆที่ตั้งอยู่ใกล้เมือง มีชื่อว่าป้อมไทเกอร์ หรือป้อมนหาร์การ์ (Tiger Fort, Nahargarh Fort) แต่เราจะไม่เข้าป้อมนี้แต่จะไปป้อมที่ไกลกว่านี้ต่างหาก
นาฬิกาแดดแบบเล็ก 
อันนี้เป็นแผนที่คำนวณการเดินทางของดวงดาว 
ผสมผสานสื่อการเรียนการสอนด้านดาราศาสตร์กับสวนสวยได้อย่างลงตัว 
อันนี้เป็นนาฬิกาแดดที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย 
ตารางเทียบภาษาดาวนพเคราะห์ 
ถ่ายไปถ่ายมาอินเดียเริ่มมุงขอมีส่วนร่วมบ้าง

             สองสาวชาวไทยชวนเราไปเที่ยวป้อมแอมแมร์ (Amber Fort) ที่อยู่ไกลออกจากตัวเมืองไป 11กิโลเมตร เลยชวนเราไปนั่งรถตุ๊กๆที่พวกเธอได้เหมามา แต่ปรากฏว่าสารถีปฏิเสธเสียงแข็งไม่รับคนเพิ่ม หากรับเพิ่มเป็นสามคน จะถูกตำรวจปรับเป็นเงิน 3000 รูปี เอากับเขาสิ ที่ผ่านมาเราเห็นกลุ่มฝรั่งนั่งอัดในรถตุ๊กๆเกินสามคนอีก เขายังไปได้เลย  ช่างมันเถอะดวงมันจะได้เดินทางคนเดียวอยู่แล้วนี่ คงจะฝืนโชคชะตาไม่ได้
เด็กๆอินเดียชอบถ่ายรูปกันอยู่แล้ว 
ด้านหลังเป็นป้อมนหากราห์ (Nahargrah Fort) 
เมื่อซูมเข้าไปใกล้ๆ ป้อมนี้อยู่ห่างจากเมือง 5 กิโลเมตร

ขอมาชมแผนที่วงโคจรอีกครั้ง 
แม้แต่สุขาก็ยังออกแบบมาให้กลมกลืนกับสวน

          เราเดินออกมาที่ทริโปเลียบาซ่าร์ ผ่านประตูทางออกทริโปเลียสีเหลืองเด่น ตรงไปยังร้านอาหารมังสวิรัติที่ขึ้นชื่อใจกลางเมือง ชื่อ Steam Restaurant ไปสั่งข้าวหมกผัก มานั่งทานกับ Mango Lassi โยเกิร์ตมะม่วงปั่นเย็นชื่นใจ ทั้งหมดในราคา 120 รูปี สมราคาภัตตาคารแนะนำของ Lonely Planet
ด้านหลังของ Tripolia Gate 
ร้านอาหารมังสวิรัติที่ขึ้นชื่อดังถึงขนาดที่ลง Lonely Planet 
มาแล้วข้าวหมกผักกับ Mango Lassi 
เครื่องเทศนานาชนิดเคียงข้างโต๊ะ

ตอนต่อไปชมความยิ่งใหญ่สุดอลังการของป้อมแอมแมร์และป้อมไจกราห์ ยิ่งใหญ่จนคิดว่าใครเอากำแพงเมืองจีนมาตั้งไว้ในอินเดีย