วันพุธที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2554

อินเดีย ใครๆก็ไปได้ ตะลุยกัลกัตตาแบบไม่ง้อทัวร์ ตอนที่4 พาออกนอกเมืองชมวิถีอินเดียไหว้พระขอพรที่ Dakshineswar Kali Temple

             เช้านี้พวกเราทุกคนนอนตื่นสาย เนื่องจากเพลียจากการเดินเที่ยวเมื่อวาน อีกทั้งนอนเบียดกัน3คนทำให้นอนไม่หลับ เราเลยตัดสินใจแยกไปนอนห้อง Dorm 1คน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายโดยรวม แทนที่จะเปิด2ห้องเดี่ยว ก็กลายเป็น ห้องเตียงคู่กับ 1เตียงรวม ห้องดอร์มที่นี่จะเป็นเตียงรวมนอนทั้งชายและหญิง สนนราคาเตียงละ 120รูปีเท่านั้น แถมเตียงยังสะอาดกว่าห้องเดี่ยวอีก คงเพราะมีคนย้ายเข้าออกทุกวัน เราตกลงเพราะกว่าจะเข้ามานอนก็ดึกดื่น แถมออกไปก็เช้าอีก แค่ที่ซุกหัวนอนไม่กี่ชั่วโมง
 ความเอื้ออาทรระหว่างคนกับสัตว์มีให้เห็นทั่วไปในอินเดีย
 ฝูงการุมจิกกินเศษอาหารจากถังขยะหน้าโรงแรม
 แมวแม่ลูกอ่อนขดตัวด้วยความหนาว
 ยามเช้าหนาวจนต้องผิงไฟ ส่วนแท็กซี่ก็ออกมาดักรอผู้โดยสารแต่เช้า


ย่านตลาด New Market ยามเช้าไร้ร้างผู้คน 
ดาราอินเดียสวยและหล่อไม่แพ้ดาราฮอลลีวู้ด

                สายแล้วพวกเราเดินออกไปที่ถนนใหญ่จะลองนั่งรถใต้ดินดูสักครั้ง ไม่งั้นเหมือนมาไม่ถึงกัลกัตตา เค้าบอกว่าระบบขนส่งมวลชนรถใต้ดินนี่มีมาร่วมร้อยปีแล้ว วันนี้พวกเราตั้งใจจะไปเก็บสถานที่ท่องเที่ยวที่อยู่ไกลจากตัวเมืองก่อน วันท้ายๆจะได้มีเวลาเที่ยวในตัวเมือง เราลงรถใต้ดินที่สถานีเอสพลานาด (Esplanade) อันเป็นสถานีที่อยู่ใกล้กับที่พักมากที่สุดเพื่อมุ่งไปยังสถานีดัมดัม (Dum Dum) เป็นสถานีปลายทางย่านชานเมือง ซึ่งสถานีนี้จะอยู่ใกล้กับสนามบินมากที่สุด  ค่าโดยสารไปยังสถานีดัมดัม ราคาแค่คยละ 6รูปี 3คน 18รูปีเอง ถูกกว่าแท็กซี่เป็นไหนไหน ภายในสถานีรถใต้ดินห้ามถ่ายภาพเป็นอันขาด ไม่ว่าจะอยู่ที่สถานีหรือในรถ งานนี้เราเลยอด แต่เจ๊ยังสามารถแอบเอาน้องไอโฟนมาแชะภาพได้อย่างไม่แคร์สื่อ ภายในสถานีสภาพเก่ามาก ตู้รถไฟทำมาจากเหล็กตันๆ วิ่งเสียงดังมาก ประตูปิดเปิดค่อนข้างแรง และที่สำคัญคือ ไม่มีแอร์และพัดลมในรถแต่กระจกเปิดเป็นแอร์ธรรมชาติ ขาไปรถโล่งนั่งกันสบาย เดินทางกว่า8 สถานีพอถึงสถานีสุดท้ายรถจะขึ้นจากอุโมงค์มาวิ่งบนดิน ถ้าเป็นบ้านเราค่ารถคงปาเข้าไป40-50บาท

สถานีรถไฟใต้ดินเอสพลานาด

บรรยากาศชานเมืองย่านสถานีรถไฟดัมดัม

                สถานีปลายทางดัมดัมเป็นสถานีท้องถิ่นมากๆ ไม่ใช่แหล่งหรือย่านท่องเที่ยว เมื่อลงจากสถานีจึงไม่มีคิวรถที่คอยทึ้งนักท่องเที่ยวแต่อย่างใด วิถีชีวิตคนแถวนี้จึงเป็นแบบพื้นบ้านจริงๆ เจ๊ตาไวเหลือบไปเหลือบไปเห็นอาหารท้องถิ่นที่คนยืนกินกันอยู่ ที่ร้านนี้เค้าใช้ใบไม้รองแทนจานและอาหารบนใบไม้นั้นคือแผ่นโรตีอบร้อนกับแกงถั่วร้อนๆ ทานไปหลายชิ้นพอคิดราคารวมแค่ 23รูปีเอง ทั้งสะอาดถูกหลักอนามัย เพราะมันคือการทานร้อน ใบไม้ก็เอาไปปิ้งไฟ แกงก็ต้มจนเดือดและแผ่นโรตีก็ทอดสดในกระทะ ทำกันเดี๋ยวนั้นก็ทานกันเดี๋ยวนั้น
 ร้านโรตีแกงพื้นบ้านเป็นมื้อมังสวิรัติแต่เช้า
 น่าแปลกใจที่คนครัวของอินเดียส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ชาย
โฉมหน้าโรตีแกงมันฝรั่งและถั่วที่วางบนห่อใบไม้ปิ้ง

           พอรองท้องด้วยโรตีเรียบร้อยแล้ว พวกเราก็กางแผนที่ออกมาดู หนทางไปวัด Dakshineswar Temple ยังไปอีกไกล พวกเรามากันตั้งสามคน ขึ้นรถเมล์ไปก็ใช่ว่าจะสื่อสารกันรู้เรื่อง พอเรียกแท็กซี่ คนขับพูดภาษาอังกฤษได้น้อยมากต้องทำสัญลักษณ์นิ้วว่าเท่าไร จากนั้นจึงค่อยบรรจงชี้จุดหมายปลายทางที่พวกเราจะไป คนขับรถจึงถึงบางอ้อว่าอยู่ตรงไหน คนขับสนนราคามาที่200รูปี 3คน พวกเราต่ออีกด้วยว่ามันแพงเกินไป  จนสุดท้ายเราต่อราคาเหลือ 150รูปี คนขับบอกโอเค แต่ระยะทางไปนี่สิ นั่งรถตั้งนานแล้วก็ยังไม่ถึงสักทีจนพวกเราคิดว่ามันไกล การไปหักคอค่าแท็กซี่แบบนี้มันโหดเกินไปหรือเปล่า รถแล่นผ่านสถานีรถไฟ Dakshineswar แสดงว่าคงใกล้ถึงแล้ว จริงๆด้วย วัดอยู่ใกล้สถานีนิดเดียว ถ้านั่งรถไฟท้องถิ่นต่อมาจากสถานีดัมดัม ย่อมทำได้ ถนนที่พาเราเข้าไปวัด สองข้างทางมีแต่ร้านรวงที่ขายเครื่องสักการะบูชาและขนมหวานเหมือนกับปาทางเข้าวัดใหญ่ๆในไทยแบบนั้นเลย และแล้วรถก็พามาจอดในที่ของวัด พวกเราตกลงให้ค่าทิปแท็กซี่ไปอีก50รูปี ด้วยชื่นชมในความซื่อสัตย์ของเขา เพราะระยะทางที่เรานั่งมานั้นมันไกลมาก
 เด็กนักเรียนหญิงอินเดียกำลังเดินทางเข้าโรงเรียน
 พวงมาลัยสักการะบูชาวางขายอยู่ทั่วไป
 รถโดยสารท้องถิ่นที่เราไม่ทราบได้เลยว่ามันจะพาไปไหน
บริเวณปากทางเข้าวัดเต็มไปด้วยร้านขายเครื่องสักการะบูชา

 รูปเคารพจำลองของเหล่าทวยเทพต่างๆ
ขนมบูชาพระและของตกแต่งเพื่อการบูชา
            Dakshineswar  Kali Temple เป็นวัดฮินดูที่สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1885 ในพื้นที่ 25เอเคอร์ ตั้งอยู่ในย่านที่เรียกว่า Dakshineswar ชานเมืองกัลกัตตา สามารถเดินทางได้โดยรถไฟท้องถิ่น รถเมล์ อยู่ใกล้สถานีรถใต้ดินดัมดัม  คนท้องถิ่นจะมากราบไหว้บูชาทุกวันอังคารและวันเสาร์ ก่อนช่วง 11.30 น. ถ้าสายกว่านั้นวันจะปิด แล้วเปิดอีกทีช่วงเย็น วันที่เรามาตรงกับวันเสาร์พอดีผู้คนจึงเนืองแน่นไม่แพ้วัดโสธรแห่งเมืองแปดริ้วบ้านเราเลย  วัดแห่งนี้เป็นวัดที่บูชาพระแม่กาลี ได้กล่าวถึง Ramakrishna Paramahansa ผู้ต้องการนิพพานและเคยพำนักที่นี่ ทำเลของวัดนี้อยู่ติดกับแม่น้ำ Hooghly จึงไม่แปลกใจถ้าเห็นผู้คนไหว้พระเสร็จแล้วต้องลงไปอาบน้ำเพื่อชำระล้างบาปต่อ ผู้สร้างวัดแห่งนี้คือ มหารานี Rashmoni  ได้สร้างเจดีย์ใหญ่ตรงกลางมีชื่อว่า Ramakrishna หรือ รามากฤษณะ ซึ่งได้อุทิศตนและเชื่อมั่นในองค์พระแม่กาลี  ฮินดูสถานแห่งนี้จึงถือเป็นวัดที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดวัดหนึ่งในย่านนี้ รอบๆวัดพระแม่กาลียังประกอบด้วยวัดเล็กๆ ซึ่งเป็นวัดของพระศิวะอีก12แห่ง ตามบารายรอบวัดใหญ่ มีวัดพระลักษมีและพระนารายณ์ด้วย ภายในวัดยังมีห้องที่เคยเป็นที่อาศัยของ Sri Ramakrishna Paramahansa ด้วย น่าเสียดายที่กฎของวัดฮินดู และสถานที่สำคัญทั้งหลายในอินเดียห้ามถ่ายรูปภายใน ดังนั้นเราจึงมีรูปให้ชมแค่ด้านนอก
 บริเวณด้านหน้า Dala Arcade หรือตลาดซื้อเครื่องบูชาภายในวัด
 วัดเล็กๆ คล้ายศาลเพียงตา
ผู้คนมากมายเดินทางเข้าไปในวัดแห่งนี้

             เมื่อพวกเราไปถึงวัดสิ่งแรกที่เรามองหาคือเครื่องสักการบูชาตามแบบฉบับฮินดู ซึ่งมีร้านรวงขายเครื่องบูชาเป็นล็อคๆเหมือนกับวัดดังๆในบ้านเราเลย และที่สำคัญคือทุกร้านสามารถถอดรองเท้าฝากไว้ที่ร้านค้าได้ถ้าคุณซื้อถาดเครื่องบูชาของร้านนั้นๆ เพราะวัดฮินดูทุกแห่งห้ามสวมรองเท้าเข้าไปด้านในต้องถอดทิ้งไว้ตั้งแต่บารายด้านนอกเลย  ภายในวัดนี้มีลิงอยู่ด้วยก็จะมีคนมาคอยให้อาหารลิง มีแพะไว้เตรียมบูชายัญ  ส่วนเครื่องสักการะภายในจะเป็นข้าวตอกดอกไม้เครื่องหอม ขนมหวานทำเป็นพานพุ่มมีผ้าคลุมสีแดง ทุกคนจะต้องถือพานเข้าไปภายในวัดซึ่งห้ามถ่ายรูปโดยเด็ดขาด และต้องเดินเท้าเปล่าต่อแถวเพื่อรอขึ้นไปถวายของในวัดใหญ่ที่อยู่ตรงจุดศูนย์กลาง ภายในวัดมีผู้คนต่อแถวยาวสองแถวใช้ได้เลยมาจากทางซ้ายและขวาเพื่อเข้าสู่วัดกาลีตรงกลาง เราต้องถวายเครื่องสักการะแก่พราหมณ์ที่ทำพิธีภายในวัด หลังจากถวายแล้วพราหมณ์จะเจิมติลักสีแดงตรงกลางหน้าผาก แล้วก็ให้ถั่วกวนที่เป็นขนมหวานมงคลใส่พานออกมา ส่วนเครื่องหอมและดอกไม้จะถูกยกออกไปเพื่อบูชาเทพกาลี พวกเราจึงได้ขนมหวานมงคลติดตัวออกมา เราลองชิมดูปรากฏว่ามันคือถั่วบดกวนผสมนมแพะรสชาติหวานและออกมันเนยมากๆ ทานได้ไม่กี่คำก็แสบคอไปหมด พอถึงเวลาเอาพานไปคืนที่ร้าน และเอาร้องเท้ากลับคืนมาคนขายบอกว่าขนมนี้ถ้ากินเข้าไปจะเกิดศิริมงคลกับตัวเองนะ แต่เราว่าไม่ไหวแล้วล่ะมันหวานมากๆ เลยแบ่งให้คนขายของไปด้วย

 ด้านซ้ายลิงของวัดแห่งนี้ ด้านขวาเป็นคนจุดธูปไว้ต้นไม้ ไม่แน่ใจว่าขอหวยหรือเปล่า

 ด้านซ้ายแพะผูกไว้เตรียมบูชายัญ ด้านขวาเป็นร้านขายเครื่องบูชาจัดอย่างเป็นระเบียบ
 โฉมหน้าเครื่องบูชาใส่พานใหญ่และผู้ใจบุญบูชา สนนราคาพานละ100รูปี

             เอาล่ะในเมื่อเราเดินชมในวัดจนทั่วแล้วมีหรือที่พวกเราจะไม่แวะไปชมบรรยากาศริมแม่น้ำ Hooghly ไปแอบดูคนอินเดียอาบน้ำน่ะหรือ รุ่นนี้เค้าไม่ต้องแอบดูกันแล้วก็พี่แกเล่นอาบน้ำกันโจ่งแจ้งอย่างนั้นทั้งชายและหญิงอาบรวมกันประหนึ่งว่าสายธารานั้นได้หลั่งไหลมาจากสรวงสวรรค์  คนที่นี่เขามักจะอาบน้ำเพื่อชำระล้างร่างกายและจิตใจให้สะอาดหลังจากไหว้พระเสร็จแล้ว  ด้วยความเชื่อที่ว่าพระเจ้าได้ประทานสายน้ำอันศักดิ์สิทธิ์มาไว้ให้กินดื่ม ดังนั้นพระเจ้าต้องคุ้มครองพวกเขาเมื่อเขาได้บริโภคน้ำเหล่านั้น ดังนั้นเราจึงเห็นคนทุกเพศทุกวัยพากันลงไปอาบน้ำที่ท่าน้ำของวัดกันเป็นเรื่องปกติ
 หลังจากสักการะบูชาเสร็จ พราหมณ์เค้าจะคืนกระทงกลับมาแค่นี้
 มุมนี้แอบถ่ายมาจากในสวนของวัดต้องรีบลั่นชัตเตอร์
 สีสันของคนอินเดียแท้ๆเข้ามาสักการะบูชา
 Vivekanada Bridge Hugli River
 Hugli River กับชีวิตริมสายน้ำ
ผู้คนอาบน้ำหลังจากที่ไหว้พระขอพรเสร็จ

             จากที่อาบน้ำเราก็เดินไปเก็บบรรยากาศภาพในวัดกันต่อ เราเหลือบไปเห็นร้านอาหารมีกลิ่นหอมหวนลอยมาเตะจมูก เป็นร้านลักษณะคล้ายโรงเจโรงทานมีแป้งคล้ายโรตีทอดแบบพองกรอบทานกับแกงถั่วเป็นชุดๆ และมีของหวานเป็นไอศกรีมนมแพะด้วย เราเห็นทุกคนเค้าสั่งอาหารแบบนี้ทานเราเลยพากันสั่งมาทานด้วย สนนราคา3ชุด เพียง65รูปี หลังจากอิ่มท้องเสร็จพวกเราก็จะเดินออกจากวัดเพื่อไปเรียกรถแท็กซี่ไปเที่ยวอีกวัดหนึ่ง ยังไม่ทันพ้นประตูวัดก็มีขอทานอินเดียมากมาย น่าจะเกิน10คนนะ  กรูกันเข้ามาขอเงิน รูปีเดนา รูปีเดนา เต็มไปหมด ด้วยคำนึงถึงความปลอดภัยมากกว่าก่อนที่จะถูกทึ้งจนเหลือแต่ซาก พวกเราต้องรีบเดินกลับเข้ามาตั้งหลัก และเรียกแท็กซี่ที่เข้ามาส่งผู้โดยสารภายในวัดให้ไปยังสถานที่ต่อไปทันที

 ในร้านนี้ทุกคนจะสั่งอาหารเหมือนกันหมดเป็นชุดๆ
 น้ำแกงถั่วจิ้มกับแป้งทอดกรอบ
 ซุ้มประตูทางเข้าหน้าวัดปรากฏรูปสิงห์อยู่ตรงกลางประตู
 ขอทานต่างวัยบริเวณซุ้มประตูด้านหน้าของวัด
ยามเฝ้าวัดหน้าตาขึงขังคอยห้ามพวกเราไม่ให้ถ่ายรูปบริเวณภายในวัด

เบื่อวัดกันหรือยังครับ ตอนต่อไปเราจะพาทุกท่านไปชมวัดฮินดูอีกแห่งนึงอันมีนามว่า Belur Math

 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น