วันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2555

บินเดี่ยวเที่ยวอินเดียตอนที่ 12 แบกเป้เที่ยวนิวเดลี ปิดท้ายกรุงนิวเดลีด้วยสุสานเก่าแก่ Safdarjang’s Tomb และหอคอยสูงกุตับมินาร์ Qutab Minar

               
                สุสานซาฟดาร์จัง Safdarjang’s Tomb ตั้งอยู่เยื้องกับสถานี Jor Bagh ในย่านสถานที่ราชการใกล้ๆกับ สมาคมการบิน Aero Club ค่าเข้าชมสำหรับชาวต่างชาติคนละ 100 รูปี เพราะไม่ได้ร่วมรายการ BIMSTEC เลยเก็บเต็มอัตรา สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1753-1754 โดย Shuja-ud-Daulah สร้างขึ้นเพื่ออุทิศแค่บิดาตนเอง Mirza Abil Mansur Khan ซึ่งเป็นผู้ว่าการแคว้นๆหนึ่งในอินเดีย ภายใต้ราชวงศ์ของ มูฮัมหมัด ชาห์
ถึงแล้วสมาคมการบินแห่งอินเดีย 

ประตูทางเข้า Safdarjang's Tomb

หน้าตาตั๋วเข้าชมราคา 100 รูปี
Safdarjang's Tomb สุสานสไตล์โมกุลยุคสุดท้าย

ถ้าอยากอ่านประวัติอย่างละเอียดของสุสานแห่งนี้ให้คลิกที่รูปนี่เลย

                ตัวอาคารสุสานสร้างขึ้นด้วยหินทรายสีแดงทั้งหลังเป็นฐานแบบแปดเหลี่ยม  บริเวณยอดโดมเป็นสถาปัตยกรรมแบบโมกุลทำจากหินอ่อน ด้านหน้าอาคารจะเป็นสระน้ำที่เกือบจะแห้งขอด  ด้านข้างจัดแบ่งเป็นสวนสี่เหลี่ยมแบบเดียวกับ Char Bagh ที่พบในทัชมาฮาล เนื่องจากตัวสุสานมีขนาดเล็ก การเดินชมภายในจึงไม่ควรใช้เวลาเกิน 1 ชั่วโมง เพราะยังมีสถานที่อีกหลายแห่งรอเราอยู่
แผ่นหินทรายสีแดงที่รอการบูรณะซ่อมแซมอยู่

ภายในตัสุสานสร้างด้วยหินอ่อนและหลุมศพก็ตั้งแท่นหินอ่อนไว้ 

ภายนอกจะเป็นหินทรายสีแดงแบบนี้

ภายในสุสานไร้ร้างผู้คนจนดูราวกับว่าสถานที่นี้เป็นของเรา

                เวลาคล้อยบ่ายได้เวลาหาข้าวรับประทาน แถวสถานี Jor Bagh ไม่มีร้านค้าใดๆทั้งสิ้น เราเลยขอนั่งรถใต้ดินเพื่อโผล่ไปยังสถานี Qutab Complex ในราคา 16 รูปี เพื่อหาของกินในละแวกนั้น แต่สถานีปลายทางนั้นยังไปไม่ถึงกุตับ มินาร์ (Qutab Minar) แหล่งโบราณสถานสุดท้ายที่จะไปหรอกนะ เราต้องนั่งรถตุ๊กๆไปลงที่กุตับมินาร์ ซึ่งอยู่ห่างออกไปอีกประมาณ 7 กิโลเมตร ค่าโดยสาร 50 รูปี
ป้ายรถเมล์ใจกลางกรุงนิวเดลี ไฮเทคขนาดที่มีป้ายแสดงผลว่าจะมีรถเมล์สายใดมาเทียบท่าคันต่อไป

                โชคดีที่มีร้านข้าวขายอยู่ใกล้กับแหล่งโบราณสถาน Qutab Complex ถึงลักษณะร้านจะไม่น่านั่งสักเท่าไหร่ แต่เมื่อเราสั่งชุดข้าวกับแกงมังสวิรัติ (Thali Veg) กลิ่นหอมของน้ำแกงถั่วและแกงมันฝรั่งก็ยั่วน้ำลายให้สอขึ้นมาทันที พวกสำรับกับข้าวชุดที่อินเดียเค้าจะเรียกว่า ทาลี Thali  ซึ่งจะตักเสิร์ฟแต่ละโต๊ะเป็นถาดหลุมคล้ายถาดหลุมโรงเรียน น้ำแกงเครื่องเคียงเติมได้ไม่อั้น แต่ถ้าเพิ่มแผ่นแป้งหรือข้าวเค้าคิดเงินนะ สนนราคาข้าวชุดทาลีมื้อนี้โดนเข้าไป 72 รูปี
อาหารสำรับทาลี (Veg Thali)  พร้อมน้ำแกงเติมไม่อั้น
ลักษณะร้านหน้าตาไม่น่าทาน แต่ท้องเราก็ไม่เสีย

              ทานอิ่มแล้วเราก็เดินข้ามถนนกลับมาซื้อตั๋วเข้าชมในราคาสมาชิก BIMSTEC นั่นคือ 10 รูปี เหมือนกับสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังตามที่ต่างๆ โบราณสถาน Qutab Complex เป็นการเข้ามาของวัฒนธรรมอิสลามในยุคตอนต้น เป็นที่ตั้งของหอสูงกุตับมินาร์ Qutab Minar ซึ่งในสมัยค.ศ. 1200 ถือว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงมาก เด่นที่สุดในกรุงเดลี สร้างในสมัยสุลต่าน Qutab-ud-din-Aibak ซึ่งเป็นผู้นำชาวมุสลิมที่เข้ามายึดครองอินเดียในยุคแรก
แผนผังแหล่งโบราณสถาน Qutab Complex 
หอคอยสูงสร้างด้วยหินทรายสีแดงซึ่งแกะสลักลายได้ง่าย

อาคารมัสยิดสร้างโดยรอบหอกุตับมินาร์ 
บริเวณซากปรักหักพังของมัสยิดแบบเดิมๆ ที่ยังไม่บูรณะ

                หอคอยโบราณนี้สร้างขึ้นด้วยหินทรายสีแดงสูง 72.5 เมตร ฐานล่างกว้างและค่อยแคบลงจนถึงจุดสูงสุด ตรงกลางเป็นโพรงมีบันไดเวียนขึ้นไปชั้นบน แต่ก่อนเปิดให้เข้าชม ต่อมามักมีคนไปกระโดดหอเพื่อฆ่าตัวตายบ่อยครั้งเข้า เขาก็เลยปิดไม่ให้ขึ้นไปโดยปริยาย  ใกล้กันกับหอคอยกุตับมินาร์ ยังมีหอคอยอีกแห่งที่สร้างไม่เสร็จ คงเหลือแต่ซากปรักหักพังคงไว้ที่ฐาน
Qutab Minar สวยได้ทุกมุม


ซากอาคารมัสยิดที่รายรอบหอคอย Qutab Minar

มัสยิดเล็กตรงบริเวณทางเข้า และหอคอยคู่ที่สร้างไม่เสร็จแต่ถูกปล่อยทิ้งร้าง

                รอบๆหอคอยยังคงมีซากปรักหักพังของมัสยิดหลังแรกของอินเดียที่มีชื่อว่า Quwwatul-Islam Masjid ซึ่งสร้างขึ้นก่อนหอคอยกุตับมินาร์เสียอีก มีลวดลายแกะสลักบนเสาและผนังที่น่าตื่นตาตื่นใจ บางส่วนก็ได้รับการบูรณะฟื้นฟูแล้ว เดินลึกเข้าไปในสุดเป็นที่ตั้งของสุสานมุสลิม ภายในมีแท่นหินอ่อนวางอยู่ คนอินเดียเมื่อเดินผ่านก็จะสักการบูชาด้วยการเอามือแตะหีบศพ แล้วกลับไปแตะหน้าผากตนเอง
Quwwatul-Islam Masjid มัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดในอินเดีย 

สุสานโบราณภายในมีแท่นหินฝังศพวางอยู่

มาเพ่งกันชัดๆกับศิลปะการสลักลวดลายลงบนหินทราย
               โบราณสถาน Qutab Complex นั้นกว้างใหญ่มาก หากจะเดินให้ทั่วจริงๆ คุณจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมง เพราะมีจุดให้แวะชมแวะถ่ายรูปเยอะมาก เยอะจนทำให้เราต้องตัดรายการท่องเที่ยวบางรายการออกไป จนลืมเวลาที่จะต้องกลับมาเอากระเป๋าที่ฝากไว้กับโรงแรม เราเลยต้องนั่งรถตุ๊กๆ กลับมายังสถานีรถไฟใต้ดิน Saket อ่านว่า สะเกด เพื่อนั่งรถไฟสายสีเหลืองแล้วไปต่อสายสีม่วงที่สถานี Rajiv Chowk ไปยังวัดฮินดูที่ใหญ่ที่สุดชานกรุงนิวเดลีที่สถานี Akshardham นอกเมือง ค่าโดยสาร 21รูปี

           
แม้แต่ลวดลายที่เสาก็ยังสวย

ซากมัสยิดซึ่งหาชมได้ยากในกรุงนิวเดลี 

หนูน้อยนักท่องเที่ยวชาวอินเดียทักทายกล้อง

            วัดแห่งนี้มีชื่อว่า วัดอาชคาร์ดัม (Akshardham Temple) ตั้งอยู่ใกล้กับฝั่งแม่น้ำยมุนา เป็นวัดฮินดูที่มีลักษณะคล้ายคอมเพลกซ์ขนาดใหญ่ครบวงจร ภายในจัดแสดงโบราณวัตถุเก่าแก่ของอินเดีย ภายในหอประชุมยังมีโรงหนังขนาดยักษ์ ลานน้ำพุและลานแสดงดนตรีที่ยิ่งใหญ่ ค่าเข้าชมสำหรับผู้ใหญ่ 170 รูปี เด็ก 120 รูปี เปิดทำการตั้งแต่ 9.00-18.00 น. (ยกเว้นวันจันทร์) แต่เราไม่ได้แวะลงไปเที่ยวเพราะเวลากระชั้นชิดมาก เลยได้แต่เก็บภาพความยิ่งใหญ่ของวัดฮินดูไว้แต่ภายนอก แล้วนั่งรถใต้ดินกลับไปยังที่พักเพื่อเก็บกระเป๋า
รถจอดเต็มลานจอดรถ Akshardham Complex 
Akshardham Complex ที่ยิ่งใหญ่อลังการของชาวนิวเดลี

                เดินทางกลับมายังที่พักอีกครั้งเพื่อเก็บกระเป๋าที่ฝากทางโรงแรมไว้ เมื่อโผล่ขึ้นจากสถานีรถใต้ดินก็พบว่าเต็มไปด้วยผู้คนเหมือนจะรอมุงดูอะไรสักอย่าง นี่แหละคงเรียกว่า อินเดียมุง แต่เราคงไม่มีเวลาไปมุงกับเค้าด้วย เลยต้องเดินแทรกฝ่าคลื่นมหาชนอย่างตัวลีบๆ กลับไปยังที่พักและอดไม่ได้ที่จะแวะซื้อขนมหวานอินเดียกลับไปฝากเพื่อนๆที่ทำงานด้วย 2 กล่อง ในราคา 110 รูปี
อินเดียมุง พวกเขามุงอะไรกันหนอ

            เก็บข้าวของเสร็จก็ได้เวลาโบกมือลากรุงนิวเดลี เราเดินข้ามถนนกลับมายังสถานีรถไฟใต้ดินนิวเดลี เพื่อนั่งรถไฟฟ้าสาย Airport Express Line สายสีส้มเพื่อมุ่งตรงไปยังสนามบินอินทิราคานธี (IGI Airport) อย่าลืมเตรียมเงินค่าโดยสาร 80 รูปีด้วย บริเวณเคาน์เตอร์เช็คอิน มีบริการโหลดกระเป๋าขึ้นเครื่องเฉพาะผู้โดยสารที่เดินทางกับสายการบิน Air India และสายการบิน Jet Airways เท่านั้น สายการบินอื่นๆ อดนะจ๊ะ
ปิดท้ายเสียหน่อยกับ Airport Link

                การเดินทางใช้เวลาเพียงครึ่งชั่วโมงเท่านั้นเราก็เดินทางมาถึงท่าอากาศยานนานาชาติอินทิราคานธี ยังพอมีเวลาเหลือที่จะเก็บภาพภายในสนามบิน แวะชมสินค้าพื้นเมืองซึ่งสินค้างานหัตถกรรมที่นี่ราคาสูงกว่าตามท้องตลาดมาก เพราะเขาคัดงานฝีมือชั้นดีมาขายเท่านั้น งานนี้จึงซื้อได้แต่นิตยสารของอินเดียที่ตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษกลับไปเป็นที่ระลึกว่าครั่งหนึ่งเราได้กลับมาเยือนดินแดนชมพูทวีปอีกครั้ง
อำลารูปปั้นช้างสัญลักษณ์แห่งประเทศอินเดียอีกครั้ง 
แม้แต่ห้องน้ำก็ยังคงรอยยิ้มต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง

                ท้ายสุดเครื่องบินของแอร์เอเชียก็ได้เวลาออกจากสนามบินเวลาสองทุ่มครึ่ง เดินทางกลับมาถึงกรุงเทพฯ ในเวลาตีสองเศษ นับว่าดึกเอาการอยู่ หากใครคิดจะบินเดี่ยวเที่ยวอินเดียขอให้ตรวจสอบเวลาเที่ยวบินสักนิดนึงนะ ไม่เช่นนั้นท่านอาจต้องไปทำงานในวันรุ่งขึ้นแบบตาลึกโหล  แล้วพบกันใหม่ที่กรุงจาการ์ต้า อินโดนีเซีย สวัสดี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น