รถเข็นขายอาหารยามเช้า
คุณยายขายขนมหวานยามเช้า
แม่ลูกผูกพันนั่งทานขนมแต่เช้า
จุดแรกที่เราจะแวะเยี่ยมชมหลังจากนั่งรถแท็กซี่จากโรงแรมคือ วังสุลต่าน (Karaton) อยู่ใจกลางเมืองเป็นวังที่สุลต่านองค์แรกแห่งยอร์กยาการ์ต้าดำรัสให้สร้างขึ้นในปี ค.ศ.1755 คือ สุลต่านฮาเวงกูโวโนที่1 ออกแบบด้วยศิลปะชวาผสมกับยุโรป ไม่น่าเชื่อว่าอายุพระราชวังจะเลย 200 ปีมาแล้ว แต่ยังคงความงดงามและไม่ทรุดโทรมนัก จุดเด่นอยู่ที่ท้องพระโรงและโถงหน้าวังที่ดูโล่งเกินไปจนแทบจะไม่มีอะไรเลย แต่ที่นี่มีบริการไกด์พาชมนำเที่ยวบรรยายให้เราฟังด้วย เราให้ค่าทิปไกด์ในการบรรยายไป 20,000 รูเปียห์ ส่วนค่าเข้าชมสถานที่ที่นี่เขาเก็บคนละ 5,000 รูเปียห์ เวลาเปิดให้เข้าชม วันเสาร์-พฤหัสบดี 8.00-14.00 น. วันศุกร์ 8.00-13.00น.
พระราชวังสุลต่านข้างในโล่งมาก
ภาพวาดนูนต่ำบอกเล่าความเป็นมา
ศิลปะผสมระหว่างชวากับตะวันตก
หุ่นการแต่งกายแบบพื้นเมือง
จุดต่อไปไม่ไกลจากจุดแรกเดินต่อไปอีกนิดจะเป็นแหล่งชุมชนทำผ้าบาติก ที่นี่จะเป็นร้านขายผ้าบาติกมีทั้งชนิดที่เป็นภาพวาดไว้ขึงกับกรอบไม้ และผ้านุ่ง ผ้าปูโต๊ะหรือผ้าคลุมเตียงขนาดใหญ่ก็มีจำหน่าย และแน่นอนว่าถ้าชิ้นงานละเอียดมาเท่าไร และผ้าผืนใหญ่เท่าใด ราคาก็ย่อมแพงขึ้นไปมากเท่านั้น บางร้านมีกิจกรรมเขียนผ้าบาติกโชว์นักท่องเที่ยวซึ่งช่วยให้ร้านค้าดูมีชิวิตชีวาขึ้นเยอะเลย ซึ่งการทำผ้าบาติกนั้นจะมีขั้นตอนดังนี้
1.การออกแบบลวดลายก่อนปฎิบัติงานทุกครั้งควรมีการออกแบบลวดลายและกำหนดกลุ่มสีที่จะใช้ให้เหมาะสมกับชิ้นงาน
แล้วใช้ดินสอเขียนผ้าร่างลวดลายลงบนผ้าเตรียมไว้
2.การเขียนลวดลาย
เป็นขั้นตอนสำคัญของการทำผ้าบาติก การเขียนเทียนที่ดีส่งผลให้ขั้นตองการลงสีสมบูรณ์ขึ้น
เทียนที่เขียนผ้าต้องซึมทะลุผ้าด้านหน้าและด้านหลังจึงจะสามารถกันสีย้อมได้ เรานำผ้าที่ร่างลวดลาย
ไว้แล้วนั้นมาขึงบนกรอบไม้แล้วใช้เครื่องมือเขียนเทียนตักน้ำเทียนเขียนลงบนผ้าตามลวดลายนั้น
จนเสร็จ (สำหรับผู้ที่มีความชำนาญก็ไม่จำเป็นต้องร่างลวดลายไว้ก่อน สามารถเขียนเทียนลงบนผ้าได้เลย)
3.การระบายสีลงบนผ้า
ผสมสีย้อมเตรียมไว้แล้วใช้ภู่กันจุ่มสีระบายลงบนผ้าอย่างระมัดระวัง อย่าให้สีซึมเลอะไปในบริเวน
ที่ไม่ต้องการจะทำให้เกิดข้อบกพร่องในงานได้เมื่อสีที่ระบายแห้งสนิทดีแล้วจึงทาด้วยโซเดียมซิลิเกรต
ให้ทั่วผ้าทิ้งไว้ประมาณ 1-2 ชั่วโมง
4.การต้มละลายเทียน
เป็นขั้นตอนสุดท้ายของการทำผ้าบาติก โดยนำผ้าที่ทาเคลือบด้วยโซเดียมซิลิเกรตไปล้างน้ำ
ขณะล้างน้ำจะมีสีส่วนเกินจำนวนหนึ่งละลายออกมากับน้ำจึงต้องหมั่นเปลี่ยนน้ำอยู่เสมอ ขยี้ผ้าเบาๆ
จนน้ำที่ซักผ้าใสไม่นำอ่างใส่น้ำพอประมาณตั้งไฟให้น้ำเดือดเติมผงซักฟอกและโซดาแอสเล็กน้อย
แล้วนำผ้าที่ล้างโซเดียมซิลิเกรตแล้วนั้นลงต้มเพื่อละลายเทียน จนเทียนละลายออกหมด
จึงนำมาซักน้ำจนผ้าสะอาดก็จะได้ผลงานผ้าบาติกเพ้นท์สีที่สวยงาม
ตัวอย่างภาพวาดบาติกชนิดขึงกรอบกับการสาธิตเขียนลายผ้าบาติก
เขียนลายผ้าบาติกอย่างลงรายละเอียดยิบ
ที่นี่แหละสถานที่สาธิตวิธีทำผ้าบาติก
ส่วนที่นี่เป็นร้านค้าผ้าบาติกแบบแนวๆ ขายฝรั่ง
ร้านนี้ขายผ้าบาติกแบบดั้งเดิมพื้นเมือง
เสร็จจากการชมการผลิตผ้าบาติกที่ราคาแตะไม่ลงเพราะเน้นขายชาวตะวันตกที่เม็ดเงินหนา เราเดินไปชมวัดฮินดูกันต่อที่ ตามันสรี (Tamansari) เก็บค่าเข้าชมท่านละ 7,000 รูเปียห์ เป็นวัดฮินดูสไตล์บาหลี ทาด้วยสีขาวทั้งตึก ภายในมีสระน้ำไว้ชำระล้างกายก่อนประกอบศาสนกิจ แต่ปัจจุบันไม่ได้มีสถานะเป็นวัดแล้วแต่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแทนเนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ที่นี่นับถือศาสนาอิสลาม ขณะเข้าชมวัดก็มีไกด์ท้องถิ่นพยายามที่จะนำเสนออธิบายประวัติความเป็นมาให้ฟัง แต่สังเกตดูแล้วน่าจะเป็นไกด์ผีที่คอยเอาทิปจากนักท่องเที่ยวเพราะไม่มีป้ายแสดงตนอะไรเลย เราต้องเดินหนีจนเขาเลิกที่จะเดินตามนั่นแหละ
วัดตามันสรี (Taman Sari)
ไกด์ผีพยายามจะอธิบาย แต่ป้ายชื่อก็ไม่มี
แฟนคลับวัยรุ่นชาวย้อกยามาแล้ว แต่ละคนเปรี้ยวไม่เบา
สระน้ำสีเขียวมรกตนี่สวยงดงามจริงๆ
ฐานน้ำพุ มีน้ำไหลออกมาแบบเอื่อยๆ
ศิลปะปูนปั้นสไตล์ฮินดู
ติดกับวัด Tamansari ยังมีเขตพระราชฐานเหมือนโรงละครเก่าแต่เปิดโล่งไม่มีคนเฝ้า พวกเราเลยได้อาศัยหลบร้อนนั่งพักให้ชื่นใจก่อนที่จะกลับไปทานข้าวกลางวันที่ไหนสักแห่ง แต่แถวนี้หน้าตาอาหารดูแล้วไม่น่าทานเลยขอนั่งรถแท็กซี่กลับไปทานที่ห้าง Matahari Mall ดีกว่า อยากทานอาหารต่างชาติบ้างเมื่อถึงห้างพวกเราเลยมุ่งตรงไปยังร้านอาหารญี่ปุ่นแล้วสั่งมาเป็นเซ็ททานกันให้อิ่มหนำ ก่อนปิดท้ายด้วยโดนัทของประเทศเพื่อนบ้านคือ J.Co นั่นเอง ในห้างนี้มีเสื้อผ้าบาติกสำเร็จรูปลดราคามากอยู่แต่รูปทรงออกเชยไม่ร่วมสมัยเลยไม่มีใครได้เสียเงินกันสักคน
ระหว่างทางกลับโรงแรมที่พัก
เขตพระราชฐานที่พวกเราได้เข้าไปพักพิง
Matahari Mall ที่พึ่งยามต้องการหลบร้อน
อาหารญี่ปุ่นมื้ออร่อยก่อนไปสุราบายา
ผ้าบาติกนำมาลดราคาพิเศษในห้าง
ได้เวลาเดินทางกลับไปเก็บกระเป๋าอีกแล้ว
อิ่มอร่อยแล้วก็เดินเล่นในห้างตากแอร์เย็นๆ ต่อจนได้เวลาบ่ายแก่ๆ ก็กลับไปเอาสัมภาระที่ได้ฝากกับทางโรงแรมไว้เพื่อหิ้วและลากทะลุตรอกใกล้ๆโรงแรมไปยังสถานีรถไฟของเมืองยอร์กยาการ์ต้า เตรียมตัวพร้อมขึ้นรถไฟสายยอร์กยาการ์ต้าไปยังจุดหมายปลายทางคือสถานี Surabaya Gubeng (SGU) ตามกำหนดหน้าตั๋วใช้เวลาเดินทางนาน 5 ชั่วโมง จะไปถึงที่หมายประมาณ 3ทุ่ม
กลับมายังสถานีรถไฟแห่งนี้อีกครั้ง
ภายในชานชาลารอรถไฟ
รถไฟที่จะนำทางพวกเราไปสู่เมืองสุราบายา นั้น ยังคงจอดนิ่งอยู่ที่ชานชาลาสภาพรถไฟไม่ได้โสภาสะอาดนัก ค่อนข้างเก่าใกล้เคียงกับรถไฟไทย ตู้โบกี้ที่เราขึ้นนั่งนั้นเป็นรถไฟชั้นสามแบบกินลมชมวิว เมื่อรถไม่ได้แล่นไปไหนดังนั้นอากาศบนตู้โดยสารจึงร้อนอบอ้าวมากๆ โชคยังดีที่รถไฟอินโดนีเซียออกตรงเวลาไม่ล่าช้าเหมือนบางประเทศลมจึงพัดเข้าตู้ทันทีเมื่อรถออก
บรรยากาศภายในคล้ายรถไฟชั้นสามในไทย
ตู้รถไฟขบวนที่จะพาเราสู่เมืองสุราบายา
ระหว่างที่รถไฟแล่นซึ่งต้องใช้เวลามากกว่า 5 ชั่วโมงนั้น พวกเราได้พูดคุยกันเสียงดังแบบไม่ต้องกลัวว่าใครจะมาฟังเราออกว่าพูดคุยกันเรื่องอะไร เพราะผู้โดยสารทั้งหมดเป็นคนพื้นที่ทั้งหมด ไม่มีชาวต่างชาติในรถสายนั้นเลย เมื่อเริ่มหมดเรื่องที่จะคุยก็นั่งคอพับสัปหงกไปเท่านั้นเอง จนรถไฟเทียบชานชาลาปลายทางทุกคนลงจากรถกันหมด เราก็ต้องอาศัยรถแท็กซี่ให้ไปส่งยังโรงแรมที่พักคือ Soerabaja Place Guesthouse ซึ่งพวกเราได้ใช้บริการ Prepaid taxi คือจ่ายก่อนไม่เจ็บตัวภายหลัง คำนวณตามระยะทาง แต่ราคาค่อนข้างแพง คือ 50,000 รูเปียห์ แท็กซี่เขาไม่รู้จักสถานที่ต้องบอกชื่อถนนคือ Jalan Jaksa หรือถนนยักษา
ล็อบบี้ของโรงแรมคล้ายห้องรับแขกในบ้าน
ด้านหน้าโรงแรมที่พัก
โรงแรมหายากมากเพราะไม่มีป้ายไฟติดด้านหน้าแถมลักษณะยังเหมือนบ้านเดี่ยวหลังใหญ่ๆที่มีรั้วรอบขอบชิด รถต้องวนหลายครั้งกว่าจะถึงที่หมาย พอถึงโรงแรมแล้วรีบเก็บข้าวของออกไปทานมื้อดึกก่อนที่ร้านจะปิด เพราะนี่ก็4ทุ่มกว่าแล้ว ร้านอาหารที่อยู่ใกล้ที่สุดกำลังจะปิดตัวลง เมืองสุราบายาเริ่มกลายเป็นเมืองร้างทำให้เราต้องรีบกินและรีบเดินกลับที่พักเพราะตามท้องถนนไม่มีผู้คนแล้ว เมื่อกลับถึงห้องแล้วเรายังคงนั่งเล่นนั่งคุยต่อไปจนหนังตาปิดไปเอง
ตอนต่อไป แบกเป้เที่ยวสุราบายาแบบดมดม ขำขำ แค่ครึ่งวันก่อนกลับไปยังกรุงเทพฯ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น