วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554

อินเดีย ใครๆก็ไปได้ ตะลุยกัลกัตตาแบบไม่ง้อทัวร์ ตอนที่6 เที่ยวละไมเมืองกัลกัตตา ชมสะพานแลสถานีรถไฟในย่าน Howrah

                พวกเราเที่ยวเพลินจนลืมดูเวลา อ้าวติดเที่ยงอีกแล้วแต่พวกเราไม่มีใครหิว สงสัยโรตีทอดหน้าวัดยังคงแน่นท้องอยู่ เพื่อไม่ให้เสียเวลาท่องเที่ยวพวกเราต้องกากบาทเลือกสถานที่ที่ไม่ใช่วัดและต้องเป็นสถานที่ที่เปิดตลอดเวลาซึ่งก็เหลือแต่ Howrah Bridge และ Howrah Station ซึ่งคือสะพานอันยิ่งใหญ่กับสถานีรถไฟอินเดียขนาดมหึมานั่นเอง

             เราต้องเรียกแท็กซี่อีกตามเคยด้วยว่าหน้าวัดไม่มีระบบขนส่งมวลชนใดๆทั้งสิ้น เราเรียกรถแท็กซี่ให้พาไปส่งที่สถานีรถไฟฮ้าวหร่าห์ พวกเราต้องคอยกดราคาค่าแท็กซี่อีกแล้ว ใกล้ๆแค่นี้เรียกมาตั้ง 200 รูปี เราต่อแบบไม่หักคอจนเกินไปขอแค่ 150 รูปีก็แล้วกัน รถพาวิ่งซอกแซกไปในเขตเมือง Howrah ได้เห็นกิจวัตรที่ชาวอินเดียทำกันข้างถนน ทั้งอาบน้ำซักล้างอะไรกันตลอดทั้งวัน พอเที่ยงแล้วรถค่อนข้างติดสลับกับหยุดนิ่ง แถมรถข้างหน้ายังเฉี่ยวกันกระจกหูช้างหลุดอีก พอชนกันคู่กรณีต่างรีบลงมาจากรถ ด่าทอกันเสียงดังนึกว่าจะได้เห็นมวยอินเดียซะแล้วแต่ที่ไหนได้พี่แกเล่นหยิบกระจกหูช้างกลับเข้ารถแล้วขับต่อไปทั้งคู่เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น พวกเราไม่สงสัยเลยว่าเหตุใดรถทั้งเก่าและใหม่ในอินเดียต่างก็มีร่องรอยการชนรอบคัน
 วัวนอนกันเกลื่อนในเขตเมือง คนที่นี่เค้านับถือวัวกันนะ
 กิจวัตรริมทางในเขตเมืองกับก๊อกน้ำสาธารณะ
 ราคาน้ำมันในอินเดียไม่ได้ถูกไปกว่าเมืองไทยเลย กลับจะแพงกว่าด้วยซ้ำ
 รถโดยสารทุกคันของที่นี่ใช้ยี่ห้อทาทา (TATA) เท่านั้น
 แรงงานคนที่นี่ยังมีเหลือเฟือไม่ต้องพึ่งพาเครื่องจักร
 นี่ก็อีกหนึ่งแรงงานแบกนุ่น ไม่ต้องแบกหิน
สารถีสามล้อถีบยังรอผู้โดยสารอย่างสบายอารมณ์

ตำรวจจราจรที่นี่คงปวดตับไม่น้อยกับรถราที่วิ่งกันอย่างดุเดือด
                รถพาพวกเรามาจอดที่เชิงสะพาน Howrah และชี้ว่าสถานีรถไฟให้ข้ามถนนไปฝั่งตรงข้าม พวกเราลงมาจากรถแล้วข้ามถนนไปอย่างยากลำบากด้วยว่ารถราที่นี่ไม่ใคร่หยุดให้คนข้ามสักเท่าใดนัก  Howrah Bridge มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า Rabindra Setu หรือ รพินทระ เซตู ถือป็นสะพานข้ามแม่น้ำที่กว้างที่สุดเป็นอันดับสามของโลก เปิดใช้งานในปีค.ศ. 1943 เป็นสะพานข้ามแม่น้ำฮูคลี่ เชื่อมระหว่างเมืองกัลกัตตาและเมืองฮาวร่า โครงสร้างสะพานเป็นสะพานแขวนมีความยาว 450 เมตร และกว้าง 30 เมตร ผู้คนสามารถเดินสัญจรจูงวัวควายหรือเข็นรถ ลากรถบนสะพานได้ ด้วยว่าทางเดินเท้าสองฝั่งของสะพานนั้นกว้างมากๆ นี่แหละครับวิถีอินเดียผู้คนที่นี่เดินขึ้นสะพานกันครับไม่ยอมเสียค่ารถหรือเรือข้ามฟาก รถบนสะพานก็เคลื่อนตัวได้ช้ารถแน่นตลอดทั้งวัน โครงสร้างเหล็กดูขึงขังและแน่นหนาสมกับที่อังกฤษได้วางรากฐานไว้
 สามคนอลเวงกับ Howrah Bridge
 ถ่ายจากบนรถแท็กซี่ โปรดสังเกตว่ามันมีกี่เลน
คนอินเดียเป็นชนชาติที่ขยันเดินกันมากครับ ขนาดแบกข้าวของเต็มไปหมดยังไม่ยอมเสียค่ารถเลย
                พวกเราเดินผ่าน Howrah Bus Station เป็นสถานีขนส่งแบบเดียวกับต่างจังหวัดบ้านเรา ผู้คนเบียดเสียดยัดเยียดกันบนรถ บางคันคนต้องตีตั๋วพิเศษขึ้นไปนั่งบนหลังคารถ ความสะอาดของท่ารถไม่ต้องพูดถึงเลย ให้ทุกท่านสังเกตสิ่งปฏิกูลตามพื้นถนนในภาพถ่ายละกันครับ ที่นี่พวกเราได้เจอกับ เคอิตา (Keita) หนุ่มญี่ปุ่นที่พักโรงแรมที่เดียวกับเราแล้วไปสังสรรค์กันยามค่ำคืนด้วยกัน ดูท่าทางเค้าจะดีใจมากที่เจอกับพวกเราที่นี่เพราะว่าเค้ามาคนเดียวดังนั้นพวกเราก็เลยดึงเค้ามาเป็นเพื่อนร่วมทางอีกคน
 ความวุ่นวายของท่ารถโดยสาร เพื่อเราอดใจไม่ไหวขอแชะกับรถท้องถิ่นสักภาพ

ท่ารถโดยสารวิ่งระหว่างเมือง ดูดีดีจะเห็นคนหีบน้ำอ้อยขายด้วย
                   เราทั้งสี่เดินผ่านอาคารตึกสีแดงคลาสสิคขนาดใหญ่โต ตึกนั้นแหละคือสถานีรถไฟ (Howrah Station) สถานีรถไฟแห่งนี้เป็นสถานีใหญ่เป็นสถานีต้นทาง ท่านสามารถเดินทางไปสิกขิม ดาร์จีลิ่งได้ที่นี่ แต่คงต้องนั่งค้างคืนไป1คืน ท่านสามารถไปเมืองคยา พาราณสี หรือนั่งเลยไปนิวเดลี อักรา ก็สามารถขึ้นที่นี่ได้อีก และแน่นอนที่สุดสถานที่แห่งนี้ห้ามถ่ายรูปอีกแล้วครับ พวกเราชูกล้องถ่ายแชะๆ ไม่ทันไร ขนาดตั้งกล้องอยู่อีกฝั่งของถนนยามที่อยู่ฝั่งตรงข้ามเห็น เค้ายังตะโกนเสียงดังชี้มือมาทางกล้องของพวกเราเลย สถานีรถไฟทาด้วยสีแดงบรรยากาศเก่าคลาสสิคไม่แพ้หนังแฮรรี่พ็อตเตอร์เลยครับ ได้สูดกลิ่นไออังกฤษในดินแดนภารตะมากๆ เมื่อเดินเข้าไปข้างใน เสียงสุภาพสตรีประกาศเที่ยวรถดังกึกก้องทั้งภาษาฮินดีและภาษาอังกฤษบอกเที่ยวรถที่จะออกเดินทาง ผู้คนมากมายและดูวุ่นวายตามแบบฉบับของเมืองใหญ่ทั่วโลก มีป้ายเตือนระวังภัยมิจฉาชีพติดอยู่ทุกที่ น่าเสียดายที่พวกเราไม่สามารถถ่ายรูปได้เลย พวกเราเดินไปตามชานชาลาต่างๆ มีรถที่เตรียมจะออก เพิ่งสังเกตว่ารางรถไฟอินเดียกว้างประมาณ2เมตรได้ รางกว้างกว่าไทยเยอะ ตู้รถนอนของเค้าจึงมีขนาดใหญ่โต และนอนได้ตามแนวขวางของตู้เลย เราแอบไปดูตู้นอนและทักทายกับคนอินเดียที่อยู่บนตู้นอนด้วย พวกเราเดินเก็บบรรยากาศในสถานีจนทั่วจนออกมาสูดอากาศควันพิษข้างนอกอีกครั้ง ได้เวลาที่จะเคลื่อนพลไปดูที่อื่นต่อแล้ว
 ความยิ่งใหญ่ของอาคารสีแดง Howrah Station
 ความจริงตอนนี้อากาศเริ่มร้อนแล้ว สังเกตได้จากสีหน้าแต่ละท่าน
 Howrah Station มิใช่สถานีฮ็อกวอร์ดของแฮรี่พอตเตอร์นะ
นี่เป็นภาพสุดท้ายก่อนถูกยามเฝ้าสถานีตะโกนด่ามาครับ
ตอนต่อไปมาเจอกับกลโกงแท็กซี่ของอินเดียและพาชมเมืองเดินขาลากกับ Kolkata Sightseeing

 

วันศุกร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2554

อินเดีย ใครๆก็ไปได้ ตะลุยกัลกัตตาแบบไม่ง้อทัวร์ ตอนที่5 วัดฮินดู Belur Math กับวิถีริมน้ำคงคา

                 ศาสนสถานของฮินดูนั้นดูมีความขลังและศักดิ์สิทธิ์กว่าวัดไทยบ้านเรามาก เนื่องจากทุกคนอยู่ในอาการสำรวมสงบนิ่ง มีสมาธิในทุกย่างก้าว และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ห้ามถ่ายรูปใดๆภายในวัด รวมถึงพิธีกรรมต่างๆ  ของชาวฮินดูที่มีความละเอียดอ่อนลึกซึ่งและสอดคล้องกับธรรมชาติ นั่นคือวิถีชีวิตแบบพอเพียงนั่นเอง
                รถแท็กซี่คิดราคาพวกเราจากวัดแห่งแรกไปวัดแห่งที่สองนั่นคือ Belur Math ราคาตั้ง 200รูปี เลยทีเดียว พวกเราช่วยกันต่อราคากันจนได้ราคาที่ 150รูปี  สารถีพาข้ามแม่น้ำฮูคลี่ อันกว้างใหญ่ไพศาล สะพานแห่งนี้มีทางรถไฟวิ่งขนานทางรถยนต์ด้วยแบบสะพานพระราม7 มีชื่อว่าสะพาน Vivekanada เมื่อข้ามไปยังอีกฝั่งหนึ่ง คนที่นี่เค้าเรียกอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำที่อยู่ตรงข้ามกับเมืองกัลกัตตา ว่า Howrah อ่านสำเนียงแบบคนอินเดียว่า ฮ้าวร่าห์ ถือเป็นอีกเมืองหนึ่งไม่ใช่เมืองกัลกัตตา พอข้ามสะพานภาพที่ปรากฏด้านหน้าคือสลัมและแหล่งเสื่อมโทรมเต็มไปหมด ฝุ่นบนท้องถนนลอยตลบขึ้นมา ย่านที่เรากำลังจะไปเรียกว่าย่านเบลูร์ (Belur) เมื่อผ่านดงสลัมไปก็จะพบกับอีกย่านหนึ่งซึ่งคล้ายย่านสถานที่ราชการ มีสถานศึกษาคล้ายมหาวิทยาลัย มีชื่อว่า Vivekanada House  ด้านหน้าวัดมีแต่คนแต่งตัวดีดีมาสักการะกัน เมื่อเดินเข้าไปข้างในจะพบแผนที่ของวัดแห่งนี้ มีพิพิธภัณฑ์ด้วยน่าสนใจไม่น้อยแต่แล้วทริปนักแบกเป้ก็ต้องสะดุดลงเมื่อเจอกับป้ายเตือนใหญ่โตห้ามถ่ายรูปอีกแล้วครับท่าน
 แผนที่ภายใน Belur Math
 Sri Ramakrishna Temple
 Sri Ramakrishna Temple กับมุมที่ต้องแอบถ่าย

                Belur Math สร้างขึ้นโดยท่าน Swami Vivekanada ในปี ค.ศ.1899 บนฝั่งแม่น้ำคงคาในเมืองกัลกัตตา แต่ที่นี่มักจะเรียกสายน้ำแห่งนี้ว่า ฮุคลี่ ตัวอาคารหลักเป็นศิลปะผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมอิสลามกับแบบตะวันตก สร้างด้วยหินทรายสีชมพู เป็นวัดที่บูชา รามากฤษณะ (Ramakrishna Paramahansa) ซึ่งเป็นอุโบสถหลังใหญ่ที่สุด เราแอบถ่ายรูปมาจนได้ เทคนิคน่ะเหรอแค่เอาแฟ้มปกอ่อนบังกล้องก็เท่านั้น ท่านผู้อ่านอย่าริลอกเลียนแบบนะครับ มันไม่ดีบางทีเราอาจถูกยึดกล้องยึดการ์ดได้ ฮาๆๆๆ แล้วพวกเราก็ต้องถอดรองเท้าเดินเข้าไปด้านในปูลาดด้วยพื้นหินอ่อน มีชาวภารตะผู้มาแสวงบุญนั่งสมาธิด้วยความสำรวมเป็นกลุ่มใหญ่ พวกเราคนนอกศาสนาเข้าไปรู้สึกเกรงใจท่านทั้งหลายเลยรีบจรลีออกมาด้านนอก ถัดจากอุโบสถหลักยังมีอุโบสถย่อยอีกสองแห่ง แห่งแรกที่สร้างติดกันคืออุโบสถปรำพิธีของพระพรหม (Swami Brahmananda Temple) ในปรำพิธีมีพราหมณ์ทำพิธีประสาทพรอยู่ ชาวอินเดียต่างพร้อมใจเข้าไปรับพรและรับน้ำมนต์ที่พราหมณ์ประพรม เดินเลยไปอีกนิดจะพบกับSri Sarada Devi Temple และ Swami Vivekanada Temple จุดนี้ถ่ายรูปได้เพราะไม่มีการทำพิธี วัดแห่งนี้เปิดเวลา 6.30-12.00น. และ 15.30-18.30น. หากไปไม่ทันเที่ยงต้องรออีกนานนะครับ เพราะวัดหลายแห่งในอินเดียมักจะปิดทำการช่วงพักกลางวันเป็นเวลายาวนานครับ  ด้านช่วงเวลาที่เหมาะแก่การมาเยือนมากที่สุดคือช่วงเดือนกันยายนและตุลาคม เพราะมีพิธีกรรมใหญ่บูชาเจ้าแม่ทุรคาและเจ้าแม่กาลี

 Sri Ramakrishna Temple กับมุมที่แอบถ่ายอีกแล้ว

 ความงดงามของหินทรายเมื่อนำมาสร้างเป็นวัด
 Swami Vivekanada Temple
Swami Brahmananda Temple

เมื่อเดินชมวัดจนทั้วแล้วพวกเราก็อดไม่ได้ที่จะไปยังริมน้ำคงคาอีกครั้ง ไปดูคนอาบน้ำกลสงแจ้งกันอีกแล้วผิดกันตรงที่นี่ผู้คนอาบน้ำแบบมีระเบียบมากกว่า มีการแจ้งเตือนระวังทรัพย์สินมีค่าสูญหายและห้ามซักผ้า พวกเราตะลุยเมืองกัลกัตตากันแต่เช้ายังไม่ได้เข้าห้องน้ำ อยากลองเข้าห้องน้ำสาธารณะของอินเดียดูสักครั้งว่าสะอาดสมกับคำร่ำลือหรือไม่ พวกเราจ่ายเงินคนละ 0.5รูปีเป็นค่าเข้าซึ่งถือว่าถูกมากๆ และห้องน้ำสะอาดสะอ้านผิดคาด แลดูสะอาดกว่าเมืองไทยบางแห่งด้วยซ้ำ พวกเราเสร็จสิ้นภาระกิจจากวัดตอนเที่ยงวันพอดีพิพิธภัณฑ์ของวัดจึงปิดพวกเราอดเข้าชมไปโดยปริยาย เราเดินออกไปหาน้ำชาร้อนจิบที่ร้านริมทางด้านนอก ชาที่นี่จะใส่ถ้วยดินเผาเล็กๆคล้ายจอก เป็นชาเครื่องเทศรสชาติจัดจ้าน และเครื่องดื่มที่ให้ความหวานอีกชนิดหนึ่งซึ่งท่านไม่ควรพลาดเมื่อมาเยือนอินเดียก็คือ น้ำมะม่วงบรรจุขวดขายดีไม่แพ้ชาสำเร็จรูปเลยทีเดียว รสชาติหวานหอมชื่นใจ ตรงข้ามร้านขายของมีที่ทำการไปรษณีย์ด้วยเลยเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึกก่อนที่จะเดินออกไปเรียกแท็กซี่เพื่อไปยังที่ต่อไป
 เมื่อไหว้พระเสร็จแล้วก็จะต้องมาอาบน้ำแบบนี้
 ป้ายเตือนภัยโจรและห้ามซักผ้า ด้านหลังมีคอกไว้สำหรับเปลี่ยนเสื้อผ้า
 ห้องน้ำชายภายในวัดสะอาดมากครับ
 ทางเข้าห้องน้ำก่อด้วยอาคารอย่างดี
เจ๊ขอคอนเฟิร์มว่าห้องน้ำเค้าสะอาดจริงๆค่ะ
 ที่ทำการไปรษณีย์ของอินเดียมีมนต์ขลังอย่างไรดูที่สีประตู
ร้านชำที่พึ่งยามกระหายน้ำ มีชาร้อนเครื่องเทศขายด้วย

น้ำมะม่วงเย็นแท้หวานชื่นใจในราคาขวดละ 25รูปี

ตอนต่อไปเราจะพาทุกท่านเที่ยวละไมในกัลกัตตาแบบเรื่อยเปื่อยเพื่อชมวิถีชีวิตคนเมืองนี้กันครับ

วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2554

อินเดีย ใครๆก็ไปได้ ตะลุยกัลกัตตาแบบไม่ง้อทัวร์ ตอนที่4 พาออกนอกเมืองชมวิถีอินเดียไหว้พระขอพรที่ Dakshineswar Kali Temple

             เช้านี้พวกเราทุกคนนอนตื่นสาย เนื่องจากเพลียจากการเดินเที่ยวเมื่อวาน อีกทั้งนอนเบียดกัน3คนทำให้นอนไม่หลับ เราเลยตัดสินใจแยกไปนอนห้อง Dorm 1คน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายโดยรวม แทนที่จะเปิด2ห้องเดี่ยว ก็กลายเป็น ห้องเตียงคู่กับ 1เตียงรวม ห้องดอร์มที่นี่จะเป็นเตียงรวมนอนทั้งชายและหญิง สนนราคาเตียงละ 120รูปีเท่านั้น แถมเตียงยังสะอาดกว่าห้องเดี่ยวอีก คงเพราะมีคนย้ายเข้าออกทุกวัน เราตกลงเพราะกว่าจะเข้ามานอนก็ดึกดื่น แถมออกไปก็เช้าอีก แค่ที่ซุกหัวนอนไม่กี่ชั่วโมง
 ความเอื้ออาทรระหว่างคนกับสัตว์มีให้เห็นทั่วไปในอินเดีย
 ฝูงการุมจิกกินเศษอาหารจากถังขยะหน้าโรงแรม
 แมวแม่ลูกอ่อนขดตัวด้วยความหนาว
 ยามเช้าหนาวจนต้องผิงไฟ ส่วนแท็กซี่ก็ออกมาดักรอผู้โดยสารแต่เช้า


ย่านตลาด New Market ยามเช้าไร้ร้างผู้คน 
ดาราอินเดียสวยและหล่อไม่แพ้ดาราฮอลลีวู้ด

                สายแล้วพวกเราเดินออกไปที่ถนนใหญ่จะลองนั่งรถใต้ดินดูสักครั้ง ไม่งั้นเหมือนมาไม่ถึงกัลกัตตา เค้าบอกว่าระบบขนส่งมวลชนรถใต้ดินนี่มีมาร่วมร้อยปีแล้ว วันนี้พวกเราตั้งใจจะไปเก็บสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ไกลจากตัวเมืองก่อน วันท้ายๆจะได้มีเวลาเที่ยวในตัวเมือง เราลงรถใต้ดินที่สถานีเอสพลานาด (Esplanade) อันเป็นสถานีที่อยู่ใกล้กับที่พักมากที่สุดเพื่อมุ่งไปยังสถานีดัมดัม (Dum Dum) เป็นสถานีปลายทางย่านชานเมือง ซึ่งสถานีนี้จะอยู่ใกล้กับสนามบินมากที่สุด  ค่าโดยสารไปยังสถานีดัมดัม ราคาแค่คยละ 6รูปี 3คน 18รูปีเอง ถูกกว่าแท็กซี่เป็นไหนไหน ภายในสถานีรถใต้ดินห้ามถ่ายภาพเป็นอันขาด ไม่ว่าจะอยู่ที่สถานีหรือในรถ งานนี้เราเลยอด แต่เจ๊ยังสามารถแอบเอาน้องไอโฟนมาแชะภาพได้อย่างไม่แคร์สื่อ ภายในสถานีสภาพเก่ามาก ตู้รถไฟทำมาจากเหล็กตันๆ วิ่งเสียงดังมาก ประตูปิดเปิดค่อนข้างแรง และที่สำคัญคือ ไม่มีแอร์และพัดลมในรถแต่กระจกเปิดเป็นแอร์ธรรมชาติ ขาไปรถโล่งนั่งกันสบาย เดินทางกว่า8 สถานีพอถึงสถานีสุดท้ายรถจะขึ้นจากอุโมงค์มาวิ่งบนดิน ถ้าเป็นบ้านเราค่ารถคงปาเข้าไป40-50บาท

สถานีรถไฟใต้ดินเอสพลานาด

บรรยากาศชานเมืองย่านสถานีรถไฟดัมดัม

                สถานีปลายทางดัมดัมเป็นสถานีท้องถิ่นมากๆ ไม่ใช่แหล่งหรือย่านท่องเที่ยว เมื่อลงจากสถานีจึงไม่มีคิวรถที่คอยทึ้งนักท่องเที่ยวแต่อย่างใด วิถีชีวิตคนแถวนี้จึงเป็นแบบพื้นบ้านจริงๆ เจ๊ตาไวเหลือบไปเหลือบไปเห็นอาหารท้องถิ่นที่คนยืนกินกันอยู่ ที่ร้านนี้เค้าใช้ใบไม้รองแทนจานและอาหารบนใบไม้นั้นคือแผ่นโรตีอบร้อนกับแกงถั่วร้อนๆ ทานไปหลายชิ้นพอคิดราคารวมแค่ 23รูปีเอง ทั้งสะอาดถูกหลักอนามัย เพราะมันคือการทานร้อน ใบไม้ก็เอาไปปิ้งไฟ แกงก็ต้มจนเดือดและแผ่นโรตีก็ทอดสดในกระทะ ทำกันเดี๋ยวนั้นก็ทานกันเดี๋ยวนั้น
 ร้านโรตีแกงพื้นบ้านเป็นมื้อมังสวิรัติแต่เช้า
 น่าแปลกใจที่คนครัวของอินเดียส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ชาย
โฉมหน้าโรตีแกงมันฝรั่งและถั่วที่วางบนห่อใบไม้ปิ้ง

           พอรองท้องด้วยโรตีเรียบร้อยแล้ว พวกเราก็กางแผนที่ออกมาดู หนทางไปวัด Dakshineswar Temple ยังไปอีกไกล พวกเรามากันตั้งสามคน ขึ้นรถเมล์ไปก็ใช่ว่าจะสื่อสารกันรู้เรื่อง พอเรียกแท็กซี่ คนขับพูดภาษาอังกฤษได้น้อยมากต้องทำสัญลักษณ์นิ้วว่าเท่าไร จากนั้นจึงค่อยบรรจงชี้จุดหมายปลายทางที่พวกเราจะไป คนขับรถจึงถึงบางอ้อว่าอยู่ตรงไหน คนขับสนนราคามาที่200รูปี 3คน พวกเราต่ออีกด้วยว่ามันแพงเกินไป  จนสุดท้ายเราต่อราคาเหลือ 150รูปี คนขับบอกโอเค แต่ระยะทางไปนี่สิ นั่งรถตั้งนานแล้วก็ยังไม่ถึงสักทีจนพวกเราคิดว่ามันไกล การไปหักคอค่าแท็กซี่แบบนี้มันโหดเกินไปหรือเปล่า รถแล่นผ่านสถานีรถไฟ Dakshineswar แสดงว่าคงใกล้ถึงแล้ว จริงๆด้วย วัดอยู่ใกล้สถานีนิดเดียว ถ้านั่งรถไฟท้องถิ่นต่อมาจากสถานีดัมดัม ย่อมทำได้ ถนนที่พาเราเข้าไปวัด สองข้างทางมีแต่ร้านรวงที่ขายเครื่องสักการะบูชาและขนมหวานเหมือนกับปาทางเข้าวัดใหญ่ๆในไทยแบบนั้นเลย และแล้วรถก็พามาจอดในที่ของวัด พวกเราตกลงให้ค่าทิปแท็กซี่ไปอีก50รูปี ด้วยชื่นชมในความซื่อสัตย์ของเขา เพราะระยะทางที่เรานั่งมานั้นมันไกลมาก
 เด็กนักเรียนหญิงอินเดียกำลังเดินทางเข้าโรงเรียน
 พวงมาลัยสักการะบูชาวางขายอยู่ทั่วไป
 รถโดยสารท้องถิ่นที่เราไม่ทราบได้เลยว่ามันจะพาไปไหน
บริเวณปากทางเข้าวัดเต็มไปด้วยร้านขายเครื่องสักการะบูชา

 รูปเคารพจำลองของเหล่าทวยเทพต่างๆ
ขนมบูชาพระและของตกแต่งเพื่อการบูชา
            Dakshineswar  Kali Temple เป็นวัดฮินดูที่สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1885 ในพื้นที่ 25เอเคอร์ ตั้งอยู่ในย่านที่เรียกว่า Dakshineswar ชานเมืองกัลกัตตา สามารถเดินทางได้โดยรถไฟท้องถิ่น รถเมล์ อยู่ใกล้สถานีรถใต้ดินดัมดัม  คนท้องถิ่นจะมากราบไหว้บูชาทุกวันอังคารและวันเสาร์ ก่อนช่วง 11.30 น. ถ้าสายกว่านั้นวันจะปิด แล้วเปิดอีกทีช่วงเย็น วันที่เรามาตรงกับวันเสาร์พอดีผู้คนจึงเนืองแน่นไม่แพ้วัดโสธรแห่งเมืองแปดริ้วบ้านเราเลย  วัดแห่งนี้เป็นวัดที่บูชาพระแม่กาลี ได้กล่าวถึง Ramakrishna Paramahansa ผู้ต้องการนิพพานและเคยพำนักที่นี่ ทำเลของวัดนี้อยู่ติดกับแม่น้ำ Hooghly จึงไม่แปลกใจถ้าเห็นผู้คนไหว้พระเสร็จแล้วต้องลงไปอาบน้ำเพื่อชำระล้างบาปต่อ ผู้สร้างวัดแห่งนี้คือ มหารานี Rashmoni  ได้สร้างเจดีย์ใหญ่ตรงกลางมีชื่อว่า Ramakrishna หรือ รามากฤษณะ ซึ่งได้อุทิศตนและเชื่อมั่นในองค์พระแม่กาลี  ฮินดูสถานแห่งนี้จึงถือเป็นวัดที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดวัดหนึ่งในย่านนี้ รอบๆวัดพระแม่กาลียังประกอบด้วยวัดเล็กๆ ซึ่งเป็นวัดของพระศิวะอีก12แห่ง ตามบารายรอบวัดใหญ่ มีวัดพระลักษมีและพระนารายณ์ด้วย ภายในวัดยังมีห้องที่เคยเป็นที่อาศัยของ Sri Ramakrishna Paramahansa ด้วย น่าเสียดายที่กฎของวัดฮินดู และสถานที่สำคัญทั้งหลายในอินเดียห้ามถ่ายรูปภายใน ดังนั้นเราจึงมีรูปให้ชมแค่ด้านนอก
 บริเวณด้านหน้า Dala Arcade หรือตลาดซื้อเครื่องบูชาภายในวัด
 วัดเล็กๆ คล้ายศาลเพียงตา
ผู้คนมากมายเดินทางเข้าไปในวัดแห่งนี้

             เมื่อพวกเราไปถึงวัดสิ่งแรกที่เรามองหาคือเครื่องสักการบูชาตามแบบฉบับฮินดู ซึ่งมีร้านรวงขายเครื่องบูชาเป็นล็อคๆเหมือนกับวัดดังๆในบ้านเราเลย และที่สำคัญคือทุกร้านสามารถถอดรองเท้าฝากไว้ที่ร้านค้าได้ถ้าคุณซื้อถาดเครื่องบูชาของร้านนั้นๆ เพราะวัดฮินดูทุกแห่งห้ามสวมรองเท้าเข้าไปด้านในต้องถอดทิ้งไว้ตั้งแต่บารายด้านนอกเลย  ภายในวัดนี้มีลิงอยู่ด้วยก็จะมีคนมาคอยให้อาหารลิง มีแพะไว้เตรียมบูชายัญ  ส่วนเครื่องสักการะภายในจะเป็นข้าวตอกดอกไม้เครื่องหอม ขนมหวานทำเป็นพานพุ่มมีผ้าคลุมสีแดง ทุกคนจะต้องถือพานเข้าไปภายในวัดซึ่งห้ามถ่ายรูปโดยเด็ดขาด และต้องเดินเท้าเปล่าต่อแถวเพื่อรอขึ้นไปถวายของในวัดใหญ่ที่อยู่ตรงจุดศูนย์กลาง ภายในวัดมีผู้คนต่อแถวยาวสองแถวใช้ได้เลยมาจากทางซ้ายและขวาเพื่อเข้าสู่วัดกาลีตรงกลาง เราต้องถวายเครื่องสักการะแก่พราหมณ์ที่ทำพิธีภายในวัด หลังจากถวายแล้วพราหมณ์จะเจิมติลักสีแดงตรงกลางหน้าผาก แล้วก็ให้ถั่วกวนที่เป็นขนมหวานมงคลใส่พานออกมา ส่วนเครื่องหอมและดอกไม้จะถูกยกออกไปเพื่อบูชาเทพกาลี พวกเราจึงได้ขนมหวานมงคลติดตัวออกมา เราลองชิมดูปรากฏว่ามันคือถั่วบดกวนผสมนมแพะรสชาติหวานและออกมันเนยมากๆ ทานได้ไม่กี่คำก็แสบคอไปหมด พอถึงเวลาเอาพานไปคืนที่ร้าน และเอาร้องเท้ากลับคืนมาคนขายบอกว่าขนมนี้ถ้ากินเข้าไปจะเกิดศิริมงคลกับตัวเองนะ แต่เราว่าไม่ไหวแล้วล่ะมันหวานมากๆ เลยแบ่งให้คนขายของไปด้วย

 ด้านซ้ายลิงของวัดแห่งนี้ ด้านขวาเป็นคนจุดธูปไว้ต้นไม้ ไม่แน่ใจว่าขอหวยหรือเปล่า

 ด้านซ้ายแพะผูกไว้เตรียมบูชายัญ ด้านขวาเป็นร้านขายเครื่องบูชาจัดอย่างเป็นระเบียบ
 โฉมหน้าเครื่องบูชาใส่พานใหญ่และผู้ใจบุญบูชา สนนราคาพานละ100รูปี

             เอาล่ะในเมื่อเราเดินชมในวัดจนทั่วแล้วมีหรือที่พวกเราจะไม่แวะไปชมบรรยากาศริมแม่น้ำ Hooghly ไปแอบดูคนอินเดียอาบน้ำน่ะหรือ รุ่นนี้เค้าไม่ต้องแอบดูกันแล้วก็พี่แกเล่นอาบน้ำกันโจ่งแจ้งอย่างนั้นทั้งชายและหญิงอาบรวมกันประหนึ่งว่าสายธารานั้นได้หลั่งไหลมาจากสรวงสวรรค์  คนที่นี่เขามักจะอาบน้ำเพื่อชำระล้างร่างกายและจิตใจให้สะอาดหลังจากไหว้พระเสร็จแล้ว  ด้วยความเชื่อที่ว่าพระเจ้าได้ประทานสายน้ำอันศักดิ์สิทธิ์มาไว้ให้กินดื่ม ดังนั้นพระเจ้าต้องคุ้มครองพวกเขาเมื่อเขาได้บริโภคน้ำเหล่านั้น ดังนั้นเราจึงเห็นคนทุกเพศทุกวัยพากันลงไปอาบน้ำที่ท่าน้ำของวัดกันเป็นเรื่องปกติ
 หลังจากสักการะบูชาเสร็จ พราหมณ์เค้าจะคืนกระทงกลับมาแค่นี้
 มุมนี้แอบถ่ายมาจากในสวนของวัดต้องรีบลั่นชัตเตอร์
 สีสันของคนอินเดียแท้ๆเข้ามาสักการะบูชา
 Vivekanada Bridge Hugli River
 Hugli River กับชีวิตริมสายน้ำ
ผู้คนอาบน้ำหลังจากที่ไหว้พระขอพรเสร็จ

             จากที่อาบน้ำเราก็เดินไปเก็บบรรยากาศภาพในวัดกันต่อ เราเหลือบไปเห็นร้านอาหารมีกลิ่นหอมหวนลอยมาเตะจมูก เป็นร้านลักษณะคล้ายโรงเจโรงทานมีแป้งคล้ายโรตีทอดแบบพองกรอบทานกับแกงถั่วเป็นชุดๆ และมีของหวานเป็นไอศกรีมนมแพะด้วย เราเห็นทุกคนเค้าสั่งอาหารแบบนี้ทานเราเลยพากันสั่งมาทานด้วย สนนราคา3ชุด เพียง65รูปี หลังจากอิ่มท้องเสร็จพวกเราก็จะเดินออกจากวัดเพื่อไปเรียกรถแท็กซี่ไปเที่ยวอีกวัดหนึ่ง ยังไม่ทันพ้นประตูวัดก็มีขอทานอินเดียมากมาย น่าจะเกิน10คนนะ  กรูกันเข้ามาขอเงิน รูปีเดนา รูปีเดนา เต็มไปหมด ด้วยคำนึงถึงความปลอดภัยมากกว่าก่อนที่จะถูกทึ้งจนเหลือแต่ซาก พวกเราต้องรีบเดินกลับเข้ามาตั้งหลัก และเรียกแท็กซี่ที่เข้ามาส่งผู้โดยสารภายในวัดให้ไปยังสถานที่ต่อไปทันที

 ในร้านนี้ทุกคนจะสั่งอาหารเหมือนกันหมดเป็นชุดๆ
 น้ำแกงถั่วจิ้มกับแป้งทอดกรอบ
 ซุ้มประตูทางเข้าหน้าวัดปรากฏรูปสิงห์อยู่ตรงกลางประตู
 ขอทานต่างวัยบริเวณซุ้มประตูด้านหน้าของวัด
ยามเฝ้าวัดหน้าตาขึงขังคอยห้ามพวกเราไม่ให้ถ่ายรูปบริเวณภายในวัด

เบื่อวัดกันหรือยังครับ ตอนต่อไปเราจะพาทุกท่านไปชมวัดฮินดูอีกแห่งนึงอันมีนามว่า Belur Math