สุสานซาฟดาร์จัง Safdarjang’s Tomb ตั้งอยู่เยื้องกับสถานี Jor Bagh ในย่านสถานที่ราชการใกล้ๆกับ สมาคมการบิน Aero Club ค่าเข้าชมสำหรับชาวต่างชาติคนละ 100 รูปี เพราะไม่ได้ร่วมรายการ BIMSTEC เลยเก็บเต็มอัตรา สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1753-1754 โดย Shuja-ud-Daulah สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแค่บิดาตนเอง Mirza Abil Mansur Khan ซึ่งเป็นผู้ว่าการแคว้นๆหนึ่งในอินเดีย ภายใต้ราชวงศ์ของ มูฮัมหมัด ชาห์
ถึงแล้วสมาคมการบินแห่งอินเดีย
ประตูทางเข้า Safdarjang's Tomb
หน้าตาตั๋วเข้าชมราคา 100 รูปี
Safdarjang's Tomb สุสานสไตล์โมกุลยุคสุดท้าย
ถ้าอยากอ่านประวัติอย่างละเอียดของสุสานแห่งนี้ให้คลิกที่รูปนี่เลย
ตัวอาคารสุสานสร้างขึ้นด้วยหินทรายสีแดงทั้งหลังเป็นฐานแบบแปดเหลี่ยม บริเวณยอดโดมเป็นสถาปัตยกรรมแบบโมกุลทำจากหินอ่อน ด้านหน้าอาคารจะเป็นสระน้ำที่เกือบจะแห้งขอด ด้านข้างจัดแบ่งเป็นสวนสี่เหลี่ยมแบบเดียวกับ Char Bagh ที่พบในทัชมาฮาล เนื่องจากตัวสุสานมีขนาดเล็ก การเดินชมภายในจึงไม่ควรใช้เวลาเกิน 1 ชั่วโมง เพราะยังมีสถานที่อีกหลายแห่งรอเราอยู่
แผ่นหินทรายสีแดงที่รอการบูรณะซ่อมแซมอยู่
ภายในตัสุสานสร้างด้วยหินอ่อนและหลุมศพก็ตั้งแท่นหินอ่อนไว้
ภายนอกจะเป็นหินทรายสีแดงแบบนี้
ภายในสุสานไร้ร้างผู้คนจนดูราวกับว่าสถานที่นี้เป็นของเรา
เวลาคล้อยบ่ายได้เวลาหาข้าวรับประทาน แถวสถานี Jor Bagh ไม่มีร้านค้าใดๆทั้งสิ้น เราเลยขอนั่งรถใต้ดินเพื่อโผล่ไปยังสถานี Qutab Complex ในราคา 16 รูปี เพื่อหาของกินในละแวกนั้น แต่สถานีปลายทางนั้นยังไปไม่ถึงกุตับ มินาร์ (Qutab Minar) แหล่งโบราณสถานสุดท้ายที่จะไปหรอกนะ เราต้องนั่งรถตุ๊กๆไปลงที่กุตับมินาร์ ซึ่งอยู่ห่างออกไปอีกประมาณ 7 กิโลเมตร ค่าโดยสาร 50 รูปี
ป้ายรถเมล์ใจกลางกรุงนิวเดลี ไฮเทคขนาดที่มีป้ายแสดงผลว่าจะมีรถเมล์สายใดมาเทียบท่าคันต่อไป
โชคดีที่มีร้านข้าวขายอยู่ใกล้กับแหล่งโบราณสถาน Qutab Complex ถึงลักษณะร้านจะไม่น่านั่งสักเท่าไหร่ แต่เมื่อเราสั่งชุดข้าวกับแกงมังสวิรัติ (Thali Veg) กลิ่นหอมของน้ำแกงถั่วและแกงมันฝรั่งก็ยั่วน้ำลายให้สอขึ้นมาทันที พวกสำรับกับข้าวชุดที่อินเดียเค้าจะเรียกว่า “ทาลี” Thali ซึ่งจะตักเสิร์ฟแต่ละโต๊ะเป็นถาดหลุมคล้ายถาดหลุมโรงเรียน น้ำแกงเครื่องเคียงเติมได้ไม่อั้น แต่ถ้าเพิ่มแผ่นแป้งหรือข้าวเค้าคิดเงินนะ สนนราคาข้าวชุดทาลีมื้อนี้โดนเข้าไป 72 รูปี
อาหารสำรับทาลี (Veg Thali) พร้อมน้ำแกงเติมไม่อั้น
ลักษณะร้านหน้าตาไม่น่าทาน แต่ท้องเราก็ไม่เสีย
ทานอิ่มแล้วเราก็เดินข้ามถนนกลับมาซื้อตั๋วเข้าชมในราคาสมาชิก BIMSTEC นั่นคือ 10 รูปี เหมือนกับสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังตามที่ต่างๆ โบราณสถาน Qutab Complex เป็นการเข้ามาของวัฒนธรรมอิสลามในยุคตอนต้น เป็นที่ตั้งของหอสูงกุตับมินาร์ Qutab Minar ซึ่งในสมัยค.ศ. 1200 ถือว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงมาก เด่นที่สุดในกรุงเดลี สร้างในสมัยสุลต่าน Qutab-ud-din-Aibak ซึ่งเป็นผู้นำชาวมุสลิมที่เข้ามายึดครองอินเดียในยุคแรก
แผนผังแหล่งโบราณสถาน Qutab Complex
หอคอยสูงสร้างด้วยหินทรายสีแดงซึ่งแกะสลักลายได้ง่าย
อาคารมัสยิดสร้างโดยรอบหอกุตับมินาร์
บริเวณซากปรักหักพังของมัสยิดแบบเดิมๆ ที่ยังไม่บูรณะ
หอคอยโบราณนี้สร้างขึ้นด้วยหินทรายสีแดงสูง 72.5 เมตร ฐานล่างกว้างและค่อยแคบลงจนถึงจุดสูงสุด ตรงกลางเป็นโพรงมีบันไดเวียนขึ้นไปชั้นบน แต่ก่อนเปิดให้เข้าชม ต่อมามักมีคนไปกระโดดหอเพื่อฆ่าตัวตายบ่อยครั้งเข้า เขาก็เลยปิดไม่ให้ขึ้นไปโดยปริยาย ใกล้กันกับหอคอยกุตับมินาร์ ยังมีหอคอยอีกแห่งที่สร้างไม่เสร็จ คงเหลือแต่ซากปรักหักพังคงไว้ที่ฐาน
Qutab Minar สวยได้ทุกมุม
ซากอาคารมัสยิดที่รายรอบหอคอย Qutab Minar
มัสยิดเล็กตรงบริเวณทางเข้า และหอคอยคู่ที่สร้างไม่เสร็จแต่ถูกปล่อยทิ้งร้าง
รอบๆหอคอยยังคงมีซากปรักหักพังของมัสยิดหลังแรกของอินเดียที่มีชื่อว่า Quwwatul-Islam Masjid ซึ่งสร้างขึ้นก่อนหอคอยกุตับมินาร์เสียอีก มีลวดลายแกะสลักบนเสาและผนังที่น่าตื่นตาตื่นใจ บางส่วนก็ได้รับการบูรณะฟื้นฟูแล้ว เดินลึกเข้าไปในสุดเป็นที่ตั้งของสุสานมุสลิม ภายในมีแท่นหินอ่อนวางอยู่ คนอินเดียเมื่อเดินผ่านก็จะสักการบูชาด้วยการเอามือแตะหีบศพ แล้วกลับไปแตะหน้าผากตนเอง
Quwwatul-Islam Masjid มัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดในอินเดีย
สุสานโบราณภายในมีแท่นหินฝังศพวางอยู่
มาเพ่งกันชัดๆกับศิลปะการสลักลวดลายลงบนหินทราย
โบราณสถาน Qutab Complex นั้นกว้างใหญ่มาก หากจะเดินให้ทั่วจริงๆ คุณจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมง เพราะมีจุดให้แวะชมแวะถ่ายรูปเยอะมาก เยอะจนทำให้เราต้องตัดรายการท่องเที่ยวบางรายการออกไป จนลืมเวลาที่จะต้องกลับมาเอากระเป๋าที่ฝากไว้กับโรงแรม เราเลยต้องนั่งรถตุ๊กๆ กลับมายังสถานีรถไฟใต้ดิน Saket อ่านว่า “สะเกด” เพื่อนั่งรถไฟสายสีเหลืองแล้วไปต่อสายสีม่วงที่สถานี Rajiv Chowk ไปยังวัดฮินดูที่ใหญ่ที่สุดชานกรุงนิวเดลีที่สถานี Akshardham นอกเมือง ค่าโดยสาร 21รูปี
แม้แต่ลวดลายที่เสาก็ยังสวย
ซากมัสยิดซึ่งหาชมได้ยากในกรุงนิวเดลี
หนูน้อยนักท่องเที่ยวชาวอินเดียทักทายกล้อง
วัดแห่งนี้มีชื่อว่า วัดอาชคาร์ดัม (Akshardham Temple ) ตั้งอยู่ใกล้กับฝั่งแม่น้ำยมุนา เป็นวัดฮินดูที่มีลักษณะคล้ายคอมเพลกซ์ขนาดใหญ่ครบวงจร ภายในจัดแสดงโบราณวัตถุเก่าแก่ของอินเดีย ภายในหอประชุมยังมีโรงหนังขนาดยักษ์ ลานน้ำพุและลานแสดงดนตรีที่ยิ่งใหญ่ ค่าเข้าชมสำหรับผู้ใหญ่ 170 รูปี เด็ก 120 รูปี เปิดทำการตั้งแต่ 9.00-18.00 น. (ยกเว้นวันจันทร์) แต่เราไม่ได้แวะลงไปเที่ยวเพราะเวลากระชั้นชิดมาก เลยได้แต่เก็บภาพความยิ่งใหญ่ของวัดฮินดูไว้แต่ภายนอก แล้วนั่งรถใต้ดินกลับไปยังที่พักเพื่อเก็บกระเป๋า
รถจอดเต็มลานจอดรถ Akshardham Complex
Akshardham Complex ที่ยิ่งใหญ่อลังการของชาวนิวเดลี
เดินทางกลับมายังที่พักอีกครั้งเพื่อเก็บกระเป๋าที่ฝากทางโรงแรมไว้ เมื่อโผล่ขึ้นจากสถานีรถใต้ดินก็พบว่าเต็มไปด้วยผู้คนเหมือนจะรอมุงดูอะไรสักอย่าง นี่แหละคงเรียกว่า “อินเดียมุง” แต่เราคงไม่มีเวลาไปมุงกับเค้าด้วย เลยต้องเดินแทรกฝ่าคลื่นมหาชนอย่างตัวลีบๆ กลับไปยังที่พักและอดไม่ได้ที่จะแวะซื้อขนมหวานอินเดียกลับไปฝากเพื่อนๆที่ทำงานด้วย 2 กล่อง ในราคา 110 รูปี
อินเดียมุง พวกเขามุงอะไรกันหนอ
เก็บข้าวของเสร็จก็ได้เวลาโบกมือลากรุงนิวเดลี เราเดินข้ามถนนกลับมายังสถานีรถไฟใต้ดินนิวเดลี เพื่อนั่งรถไฟฟ้าสาย Airport Express Line สายสีส้มเพื่อมุ่งตรงไปยังสนามบินอินทิราคานธี (IGI Airport ) อย่าลืมเตรียมเงินค่าโดยสาร 80 รูปีด้วย บริเวณเคาน์เตอร์เช็คอิน มีบริการโหลดกระเป๋าขึ้นเครื่องเฉพาะผู้โดยสารที่เดินทางกับสายการบิน Air India และสายการบิน Jet Airways เท่านั้น สายการบินอื่นๆ อดนะจ๊ะ
ปิดท้ายเสียหน่อยกับ Airport Link
การเดินทางใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมงเท่านั้นเราก็เดินทางมาถึงท่าอากาศยานนานาชาติอินทิราคานธี ยังพอมีเวลาเหลือที่จะเก็บภาพภายในสนามบิน แวะชมสินค้าพื้นเมืองซึ่งสินค้างานหัตถกรรมที่นี่ราคาสูงกว่าตามท้องตลาดมาก เพราะเขาคัดงานฝีมือชั้นดีมาขายเท่านั้น งานนี้จึงซื้อได้แต่นิตยสารของอินเดียที่ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษกลับไปเป็นที่ระลึกว่าครั่งหนึ่งเราได้กลับมาเยือนดินแดนชมพูทวีปอีกครั้ง
อำลารูปปั้นช้างสัญลักษณ์แห่งประเทศอินเดียอีกครั้ง
แม้แต่ห้องน้ำก็ยังคงรอยยิ้มต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง
ท้ายสุดเครื่องบินของแอร์เอเชียก็ได้เวลาออกจากสนามบินเวลาสองทุ่มครึ่ง เดินทางกลับมาถึงกรุงเทพฯ ในเวลาตีสองเศษ นับว่าดึกเอาการอยู่ หากใครคิดจะบินเดี่ยวเที่ยวอินเดียขอให้ตรวจสอบเวลาเที่ยวบินสักนิดนึงนะ ไม่เช่นนั้นท่านอาจต้องไปทำงานในวันรุ่งขึ้นแบบตาลึกโหล แล้วพบกันใหม่ที่กรุงจาการ์ต้า อินโดนีเซีย สวัสดี