วันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2561

เมื่อคุณแม่เปรี้ยว อยากแบกเป้เที่ยวหลวงพระบาง ( Trip for mom, Backpack to Lhuang Phrabang) ตอนที่ 9 ก่อนจากเมืองหลวงพระบางพาเที่ยวตลาดช้อปปิ้งพร้อมชิมตำหมากหุ่งในตำนาน


      วันสุดท้ายก่อนจากเมืองหลวงพระบางอันเป็นที่รักไป ยังเหลือร้านอาหารที่ไม่ได้กินเยอะมาก อีกหลายที่เราก็ยังไม่ได้ไป แต่ไม่เป็นไรเราสองคนจะเก็บเท่าที่ทำได้ละกัน เราแวะไปเก็บภาพมุมสูงของสะพานไม้ไผ่ จากวัดแห่งหนึ่งที่อยู่ตรงข้ามกับที่พักของเรา นั่นคือวัดสีพุดทะบาท ทิพพาราม เป็นวัดขนาดเล็กตั้งอยู่บนเนินเขาเดียวกับพระธาตุพูสีนั่นแหละ
วัดขนาดเล็กๆบนเนินเขา 

มีคนนำข้าวเหนียวที่ปั้นแล้วมาวางไว้เพื่อทำบุญด้วย 
 
สะพานไม้ไผ่จากมุมสูง

        เมื่อแม่แต่งตัวเสร็จเรียบร้อยแล้ว นางบอกว่ายังหาซื้อผ้าซิ่นแจกได้ไม่ครบเลย ยังเหลือตลาดพื้นเมืองอีกแห่งหนึ่งที่เราสองคนยังไม่ได้ไปกัน ตลาดดาลา (Dara Market) ตลาดแห่งนี้มีของทุกอย่างขายสำหรับคนหลวงพระบาง มีตั้งแต่เครื่องใช้ไฟฟ้า ของใช้อื่นๆ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม ไม้แกะสลัก เครื่องเงินรวมไปถึงร้านขายคำ หรือทองคำนั่นเอง ตลาดอยู่ไม่ไกลจากที่พักนั่งรถสามล้อไปได้ในราคา 20000กีบ โดยตัวตลาดตั้งอยู่บนหัวมุมถนนเสดถาทิลาดตัดกับถนนเจ้าสีสุพัน เวลาทำการ 8.00-19.30 น.
นั่งรถสามล้อแบบชิลๆตามประสาแม่ลูก 
มาถึงแล้ว ด้านซ้ายคือตลาดดาลา
เป็นตลาดแบบพื้นบ้านที่ชาวเมืองหลวงพระบางมาเดินกัน 

แม่ฉันเดินชมแม่ค้าทำดอกไม้บูชาพระ
ร้านขายพานแกะสลักและงานไม้
ส่วนแม่ฉันยังคงเลือกผ้าซิ่นอย่างสนุกเชียว 

        ข้าวของในตลาดดาลาราคาถูกกว่าตลาดมืด เพราะเป็นสินค้าที่จำหน่ายให้กับคนเมืองหลวงพระบางจริงๆ โดยเฉพาะผ้าซิ่นที่นี่ราคาจะถูกกว่าตลาดบ้านผานมและตลาดมืด แต่ลวดลายจะธรรมดาไม่ได้สวยมากนัก ของที่สวยถูกใจแม่ฉันเห็นจะเป็นคำหรือทองคำเสียมากกว่า
คนลาวที่นี่เขาก็นิยมซื้อทองเก็บไม่ต่างกับคนไทยเลย 
ต่างหูสไตล์พื้นเมืองโบราณทอง99.99 
ต่างหูแบบร่วมสมัย

ร้านขายคำที่นี่จะขายชั่งน้ำหนักเป็นกรัมเป็นสลึงเหมือนบ้านเรา มีให้เลือกตั้งแต่คำฝรั่ง หรือทอง18K คำ90% คำ99.9 สีของทองจะออกสีอมส้ม ซึ่งเป็นสีเฉพาะของที่นี่ ไม่ได้เหลืองแบบบ้านเรา ถ้าซื้อมาแล้วอาจต้องทำใจเรื่องราคาขายต่อ ถ้าชอบลวดลายเฉพาะของหลวงพระบางก็ไม่เป็นไร และร้านขายคำที่นี่รับแต่เงินสดนะจ๊ะ

คำฝรั่ง ดีไซน์งานจะเรียบๆไม่หวือหวา 
คำ 99.9 จะมีลวดลายที่อลังการกว่ามาก 
ความสุขของแม่ฉันเมื่อได้ชมคำของลาว
กระเป๋าแบรนด์เนมมือสองมาตั้งขายอยู่ในร้านทองเสียนี่


เสร็จจากการช้อปปิ้งที่ตลาดดาลา เราสองแม่ลูกได้นั่งรถไปลองลิ้มชิมรสที่ร้านตำหมากหุ่งนางติมกันต่อ ค่ารถ 20000 กีบเป็นราคามาตรฐาน ตัวร้านอยู่ตรงข้ามกับวัดหนองสีคูนเมือง มีโต๊ะข้างในร้านเยอะและมีเพิงส้มตำอยู่ข้างนอก ราคาย่อมเยาไม่แพงเกินไป เมนูชวนชิมคือตำหลวงพระบางแท้ๆ ที่ฝานมะละกอแบบเส้นแบนใส่ทั้งปลาร้าและกะปิแซ่บนัวมาก แหนมทอด ซี่โครงหมูทอด ที่สำคัญส้มตำร้านนี้รสชาติค่อนข้างเผ็ดจัดจ้านกว่าส้มตำในลาวทั่วไป ดังนั้นไม่ต้องแปลกใจเลยว่าทำไมเกือบทั้งร้านมีแต่คนไทยมานั่งกิน ถ้ามาช่วงเที่ยงอาจต้องรอนานเป็นชั่วโมง แต่รับรองได้ว่าร้านนี้แหละอร่อยที่สุดในหลวงพระบางจ้า
มาถึงแล้วร้านตำหมากหุ่งในตำนาน เปิดมานาน10ปี 
ชื่อก็บอกอยู่แล้วไงว่าขายส้มตำเป็นหลัก 
ร้านส้มตำตั้งอยู่ตรงข้ามกับวัดหนองสีคูณเมือง 
แม่ฉันหิวมากเพราะรอนาน พอของมาปุ๊บ นางจกข้าวเหนียวทันที 
เราสั่งตำปลาร้า แหนมทอดและซี่โครงทอด 
โฉมหน้านางติม เจ้าของร้านตำเองคนเดียวทั้งร้านค่ะ 
สาวน้อยโชว์จานตำซั่วที่คนไทยอีกโต๊ะนึงสั่ง
ค่าเสียหายมื้อนี้ทั้งหมด ไม่แพงเลยจ้า


เราสองคนปิดท้ายมื้อบ่ายด้วยส้มตำก่อนที่จะต้องกลับที่พักไปเก็บกระเป๋าเพื่อเดินทางไปสนามบินหลวงพระบาง วันหยุดพักผ่อนอันแสนสั้นกำลังจะหมดไป ขอพูดตรงๆจากใจเลยว่าเมืองหลวงพระบางนั้นเที่ยวง่ายสบายกระเป๋า เที่ยวได้ทั้งครอบครัว ใครเดินไม่ไหวก็เหมารถได้ ยิ่งบินกับบางกอกแอร์นะ อาหารอร่อยตั้งแต่ที่เล้าจน์สนามบินยันบนเครื่องเลย เราก็อยากแชร์ประสบการณ์ดีดีที่ได้รับจากทริปหลวงพระบางในครั้งนี้ แล้วทริปหน้าเราจะพาไปเที่ยวที่ไหนขออุบไว้ก่อนนะ 
ระหว่างทางเดินผ่านโรงแรมสันติวิลล่าด้วย 
แม่ฉันเลือกซื้อกระเป๋าผ้าลายสวยก่อนกลับ 
ทริปนี้ได้รู้จักเพื่อนใหม่ระหว่างการเดินทางอีกแล้ว
ถึงสนามบินหลวงพระบางแล้วจ้า ได้เวลากลับบ้านกัน 
แม่ฉันกำลังอร่อยกับเค้กบราวนี่ที่เล้าจน์ 
เห็ดทอดกรอบสมุนไพรที่นี่ก็อร่อยมาก
ได้เวลาเตรียมตัวขึ้นเครื่องกันแล้ว 
ถึงเวลาที่จะจากลาเธอแล้วล่ะ หลวงพระบาง 
เครื่องบินลำน้อยของเรามาเทียบท่าแล้วจ้า 

ความนุ่มสบายของเที่ยวบินพร้อมกับอาหารมื้อโปรด 
และแล้วเราก็เดินทางมาถึงกรุงเทพเมืองฟ้าในยามราตรี 

        ตอนนี้เราติดค้างทุกคนอีกหลายทริปเลยล่ะ ตั้งแต่ทริปมะนิลาในวันฟ้าใส ทริปบาหลีสุขใจที่มีเธอ และทริปเที่ยวเมืองมัณฑ์คันกับเพื่อนยกก๊วน  แต่จะทยอยคลอดออกมาพร้อมแบ่งปันทริปดีดีกับทุกท่านจ้า





วันศุกร์ที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2561

เมื่อคุณแม่เปรี้ยว อยากแบกเป้เที่ยวหลวงพระบาง ( Trip for mom, Backpack to Lhuang Phrabang) ตอนที่ 8 ประเพณีใส่บาตรข้าวเหนียวของเมืองหลวงพระบางที่ไม่ควรพลาด และวิธีปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง


         วันนี้เราดีใจมากตั้งนาฬิกาปลุกตั้งแต่ตีห้าครึ่งแล้วเราก็ได้ตื่นลุกเด้งออกมาจากเตียงจริงๆ แม่ฉันนั้นยังนอนหลับสนิทอยู่ ฉันเลิกนิสัยผัดวันประกันพรุ่งได้ในวันสุดท้ายนี่เอง เมื่อเราได้สวมเสื้อกันหนาวพร้อมคว้ากล้องคู่ใจไปเก็บบรรยากาศประเพณีใส่บาตรข้าวเหนียวของเมืองหลวงพระบางกัน 
ก่อนพระและเณรจะมาทุกคนพร้อมแล้ว 
โต๊ะขายของใส่บาตร แม่ค้าบางเจ้ามีขนมให้ใส่บาตรด้วย
เมื่อประเพณีใส่บาตรข้าวเหนียวกลายมาเป็นธุรกิจการค้า 

      ความจริงประเพณีใส่บาตรข้าวเหนียวเมืองหลวงพระบางนั้นมีมานานแล้ว ครั้งก่อนนั้นที่เราได้แบ่งปันภาพที่ชาวบ้านใส่บาตรกันนอกเมือง โดยที่พระสงฆ์จะเดินเรียงแถวมาบิณฑบาต แต่ครั้งนี้จะเป็นใจกลางเมืองหลวงพระบางที่คลาค่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวและแม่ค้าที่มาขายชุดใส่บาตร โดยพระสงฆ์ท่านจะมาจากทั่วทุกวัดในเมืองหลวงพระบางซึ่งในบางวันอาจมากถึง400รูป  สำหรับการปฏิบัติตนขณะใส่บาตรต้องทำอย่างไรบ้างเดี๋ยวเราจะไขให้ฟังจ้า
เณรจะเยอะกว่าพระ เพราะได้เรียนหนังสือในวัดด้วย
คนพร้อมใส่บาตร หลายคนจะใส่ผ้าเบี่ยงมาด้วย

การแต่งตัวต้องสุภาพเรียบร้อยทั้งชายและหญิง ขอให้แต่งตัวมิดชิด ผู้หญิงลาวส่วนใหญ่จะนุ่งซิ่นกันพร้อมผ้าเบี่ยง ถ้าใครไม่มีแม่ค้าที่ขายข้าวเหนียวบาตรพร้อมให้ยืมโดยผ้าเบี่ยงจะแบ่งเป็นลายของชายและหญิง ควรตกลงราคาข้าวของใส่บาตรให้เรียบร้อยก่อน
การใส่บาตรจะต้องใส่แต่ข้าวเหนียวเท่านั้น 
พระสงฆ์บิณฑบาตก็จะเดินเรียงแถวตอนเดี่ยวเป็นระเบียบ

มาด้วยแรงศรัทธาจริงๆ 
แม้แต่ต่างชาติก็ยังเข้าร่วมประเพณีใส่บาตร 
บางท่านก็ใส่ชุดพื้นเมืองให้เข้ากับบรรยากาศ

      ส่วนการใส่บาตรข้าวเหนียวนั้นชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าให้ใส่แต่ข้าวเหนียวอย่างเดียว ส่วนใหญ่จะปั้นข้าวเหนียวด้วยมือแล้วใส่บาตรละก้อน ห้ามใส่อาหารคาวหวานและขนมหรือน้ำอื่นๆ ที่จะทำให้ประเพณีใส่บาตรข้าวเหนียวผิดเพี้ยนไป ด้านอาหารคาวหวานจะมีญาติโยมตามไปถวายที่วัดอีกทีในช่วงสายๆ หรือที่เรียกว่า ถวายจังหัน
คนพื้นเมืองจะใส่แต่ข้าวเหนียวเท่านั้น

แม่ค้าหลายรายจะขายข้าวหลามเพื่อให้เราเอาไปใส่บาตรด้วย 
การถ่ายรูปควรยืนห่างๆ เว้นระยะพอสมควร
ใส่บาตรเสร็จแล้วอย่าลืมกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญกันด้วยนะจ๊ะ 

            สำหรับคนที่ไม่ได้ใส่บาตรนั้น ถ้าต้องการชมบรรยากาศ แนะให้ยืนชมห่างๆ อย่าเข้าไปใกล้เกินไปจะดูเป็นการเสียมารยาท และการถ่ายรูปไม่ควรใช้แฟลชให้เป็นที่รบกวนทั้งฝั่งพระสงฆ์และคนใส่บาตร รักษาระยะห่างในการถ่ายภาพด้วย ปัจจุบันประเพณีใส่บาตรข้าวเหนียวที่นี่ดังมาก คนทั่วโลกต่างอยากมาสัมผัสบรรยากาศ ถ้าที่พักอยู่ไกลควรมาแต่เนิ่นๆ เพราะรถราค่อนข้างแน่น ทั้งรถทัวร์ รถเช่า เวลาที่ใส่บาตรเสร็จแล้วก็เช่นกัน บรรยากาศก็จะชุลมุนหน่อย บางคนก็จะเดินเลยไปกินของอร่อยที่ตลาดเช้า บางคนก็กลับโรงแรมไปนอนต่อหรือทานอาหารเช้าของที่พัก
ใส่บาตรเสร็จแล้วข้าวเหนียวเหลือทำไงดีล่ะ 
คุณยายใจบุญแกเลยเผื่อแผ่มิตรแท้สี่ขาเสียเลย
ใส่บาตรเสร็จแล้วแนะให้เดินไปอิ่มท้องต่อที่ตลาดเช้ากันเลย 
ซื้อกลับไปกินที่ห้องก้ได้นะ ราคาย่อมเยามาก
หรือจะซื้อดอกไม้ไปไหว้พระที่วัดต่อก็ยังได้
ถ้าคุณมาเที่ยวกับทัวร์ เขาก็จะมีซิ่นกับผ้าเบี่ยงให้ยืมนุ่งจ้ะ
แล้วเราก็กลับมากินมื้อเช้าที่โรงแรมเป็นเมนูเฝอครับ 
เราได้ซื้อไส้อั่วและหมกไค (สาหร่ายน้ำ) มาลองทานดูครับ

ทานมื้อเช้าเสร็จเรียบร้อย พลังพร้อม เราออกไปเก็บตกเมืองหลวงพระบางครั้งสุดท้าย กินตำบักหุ่งเจ้าอร่อยก่อนขึ้นเครื่องกลับกรุงเทพครับ