เราอยู่ที่รัฐทมิฬนาดู อินเดียใต้
จนถึงวันสุดท้ายแล้วของการแบกเป้เที่ยว ยังไม่เจอะเจออะไรที่ไม่น่าดูเลย
ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนน่าดูและน่าตื่นตาทั้งนั้น วันนี้เราจะพาทุกท่านไปเที่ยวยังเมืองกาญจีปุรัม (Kanchipuram)
อันเป็นเมืองสุดท้ายของทริปสั้นๆนี้ เรานัดรถมารับเก้าโมงเช้าเช่นเคย
ระหว่างรอรถตอนเช้า เราได้มีเวลาเดินสำรวจตรวจตราตลาดหาอาหารเช้าทานง่ายๆอีกครั้ง
คราวนี้เรามาจบที่ร้านมังสวิรัติสั่งแป้งปุรี Puri มาจิ้มกับแกงถั่วให้พออิ่ม
จากนั้นใช้เวลาเดินทางราวชั่วโมงเศษก็ถึงเมืองกาญจีปุรัม
ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมืองเชนไน อยู่บนเส้นทางเดียวกับทางไปเมืองเบงกาลูรู
(Bengaluru) หรือเมืองบังกาลอร์ (Bangalore) ในอดีต เมืองกาญจีปุรัม นั้นร่ำรวยอารยธรรมฮินดูมากๆ
มีวัดวาอารามฮินดูมากมายในเมืองนี้ จนได้ชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “เมืองพันวัด”
นับเป็นหนึ่งในเจ็ดเมืองศักดิ์สิทธิ์ของอินเดีย ด้วยความเจริญรุ่งเรืองของวัดนับพันในเมืองนี้
กล่าวได้ว่าเจริญสูงสุดในยุคของกษัตริย์ปาลาวะ (King Pallavas) ในช่วงปีค.ศ.
600-700 นั่นเอง
Kanchipuram เมืองพันวัด
โฉมหน้าร้านฝากท้องมื้อเช้า
แป้งปูรีทอดกรอบจิ้มแกงถั่วร้อนๆ แสนอร่อยยามเช้า
หญิงสาวร้อยดอกไม้บนเรือนผมกับหน้าร้านชาร้อน
หลังจากที่เราใช้เวลาเดินทางร่วมชั่วโมงเศษ
เราก็เดินทางมาถึงวัดแห่งแรก คือ วัด Sri Ekambareswarar Temple หรือเทวาลัยเอกัมพเรศวร เป็นวัดที่ใหญ่ที่สุดในเมืองกาญจีปุรัม Kanchipuram อายุประมาณ 1200 ปี ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเมือง
ซุ้มประตูสูง 59 เมตร ซึ่งเป็นหนึ่งในซุ้มประตูที่สูงที่สุดในอินเดีย
เป็นวัดที่บูชาพระศิวะ ได้รับความนับถือสูงสุด
และมีขนาดกว้างใหญ่ที่สุดในเมืองกาญจีปุรัม ภายในตัววิหารหลักไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไปเหมือนเดิมเลย
ตัววัดเป็นศิลปะแบบดราวิเดียนงดงามที่ซุ้มประตูทางเข้า
ในวัดเราจะได้ชมวัวสีดำตัวใหญ่ สระน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่มีขนาดกว้างใหญ่
มีช้างมงคลทาผงแป้งสีงดงาม
ในพื้นที่ภายในวัดเรามักจะพบภาพเขียนสีลวดลายสวยๆที่พื้นที่เราเรียกว่า “รังโกลี”
แต่ทางอินเดียใต้ จะเรียกภาพสีนี้ว่า “โกลัม” (Kolam) เป็นความเชื่อของคนอินเดียที่จะใช้ผงแป้งหรือทรายย้อมสีรังสรรค์ผลงานขึ้นที่วัด
หรือหน้าบ้านหรือห้างร้านของตนเองทุกเช้า
โดยมีความเชื่อว่าเป็นการต้อนรับการมาเยือนของพระลักษมี
อันจะนำมาซึ่งโชคลาภสู่ครอบครัว ทำให้กิจการค้าเจริญรุ่งเรือง
เมื่อผ่านพ้นหนึ่งวันไป ภาพสีก็จะถูกลบเลือนไป จึงมีการวาดใหม่ในทุกเช้าทุกวัน
มาถึงแล้ว เทวาลัยเอกัมพเรศวร มีเครื่องรางบูชาขายอยู่หน้าวัด
ร้านขายของไหว้และของที่ระลึกทางศาสนาด้านหน้าวัด
วิหารนี้มีความเก่าแก่อายุมากกว่าพันปี
พระดาบส พระอาจารย์ ชื่อดังคู่บ้านคู่เมือง
สระน้ำขนาดใหญ่ใจกลางวัด
หลากความเชื่อและพิธีกรรมที่เรายังหาคำตอบไม่ได้ภายในวัดแห่งนี้
เสาสลักหินสวยงามภายในวิหาร
ช้าง สัตว์มงคลที่มักนำมาใช้ในการประกอบพิธีกรรม
ภาพวาดผงสีหรือ รังโกลี ตามความเชื่อและศรัทธาของฮินดูชน
หลังจากนั้นเราก็ได้เดินทางมาถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งที่สอง
ที่สร้างขึ้นในยุคเดียวกับโบราณสถาน Shore Temple ที่เมืองมหาบาลีปุรัม อายุราว
1200 ปี เช่นเดียวกัน วัด Sri Kailasanatha Temple หรือ เทวาลัยไกรลาสนาถ ซึ่งเป็นวัดที่งดงามมากๆๆถึงจะมีขนาดเล็กแต่ภายในวัดมีการแกะสลักและมีภาพสีที่งดงามมากจริงๆ
สร้างโดยกษัตริย์ Raja Simha ยุคปาลลาวะ เสร็จสมบูรณ์ในสมัยต่อมาราวศตวรรษที่
8 ซึ่งถือว่าเป็นวัดที่เก่าแก่ที่สุดในกาญจีปุรัม
ด้านหน้าวัดมีรูปปั้นโคนอนสีขาวตัวใหญ่สวยงามมาก
โดยมีความเชื่อที่ว่าหากเราสัมผัสตรงจุดไหน เราจะเด่นในด้านนั้น เช่น ถ้าเราถ้าปีนขึ้นไปสัมผัสหัวเราก็จะฉลาดเป็นต้น
ถ้าปั้นวัวยืน เค้าจะต้องปั้นสองตัวเพื่อระบุเพศของวัว หากปั้นเป็นวัวนอนแล้ว
เค้าก็จะปั้นแค่ตัวเดียว เพราะไม่ต้องมาระบุเครื่องเพศด้านล่าง เพิ่งรู้ความจริงในภายหลังจากที่เดินทางกลับมาแล้ว
เออ คนโบราณเค้าก็ขี้เกียจปั้นกันนะ ภายในเทวาลัยจะพบรูปปั้นพระศิวะในปางต่างๆมากมาย
เนื่องจากว่าเป็นเทวาลัยที่บูชาพระศิวะเป็นหลักจึงมีแต่รูปพระศิวะเต็มไปหมด
ถนนหนทางในเมืองกาญจีปุรัม
ทางเข้าเทวาลัยไกรลาสนาถ
เทวาลัยไกรลาสนาถ บางส่วนก็ได้รับการบูรณะแล้ว สีจึงต่างกันชัด
เทวาลัยเมื่อมองจากรูปปั้นโคนอน
รูปปั้นโคนอนอันเลื่องชื่อ แตะส่วนไหนจะได้ดีในส่วนนั้น
บริเวณทางเดินรอบวิหาร
รูปสลักพระศิวะสามารถหาได้ทั่วไปภายในเทวาลัยแห่งนี้
ส่วนที่ได้รับการบูรณะใหม่แล้วโดยยึดตามท้องเรื่องและรายละเอียดเดิม
ความงามวิจิตรตามร่องสลักและเสาหิน ที่หาค่ามิได้
ถึงเวลาบ่าย พวกเราเลยหาอาหารง่ายๆ
พวกข้าวหมกไก่กับไก่ทอดกินรองท้อง ซึ่งเป็นร้านมุสลิม
หาไม่แล้วจะหาร้านอาหารที่มีเนื้อสัตว์ไม่เจอเลยในเมืองกาญจีปุรัมแห่งนี้ ณ
เมืองพันวัด กาญจีปุรัม วัดอินดูต่างๆในเมือง จะปิดลงในช่วง 12.30-16.30 น.
ของทุกๆวัน ดังนั้นเวลาที่เหลือเราจะต้องนั่งรอยันเย็นถึงจะเข้าไปชมภายในวัดได้
แต่หน้าที่ของคนขับนำเที่ยวเค้าจะต้องนำชมวัดให้ครบตามที่เราว่าจ้างให้ตามเวลา
เขาจึงขับพาไปวัดที่ต้องไปตามเป้าหมาย ไม่ว่าจะเป็นวัดวรธะราชา เปรุมาล (Varadaraja Perumal
Temple) วัดไวกูรณ์ฑะเปรุมาล
(Vaikuntaperumal)
แต่ละวัดล้วนมีซุ้มประตูที่สูงตั้งตระหง่าน
และทาสีขาวหรือสีเหลืองไข่ไก่เป็นหลัก
นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะต้องเสียค่าเข้าชมประมาณ 250รูปี
และไม่สามารถเข้าไปชมในส่วนที่ประกอบพิธีกรรมได้
มีการเก็บค่ากล้องถ่ายรูปและกล้องวีดีโอต่างหาก งานนี้พวกเราจึงได้แต่เดินเตร็ดเตร่ถ่ายรูปอยู่ภายนอกของวัด
แม้แต่วัดขนาดเล็กๆก็ยังปิดช่วงบ่าย
วัดแห่งนี้มีขนาดสูงมากๆ แต่น่าเสียดายที่ปิดตอนกลางวัน
ทุกคนต้องยืนรอจนกว่าจะเย็นจึงจะเปิดให้อีกครั้ง
แค่รายละเอียดของซุ้มประตู โคปุรัมด้านนอกก็กินขาดแล้ว
เรื่องอะไรเราจะต้องนั่งรอยันเย็นเพื่อรอวัดเปิด
พวกเราจึงตัดสินใจบอกพี่คนขับให้ขับรถกลับเมืองเชนไนจะดีกว่า
เพื่อที่จะได้กลับไปเดินเล่นแถวโรงแรมที่เราพักเพื่อหาของกินเล่นยามเย็น
หรือซื้อผลไม้ในตลาดกันดีกว่า เราได้เดินเล่นแถวโรงแรมอีกครั้ง สำรวจตลาดผลไม้
มีทับทิมอินเดีย ลูกฟิกซ์ หรือมะเดื่อฝรั่ง ซึ่งที่นี่ขายกันลูกสดๆ เลย
ผิดกับในไทยที่จะเป็นลูกฟิกซ์ที่อบแห้งมาแล้ว มื้อเย็นพวกเราได้ฝากท้องที่ภัตตาคารา Fish ‘n’ Prawn Family Restaurant อีกครั้งหนึ่ง รสชาติดีเหมือนเดิมเลยฝีมือไม่ตก
ก่อนที่จะออกเดินทางอีกครั้งด้วยรถแท็กซี่ไปสนามบินออกจากโรงแรมประมาณสามทุ่ม
ไปถึงสนามบินสี่ทุ่ม เพื่อขึ้นเครื่องที่ออกเดินทางประมาณเที่ยงคืนกลับถึงกรุงเทพฯ
ราวเช้ามืดของวันถัดไป
อัตราค่าธรรมเนียมนำกล้องถ่ายรูปเข้าไปภายในวัดแต่ละที่ ราคาไม่เท่ากัน
ความสนุกสนานของเด็กๆดินแดนรัฐทมิฬนาดู
วัวพาหนะศักดิ์สิทธิ์ของคนที่นี่ใช้งานได้เอนกประสงค์
มะม่วงพันธุ์ที่นี่ลูกโตมากแต่ราคาไม่ถูกเลย
มะเดือฝรั่งลูกโตแบบสดๆบรรจุในลัง
ทับทิมอินเดียราคาค่อนข้างแพง
เมืองเชนไน ทมิฬนาดู น่ารัก ผู้คนเป็นมิตร
มิได้น่ากลัวเหมือนในจินตนาการว่าคนทมิฬ คือคนดำ ใจก็ต้องทมิฬไปด้วยเสมอไป มิใช่นะ
แค่อยากจะบอกว่าขออยากให้คุณผู้อ่านเปิดใจสักนิด ยอมรับวัฒนธรรม วิถีชีวิต
ชาติพันธุ์ สีผิวที่แตกต่างจากเราบ้าง แล้วคุณก็จะเดินทางท่องเที่ยวในประเทศต่างๆ
เหล่านั้นได้อย่างเป็นสุข ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามอ่านมาตลอดครับ
บล็อกหน้าเราจะลัดฟ้าพาเที่ยวภูมิภาคคันไซ ประเทศญี่ปุ่นกันครับ
ขำขำกับรถตุ๊กๆ ก่อนกลับ เค้าไม่ได้ตั้งใจนะ
บ๊าย บาย เมืองเชนไน แล้วพบกันใหม่ที่ญี่ปุ่นจ้า
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น