วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2559

หนาวนี้ที่เลห์ลาดั๊กห์ (Juleh! Welcome to Leh) เที่ยวเลห์ เตรียมตัวให้พร้อมก่อนพิชิตหลังคาโลก แวะเที่ยวเดลลีก่อน1วัน ( Qutub Minar Dehli)

Calling from Leh!  Calling from Leh!

อะไรนะ จะไปเที่ยวเลห์ลาดั๊กห์กันเหรอ แล้วที่นั่นมีอะไรน่าเที่ยวล่ะ นอกจากสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติและทิวทัศน์ที่งดงามแล้ว เพื่อนสาวร่างท้วมของชั้นได้บรรยายถึงดอกไม้ใบหญ้าที่อาจจะพร้อมใจกันผลิบานในช่วงนั้น หิมะที่ยังละลายไม่หมด รวมไปถึงวัดแบบทิเบตที่พบเจอได้ทั่วไป เพียงแค่นั้นฉันก็หูผึ่งอยากขอติดตามไปด้วยทันที 
ดอกApricot บานที่ Nubra Valley 
ทะเลสาบปานกองแสนงดงาม

ช่วงสงกรานต์เป็นเวลาที่ช่างเหมาะแก่การไปเที่ยวแบบยาวๆของมนุษย์เงินเดือนอย่างเรามากๆ การเที่ยวที่หนาวๆเพื่อหลีกหนีอากาศร้อนๆในบ้านเรามักเกิดขึ้นเสมอ เพื่อนฉันสามารถหาตั๋ว กรุงเทพฯ-เดลลี, เดลลี-เลห์ (BKK-Delhi-Leh, Leh-Dehli-BKK)แบบไปกลับ4ขาได้ ในราคาเพียง 13,500 บาท จากสายการบินแอร์อินเดีย (Air India)ได้ พวกเราทุกคนพร้อมใจกันจองก่อนที่ราคามันจะขยับขึ้นไปไกล เพราะถ้าบินสายการบินในประเทศในช่วงนี้ราคาจะแพงหูฉี่เลยทีเดียว
จองตั๋วเครื่องบินได้แล้วก็พร้อมเดินทางกันเลยจ้า 
ตั๋วบินแบบสองขาจะต้องพิมพ์ออกมาสองใบนะจ๊ะ



ไปเที่ยวอินเดียทุกครั้งนอกจากจะต้องจองตั๋วเครื่องบินและจองโรงแรมล่วงหน้าแล้ว ต้องไม่ลืมที่จะขอวีซ่าอินเดียกันด้วยนะ ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ทำได้สบายโดยทำกับบริษัทที่รับทำวีซ่าตึกย่านอโศก ค่าทำวีซ่าอยู่ที่ 2250 บาท รวมค่าส่งตัวเล่มหนังสือเดินทางแล้ว และการเดินทางไปเมืองเลห์ไม่จำเป็นต้องระบุอะไรพิเศษในแบบฟอร์มขอวีซ่า

                การเดินทางขึ้นที่สูงทุกครั้ง ทุกคนมักจะมีปัญหาเรื่องความกดอากาศเนื่องจากเราใช้ชีวิตอยู่กับพื้นล่างมานาน การขึ้นที่สูงกว่า 3,000 เมตรแบบทันที ร่างกายต้องการการปรับตัวก่อนซึ่งถ้าไม่กินยาปรับความดันไปก่อนก็ต้องยึดหลักให้ร่างกายเคลื่อนไหวให้ช้าลง อย่ารีบเดินหรือลุกขึ้นยืนเร็วเกินไป โดยอาการเบื้องต้นของโรคแพ้ความสูง (High Altitude Sickness) เบื้องต้นที่พบคือใจจะสั่นชีพจรเต้นแรงและเร็ว บางคนอาจเวียนหัวปวดหัวหรือคลื่นไส้ได้ แต่อาการเหล่านี้จะหมดไปถ้าอยู่ที่นั่นหลายวันแล้วจนร่างกายปรับตัวจนชิน ที่สำคัญไปถึงวันแรกห้ามนอนพักเด็ดขาดให้พยายามเดินเข้าไว้
ข้อปฏิบัติตัวเมื่อเดินทางขึ้นที่สูงที่ต้องระวังไว้

     และอย่าลืมเตรียมเสื้อกันหนาว ชุดชั้นในลองจอนและผ้าพันคอหรือผ้าคลุมไหล่ให้พร้อมด้วย ถุงเท้าหนาๆและรองเท้าหนาก็ช่วยได้มาก เพราะที่เมืองเลห์ลมค่อนข้างแรง และช่วงเดือนเมษายน อุณหภูมิช่วงเช้ายังติดลบอยู่และตอนกลางวันก็ยังคงเป็นเลขตัวเดียว อย่าลืมถุงมือและหมวกด้วยนะจ๊ะ มันช่วยได้เยอะเลย บางโรงแรมที่เมืองเลห์ไฟฟ้าเดินเป็นเวลา ดังนั้นฮีทเตอร์จะไม่ได้ร้อนทั้งคืน ซึ่งตื่นมาตอนเช้าจะหนาวมากๆ
การเดินทางบางตอนมีหิมะ ดังนั้นแว่นกันแดดกับรองเท้าบู๊ตก็จำเป็น

                เตรียมตัวพร้อมแล้วก็ถึงเวลาเตรียมตัวขึ้นเครื่องกันได้แล้ว ด้วยไฟลท์ที่เราออกเดินทางของแอร์อินเดียเป็นไฟลท์เช้า เดินทางประมาณ 9 โมงเช้า ต้องไปถึงสนามบินก่อนเวลาใช้เวลาบิน สี่ชั่วโมงครึ่ง ไปถึงที่นั่นก็จะประมาณเที่ยงๆ เครื่องบินใช้ลำใหญ่ประมาณ 300 ที่นั่ง หลับไปตื่นนึงก็ถึงสนามบินอินทิราคานธีโดยสวัสดิภาพ
สามแซ่บพร้อมเดินทางแล้วค่ะ อีกหนึ่งหนุ่มแยกไปนั่งอีกที่ 
แอร์อินเดียพร้อมเสิร์ฟความบันเทิงตลอดการเดินทาง 
บินลำใหญ่ที่นั่งกว้างขวางตลอด4ชั่วโมงเต็ม 
อาหารเสริ์ฟมื้อเช้าเป็นไข่ม้วนกับขนมปังครัวซองต์จ้า 
เอกลักษณ์ของสนามบินกรุงเดลลีคือเจ้าสัญลักษณ์มือนี่แหละ

         พอก้าวออกจากสนามบินกรุงเดลลี สิ่งแรกที่เราต้องเจอคือ เหล่ารถแท็กซี่มารุมล้อมราวกับว่าเราเป็นซุปตาร์อะไรปานนั้น แต่ละคนแย่งกันมาเสนอราคาไม่ต้องห่วง แค่เราเดินหนีราคาค่ารถแท็กซี่ก็จะถูกลงเรื่อยๆๆ จนได้ราคาที่จะไปส่งเราที่โรงแรมแบบกดมิเตอร์ โดยโรงแรมที่เราพักมีชื่อว่า  Suncourt Hotel Yatri อยู่ย่าน Karol Bagh ใจกลางกรุงนิวเดลลี ค่าห้องพักคืนละ 1300 บาทโดยประมาณ ท่ามกลางรถราที่ติดขัดแสนสาหัสในบ่ายวันอังคาร แม่เจ้าใช้เวลาบนท้องถนนกว่าชั่วโมงครึ่งจึงถึงที่พัก มาพร้อมกับความหิว เหวี่ยงกระเป๋าเสร็จก็ออกไปหาของกินยามบ่ายเลย ร้านอยู่ติดกับโรงแรมมีชื่อว่า J P Chicken Corner สั่งข้าวหมกกับไก่Tikka และไก่ทันดูรีมากินซะเต็มคราบเลย
สัมภาระพวกเราเยอะจนต้องวางบนหลังคาเลยค่ะ 
เป็นอาหารอินเดียตอนเหนือที่อร่อยมากๆ 
 ไก่ย่างมาครบทั้งสองสูตร มีปลาทอดและข้าวหมกด้วย
โฉมหน้าของร้าน JP Chicken จ้า

เรานั่งรถไฟฟ้าจากสถานี Karol Baghไปยังสถานี กุตับ มินาร์ (Qutab Minar) ไกลจากโบราณสถานประมาณ 1กิโลเมตร เราต้องนั่งรถตุ๊กๆไปลงที่กุตับมินาร์ ซึ่งอยู่ห่างออกไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร ค่าโดยสาร 50 รูปี เมื่อถึงแล้วให้เดินข้ามถนนกลับมาซื้อตั๋วเข้าชมในราคาสมาชิก BIMSTEC นั่นคือ 10 รูปี เหมือนกับสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังตามที่ต่างๆ โบราณสถาน Qutab Complex เป็นการเข้ามาของวัฒนธรรมอิสลามในยุคตอนต้น เป็นที่ตั้งของหอสูงกุตับมินาร์ Qutab Minar ซึ่งในสมัยค.ศ. 1200 ถือว่าเป็นสิ่งก่อสร้างที่สูงมาก เด่นที่สุดในกรุงเดลี สร้างในสมัยสุลต่าน Qutab-ud-din-Aibak ซึ่งเป็นผู้นำชาวมุสลิมที่เข้ามายึดครองอินเดียในยุคแรก
ป้ายทางเข้า Qutub Minar 
สถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาอิสลามคือหลังคายอดโดม 
สตรองกันให้เต็มที่กับศิลปะแบบโมกุล 
หอสูงที่ปัจจุบันห้ามคนขึ้นไปแล้ว

หอคอยโบราณนี้สร้างขึ้นด้วยหินทรายสีแดงสูง 72.5 เมตร ฐานล่างกว้างและค่อยแคบลงจนถึงจุดสูงสุด ตรงกลางเป็นโพรงมีบันไดเวียนขึ้นไปชั้นบน แต่ก่อนเปิดให้เข้าชม ต่อมามักมีคนไปกระโดดหอเพื่อฆ่าตัวตายบ่อยครั้งเข้า เขาก็เลยปิดไม่ให้ขึ้นไปโดยปริยาย  ใกล้กันกับหอคอยกุตับมินาร์ ยังมีหอคอยอีกแห่งที่สร้างไม่เสร็จ คงเหลือแต่ซากปรักหักพังคงไว้ที่ฐาน
สาวๆอินเดียในชุดส่าหรีสีสันสดใส 
กลุ่มโบราณสถานที่เป็นสุสานของที่นี่ 

จุดนี้เป็นกลุ่มโบราณสถานที่ยังสร้างไม่แล้วเสร็จ

                รอบๆหอคอยยังคงมีซากปรักหักพังของมัสยิดหลังแรกของอินเดียที่มีชื่อว่า Quwwatul-Islam Masjid ซึ่งสร้างขึ้นก่อนหอคอยกุตับมินาร์เสียอีก มีลวดลายแกะสลักบนเสาและผนังที่น่าตื่นตาตื่นใจ บางส่วนก็ได้รับการบูรณะฟื้นฟูแล้ว เดินลึกเข้าไปในสุดเป็นที่ตั้งของสุสานมุสลิม ภายในมีแท่นหินอ่อนวางอยู่ คนอินเดียเมื่อเดินผ่านก็จะสักการบูชาด้วยการเอามือแตะหีบศพ แล้วกลับไปแตะหน้าผากตนเอง

เสาแกะสลักที่ยิ่งใหญ่และงดงาม

            โบราณสถาน Qutab Complex นั้นกว้างใหญ่มาก หากจะเดินให้ทั่วจริงๆ คุณจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ชั่วโมง เพราะมีจุดให้แวะชมแวะถ่ายรูปเยอะมาก เยอะจนทำให้เราต้องตัดรายการท่องเที่ยวบางรายการออกไป เอาเป็นว่าพวกเราได้ชมพระอาทิตย์ตกดินกันที่นี่เลย ก่อนที่จะนั่งรถแท็กซี่กลับไปที่สถานีรถไฟฟ้าเพื่อนั่งรถกลับไปยังโรงแรม Suncourt Hotel Yatri เพื่อพักผ่อนก่อนที่จะต้องตื่นแต่เช้ามืดเพื่อไปสนามบินอินทิราคานธี เพื่อนั่งเครื่องไปเมืองเลห์
บนรถไฟฟ้ากรุงเดลลียามคนเลิกงานคนแน่นเนืองนอง 
สถานีรถไฟฟ้าที่นี่กว้างขวางแต่ยังล้าสมัยหลายจุดเลย
โรงแรมที่เรานอนพักคืนแรก
บรรยากาศภายในห้องพักแอร์เย็นฉ่ำ 
บริเวณหน้าล้อบบี้โรงแรม

พรุ่งนี้แล้วสิเราจะได้เดินทางไปเปิดหูเปิดตาเมืองเลห์ พิชิตอาการแพ้ความสูงกันครับ จะรอดหรือไม่รอดติดตามตอนต่อไปกัน





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น