วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2558

แบกเป้เที่ยวเชนไน ทมิฬ (ที่ยัง) น่าดู ตอนที่ 3 Mahabalipuram มหาบาลีปุรัม ล้ำค่าอารยธรรมฮินดูโบราณ


                 เมืองมหาบาลีปุรัม (Mahabalipuram) นั้นเดิมมีชื่อเรียกว่า “ Mamallapuram” ตั้งอยู่ติดชายฝั่งทะเลด้านตะวันออกของมหาสมุทรอินเดีย ห่างจากเมืองเชนไน 60กิโลเมตร เป็นเมืองที่ร่ำรวย
อารายธรรมฮินดูโบราณ มีโบราณสถานทั้งหมด5แห่ง ตั้งอยู่ในอาณาบริเวณใกล้กัน เดินถึงกันได้ แต่ละแห่งมีอายุเกินกว่าพันปีขึ้นไปทั้งนั้น อาณาจักรมหาบาลีปุรัมนี้ สถาปนาขึ้นตั้งแต่ยุคปาลลาวะ (Pallava Dynasty) ซึ่งในสมัยนั้นยังคงใช้ชื่อว่า Mamallapuram  เทวสถานและวัดทั้งหลายสร้างขึ้นในรัชสมัย Narsimha Varman I พสกนิกรทั่วไปเรียกพระองค์ว่า King Mamalla ในปัจจุบันโบราณสถานทั้งหมดได้ขึ้นทะเบียนกับองค์กร UNESCO เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นับเป็นสถาปัตยกรรมแบบฮินดูยุคดราวิเดียน (Dravidian) ซึ่งโบราณสถานทั้ง5 แห่งนี้ จะประกอบด้วย Shore Temple, Cave Temple, Five Rathas, Arjuna Penance และอื่นๆอีกมากมายในเขตโบราณสถานแห่งนี้
Shore Temple 

          พวกเราได้ติดต่อเจ้าหน้าที่โรงแรมไว้แต่เมื่อคืนเพื่อเป็นธุระจัดหารถแท็กซี่แบบเช่าเหมาคันเพื่อออกไปตะลุยเมืองพันปี มหาบาลีปุรัม  ในราคาประมาณ 50-60 ดอลล่าร์ ต่อวัน  รถมารับพวกเราประมาณ 9โมงเช้า ระหว่างนั้นพวกเราต้องหาเสบียงใส่ท้องกินไปพลางๆก่อน จากเมืองเชนไนรถจะขับเลาะมาตามทางหลวงเลียบชายฝั่งทะเล สภาพถนนค่อนข้างดี ใช้เวลาเดินทางเพียงชั่วโมงเศษๆเท่านั้น เราก็จะมาถึงยังเมืองพันปีแห่งนี้ และหากขับรถเลียบตามชายฝั่งทะเลลงไปอีก เราก็จะเจอกับเมืองตากอากาศชายหาด “พอนดิเฌอรี” (Pondicherry) หรือฝรั่งเศสน้อยของอินเดียนั่นเอง

หาอะไรกินรองท้องยามเช้าเสียก่อน ยังพอมีเวลา 

           อันดับแรกพวกเราทั้งสี่จะต้องซื้อตั๋วรวมค่าเข้าชมโบราณสถาน 5แห่งนี้ก่อน ในราคา 250รูปี  จากนั้นก็จะนำชมสถานที่แรกเป็นวัดฮินดูที่อยู่ติดกับชายฝั่งทะเล Shore temple เป็นวัดที่รอดพ้นความเสียหายจากคลื่นยักษ์สึนามิในปี 2004 สิ่งปลูกสร้างถูกกัดกร่อนลวดลายแกะสลักทั้งหมด ทั้งคลื่นลมทะเลและน้ำฝน ทำให้หินทรายเป็นรูพรุนโดยทั่วกัน สร้างขึ้นในช่วงศตวรรษที่7 ยุคสมัย Narsimha Varman เรืองอำนาจวัดแห่งนี้จะมีปรางค์สองแห่งเป็นที่บูชาพระศิวะเป็นหลัก มีพระพาหนะคือโคนอนหมอบอยู่รายรอบ และมีทวารบาลรักษาวัดแห่งนี้อยู่ น่าเสียดายที่ธรรมชาติและกาลเวลาได้ทำลายรายละเอียดรูปสลักลงเกือบทั้งหมด

ระหว่างทางเดินไปโบราณสถานแห่งแรก Shore Temple

ท้องทะเลที่เงียบสงบของมหาบาลีปุรัม

ระหว่างทางมักจะมีคนมาขอถ่ายรูปด้วยเสมอ

บริเวณระเบียงรายรอบมักปรากฏรูปโคนอนตามความเชื่อฮินดู


ปรางค์หลักสองปรางค์บูชาพระศิวะ ปัจจุบันผุกร่อนเต็มที


แทบจะไม่เหลือรายละเอียดของภาพสลัก

รูปสิงห์ปูนปั้น


            เสร็จจากวัดแห่งแรก พวกเราแวะเติมพลังที่ร้านอาหารที่เป็นโรงแรมในตัว ชื่อร้าน Clive Bar เป็นร้านนั่งเล็กๆ ในสวน มีลิงซนอยู่ในนั้นหลายตัว เจ้าของร้านต้องคอยเอาหนังสติ๊กไล่ลิง สั่งข้าวหมกไก่มากินกันคนละชุดแบบง่ายๆ 
เศษขนมปังไม่รู้ว่าเค้าขายไว้ให้ใคร

มาถึงแล้วร้านอาหารสุดฮิปท่ามกลางแมกไม้

ข้าวหมกไก่จานใหญ่มาก รสชาติใช้ได้


           แล้วเดินทางต่อไปยังกลุ่มวัดถ้ำ (Cave Temples) ระหว่างทางจะผ่านสระสรงน้ำโบราณขนาดเล็กๆ แต่ไม่ได้รับการดูแลจนจอกแหนขึ้นเต็มไปหมด โบราณสถานกลุ่มถ้ำนี้จะมีการตัดหินเป็นช่องเข้าไปข้างในเพื่อแกะสลักภายใน โดยภายในจะสลักเทวตำนานฮินดูที่แตกต่างกันออกไปตามท้องเรื่อง ด้านในมีถ้ำกฤษณะมณฑป (Krishna Mandapa) ภายในมีภาพสลักของพระกฤษณะอยู่

พบเห็นวัวได้ทั่วไปตามท้องถนนนี่แหละอินเดีย

รถออสตินก็เช่นกันยังคงใช้กันอยู่จนถึงยุคปัจจุบัน

สระน้ำโบราณแน่นขนัดไปด้วยจอกแหน
ทั้งแพะและวัวมีอยู่ดาษดื่นตามท้องถนน
ก่อนจะถึงวัดถ้ำ เราจะต้องเดินผ่านท่ารถประจำเมืองนี้เสียก่อน

ระหว่างทางเดินไปกลุ่มวัดถ้ำ
มาถึงแล้วถ้ำแรก ถ้ำกฤษณะมณฑป (Krishna Mandapa) 

          ออกมาจากถ้ำทุกคนจะต้องสะดุดตากับภาพแกะสลักนูนต่ำขนาดใหญ่ นิยมเรียกกันว่าภาพสลักพระแม่คงคาเสด็จสู่โลกมนุษย์ (The Descent of the Ganga) หรือบ้างเรียกว่าภาพสลัก อรชุนบำเพ็ญตบะ (Arjuna’s Penance) บนหน้าผาธรรมชาติขนาดใหญ่ (ยาว ๒๙ เมตร สูง ๑๓ เมตร) ที่ช่างสมัยปัลลวะมาสลักภาพเล่าเรื่องตกแต่งไว้ หน้าผานี้เป็นส่วนหนึ่งของเนินเขากลางเมือง ซึ่งมีเทวาลัยและถ้ำเทวสถานยุคปัลลวะอยู่นับสิบแห่ง
 ภาพสลักอรชุนบำเพ็ญตบะถือเป็นไฮไลท์ปักหมุดของเมืองนี้เลย
 

           กลางหน้าผามีลำธารน้ำ ในสายน้ำมีพญานาคและนาคินี (นางนาค ท่อนบนเป็นมนุษย์ ครึ่งล่างเป็นงู) กำลังแสดงอาการรื่นเริงบันเทิงใจ ภาพสลักที่หน้าผาแห่งนี้แบ่งออกเป็นสองระดับตอนบน เป็นสวรรค์ชั้นฟ้า มีปวงเทพเหาะมาชุมนุมกัน เทพสององค์ที่มีรัศมีรอบเศียรคงได้แก่พระอาทิตย์และพระจันทร์ นอกจากนั้นก็มีฤาษี วิทยาธร คนธรรพ์ รวมทั้งมีพระศิวะทรงถือตรีศูลในพระหัตถ์ขวา พระหัตถ์ซ้ายแสดงปางประทานพร ยืนแวดล้อมด้วยเหล่า “คณะ” คือคนแคระบริวารของพระองค์ เบื้องหน้าพระศิวะมีนักบวชผู้ทรมานตนด้วยการบำเพ็ญตบะ ยืนขาเดียว แหงนหน้า มือสองข้างประสานกันเหนือศีรษะ ร่างกายซูบผอม แลเห็นซี่โครงขึ้นเป็นแนวถัดมาตอนล่าง ฝั่งขวาของธารน้ำ เป็นเหล่าสัตว์นานาชนิด มี

ครอบครัวช้าง ฝูงกวาง แมวบำเพ็ญตบะ (ทำท่าเดียวกับฤาษีที่พระศิวะเสด็จมาประทานพร และมี “หนูๆ” เป็นบริวาร) ส่วนฝั่งซ้ายของลำธาร เป็นอาศรมของดาบส มีเทวาลัยประดิษฐานรูปพระวิษณุ เหล่าดาบสต่างกำลังอาบน้ำ ซักผ้า บำเพ็ญพรต หรือไม่ก็สวดมนต์ เนื่องจากภาพสำคัญคือรูปพระศิวะ จึงมีข้อสันนิษฐานหลายอย่าง (ตัดตอนมาจาก วารสารเมืองโบราณ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3 (กรกฎาคม-กันยายน 2554))


ภาพนี้จะเห็นนางอรชุนและรายละเอียดของภาพได้ทั้งหมด

รูปปั้นลิงหาเหาที่ขึ้นชื่อ
ระหว่างนั่งพักนอนพัก ก็มีเด็กอินเดียมาขอถ่ายรูปอีกแล้ว
วัดแห่งสุดท้ายไม่ทราบชื่อ ก่อนที่จะเดินขึ้นเขาสูงไปอีกไกล

          เมื่อเดินขึ้นเขาไปทางด้านบน จะพบกับก้อนหินทรงค่อนข้างกลมตั้งอยู่หมิ่นเหม่ตรงหน้าผาแลน่าหวาดเสียว เกรงว่าจะกลิ้งตกลงไปทับคนตายเบื้องล่าง หินก้อนนี้มีชื่อเรียกว่า “ก้อนเนยแห่งพระกฤษณะ” (Krishna’s Butter Ball) เป็นจุดถ่ายรูปที่ทุกคนไม่ควรพลาด เดินขึ้นไปอีกเรื่อยๆ ตามไหล่เขา จะยังมีถ้ำที่แกะสลักตัดหินเข้าไปข้างในภูเขาอีกโดยถ้ำที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ ถ้ำมหิษาสุรมรรทนี (Mahishasuramardhini ) ที่ภายในได้แสดงภาพเจ้าแม่ทุรคาในปางต่อสู้กับอสูรร้าย ภาพพระศิวะปางบรรทม 


ได้เวลาปีนป่ายขึ้นเขากันแล้ว

ยิ่งขึ้นมาด้านบนก็ยิ่งร้อนเพราะไม่มีต้นไม้เลย

 “ก้อนเนยแห่งพระกฤษณะ” (Krishna’s Butter Ball)
คนที่นั่งด้านล่างเค้าไม่กลัวว่าก้อนเนยจะกลิ้งตกลงไปบ้างเลย

 ถ้ำมหิษาสุรมรรทนี (Mahishasuramardhini )
พบกับสัตว์เจ้าถิ่นหน้าวิหาร 

         หลายท่านเริ่มจะเดินต่อไปไม่ไหวแล้ว เพราะยิ่งขึ้นมาสูงก็ยิ่งร้อนและทางชันขึ้นเรื่อยๆ แต่อดทนอีกนิดเราก็จะเดินไปถึงประภาคารเมืองมหาบาลีปุรัมที่ตั้งตระหง่านบนยอดเขา และวัดบนยอดเขาที่มีชื่อเรียกว่า “โอลักกัณเนศวร” (Olakkanesvara Temple) ตั้งอยู่สูงสุดจริงๆ เป็นจุดชมวิวได้รอบอีกจุดหนึ่งที่ไม่ควรพลาด ทั้งประภาคารและวัดแห่งนี้ถ้ามาช่วงคนเยอะอาจต้องรอคิวเพื่อที่จะขึ้นไปชมด้านบนเพราะพื้นที่จำกัด หากเดินลงจากเขาแล้วออกอีกทางจะมีร้านขายของที่ระลึกจำพวกหินแกะสลักตั้งวางขายอยู่ต้อนรับนักท่องเที่ยว แกะสลักเป็นเทพต่างๆหลากหลาย แต่สนนราคาค่อนข้างสูง

เทวาลัยบนยอดเขา 

แลเห็นประภาคารอยู่ลิบๆ

  “โอลักกัณเนศวร” (Olakkanesvara Temple)
ประภาคารคนรอต่อคิวเยอะเพื่อขึ้นไปชมวิวโบราณสถานด้านบน

ประภาคารเมื่อถ่ายภาพจากด้านล่าง 
ทางเข้าจุดชมวิวของประภาคาร 
ร้านขายของที่ระลึกพวกงานแกะสลักหินอ่อน หินแกรนิต

          ลงมานั่งพักให้พอหายเหนื่อยก็ได้เวลานั่งรถแท็กซี่คันเดิมที่เหมามากลับไปยังเมืองเชนไน ระหว่างทางเราได้บอกกับคนขับให้ช่วยแวะร้านขนมหวานอินเดียที่มีสาขาอยู่ทั่วประเทศด้วย เพื่อซื้อขนมของฝากติดไม้ติดมือกลับบ้าน ร้านขนมที่มีสาขามากมายมีชื่อว่า ร้านศรีกฤษณะ (Sri Krishna Sweets) ขนมที่ร้านนี้รสชาติหวานอร่อย แต่อาจไม่ถูกปากคนไทยนัก เพราะมีส่วนผสมของนมแพะและเนยค่อนข้างมาก ถ้าทิ้งไว้นานจะมีกลิ่นหืนนมแพะ หีบห่อร้านขนมร้านนี้สวยงาม ขนมที่นี่จะชั่งขายเป็นกิโลกรัม สามารถซื้อกลับไปฝากญาติพี่น้องได้ หรือจะนำไปไหว้เทพก็ได้

กลับมายังท่ารถอีกที รอบบ่ายนี่คนมาเที่ยวเมืองนี้เยอะเลย

น้ำผลไม้เย็นชื่นใจช่วยดับกระหายได้เป็นอย่างดี

ร้านขนม Sri Krishna Sweets มีสาขาทั่วประเทศ

หน้าตาขนมดูดี ราคาแพงถูกบรรจุลงในกล่องอย่างดี

ขนมหวานแบบแบ่งขายลงกล่องสดๆ ก็มีขายนะ

           พอกลับถึงที่พักแล้ว พวกเราได้ลงมติกันว่า อยากจะทานอาหารทะเลแบบอินเดียดูบ้างซักมื้อ ว่าแล้วก็ค้นข้อมูลในเน็ตดูว่ามีร้านใดบ้างที่น่าสนใจอยู่ในเมืองเชนไน พลางไปสะดุดตาอยู่ร้านหนึ่งที่มีชื่อว่า The Marina ร้านอาหารทะเลสไตล์ฟิวชั่นแบบสมัยใหม่ สามารถสั่งอาหารทะเลที่วางโชว์อยู่ด้านหน้านำไปปรุงได้ตามใจชอบ โดยราคาอาหารจะคิดตามน้ำหนักของเนื้อสัตว์นั้นๆ วันนั้นเราได้สั่งทั้งกุ้ง ปลาหมึก และปลานำมาประกอบอาหารในสไตล์ปิ้งย่างและผัดพริกแกงรสชาติเผ็ดร้อนได้ใจจริงๆ คืนนี้กลับไปนอนฝันดีอีกแล้ว
The Marina, Finding Indian fusion seafood restaurant.

ดูเหล่าน้ำจิ้มซีฟู้ดเครื่องเคียงของเขาเสียก่อน 
การจัดวางของบนโต๊ะเป็นระเบียบเรียบร้อยพร้อมอุปกรณ์หลังอาหาร

กุ้งย่างเนยกับปลาผัดเครื่องเทศทากับข้าวบาสมาติร้อนๆเข้ากันมาก 
ของหวานขนมแป้งเคร้ปพร้อมไอศครีมราดหวานหอมชื่นใจ 



ตอนต่อไป พาเที่ยวเมืองกาญจีปุรัม เมืองพันวัด ร่ำรวยพลังศรัทธาชาวฮินดู