วันเสาร์ที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2560

หนาวนี้ที่เลห์ลาดั๊กห์ ตะลุยเมืองเลห์วันแรก เที่ยวแบบ One day pass, Hemis, Thiksay, Shey Palace

           

      นอนยังไม่เต็มอิ่มก็ต้องตื่นก่อนตีสี่ เพื่อเดินทางไปสนามบินอินทิราคานธี (Indhira Gandhi International Airport) อีกรอบ นั่งเครื่องของสายการบินแอร์อินเดียไปลงที่สนามบินเลห์ (Leh) เครื่องออกประมาณ 7 โมงเช้า ใช้เวลาเดินทางประมาณชั่วโมงครึ่ง เขาใช้ลำเล็กบินพร้อมอาหารมื้อเล็กๆให้บริการ ความพิเศษของเที่ยวบินขาไปนี้คือ เมื่อเราบินผ่านเทือกเขาคาราโครัม (Karakoram) เหมือนกับว่าเทือกเขาเหล่านั้นมันอยู่ใกล้เรามาก ทั้งที่เราบินสูงแล้ว ทุกยอดเขามีหิมะปกคลุม ดูแล้วเหมือนก้อนน้ำตาลไอซิ่งมากๆ เมื่อกับตันได้ประกาศผ่านไมค์ว่า “ขณะนี้เรากำลังบินผ่านเทือกเขาบลา บลา บลา” ทำให้ทุกคนต่างนั่งชะโงกมองวิวที่หน้าต่างกันหมด ทั้งลำส่วนใหญ่เป็นคนอินเดีย
มองออกไปเหมือนภูเขาอยู่ใกล้เรามากเลยล่ะ

         พอเครื่องร่อนลงจอดที่สนามบินเลห์เท่านั้นแหละ อารมณ์มันเหมือนกับว่าร่อนลงจอดบนโลกพระจันทร์อย่างนั้นเลย เมืองอะไรไม่มีต้นไม้เลย แห้งแล้งมีแต่ก้อนกรวดกับเทือกเขา แถมเราได้เดินลงบันไดจากเครื่องด้วย สัมผัสแวบแรกคือลมหนาวเย็นยะเยือกและอากาศเบาบางมาก หลายคนยกโทรศัพท์ขึ้นมาเซลฟี่กันใหญ่เลย รวมไปถึงแก๊งเราด้วย

เรามากับแอร์อินเดียลำนี้จ้าเป็นเครื่องลำเล็กใช้บินภายในประเทศ

           สนามบินที่นี่มีชื่อเรียกยาวมาก เป็นภาษาลาดั๊ก (Ladhakki) ให้เราอ่านก็อ่านไม่ออก ชื่อเต็มคือ Kushok Bakula Rinpoche Terminal Leh เลยขอเรียกสั้นๆว่าสนามบินเลห์ก็แล้วกัน ที่นี่ติดป้ายเตือนเรื่องสุขภาพก่อนที่จะออกไปเผชิญโลกกว้างให้ระวังโรค Altitude sickness หรือโรคแพ้ความสูงที่เกิดจากอากาศเบาบาง และความกดอากาศที่น้อยเกินไป อาจทำให้บางคนมีอาการไม่สบายในท้อง เวียนหัวและคลื่นไส้ ใจเต้นตูมตาม ให้ค่อยๆ เคลื่อนไหวร่างกายช้าๆ เพราะจะเหนื่อยง่าย เราคนพื้นล่างจะไม่ชินกับสภาพแบบนี้ อยู่ไปสัก2วันอาการเหล่านี้ก็จะหายไปเอง ถ้าร่างกายปรับตัวได้
สนามบินเมืองเลห์ชื่อยาวมากๆ 
ลามะหนุ่มที่นี่ท่ายืนแกเท่ห์มากเลย 
ป้ายเตือนข้อควรปฏิบัติด้านสุขภาพขณะที่พักอยู่เมืองเลห์ 
สนามบินเล็กเลยมีช่องสายพานแค่นี้

       การหาที่พักในเมือง Leh นั้นหาไม่ยาก เพราะเราเดินทางมาเดือนเมษายน ยังไม่ใช่ฤดูท่องเที่ยวของที่นี่ เลยไม่ได้จองล่วงหน้าไป แต่ถ้าช่วงที่อากาศดีที่สุดจะเป็นฤดูร้อนคือเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคมที่พักจะเต็มไปหมด ถ้ามาช่วงนี้ต้องจองล่วงหน้านะจ๊ะ เราออกมาจากสนามบินก็มีโชเฟอร์เสนอตัวจะพาไปหาที่พักให้ ซึ่งโรงแรมในเมืองเลห์นั้นจะอยู่ใจกลางเมืองและรายรอบหุบเขาไปไม่ไกลนัก และเขาก็พามาส่งที่เกสต์เฮ้าส์เล็กๆ ที่หนึ่ง ห้องพักค่อนข้างใหญ่มีห้องน้ำในตัว มีฮีตเตอร์ให้บริการ ค่าที่พักคืนละ 1300 รูปี มีชื่อว่า Dolma Guesthouse 
อินดี้ระหว่างทางไปที่พักจ้า 
พี่เรย์คือผู้โชคดีที่ได้ให้บริการกลุ่มเราจ้า 
อาคารของ Dolma เกสท์เฮ้าส์ สไตล์ทิเบตน้อย 
ภายในห้องพักตกแต่งสวยงาม

คืนนี้เรานอนกันที่นี่นะ

        เอาข้าวของเหวี่ยงลงเตียงเสร็จก็ต้องออกเดินทางต่อกันแล้วเพราะเราได้มีนัดกับโชเฟอร์ ขอเรียกสั้นๆว่าพี่เรย์ก็แล้วกัน ให้มารับแล้วพาเที่ยวแบบ one-day tour ซึ่งก็ไม่เต็มวันแล้วล่ะ เพราะกว่าจะออกเดินทางกันก็เลยเที่ยงไปแล้ว หลังจากที่ฝากท้องกับร้านคุณป้าเสร็จ เราก็ออกรถกันไปเลย ซึ่งวันนี้เขาพาเราไปได้แค่3ที่ คือ Hemis Monastery, Thiksay Monastery , Shey Palace ซึ่งเป็นวัดและวังสถาปัตยกรรมแบบทิเบตที่เราจะได้พบเห็นทั่วไป ในราคาทัวร์เหมาจ่ายประมาณ 1800 รูปี
ร้านอาหารที่เราฝากท้องมื้อง่ายๆเที่ยงนี้ 
ต้นฤดูใบไม้ผลิ ต้นไม้ก็ยังมีแต่ก้านแบบนี้แหละ 
ความสุขของหมาที่นี่คือการได้นอนผึ่งแดดคับ 

วัวที่นี่ก็มีอิสระเสรี เดินไปได้ทุกที่คับ

       พอล้อเริ่มหมุน รถแวนขนาดเล็กเริ่มวิ่งโขยกไปตามทางลาดลงเขาจากที่พักผ่านใจกลางเมือง แล้วเริ่มแล่นสู่นอกเมือง ถนนหนทางดีเป็นบางช่วง บางช่วงก็เหมือนกับโลกพระจันทร์ ทิวทัศน์สองข้างทางไม่มีต้นไม้เลย แห้งแล้งมากเราอดคิดไม่ได้ว่านี่เราอยู่บนดาวเคราะห์ดวงอื่นรึเปล่า พี่เรย์เค้าจะพาเราไปยังวัดที่ไกลที่สุดของวันนี้ก่อนคือ Hemis Monastery  


ขอตะลอนทัวร์อินดี้ต่อนะจ๊ะ 
ทิวทัศน์ระหว่างทางก่อนถึงวัดแรก


           วัดเฮมิส Hemis Monastery อยู่ห่างจากเมืองเลห์ประมาณ 37 กิโลเมตร แต่ใช้เวลาขับประมาณชั่วโมงกว่าเพราะว่าเป็นทางขึ้นเขาที่ลาดชัน วัดเฮมิสเป็นศาสนสถานพุทธนิกายมหายานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในแคว้นลาดักห์ มีพระสงฆ์อยู่จำวัดเป็นจำนวนมาก ข้างในมีขนาดใหญ่โตมาก มีอาคารหลายหลังไล่ไปตามชั้นเขา ต้องใช้ทั้งกำลังขาและบริหารปอดในการเดินขึ้นแต่ละก้าว บางทีเราอาจจะรู้สึกเหนื่อยได้ง่ายกว่าเดินขึ้นเขาในที่ราบ วัดในลาดักห์ส่วนใหญ่จะสร้างอยู่บนเขาให้สูงกว่าตัวเมืองทั่วไปเสมอ และทุกวัดจะมีธงมนตร์ หรือทังก้า (Thanka)แขวนอยู่ พร้อมกับกงล้อสวดมนต์ให้ออกแรงหมุนอยู่เสมอ โดยชาวทิเบตมีความเชื่อว่า หากได้หมุนกงล้อได้1รอบ เท่ากับว่าเราได้สวดมนต์ไปแล้ว 40000 จบ ซึ่งบางวัดมีกงล้อสวดมนต์ที่มีขนาดใหญ่กว่าคนจริงเสียอีก จะหมุนได้1รอบเราก็ต้องวิ่งวนไปตามกงล้อด้วย
กงล้อสวดมนต์ขนาดยักษ์ที่ต้องอาศัยแรงในการหมุน 
ที่จอดรถของทุกวัดมักจะอยู่ด้านล่าง ทุกคนต้องเดินไต่ต่อไปนะ 
พี่เรย์เค้าจะรอพวกเราข้างล่างนี่แหละ 
ประวัติความเป็นมาของวัดเฮมิส 

สำนักสงฆ์ที่ใหญ่โตนี้มีอาคารเรียนด้วยนะ 
เสาธงที่นี่สูงมากจริงๆ 
ลวดลายตามช่องสวยจริงๆ 
ลามะหนุ่มเหลือน้อยทำกิจกรรมแก้หนาว 

พระสงฆ์ที่นี่มีจำนวนมากเพราะเป็นโรงเรียนด้วย 
บ้านเรือนที่นี่หน้าตาจะคล้ายกันหมด 
ภาพวาดสวยงามบนถนน
ถ้าไม่มีแรงหมุนกงล้อใหญ่ มาหมุนตัวเล็กก็ได้บุญเหมือนกัน

          รถวิ่งลงจากเขากลับไปยังเส้นทางเดิมที่ผ่านมา วันนี้แดดแรงก็จริงแต่ข้างนอกยังคงหนาวมาก อุณหภูมิเลขตัวเดียวแน่นอน จนมาถึงวัดที่สองที่ทาตัวอาคารด้วยสีขาวแบบทิเบต มองเห็นจากด้านล่างอย่างชัดเจน วัดทิกเซย์ (Thiksay Monastery) น่าจะเป็นวัดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของที่นี่แล้วล่ะ ที่นี่เป็นทั้งสำนักสงฆ์ โรงเรียน และที่สำคัญภายในประดิษฐานพระศรีอริยเมตไตรยองค์โตมาก สูงประมาณ15 เมตร จนที่นี่ต้องทำอุโบสถสองชั้น ไม่รู้ว่าจะต้องถ่ายรูปองค์ท่านยังไงให้เห็นทั้งองค์ จนปัญญาจริงๆ ด้วยความที่เป็นวัดที่ใหญ่โตมากจึงต้องเดินขึ้นเนินมาก เราแนะนำให้มือใหม่ค่อยๆเดินขึ้นไปเก็บภาพชมความงามที่ละชั้นจะดีกว่า พักให้หายเหนื่อยก่อนแล้วค่อยเดินขึ้นชั้นต่อไป

มองจากวัดทิกเซย์ลงไปมีนาขั้นบันไดด้วย 
สถานพยาบาลและร้านขายยาประจำวัด 
กุฏิสงฆ์และอาคารของวัดทิกเซย์

สถูปและกงล้อที่วัดนี้สวยงามไม่แพ้วัดที่แล้วเลย 
สิ่งที่โดดเด่นกว่าคือภาพจิตรกรรมฝาผนังในสภาพสมบูรณ์ 
อาคารวัดทิกเซย์ 
ภายในอุโบสถนี้มีพระศรีอริยเมตไตรยประดิษฐานอยู่ 
ความงดงามของพระศรีอริยเมตไตรยที่ถ่ายมาได้แค่ครึ่งองค์

ภาพวาดแบบพุทธนิกายวัชรญาณ 
ภาพท่านลามะที่ชาวลาดักห์ให้ความเคารพ 
ความแห้งแล้งของแอ่งที่ราบหลังเทือกเขา 
สถูปทั้งสามท่ามกลางลมพัดตึง 

        และก็ถึงที่สุดท้ายของวันนี้ พวกเราในสภาพที่ขาเริ่มล้าเต็มที พ่อเรย์พาพวกเรามายังพระราชวังเชย์ (Shey Palace) ที่แต่ก่อนเคยเป็นพระราชวังหลวง อยู่ห่างจากเมืองประมาณ 15 กิโลเมตร สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1650 โดย พระเจ้า Deldan Namgyel มีเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่นี่ รอกจากนี้ภายในวัดที่อยู่ในเขตพระราชวังนี้ ยังเป็นที่ประดิษฐานของพระศากยมุณีอีกด้วย แต่น่าเสียดายที่อุโบสถปิด เพราะพวกเรามาเย็นเกินไป งานนี้เลยอดอีกแล้ว ขอเก็บภาพแสงสุดท้ายของวันและแนวธงมนต์ที่ยาวเป็นสายต้องลมยามลมหนาวพัดก่อนกลับละกัน
ประวัติความเป็นมาของพระราชวังเชย์ 
บริเวณลานก่อนขึ้นพระราชวัง 
ทุกวันนี้เรายังแปลกใจว่าเค้าตะกายขึ้นไปสร้างพระราชวังกันได้อย่างไร 
มุมที่ทุกคนไม่ควรพลาดในการถ่ายรูปนะจ๊ะ 

พระราชวังเชย์ปัจจุบันไม่มีสีทาอื่นๆ หลงเหลืออยู่แล้ว 
กลุ่มสถูปที่อยู่เหนือพระราชวังขึ้นไป 
กลุ่มธงมนต์ หรือทังก้ายามต้องลม 
ธงมนต์ยามต้องแสงสุดท้ายของวัน


กลุ่มสถูปสีขาวบนยอดเขา

      พวกเรากลับมาถึงที่พักก็มืดค่ำพอดี จะให้ออกไปเดินตลาดเย็นก็ไปไม่ไหว ร่างกายยังปรับตัวไม่ได้ เย็นนี้เลยต้องฝากท้องไว้กับร้าน Lamayuru ร้านอาหารนานาชาติใกล้ที่พักไปก่อน พรุ่งนี้คณะเราจะต้องซื้อทัวร์เพื่อเดินทางไปยังหุบเขานูบรา (Nubra Valley) ซึ่งจะต้องค้างคืน 1คืน ในราคาเหมาจ่ายคันละประมาณ 12000 รูปี 
ร้านนี้ทำกาแฟและขนมปังอร่อย 
อาหารนานาชาติ อาหารฝรั่งต้องร้านนี้ แต่ห้ามสั่งอาหารไทยนะ
อาหารทิเบตมื้อแรกของที่นี่คือ Tukpa ก๋วยเตี๋ยวน้ำแบบจืดๆ กินกับชาเนยจามรี










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น