หลังจากเต็มอิ่มจากการเดินชมโบราณสถานทางพุทธกันมาแล้ว ช่วงบ่ายจะขอนำเสนอโบราณสถานทางพราหมณ์ฮินดูบ้าง ขอเรียกเป็นศาสนสถานดีกว่า เพราะวัตถุประสงค์คือ สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่สักการบูชาของศาสนิกชนทั้งหลาย แต่ก่อนอื่นขอแวะรับประทานมื้อเที่ยงเพื่อเติมพลังให้เต็มอิ่มก่อน ไกด์สาวพาพวกเรามาลงที่ภัตตาคารอาหารพื้นเมืองเลิศรสท่ามกลางบรรยากาศทุ่งนาอันเขียวขจี ภัตตาคารแห่งนี้มีชื่อว่า BS Resto
ภัตตาคารสุดหรูกลางทุ่งนาเขียวขจี BS Resto
ตกแต่งร้านสไตล์ชวาบาหลี คล้ายกับร้านอาหารไทย
บรรยากาศการตกแต่งร้านแบบชวาแท้ๆ เต็มไปด้วยเครื่องเรือนไม้อย่างดี พวกเราหิวกันมาเต็มที่เลยสั่งอาหารทั้งปลาทอด หมี่ผัด (Mee Goreng) ข้าวผัด (Nasi Goreng) สลัดแขก (Gado Gado) และพลาดไม่ได้กับน้ำสมุนไพรท้องถิ่น นั่นคือน้ำขิงผสมตะไคร้รสชาติเผ็ดเล็กน้อยแต่หอมชื่นใจหากใครไม่เคยลิ้มรสมาก่อน อาจบอกว่ารสชาติทำไมเผ็ดจัง อยู่เกาะชวาถ้าได้ทานบ่อยๆเดี๋ยวก็ชินไปเองแหละ ค่าเสียหายมื้อใหญ่นี้หมดไปร่วม 252,000 รูเปียห์
เครื่องดื่มแก้กระหายน้ำขิงผสมน้ำตะไคร้
หมี่โกเร็ง (Mee Goreng) หรือหมี่ผัดนั่นเอง
ปลาทอดที่นี่เข้าบั้งเนื้อกันแบบนี้เลยแล้วนำไปทอด
หน้าตาสลัดแขกที่นี่ไม่เหมือนกับบ้านเรานะ
ติดกันกับภัตตาคารเป็นโรงงานผลิตเครื่องเงินพร้อมร้านจำหน่าย คุณไกด์แนะให้พวกเราแวะสักนิดเผื่อจะได้อะไรติดไม้ติดมือกลับบ้าน โรงงานนี้มีชื่อว่า BS Silver Workshop เป็นการผลิตเครื่องประดับเงินแท้ด้วยมือทั้งหมด พวกเราได้เดินเยี่ยมชมกระบวนการผลิต การขึ้นรูปเครื่องเงินด้วย ฝีมือเขาละเอียดประณีตจริงๆ สนนราคาต่อชิ้นจึงค่อนข้างแพง คุณฝรั่งได้กำไลไปฝากภรรยา เพื่อนเราได้แหวนเงินวงงามกลับบ้าน ราคาวงละ สองแสนกว่าๆ เสียเงินให้สบายตัวแล้วก็ได้เวลาเดินทางต่อไปยังปราสาทปรามบานัน (Prambanan Temple ) ซึ่งไกลออกจากจุดนี้ไปใช้เวลาเดินทางประมาณชั่วโมงครึ่ง
พนักงานขณะต้อนรับพวกเรา
ตั้งใจฟังบรรยายเรื่องการผลิตเครื่องเงิน
งานละเอียดย่อมต้องการสมาธิสูงในการทำงาน
ส่วนหนึ่งของชิ้นงานเล็กๆที่รอนำไปประกอบ
ปราสาทปรามบานัน (Prambanan Temple ) มีขนาดพื้นที่กว้างใหญ่จนเรียกได้ว่าเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ก็ยังได้ เนื่องจากเป็นกลุ่มวัดขนาดใหญ่สร้างขึ้นในละแวกเดียวกัน อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจากเมืองยอร์กยาการ์ต้าไปประมาณ 17 กิโลเมตร อยู่ระหว่างทางหลวงไปเมืองโซโล (Solo) นับเป็นศาสนสถานฮินดูที่ใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดในอินโดนีเซีย ใหญ่กว่าวัดฮินดูในบาหลีทั้งหมด เพราะมีกลุ่มวัดมากถึง 244 แห่ง
จุดซื้อตั๋วเขาชมอุทยานประวัติศาสตร์ปรามบานัน
เจ้าหัวโตนุ่งโสร่งคอยมาเป็นพนักงานต้อนรับ
แผนผังอุทยานประวัติศาสตร์ปรามบานัน
ปราสาทปรามบานัน สร้างขึ้นราวศตวรรษที่ 8-10 โดยพระเจ้าราไก พิคาตัน เพื่อเฉลิมฉลองความยิ่งใหญ่ของศาสนาฮินดูบนเกาะชวา แบ่งเป็นกลุ่มวัดต่างๆ วัดที่นี่เค้าจะเรียกว่า “แคนดิ” Candi ซึ่งกลุ่มวัดที่นี่มี Candi Prambanan, Candi Sewu, Candi Bubrah และCandi Lumbung แต่ละวัดจะตั้งอยู่ไม่ไกลกันนักมีบริการรถนำเที่ยวชมโดยรอบฟรี ค่าเข้าชมปราสาทปรามบานันสำหรับเด็กอยู่ที่ 7 ดอลล่าร์ หรือหัวละ 63,000 รูเปียห์ สำหรับผู้ใหญ่หัวละ 13 ดอลล่าร์ หรือ 117,000 รูเปียห์ พร้อมบริการน้ำชากาแฟฟรี
โฉมหน้าตั๋วเข้าชมปรามบานัน
รถไฟฟรีนำเที่ยวรอบอุทยานประวัติศาสตร์
เหล่ากวางดาว สัตว์เลี้ยงประจำอุทยาน
วัดปรามบานันเต็มไปด้วยหมู่ปรางค์
ปรางค์แต่ละองค์เต็มไปด้วยลวดลายสลักประณีต
จะขอเอ่ยถึงวัดหลักๆก่อน นั่นคือ Candi Prambanan ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มปรางค์ใหญ่ๆ 6 ปรางค์ด้วยกัน โดยปรางค์หลักนั้นมีความสูงถึง 47 เมตร คือวิหารศิวะ (Candi Shiva) ซึ่งถูกขนาบด้วย วิหารพรหม (Candi Bhrama) และวิหารวิษณุ (Candi Vishnu) สามวิหารนั้นได้เปิดให้คนทั่วไปสามารถเดินขึ้นไปสักการบูชาองค์เทพในห้องชั้นบนสุดได้หากท่านมีกำลังขาที่ดีพอ ซึ่งภายในวิหารพระศิวะเป็นที่ประดิษฐานเทวรูปพระศิวะองค์ขนาดสูง 3เมตร ประทับยืนบนดอกบัวบาน
วิหารพระศิวะสูงเด่นเป็นสง่าท่ามกลางหมู่ปรางค์ทั้งหมด
วิหารพระศิวะที่มีความสูงถึง 47 เมตร
มองลอดจากวิหารพระศิวะ และลวดลายสลักประตูบนวิหารพระศิวะ
พระปรางค์ทุกปรางค์ในวัดปรามบานันนั้นจะมีภาพสลักที่ละเอียดมากๆ เล่าเป็นเรื่องราวรามเกียรติ์เลยทีเดียว หากใครต้องการเดินชมอย่างละเอียดแนะให้เดินวนดูให้รอบแต่ละชั้นทุกวิหารในวัดปรามบานัน ถึงแม้ว่าภาพสลักจะไร้ซึ่งสีสันของหินทรายสีแดงเฉกเช่นบุโรพุทโธ แต่ที่นี่ความละเอียดของงานสลักนั้นประณีตกว่ามาก วิหารหลักๆ
ทับหลังบนบานประตูทางเข้า
ภาพสลักสวยจนต้องขอเป็นพรีเซ็นเตอร์เสียเอง
ภาพเหล่าฤาษี
ภาพฝูงวานร
ถัดจากวัดปรามบานัน ขอแนะทุกท่านให้ไปชมวัดเซวูต่อ (Candi Sewu) วัดแห่งนี้ตั้งอยู่ทางทิศเหนือขึ้นไปราว 1 กิโลเมตร แนะให้ท่านนั่งรถรางฟรีเพื่อประชาชน (Minitram) ที่มีไว้ให้บริการนักท่องเที่ยวออกวิ่งเป็นรอบๆ หรือท่านอาจจะเดินก็ได้ถ้าแดดไม่ร้อน ชื่อวัดเซวูแปลว่า วัดพันแห่ง เพราะตรงใจกลางวัดมีปรางค์ขนาดใหญ่แล้วล้อมรอบด้วยปรางค์ขนาดเล็กอีกกว่า 240 ปรางค์ แต่วัดแห่งนี้ยังต้องรอการบูรณะอีกมาก ด้วยสภาพที่เราเห็นนั้นเต็มไปด้วยซากปรักหักพังที่พังทลายลงมาจนเห็นแล้วไม่กล้าเข้าไปเดินข้างใน เกรงว่าจะถล่มซ้ำลงมาอีกรอบ หากเป็นคนที่ชอบโบราณสถานแบบดั้งเดิมเค้าก็จะชื่นชอบมากๆ เพราะแทบไม่มีการบูรณะปรับปรุงใดๆเลย
ซากปรักหักพังหน้าวัดเซวู
ยักษ์ทวารบาลเฝ้าหน้าประตูดูน่าเกรงขาม
มุมด้านข้างของวัดเซวู
ตรงจุดนี้มีพ่อค้าเร่ขายของที่ระลึกต่างๆมากมาย ราคาค่อนข้างแพงและตื๊อเก่ง เดินชมแล้วถ่ายรูปสักพักก็รีบขึ้นรถเลย รถรางก็ขับวนไปอีทางหนึ่ง ผ่านวัดสองแห่งคือ Candi Bubrah และCandi Lumbung แต่รถรางไม่ได้ลงจอดแวะเพื่อให้คนถ่ายรูป ซึ่งวัดมีขนาดเล็กมาก แต่รถจะพานักท่องเที่ยวไปหยุดอยู่ตรงศูนย์บริการข้อมูลนักท่องเที่ยวพอดี ตรงจุดนี้มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมายทั้งภัตตาคารแนวๆวินเทจ ห้องน้ำสะอาด แต่สิ่งที่ดึงดูดสายตาผู้คนเบื้องหน้าได้มากที่สุด นั่นคือ การแสดงร่ายรำเพื่อถวายองค์ทวยเทพเบื้องหน้า ผู้แสดงเป็นชายล้วนร่ายรำด้วยท่าทีที่ขึงขัง ทำนองเพลงค่อนข้างน่ากลัวและโหยหวน ตรงหน้าเวทีติดป้ายว่า Candi Barong คงจะเป็นชื่อการแสดงคล้ายกับระบำบารอง
ระบำบารองกำลังจะเริ่มขึ้น
ส่วนหนึ่งของการร่ายรำที่ใช้นักแสดงชายล้วน
ภัตตาคารสไตล์ย้อนยุค
หากเดินเลยการแสดงกลางแจ้งไปอีกนิดจะเป็นพิพิธภัณฑ์จัดแสดงศิลปวัตถุจำพวกรูปสลักส่วนหนึ่งและเครื่องดนตรีแบบชวา ซึ่งก็คล้ายกันกับดนตรีไทย ในห้องมีการแสดงสื่อแบบมัลติมีเดีย น่าเสียดายที่มีการบรรยายเพียงภาษาเดียวคือภาษา Bahasa Indonesia และทางด้านทิศตะวันตกของวัดปรามบานันจะเป็นที่ตั้งของโรงละครกลางแจ้งที่จะเปิดแสดงเฉพาะคืนวันพระจันทร์เต็มดวงเท่านั้น เฉพาะช่วงเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม ซึ่งแน่นอนเป็นการแสดงมหากาพย์รามายณะเช่นเดียวกับที่พวกเราได้ชมกันไปแล้ว เพียงแต่ที่นี่มีนักแสดงมากกว่า
พิพิธภัณฑ์ที่ภายในจัดแสดงเครื่องดนตรี
รูปสลักโบราณเก็บรักษาไว้ที่นี่
โรงละครรามายณะกลางแจ้งเมื่อมองจากด้านบนของวัด
ปิดฉากแบกเป้เที่ยวปราสาทปรามบานันด้วยการพาชมของที่ระลึกพื้นเมืองนอกวัด บริเวณที่จอดรถ ซึ่งข้าวของส่วนใหญ่มีราคาสูง นักท่องเที่ยวจะต้องใช้ความสามารถพิเศษที่มีอยู่ต่อรองเปรียบเทียบราคากันเอาเอง ระวังโดนฟันหัวแบะด้วย ของที่ระลึกที่จำหน่ายมีตั้งแต่งานศิลปะแกะสลักไม้ เสื้อผ้าบาติก หน้ากากชนิดต่างๆ องค์ปรางค์จำลอง ขนมของกินพื้นเมือง ไล่ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ ซึ่งครกกับสากที่นี่ตัวแม่ค้าเองยืนยันว่าดีจริง เพราะผลิตมาจากหินภูเขาไฟ และลาวา 100 เปอร์เซ็นต์
ร้านของของที่ระลึกจัดเต็ม แม้แต่น้ำผึ้งป่าก็ยังมีขาย
อ่างศิลายังต้องชิดซ้ายเมื่อต้องมาเจอกับครกหินภูเขาไฟ
ขนมพื้นบ้านรอคอยนักเดินทางมาซื้อ
เริ่มเย็นแล้วก็ได้เวลากลับบ้าน คุณ Aerie ได้ออกมายืนรอพวกเราได้สักพัก สิ้นสุดทริปทัวร์บุโรพุทโธ-ปรามบานัน ใช้เวลาเดินทางจากปราสาทปรามบานันเข้าเมืองประมาณ 40 นาที การจราจรคับคั่งยามเย็นเหมือนกับเมืองใหญ่ๆทั่วไป ก่อนจากกันพวกเราจ่ายค่าทิปไกด์ไปเล็กน้อยทั้งสิ้น 80,000 รูเปียห์ นับว่าวันนี้พวกเขาได้อำนวยความสะดวกให้กับพวกเราอย่างดี คราวนี้เราเลยซื้อทัวร์เพิ่มอีก พรุ่งนี้พวกเราวางแผนจะไปท่องเที่ยวตามแหล่งธรรมชาติ เขตภูเขาไฟและที่ราบสูงเดียงพลาโต (Dieng Plateau) ในราคาคนละ 510,000 รูเปียห์ นับว่าแพงเอาการอยู่ แต่เป็นการเดินทางไกลที่นั่งรถหลายชั่วโมงเพื่อไปชมธรรมชาติที่หาไม่ได้ในเมืองไทยก็นับว่าคุ้มค่า
ตกเย็นสภาพแต่ละคนก็หมดสภาพอย่างที่เห็น
ซื้อทัวร์วันพรุ่งนี้เสร็จก็ต้องไปจองตั๋วรถไฟเพื่อเดินทางไปเมืองสุราบายาต่อที่สถานีรถไฟยอร์กยาการ์ต้า (Stasiun Yogyakarta) ที่ตั้งอยู่บนถนน Pasar Kembang ตรงสถานีรถไฟแรกที่พวกเราเดินผ่านนั่นแหละ ตารางเวลารถไฟเป็นภาษาอินโดนีเซียเล่นเอาเรามึนต้องคอยถามคนที่มาซื้อว่ามันหมายความว่าอย่างไร ในที่สุดก็สามารถซื้อตั๋วล่วงหน้าได้เหมือนรถไฟอินเดีย แต่ใช้เวลารอคิวเรียกตามหมายเลขนานกว่าครึ่งชั่วโมง การเดินทางด้วยรถไฟในอินโดนีเซียแนะให้ซื้อตั๋วรถไฟล่วงหน้าดีที่สุด เพราะเป็นระบบขนส่งมวลชนที่รวดเร็วที่สุดและมีผู้ใช้บริการมากที่สุด ดังนั้นเที่ยวรถไฟแต่ละเที่ยวจึงเต็มได้ง่าย ตั๋วของเราเดินทางในวันมะรืน เพราะเที่ยวก่อนหน้านี้เต็มหมด รถไฟโดยสารชั้นสองไม่มีแอร์ออกเดินทาง 16.00 น. ไปถึงเมืองสุราบายา 21.00น. ค่าตั๋วโดยสารคนละ 75,000 รูเปียห์
ตึกนี้แหละที่เขามาซื้อตั๋วล่วงหน้ากัน
หน้าตาตั๋วรถไฟล่วงหน้าเป็นแบบนี้
มื้อเย็นคืนนี้เราไปทานอาหารนานาชาติกันที่ Jogja Kopitiam ทานกันทั้งอาหารฝรั่งและอาหารจีน หมดกันไปรวมทั้งสิ้น 154,000 รูเปียห์ ทานอิ่มแล้วก็ไปเดินย่อยอาหารกันต่อที่ห้างมาตาฮารี (Matahari Mall) เดินเล่นตากแอร์นั่งทานโดนัทสักครู่ แล้วค่อยกลับไปนอนพักเอาแรง พรุ่งนี้ต้องออกเดินทางไปภูเขาไฟแต่เช้า
Jogja Kopitiam ร้านอาหารสไตล์คอดูบอลชอบ
อาหารจีนที่นี่รสชาติใช้ได้ แต่น้ำผลไม้หวานมากๆ
ตอนต่อไปพาเที่ยวที่ราบสูงเดียง ชมบ่อโคลนเดือด แอ่งธารร้อน ทะลสาบน้ำกรด วัดฮินดู ฯลฯ
แวะเข้ามาเยี่ยมชมครับ
ตอบลบ