วันอาทิตย์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2554

อินเดีย ใครๆก็ไปได้ ตะลุยกัลกัตตาแบบไม่ง้อทัวร์ ตอนที่3 อาหารอินเดียมื้อแรก และพาช้อปปิ้งตลาดพื้นเมือง

หลังจากเหวี่ยงกระเป๋าเข้าห้องเป็นที่เรียบร้อยแล้วพวกเราก็มาตามนัดกับแหม่ม Inesh ที่อาสาพาเราไปทานอาหารอินเดียมื้อแรกซึ่งเธอยืนยันว่าอร่อยจริง และเธอเองก็ได้มาฝากท้องที่นี่ประจำ ร้านนี้มีทั้งอาหารมังสวิรัติ และอาหารธรรมดา ตั้งอยู่บนถนนใกล้ๆกับโรงแรมเพียงแค่เดินไม่กี่ก้าว พอก้าวเท้าเข้าไปในร้านมีคนนั่งทานอาหารมากมาย เป็นร้านติดแอร์เล็กๆ แค่คูหาเดียว ชื่อร้าน Prince Restaurant ดูจากความสะอาดของร้านใช้ได้เลยครับ
                ตัวแหม่มสาวนั้นยึดมั่นในการทานมังสวิรัติ เธอเลยสั่งสำรับของเธอต่างหาก อันเป็นแกงถั่วกับข้าว และจาปาตี ส่วนสามีเค้า และพวกเราทานเนื้อกันเลยสั่งมาเป็นสำรับชุดใหญ่ มีทั้ง แกงกุรหม่าไก่ แกงกุ้ง ห่อหมกปลา จาปาตีและนาน อีกทั้งข้าวหมกหรือที่เรียกว่า Briyani Rice สั่งมาทานกันเต็มโต๊ะ กับข้าวแต่ละอย่างไม่เยอะแต่ก็เล่นเอาอิ่มได้เหมือนกันแรกๆพวกเรารู้สึกแหยงๆกับการใช้มือเปิบอาหารแต่พอเราเห็นโต๊ะอื่นเขาทานกันได้ อีกทั้งคู่สามีภรรยาชาวสเปนทานได้อย่างไม่เคอะเขิน เอาวะเข้าเมืองตาหลิ่วก็ต้องหลิ่วตาตามชิมิ  พวกเราก็เลยเปิบมือกันอย่างเอร็ดอร่อย โดยมีชาวอินเดียโต๊ะข้างๆชูนิ้วให้เลยว่าเยี่ยมมากที่คณะเราชาวต่างชาติสามารถเปิบมือได้จนอาหารบนโต๊ะหมดเกลี้ยง ค่าเสียหายมื้อนั้น 591รูปีเอง ตกคนละร้อยกว่ารูปี ก็ไม่ถึงร้อยบาทอยู่ดี จนสุดท้ายเลยพนักงานหยิบถาดสเตนเลสเล็กๆมาให้ ภายในบรรจุไม้จิ้มฟัน น้ำตาลกรวดเล็กๆ และเมล็ดเครื่องเทศคล้ายเม็ดยี่หร่ามาให้พวกเราทานตบท้าย คนที่นั่นบอกว่าหากกินเจ้าสิ่งนี้ตบท้ายจะช่วยระงับกลิ่นปากและลมหายใจหอมสดชื่น พวกเราลองหยิบมาชิมคำน้อยๆ ต้องทานเม็ดยี่หร่ากับน้ำตาลกรวดคู่กันนะรสชาติถึงจะดี  ถึงมันจะทำให้ระคายคอชวนไอก็ตาม
 สองสามีภรรยาชาวสเปนผู้พิสมัยอาหารอินเดียประเดิมเปิบมือให้พวกเราเห็นเป็นตัวอย่าง
 ดูจากราคาเมนูอาหารร้านนี้ราคาปานกลางสำหรับชาวอินเดีย
 ซ้ายมือเป็นข้าวหุงกับเครื่องเทศและแผ่นโรตีไว้รับประทานกับแกง
 จานนี้เป็นมังสวิรัติคือแกงถั่วเหลือง
 ห่อหมกปลากับแกงกุรหม่าไก่
สุดท้ายหลังมื้ออาหารทุกร้านจะนำเจ้าสิ่งนี้มาให้ขบเคี้ยว

         พอท้องอิ่มสองฝรั่งขอแยกตัวไปเดินชมเมือง ส่วนพวกเราเอาของไปเก็บที่โรงแรมและออกมาเดินใหม่อีกรอบ โดยมีความตั้งใจว่าจะต้องหาซื้อแผนที่เมืองให้ได้ และจะไปเดินช็อปปิ้งกันที่ตลาดผ้าหรือ New Market ตลาดแห่งนี้ไปไม่ยากเพียงเดินออกมาจากโรงแรมก็จะเจอกับถนนซัดเดอร์ (
Sudder St.
)
ก็คงคล้ายๆกับถนนข้าวสารบ้านเรา มีรถแท็กซี่สีเหลืองจอดรอผู้โดยสารเป็นตับ หากใครจะขึ้นรถที่นี่ควรต่อรองราคาให้เยอะๆ เพราะเค้าจะไม่ยอมกดมิเตอร์และบอกผ่านราคาสูงมาก ถ้าไม่อยากเลือดสาดแนะให้ไปเรียกข้างนอกตามท้องถนนใหญ่จะดีกว่า พอผ่านถนนซัดเดอร์ก็จะมีซอยเล็กๆ ที่สามารถเดินทะลุไปแหล่งช้อปปิ้งได้เลย ในซอยนี้จะมีรถเข็นขายอาหารริมทางมากมาย มีทั้งข้าวโพด ข้าวยำแบบอินเดีย ชาร้อน บาเยียทอด ฯลฯ ในขณะเดียวกันก็มีเสื้อผ้าแขวนขายด้วยหากจะซื้อก็ควรต่อรองราคาดีดี ไม่งั้นไปเจอราคาร้านข้างหน้าแล้วอาจเสียใจภายหลังได้ ด้วยความที่มันอาจจะถูกกว่าเกินครึ่ง
 ข้าวโพดปิ้งริมทาง
 เสื้อผ้าแนวอินเดียมีให้ช้อปทั่วไปแต่ต้องต่อรองราคาดีดี
 อาหารมังสวิรัติริมทางราคาย่อมเยา
บาเยียทอดริมทางเป็นเมนูของว่างของคนที่นี่

           เมื่อเดินมาถึง New Market ก็เวลาบ่ายสี่ แต่แดดหุบลงไปมากแล้ว อาจเป็นเพราะหน้าหนาวกระมัง ผู้คนเดินขวักไขว่ตามท้องถนน หน้าตาอย่างพวกเราเอเชียชัดๆ ก็เริ่มจะมีลูกตื๊อขายของคอยเดินตาม มีทั้งขายกำไลอินเดีย บุหรี่ แว่นกันแดด แต่ที่เด็ดสุดคือ มีกระทาชายนายหนึ่งอาสาจะพาไปเที่ยวในตลาด อาสาเป็นไกด์จะพาไปซื้อพาชมีน่า ไปซื้อทอง โดยอ้างว่าร้านที่จะพาไปนั้นราคาถูกและสวย ให้ตายสิเดินตามอยู่นั่น ตามตั้งแต่ด้านหน้าธนาคารยันในห้างเลย เค้ามีความอดทนสูงมาก ยังจำกฏข้อที่9ได้มั้ย ที่ว่าให้ปฏิเสธลูกตื๊อใครก็ตามที่จะพาเราไปฟัน
 โฉมหน้าตลาดพาหุรัดแห่งKolkata มีชื่อเรียกว่า New Market
 ธนาคารแห่งชาติอินเดียและรถออสตินในมุมหนึ่งของตลาด

            เมื่อเดินเข้ามาภายในห้างเราก็จะพบกับร้านหนังสือ เราได้ซื้อแผนที่เมืองโกลกัตตาจากที่นี่ในราคาไม่แพง ประมาณ 50รูปี เพื่อนเราซื้อนิทานอินเดียมาเป็นภาษาอังกฤษ ความจริงมันมีภาษาเบงกาลีด้วยแต่พวกเราอ่านไม่ออก  จากนั้นก็เดินช้อปปิ้งภายในนั้นจนมืด ร้านขายผ้าในนั้นมีเยอะกว่าพาหุรัดอีก แต่ข้อสำคัญคือต้องต่อรองราคาให้ดี ถึงผ้าเหล่านี้ราคาจะถูกกว่าซื้อเมืองไทยมากก็ตาม มิฉะนั้นอาจเจ็บตัวได้ คงเป็นเพราะอินเดียมีค่าแรงค่อนข้างถูก จึงผลิตสินค้าได้ราคาต่ำ ผ้าที่ขายในตลาดแห่งนี้มีหลายชนิดมาก ทั้งผ้าเมตรตัดเสื้อผ้า ผ้าห่ม ผ้าปูที่นอน ผ้าคลุมเตียง พรม ผ้าทอคลุมไหล่ มีทั้งผ้าไหมและพาชมีน่า ผ้าพันคอ ผ้าคลุมผม โดยเฉพาะผ้าชุดส่าหรีนั้นมีเกือบทุกร้าน คงเป็นเพราะชุดส่าหรีเป็นชุดประจำชาติของสตรีอินเดียนั่นเอง
 หนังสือนิทานปรัมปราของอินเดียวางคู่กับการ์ตูนสมัยใหม่
 หนังสือของอินเดียเป็นสิ่งที่น่าซื้อไปเป็นของที่ระลึก
 สตรีอินเดียกับแผงขายหนังสือ
ร้านขายผ้าที่นี่บูชาพระพิฆเนศ
บรรยากาศขณะต่อรองราคาซื้อผ้าคลุมเตียงปักด้วยมือทั้งผืน

          กว่าพวกเราจะซื้อผ้าผ่อนเสร็จก็ปาเข้าไปค่ำมืด เราซื้อผ้าเมตรใหญ่มา2ผืนในราคา 170รูปี ด้วยเห็นว่าลวดลายสวยดีซื้อไปฝากคนที่บ้าน เดินทางมาวันแรกก็ละลายทรัพย์ในกระเป๋ากันเสียแล้ว พอก้าวออกมานอกพลาซ่ามอลล์ พวกเราก็ยิ่งตกตะลึงมากกว่าเดิม ด้วยความที่ฟ้ามืดผู้คนอินเดียในเมืองกัลกัตตานี้เลิกงานและพากันมาเดินช้อปปิ้งในย่านนี้กันอย่างมืดฟ้ามัวดิน  ด้านนอกพลาซ่ายังมีตลาดที่เรียกว่าถนนคนเดินอีก แถมสนนราคาก็ถูกกว่าในห้างเยอะแต่ก็ต้องไม่ลืมที่จะต่อรองราคานะ เราคนไทยช่างต่ออยู่แล้ว สุดท้ายเลยได้ข้าวของเพิ่มอีกเป็นพวงกุญแจของที่ระลึกธนบัตรรูปี ราคา 20 พวง 200รูปี และผ้าพาชมีน่า2ผืน ในราคา180รูปี
 ดึกแล้วคนยังเดินกันหนาตา
 หน้าโรงหนังในเมืองกัลกัตตาดูที่ป้ายจะไม่มีหนังต่างชาติเลย
 รถตุ๊กๆของอินเดียหน้าตาคล้ายคลึงกับของบ้านเรา
 New Market ยามค่ำคืน
ยิ่งดึกคนก็ยิ่งแน่นที่ตลาดแห่งนี้

          กว่าจะเดินเสร็จก็ปาเข้าไปเกือบสามทุ่ม เราเลยขอแยกตัวออกมาทานมื้อเย็นสักหน่อยที่ร้าน Maria Restaurant อยู่หน้าปากซอยทางเข้าโรงแรม เป็นแกงถั่ว (Dal Curry) กับจาปาตี (Japatis) แค่นี้ก็อิ่มอยู่ท้อง ส่วนอีก2คนไปซื้อเบียร์มาดื่มแก้หนาว สองสามีภรรยาชาวสเปนเชื้อเชิญพวกเราให้ขึ้นไปปาร์ตี้บนดาดฟ้าโรงแรม บนนั้นเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวแบกเป้นานาชาติมารวมตัวกันพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ระบายอารมณ์  บลา บลา บลา มีทั้งญี่ปุ่น เกาหลี จีน สเปน ฝรั่งเศส ถ้ามีแข่งบอลโลกช่วงนั้น คงเชียร์กันสนุก พอมึนๆได้ที่พวกเราก็กลับห้องนอน
 แกงถั่วเหลืองที่พึ่งยามยากกับแผ่นจาปาตีร้อนๆ
สมาคมชาวแบกเป้นานาชาติรวมตัวกันสังสรรกินดื่มกันบนดาดฟ้าโรงแรม

ตอนต่อไปจะพาทุกท่านนั่งรถไฟใต้ดินออกไปนอกเมืองไปชมวัดฮินดูที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเมืองนี้




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น