วันพุธที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2554

แบกเป้เที่ยวพะโค ตอนที่ 1 ชมพระธาตุไจ่ปุ๊น พระพุทธรูป 4หน้า แวะโรงเรียนสอนธรรมะ และชมระบำพื้นเมืองรำถวายนัต (Kyaikpun Temple)

       
               เช้าวันนี้ทางโรงแรมโอกินาว่าทำอาหารเช้าให้ทานเป็นมะตะบะไข่ หน้าตาน่าทานเชียว เมื่อกัดลงไปแล้วเนื้อนุ่มและหอมมากๆ ไม่มีความคาวเลยสักนิด ทานเสร็จเราก็พร้อมออกเดินทางอีกครั้งหนึ่งด้วยพาหนะพร้อมคนขับคู่ใจคนเดิม แต่เหมือนวันนี้รถจะไม่ค่อยเป็นใจให้เดินทางด้วยว่าเกิดอาการติดๆดับๆบ่อยครั้ง จนคนขับรถเริ่มหัวเสียตระเวนขับรถไปตามช่างซ่อมรถเสียรอบเมือง แต่ความพยายามต่างๆก็ไร้ผลไม่มีช่างอยู่ตามอู่บ้างเลย พวกเราต้องคอยปลอบใจเค้าว่าอย่าไปคิดมากอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ถ้าเราคิดดีทำดีอุปสรรคต่างๆย่อมกลายเป็นเรื่องเล็ก คนขับเริ่มใจเย็นลงแล้วบอกกับเราว่าจะพยายามประคับประคองรถให้ไปตลอดรอดฝั่งให้จงได้
มะตะบะไข่สุดอร่อย อาหารเช้าของโรงแรม

                รถเลี้ยวเข้าเติมน้ำมันในสถานีบริการแห่งหนึ่ง เราควักกล้องขึ้นมาถ่ายราคาน้ำมันโดยลืมไปเสียสนิทว่าที่นี่เขาห้ามถ่ายภาพภายในสถานีบริการน้ำมันทุกชนิด จนเด็กปั๊มร้องห้ามช้าไปเสียแล้ว เราถ่ายติดออกมาเต็มๆเลย
 อีกหนึ่งสถานที่ต้องห้ามในการถ่ายรูปนั่นคือสถานีบริการน้ำมัน

หัวจ่ายบอกราคาไว้เสร็จสรรพ

                เมืองพะโค (Bago) ตั้งอยู่ทางเหนือของกรุงย่างกุ้งขึ้นไปประมาณ 80 กิโลเมตร การเดินทางที่สะดวกที่สุดคือการเช่ารถแท็กซี่แบบพร้อมคนขับและการนั่งรถประจำทางครับ แต่ขอแนะนำให้ใช้วิธีแรกจะดีกว่า เพราะสถานที่ท่องเที่ยวบางจุดก็ไม่มีรถโดยสารวิ่งผ่าน นั่งรถหลายต่อขี้คร้านราคาจะพอๆกัน
 สภาพท้องถนนเมืองพะโคในยุคปัจจุบัน
บางจุดของเมืองพะโคได้กลายเป็นถนนสายแฟชั่น

                เมืองพะโค (Bago) หรือชื่อเดิมคือเมืองหงสาวดี ซึ่งประวัติความเป็นมาของชื่อเมืองหงสาวดี นั้นเริ่มจากปีพ.ศ. 2116 มีเจ้าชายชนชาติมอญ 2พระองค์ ทอดพระเนตรเห็นหงส์ตัวเมียเกาะอยู่บนหงส์ตัวผู้กลางทะเลสาบ และคิดว่าภาพที่เห็นเป็นนิมิตที่ดี จึงได้สถาปนาราชธานีขึ้น แล้วขนานนามว่า เมืองหงสาวดี หรือเมืองพะโคในปัจจุบัน โดยใช้หงส์สองตัวเป็นสัญลักษณ์ของเมืองจนถึงทุกวันนี้
                ภายหลังจากที่อาณาจักรพุกามเสื่อมลง ชาวมอญทางตอนใต้ที่เมืองเมาะตะมะได้ตั้งตนเป็นใหญ่ มีกษัตริย์ปกครองพระองค์แรกคือ มะกะโท หรือพระเจ้าฟ้ารั่ว นั่นเอง พระองค์ได้สถาปนาเมืองหงสาวดีเป็นราชธานีของรัฐมอญ จนกระทั่งพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ กษัตริย์พม่ายกทัพมารุกรานและยึดครองได้ในที่สุด และสถาปนาขึ้นเป็นเมืองศูนย์กลางอำนาจของราชวงศ์ตองอู เจริญรุ่งเรืองสุดขีดในสมัยพระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งในยุคนั้นได้มีการสร้างพระราชวังอย่างยิ่งใหญ่  ก่อนที่จะย้ายเมืองหลวงไปอยู่กรุงอังวะแทน เพราะเมืองหงสาวดีถูกพวกชนชาติยะไข่เผาทำลาย
รถบรรทุกคนแบบปลากระป๋องยังคงมีให้เห็นเสมอในพม่า

วัดพระธาตุไจ่ปุ๊น (Kyaikpun Temple) คือจุดหมายแรกที่แวะจอด หลังจากที่นั่งรถจากย่างกุ้งมาร่วมสองชั่วโมง จุดเด่นของวัดไจ่ปุ๊นคือ พระพุทธรูปสี่หน้า ว่ากันว่าสร้างขึ้นมาอายุกว่า 500 ปี ผู้สร้างคือพระธรรมเจดีย์ เมื่อปี พ.ศ. 2019 ลักษณะเจดีย์เป็นแกนทึบสี่เหลี่ยมตรงกลางและมีพระพุทธรูปปางมารวิชัยล้อมรอบทั้งสี่ทิศ ซึ่งสูงกว่า 30 เมตร พระพุทธรูปทั้งสี่นั้นแทนองค์สมเด็จพระสมณโคดม พระโกนาคมน์ พระกกุสันธะ และพระกัสสปะ
 ด้านหน้าของวัดพระธาตุไจ่ปุ๊นไม่มีผู้คนเลย
พระพุทธรูปปางมารวิชัยทั้งสี่ทิศ

                เคยมีตำนานเล่าว่า พระธิดากษัตริย์ทั้งสี่องค์ของกษัตริย์มอญที่อุทิศตนแก่พระศาสนา จึงสร้างพระพุทธรูปแทนตนเอง และสาบานไว้ว่าจะไม่แต่งงาน แต่ธิดาองค์สุดท้องก็ได้ผิดคำสาบานด้วยการไปแต่งงานมีครอบครัวจึงเกิดอาเพศขึ้น บางตำนานได้เล่าว่าเกิดฟ้าผ่าลงมาที่องค์พระที่ธิดาองค์สุดท้องสร้างขึ้นจนพังทลาย บ้างก็ว่าพังทลายจากแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2473
หน้าองค์พระไจ่ปุ๊นก็มีพระประจำวันเกิดให้สรงน้ำเช่นเดียวกันกับวัดอื่นๆ

วิหารเทพทันใจสำหรับผู้ที่ต้องการขอพรแบบเร่งด่วน

                อย่างไรก็ตามพระพุทธรูปทิศที่พังทลายก็ได้มีการบูรณะฟื้นฟูกันใหม่ ซึ่งจะมีลักษณะใหม่แปลกตาจากองค์อื่นๆ เพราะเป็นพระพุทธรูปศิลปะแบบพม่า ที่วัดแห่งนี้มีจุดให้บริการแก่นักท่องเที่ยวเขียนเป็นภาษาไทยสำหรับค่าเข้าชมและค่ากล้อง โดยค่าธรรมเนียมนำกล้องเข้าสำหรับชาวต่างชาติ 300 จ๊าด และค่ากล้องวีดิโอ 500 จ๊าด  นอกจากนี้ยังมีบัตรเข้าชมสถานที่สำคัญ 4 แห่ง ภายในวันเดียว ราคา 10 ดอลล่าร์ สามารถเข้าชมวัดไจ่ปุ๊น วัดพระธาตุชเวมอดอว์ (พระธาตุมุเตา) วัดพระนอนชเวตาเหลียว และพระราชวังบุเรงนอง โดยสามารถเข้าชมได้ตลอดทั้งวันสำหรับสถานที่สี่แห่งนี้
ทำบัตรชมสถานที่ท่องเที่ยวทั้งสี่แห่งของเมืองพะโคได้ที่นี่
ค่าธรรมเนียมการนำกล้องเข้าไปถ่ายรูปสถานที่

                เนื่องจากไม่ใช่ช่วงเทศกาลท่องเที่ยว วัดแห่งนี้จึงมีแต่เราสองคนเท่านั้นที่เข้าไปสักการบูชา ประมาณว่าวัดนี้เปิดไว้เพื่อต้อนรับเราแค่สองคน ซุ้มศาลาด้านหนึ่งของวัดมีเทพทันใจไว้ให้ผู้คนเข้าไปกราบไหว้ขอพรด้วย เมื่อเดินลงมาด้านล่างก็จะพบกับร้านขายของที่ระลึกพวกงานไม้แกะสลัก รองเท้าแตะ และเครื่องสำอางทาหน้าที่เรียกว่า ทานาคา (Thanaka)
 ของที่ระลึกจำพวกงานไม้แกะสลักวางขายหน้าวัด
ท่อนไม้ทานาคาขายแบบดิบๆ ให้เอาไปฝนแป้งเอง

พ่อค้ากำลังเชียร์ขายแป้งทานาคา

ทานาคา (Thanaka) เป็นแป้งที่ได้มาจากการฝนจากไม้ทานาคา ให้ผงแป้งสีเหลืองนวล เมื่อจะนำมาใช้หากเป็นท่อนไม้ทานาคาดิบให้นำไปฝนกับแท่นหินเพื่อให้ผงทานาคาหลุดออกมา จากนั้นค่อยนำไปผสมกับน้ำเพื่อทาหน้าดังรูป หากไม่อยากเสียเวลาฝนก็จะมีแป้งทานาคาที่ฝนแล้วเป็นตลับให้ควักแล้วนำไปผสมน้ำ และยังมีแท่งทานาคาแบบชอล์กอีกด้วย วิธีใช้ก็ยิ่งง่ายกว่าเดิมแค่นำปลายชอล์กไปจุ่มน้ำแล้วหยิบขึ้นมาแต้มปาดที่ข้างแก้มได้เลย  ซึ่งแป้งทานาคานั้นจะปรากฏบนใบหน้าของสตรีพม่าเท่านั้น หนุ่มๆ อย่าเผลอเอาไปทานะไม่เช่นนั้นจะถูกเข้าใจผิดแน่ๆ และสตรีพม่าเขาก็แต้มทานาคาแค่พวงแก้มทั้งสองข้างเท่านั้น ไม่ค่อยจะมีใครทาทั้งหน้าเท่าไหร่ เพราะสีแป้งนั้นเหลืองอร่ามมากๆ
 เด็กสาวสาธิตการฝนไม้ทานาคากับแผ่นหิน
ใบหน้าที่แต้มทานาคาแบบชอล์กจะเป็นขีดแบบนี้

เสร็จจากวัดพระธาตุไจ่ปุ๊น พ่อคนขับพาพวกเราไปยังโรงเรียนนักธรรมแห่งหนึ่ง ที่นี่ไม่ใช่วัดไจ๊ก์คัดไวที่ใครๆก็ไปกัน หากแต่ที่นี่เงียบสงบกว่ามาก มีพระภิกษุและสามเณรเรียนหนังสือกันที่นี่โดยมีอาจารย์ผู้สอนเป็นพระภิกษุ การเรียนการสอนที่นี่เน้นการอ่านออกเสียงให้ดังๆ คล้ายกับว่าเมื่อได้อ่านออกเสียงแล้วสมองก็จะจดจำได้ดียิ่งขึ้น
พระภิกษุผู้เป็นทั้งอาจารย์และพระกำลังสอนหน้าชั้น

เหล่านักเรียนสามเณรน้อยกำลังอ่านออกเสียงเป็นภาษาพม่า

หนังสือเรียนของเณรจัดวางอย่างเป็นระเบียบ
เมื่อการเรียนการสอนเสร็จสิ้นลงในช่วงสิบเอ็ดโมง ก็ถึงเวลาที่ท่านทั้งหลายจะต้องฉันเพล ท่านเหล่านั้นจะต้องไปอาบน้ำที่โรงอาบน้ำก่อนแล้วเปลี่ยนสบงจีวรกลับมานั่งอย่างพร้อมเพรียงกันที่โรงอาหาร ซึ่งทุกท่านจะฉันเพลพร้อมกันโดยไม่มีเสียงสนทนาใดๆระหว่างเพลมื้อนั้นเลย  นับเป็นการฝึกพระวินัยที่ไม่แพ้ชายชาติทหารเลยทีเดียว
 หลังจากอาบน้ำเสร็จก็มุ่งหน้าสู่โรงอาหารเพื่อฉันเพลทันที
ทุกท่านฉันเพลโดยพร้อมเพรียงกันอย่างเป็นระเบียบ

หลังจากนั้นคุณไกด์ผู้ใจดีได้ขับรถพาพวกเรามาวัดอีกแห่งหนึ่งซึ่งเป็นวัดพื้นเมืองชื่อวัด Hinthakone Hill หรือวัดฮินต่ากงอยู่ในเขต Hanthawaddy เมืองพะโค เมื่อรถจอดที่หน้าวัดเราได้ยินเสียงคนตรีและเสียงขับร้องคล้ายการร่ายรำ เค้าบอกว่าที่นี่จัดงานประจำปีอยู่ เป็นงานฟ้อนถวายนัต (เทวดา) ที่ปกปักษ์รักษาวัดแห่งนี้ มิน่าล่ะ เราจึงเห็นชาวบ้านทั้งใกล้และไกลเหมารถใหญ่กันมาเต็มคันรถคล้ายงานทอดผ้าป่าบ้านเรา วัดแห่งนี้สร้างขึ้นบนเนินเขาสูง เราต้องขึ้นบันไดไปไกลพอสมควร
ทางขึ้นวัดมีตู้รับฝากรองเท้าและบริการน้ำดื่มจากหม้อดินคล้ายกับภาคเหนือของเรา

ฝนใกล้ตกเมื่อมองจากวัดจะเห็นเจดีย์ชเวมอดอว์เหลืองอร่าม

สาวประเภทสองร่ายรำตามแบบนาฏศิลป์พม่า
เมื่อขึ้นไปจนสุดเราได้เห็นศิลปะการร่ายรำแบบพม่า มารู้ทีหลังว่านี่คือการรำฟ้อนถวายนัต ผู้รำเป็นสาวประเภทสองทั้งหมด หน้าพิธีมีเครื่องเซ่นบูชามากมายเป็นผลไม้และขนมหวานทั้งหมด  ทำนองเพลงฟ้อนรำนั้นค่อนข้างโหยหวนจนบางครั้งฟังแล้วน่ากลัว เสียงกลองประโคมดังและถี่สอดรับกับเสียงร้อง เครื่องดนตรีก็ดูคล้ายกับเครื่องดนตรีของไทย ที่ผ้าโพกศรีษะของนางรำมีธนบัตรต่างๆเสียบอยู่ด้วย คุณเจ๊ชอบใจเลยนำแบ๊งค์ดอลล่าร์ไปเสียบด้วยเหล่านางรำดีใจกันใหญ่ พวกเธอร่ายรำสลับดูดยาเส้นมวนกลาง เราดูอยู่ได้ไม่นานฝนก็ตกลงมาห่าใหญ่ มืดมิดชนิดที่มองไม่เห็นบ้านเรือนภายนอกเลย เราต้องรอจนฝนซาแล้วจึงค่อยเดินลงบันไดเพราะกลัวลื่นเพื่อลงไปที่รถของเราด้านล่าง
วงดนตรีคล้ายกับดนตรีของไทย ผิดแต่ว่าชิ้นใหญ่มาก

เหล่านางรำจะมีผู้กำกับนาฏศิลป์ด้วย

 การบูชานัตหรือเทวดาจะบูชาด้วยการฟ้อนรำรวมไปถึงผลไม้และขนมหวาน

อุโบสถหลักของวัดแห่งนี้
ฝนตกหนักจนน้ำท่วมขังเมืองพะโคเป็นบางจุด คนขับกำลังพาพวกเราเลือกร้านอาหารซึ่งมีอยู่หลายร้าน บางร้านน่านั่งทานแต่ติดที่น้ำท่วม บางร้านก็แลไม่สะอาด สุดท้ายก็มาลงเอยที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งซึ่งขายอาหารสไตล์จีน พวกเราเลยสั่งข้าวผัดไก่ และหมี่ผัดไก่มาอย่างละจาน เพราะที่นี่เค้าทำอาหารกันจานใหญ่มาก และผัดมาชนิดน้ำมันท่วมจานเลย รสชาติจึงไม่อร่อยเท่าที่ควร แต่ได้น้ำซุปร้อนๆ ซดแก้เลี่ยนได้บ้าง สนนราคาอาหารมื้อนี้ 5,700 จ๊าด

 เราต้องเชิญคนขับแสนใจดีมาร่วมรับประทานด้วย
ข้าวผัดไก้ตามสไตล์พม่าพร้อมน้ำซุปและอาจาดเป็นเครื่องเคียง 
หมี่ผัดไก่ก็มากับน้ำซุปและอาจาดเช่นกัน

 
ตอนต่อไปจะพาทุกท่านชมพระราชวังบุเรงนองที่สร้างขึ้นมาใหม่จากฐานเดิม วัดพระธาตุมเตาและพระนอนชเวตาเหลียวครับ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น