วันเสาร์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2555

แบกเป้เที่ยวยอกยาการ์ต้า เมืองแห่งอารยธรรมฮินดูโบราณ ชมบุโรพุทโธ ที่สุดแห่งพุทธศิลป์บนยอดภูเขาสูง (The Miracle of Borobudur)

    
       เสียงจากหออะซานป่าวประกาศเมื่อถึงเวลาละหมาดครั้งแรกดังแต่เช้ามืดปลุกให้เราต้องตื่นขึ้นมาเพื่อทำธุระส่วนตัวก่อนออกไปเที่ยวแบบสบายๆ ก็เพราะวันนี้พวกเราได้ซื้อทัวร์ไปชมบุโรพุทโธและอุทยานประวัติศาสตร์ปรามบานันตั้งแต่เมื่อวานแล้ว โชคดีที่โรงแรมมีบริการอาหารเช้าฟรี เป็นอาหารจำพวกข้าวผัดและเต้าหู้ทอดเป็นแผ่น หน้าตาไม่น่ารับประทานเท่าไรแต่ต้องรักษาสิทธิ์ที่มีซึ่งทุกคนก็เห็นว่าดีกว่าไปตระเวณกินข้างนอกแล้วจะไม่ทันรถที่มารับ
ห้องละหมาดที่ทางโรงแรมจัดเตรียมมาอย่างดี 
บรรยากาศค้าขายแต่เช้าในรั้วโรงแรม มีแต่เสื้อผ้าบาติก

                รถบริการท่องเที่ยวมารับตรงเวลาพอดี 7.45 น. เป็นรถแวนเอนกประสงค์ 7 ที่นั่ง สะดวกสบายมากๆ มีคนขับรถให้ 1 คนและคนนำเที่ยว 1คน ในทริปนี้ไม่ได้มีแต่พวกเรานะแต่มีฝรั่งชาวเบลเยี่ยมมาแชร์กับพวกเราด้วย 1 คน  เมื่อขึ้นรถแล้วคนนำเที่ยวได้แนะนำตัวว่าเธอชื่อ Arie คนขับรถชื่อ Jack ขออาสาเป็นผู้บริการนำเที่ยวในทริปวันนี้ จากนั้นเธอก็อธิบายวัฒนธรรมเชื้อชาติและภาษาของอินโดนีเซียคร่าวๆ ระหว่างทางรถได้แล่นผ่านกลุ่มเด็กวัยรุ่นกลุ่มใหญ่นั่งรอรถตามสี่แยก จึงได้สอบถามเธอไป เธอกลับอธิบายว่าเด็กวัยรุ่นพวกนี้ว่างงานมีอาชีพโบกรถเที่ยวเตร่ไปทั่วไปรับจ้างงานเล็กๆน้อยๆนอกสถานที่  บางครั้งก็เป็นภัยต่อสังคมน่ากลัวจริงๆ
พาหนะใหม่เอี่ยมที่พาเราเที่ยวทั้งวันในวันนี้

       รถวิ่งผ่านแม่น้ำที่เต็มไปด้วยดินดำ เบื้องล่างนั้นมีรถขุดและแรงงานคนตักดินกันมกมาย เธอเล่าให้ฟังว่าดินตะกอนแม่น้ำเหล่านี้เพาะปลูกได้ดีมากเพราะมันไหลมาจากลาวาและเถ้าถ่านของภูเขาไฟ ซึ่งด้านขวามือของเราแลเห็นยอดภูเขาไฟเมราปี (Merapi Volcano) อยู่ลิบๆ น่าเสียดายที่เรายกกล้องขึ้นถ่ายไม่ทัน แต่พื้นที่การเกษตรรายรอบบริเวณนั้นปลูกอะไรก็งดงามไปหมด บุโรพุทโธตั้งอยู่ในทิศตะวันตกเฉียงเหนือห่างจากตัวเมืองยอกยาการ์ต้า 42 กิโลเมตร พวกเราใช้เวลาเดินทางทั้งหมด 1ชั่วโมง รถก็พามาถึงจุดจอดรถสำหรับนักท่องเที่ยวหน้าบุโรพุทโธ
แผ่นพับการท่องเที่ยวบุโรพุทโธ พร้อมแผนที่ เดินแล้วไม่หลงแน่นอน 
ก่อนถึงจุดจำหน่ายตั๋วเข้าชมจะต้องผ่านร้านค้าของที่ระลึกก่อน

             บุโรพุทโธ(Borobudur) เปิดให้บริการทุกวันตั้งแต่ 6.00 17.30 น. อัตราตั๋วเข้าชมสำหรับชาวต่างชาติคิดในราคาท่านละ 15 ดอลล่าร์ หรือคิดเป็นเงินอินโดนีเซียรูเปียห์ก็ราวๆ 135,000 รูเปียห์ ภายในห้ามนำอาหารและเครื่องดื่มเข้าไปรับประทาน ก่อนเข้าไปข้างในจะต้องเคารพสถานที่โดยมีเคาน์เตอร์แจกผ้าบาติกให้ยืมพันรอบเอวเพื่อแสดงการเคารพสถานที่เฉกเช่นสถานที่ท่องเที่ยวของฮินดูชนบนเกาะบาหลี แต่เมื่อเดินชมเสร็จแล้วจะต้องคืนผ้าด้วยนะ
คุณ Aerie ช่วยจัดการซื้อตั๋วเข้าชมให้กับพวกเรา
หน้าตาของตั๋วเข้าชมบุโรพุทโธเป็นแบบนี้ 
ก่อนเข้าชมภายใน ทุกคนจะต้องพันผ้าโสร่งเพื่อแสดงความเคารพสถานที่ 
พันเสร็จแล้วก็เดินเข้าไปชมภายในได้เลย

          ประวัติความเป็นมาของพุทธสถานบุโรพุทโธนั้น (Borobudur) คำว่า Boro น่าจะแผลงมาจาก บารา Bara ที่แปลว่าวิหาร  ส่วนคำว่า Budur นั้นแปลว่า ภูเขา ซึ่งความหมายรวมก็คือ วิหารบนภูเขาสูง นั่นเอง            เพราะบุโรพุทโธได้สร้างขึ้นบนภูเขาที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลราวๆ 269  เมตร  ว่ากันว่าบุโรพุทโธสร้างขึ้นมาในสมัยที่พระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองบนดินแดนเกาะชวา ราว พ.ศ. 1318  กษัตริย์ราชวงศ์ไศเลนทราไม่ปรากฏแน่ชัดว่าองค์ใดเป็นผู้บัญชาการให้สร้างขึ้น แต่มาสร้างเสร็จในปี พ.ศ. 1390 ใช้เวลาสร้างทั้งสิ้น 72 ปี รากฐานแน่นหนาด้วยอิฐกว่า 2ล้านก้อน กินอาณาบริเวณโบราณสถานกว่า 14,165 ตารางเมตร สร้างก่อนนครวัดแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาเสียอีก ยืนหยัดมาได้ถึงทุกวันนี้กว่า 1,200 ปี น่าทึ่งจริงๆที่ศาสนสถานแห่งนี้อยู่รอดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและภูเขาไฟเมราปีระเบิดมาได้หลายเพลา ต่อมาเมื่อพุทธศาสนาเสื่อมถอย ศาสนาอิสลามเข้ามาแทนที่โบราณสถานแห่งนี้ก็ถูละเลยทิ้งร้างจนต้นไม้ใหญ่และเถาวัลย์มาปกคลุมเสียสิ้น
เราเดินมาหยิบแผนที่นำเที่ยวภายในได้ที่นี่ 
หากใครต้องการชมบรรยากาศให้รอบก็มีรถม้าให้บริการ 
จากเบื้องล่างจะเห็นยอดบุโรพุทโธที่สูงชัน 
แผนผังของบุโรพุทโธที่แจกแจงความหมายของแต่ละชั้น 
จุดนี้จะอธิบายความเป็นมาของศาสนสถานและพระพุทธรูปปางต่างๆ

               ต่อมาในปี ค.ศ. 1812 หรือราว 200 ปีที่แล้ว ท่าน เซอร์โทมัส สแตมฟอร์ด ราฟเฟิล (Sir Thomas Stamford Raffles) เป็นผู้ค้นพบบุโรพุทโธอีกครั้งในสภาพที่ทรุดโทรมเต็มไปด้วยต้นไม้ปกคลุม จึงมีคำสั่งให้รื้อถอนต้นไม้ออกเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์โบราณสถานให้สวยงาม  นอกจากนี้ยังได้รับการบูรณะอีกสองครั้ง ครั้งแรกในช่วง ค.ศ. 1907-1911 สมัยอาณานิคมชาวดัชต์ และอีกครั้งในยุคที่มีการเสนอชื่อให้เป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโก (UNESCO) ก็ได้มีการบูรณะเป็นครั้งที่สองกินเวลา 10 ปี ในช่วง ค.ศ. 1973-1983 จนยูเนสโกออกประกาศว่า มรดกโลกบุโรพุทโธ คือวัดทางพระพุทธศาสนาในยุคโบราณที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อันเป็นความน่าภาคภูมิใจแก่ชาวพุทธทั้งหลาย
ความกว้างของรากฐานบุโรพุทโธแลเห็นยอดเจดีย์มากมาย 
สิงห์เฝ้าประตูจะมีอยู่ในทุกวัดทางพุทธศาสนา

รูปสลักตามชั้นต่างๆ หักพังไปตามกาลเวลา

          หากมองตามผังของบุโรพุทโธจริงๆนั้น สถานที่แห่งนี้ได้ออกแบบมาให้เสมือนเป็นศูนย์กลางจักรวาล ประหนึ่งเขาพระสุเมรุ โดยแบ่งออกเป็น 3 ชั้น ชั้นล่างสุดเรียกว่าชั้นกามาฐาน หรือที่เรียกว่า Kamadhatu เป็นการอธิบายถึงกิเลสตัณหาของมนุษย์ เต็มไปด้วยรูปสลักแห่งแรงปรารถนาต่างๆ ของมนุษย์กว่า 160 ภาพ  ขั้นต่อมาจากฐานล่างคือ ชั้นรูปธาตุ Rupadhatu ที่อธิบายว่ามนุษย์ได้ควบคุมแรงปรารถนาแห่งตนเองไว้แล้ว เป็นมนุษย์ที่ไม่พึงแสวงหาความสุขทางโลกกว่า 1600 ภาพ และชั้นบนสุดคือ ชั้นอรูปธาตุ  Arupadhatu ซึ่งอธิบายถึงการไม่มีตัวตน การเข้าสู่นิพพาน (Nirwana) ซึ่งเต็มไปด้วยพระพุทธรูปกว่า 504 องค์ และปรากฏพระพุทธรูปที่บรรจุอยู่ในสถูปเจดีย์ทรงระฆังคว่ำเจาะรูกว่า 72 องค์ ซึ่งเรียกว่า วัชระสัตวา (Wajra Satwa)
ภาพสลักนูนต่ำในขั้นกามาฐาน 
แต่ละภาพรายละเอียดจะเป็นแรงปรารถนาของมนุษย์ 
แต่ละชั้นจะมีทางเดินได้รอบเพื่อชมภาพแกะสลักนูนต่ำ

ชั้นบนจะเป็นเจดีย์ฉลุภายในมีพระพุทธรูปบรรจุอยู่ 
เจดีย์มีมากราวกับว่าเป็นทะเลเจดีย์ตรงจุดชมวิวชั้นบน

               การเดินชมบุโรพุทโธให้ทั่วถึงนั้น เค้ามีข้อแนะนำว่า ให้เข้าทางประตูทิศตะวันออก แล้วเดินแต่ละชั้นตามเข็มนาฬิกาไปเรื่อยๆ จนถึงชั้นบนสุด เมื่อชมความงามเสร็จสิ้นแล้วให้เดินลงมาทางทิศอื่นๆ แล้วออกประตูทางทิศเหนือเพื่อกลับไปยังลานจอดรถ
                น่าเสียดายที่องค์พระพุทธรูปที่อยู่ชั้นบนสุดถูกทำลายและตัดเศียรไปเสียมาก ทำให้ชาวพุทธที่ไปเยือนรู้สึกหดหู่อย่างบอกไม่ถูก ศาสนสถานของใครใครก็ย่อมรักและหวงแหนมิอยากให้ผู้ใดมาทำลาย บางทีเศียรพระอาจไปโผล่ตามบ้านคหบดี หรือพิพิธภัณฑ์ของชาวต่างชาติอื่นๆก็เป็นได้ หากท่านใดที่ต้องการเก็บภาพอาทิตย์ขึ้นยามเช้าก็ให้รีบมาจับจองทำเลแต่เช้าตรู่บนยอด เพราะที่นี่เปิดทำการตั้งแต่หกโมงเช้า หรือจะเก็บภาพสวยๆยามอาทิตย์อัสดงก็ไม่ว่ากัน
ขวัญใจของประชาชนก็คือนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอย่างเรานี่เอง 
เจดีย์บางองค์ก็ถูกทำลายจนเห็นพระพุทธรูปโผล่ขึ้นมา

เรื่องน่าเศร้าของชาวพุทธคือพระพุทธรูปไร้เศียร

พระพุทธรูปส่วนน้อยที่จะมีสภาพสมบูรณ์ตามภาพขวามือนี้

                หากเดินลงมาจากยอดบุโรพุทโธแล้วเวลายังพอมี แนะนำให้ท่านเดินไปที่พิพิธภัณฑ์สมุทรรักษา (Samudraraksa Museum) ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือในสมัยโบราณ จัดแสดงเส้นทางเดินเรือจากเกาะชวาสู่ภูมิภาคอื่นๆ จนถึงยุคปัจจุบัน เดินเพลินจนใกล้เที่ยงได้เวลาที่คุณ Aerie จะมารับพวกเราทั้งสี่ไปทานอาหารกลางวันและพาไปชมอุทยานประวัติศาสตร์ ปรามบานันกันต่อ
จุดชมพระอาทิตย์ขึ้นและตกที่สวยที่สุดน่าจะอยู่แถวนี้ 
ที่นี่เคยได้รับผลกระทบจากภูเขาไฟเมราปีระเบิด 
บางมุมของสถูปเจดีย์ โชคดีที่นักท่องเที่ยวไม่เยอะถ่ายไม่ค่อยติดคน

ภาพสุดท้ายบริเวณทางลงก่อนอำลาบุโรพุทโธ 
พิพิธภัณฑ์จัดแสดงการเดินเรือของชาวดัชต์ 
โครงการเดินเรือเส้นทางต่างๆ


อย่าพลาดตอนหน้าเราจะพาทุกท่านไปเจาะลึกปราสาท Prambanan กัน







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น