วันพุธที่ 25 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

อินเดีย ใครๆก็ไปได้ ตะลุยกัลกัตตาแบบไม่ง้อทัวร์ ตอนที่10 ชมกระบวนการปรุงอาหารอินเดีย (Indian Restaurant) และบทส่งท้ายในการมาเยือนแดนภารตะ

            “เรื่องกินเรื่องใหญ่ เรื่องตายเรื่องเล็ก วลีนี้ใช้ได้เสมอสำหรับนักท่องเที่ยวชาวเอเชีย ผู้พิสมัยในการเลือกรับประทานอาหารให้อร่อยที่สุด แต่อาจไม่จำเป็นว่าจะต้องแพงที่สุดเสมอไป  ดังเช่นมื้อเย็นนี้ เรากลับมาที่ถนนสายเดิมอีกครั้งเพื่อทานร้านอาหารข้างๆร้านที่พวกเราทานเมื่อกลางวัน เพียงแต่ว่าร้านนี้บรรยากาศจะดูเป็นกันเอง เหมือนร้านอาหารทั่วไปมากกว่าภัตตาคาร ร้านนี้มีชื่อว่า The Friend’s Home ให้บรรยากาศเดียวกันกับการนั่งทานอาหารที่บ้านเพื่อนเลยครับ
 โฉมหน้าร้านบ้านเพื่อนราคามิตรภาพ
ฝั่งตรงข้ามกับร้านอาหารเป็นร้านฟาสต์ฟู้ดทั่วไป

                 ร้านอาหารแลดูสะอาดตามีครอบครัวชาวอินเดียมานั่งทานกันเต็มร้าน เราลองสั่ง Mix Chat มาลองทานดู จานนี้จะเป็นแป้งกรอบใส่ในกระทะ มีหอมใหญ่ ซีเรียลราดด้วยโยเกิร์ต น่าจะเป็นอาหารเรียกน้ำย่อยของคนที่นี่ครับ ราคาจานละ 25รูปีเอง  พวกเราสั่ง Tomato Uttapum มาทานกันอีก หน้าตาคล้ายกับแป้งนิ่มๆ ใส่มะเขือเทศและชีส ทานกับซอสนมเปรี้ยว และน้ำแกง ราคาชุดละ37รูปี ส่วนเครื่องดื่มเราก็สั่งทั้งน้ำทับทิมคั้นสด และนมเปรี้ยวปั่นน้ำกุหลาบ (Rose Lassi) อร่อยและหอมน้ำกุหลาบมากครับ ราคาแก้วละ21รูปีเอง และเราก็ไม่พลาดกับของหวานอินเดียครับ นั่นคือกุลาบจามุน (Gulab Jamun) เป็นขนมแป้งลูกกลมเล็กนำไปทอด แล้วราดด้วยน้ำเชื่อมหวานจัด ราคาสองชิ้นเพียง 10รูปีเท่านั้น พวกเราสั่งอาหารกันน้อยเพราะจะต้องกลับไปทำลายข้าวหมกไก่และไก่ KFC ที่ทานเหลือมาจากกลางวันอีก แล้วก็ไม่ลืมที่จะซื้อเบียร์ขึ้นไปดื่มแกล้มอาหารบนดาดฟ้าโรงแรมกับเพื่อนๆชาวแบกเป้นานาชาติเหมือนเดิม
 ครอบครัวสุขสันต์กับมื้อเย็นวันอาทิตย์

 Rose Lassi น้ำกุหลาบปั่นกับนมเปรี้ยว
 Mix Chat จานเรียกน้ำย่อย
 Tomato Uttapum รสชาติคล้ายโรตีไส้มะเขือเทศ
Gulab Jamun จานนี้หวานมากๆ
 ร้านขายเหล้าเบียร์ในอินเดีย
แวะซื้อเสื้อผ้าก่อนกลับที่พัก คนขายเคยมาทำงานอยู่เมืองไทยด้วย

 ที่เคาน์เตอร์โรงแรมระหว่างรอเช็คเอ๊าท์ในตอนเช้าวันกลับ

              เช้าวันสุดท้ายที่เราไม่อยากลุกออกจากที่นอน ไม่อยากเดินทางกลับไปทำงานเลย เวลาเพียง3วันนั้นสั้นยิ่งนัก พวกเรายังไม่รู้จักอินเดียดีพอ เราตื่นเป็นคนแรกของห้องดอร์ม นักเที่ยวแบกเป้คยอื่นยังคงนอนหลับอย่างสบายอารมณ์ ตามกำหนดเราต้องเช็คเอ๊าท์ตั้งแต่ 7.30น. เพื่อไปทานอาหารเช้าเจ้าเดิมก่อนที่จะเดินทางไปที่สนามบินเพื่อขึ้นเครื่องตอนเที่ยงกว่า พวกเราลากกระเป๋าไปรอร้านอาหารเช้าเปิด ซึ่งปกติร้านนี้เค้าจะไม่เปิดก่อน8โมง ด้วยว่าพวกเรานัดเชิงบังคับว่าให้เปิดร้านไว้ต้อนรับนะ พวกเราจะมาทานกันพรุ่งนี้ก่อนเดินทางไกล และแล้วเมื่อมาถึงร้านก็เห็นคนงานชายกำลังสาละวนอยู่กับการทำความสะอาดร้าน ยกโต๊ะเก้าอี้ลง บ้างก็เข็นตู้โชว์อาหารออกมาหน้าร้าน พวกเราเลยต้องยืนรอที่หน้าร้านก่อน แลเห็นกระทาชายมีอายุคนหนึ่งกำลังตำเครื่องแกงอยู่ข้างถนนอย่างเมามัน เราสงสัยว่าทำไมเค้าต้องมาทำครัวข้างถนน เจ๊บอกว่าถ้าเดาไม่ผิดเค้าจะต้องเป็นคนครัวของร้านนี้แน่ๆ โอ้ว ไม่นะอย่าเป็นเช่นนั้นนะ และแล้วฝันร้ายก็เป็นจริง เมื่อชายผู้นั้นยกครกที่โขลกเครื่องแกงเทลงในหม้อต้มน้ำเดือดๆ บอกกับตัวเองไม่เป็นไรถ้าน้ำเดือดมันคงฆ่าเชื้อโรคหมดน่า เพื่อนเราอีกคนขอแยกตัวไปเดินดูของย่านตลาดสดเพื่อไปซื้อเครื่องแกงอินเดียจะกลับไปทำอาหารทานเองที่เมืองไทย  สักพักพวกเราก็ได้เห็นกระบวนการต้มโยเกิร์ตอีกถังใหญ่มาก เมื่อวัตถุดิบน่าทานเช่นนี้ เราก็ต้องสั่งอาหารกันชุดใหญ่มีทั้งแกงถั่วทานกับโรตีหนานุ่ม แป้งที่คล้ายกับหม่านโถวร้อนๆ แต่จิ้มกับน้ำแกง ด้านเครื่องดื่มเราสั่ง การัมจาย (ชานมร้อน) กับ Lassi มาทานเป็นนมเปรี้ยวกุหลาบเหมือนเดิม ระหว่างที่เรานั่งทานกันอยู่เจ้าของร้านก็มาคุยกับเราและถามว่าอาหารใช้ได้มั้ย พวกเราตอบว่าอร่อยมากๆจนต้องกลับมาทานซ้ำอีก แกยิ้มจนเห็นฟันขาวเลย เจ้าของร้านเป็นคนอินเดียตอนเหนือผิวพรรณจึงค่อนไปทางขาวมากกว่า สนนราคามื้อสุดท้ายนี้ 160 รูปี ก่อนจากไปพวกเราขอให้เขาเรียกรถแท็กซี่เพื่อไปส่งสนามบินดัมดัมให้พร้อมกับต่อรองราคาให้เสร็จสรรพ ได้ราคาเหมาคันอยู่ที่ 300 รูปีเท่านั้น ช่างถูกกว่าขามามากๆ  นี่แหละหนาน้ำใจช่วยทำให้โลกนี้น่าอยู่ยิ่งขึ้น ถึงแม้จะหายากสักนิดในสังคมอินเดียก็ตาม แต่ก็จะเป็นความประทับใจที่ยังคงตราตรึงใจมิรู้ลืม
พอคุณลุงโขลกเครื่องแกงบนครกเล็กๆเสร็จ ก็นำเครื่องแกงมาใส่ลงในหม้อต้มแกงทันที 

 ชายคนนี้เตรียมวัตถุดิบโยเกิร์ตและมะเขือเทศเป็นถังเลย
 ก่อนเปิดร้านจะต้องจัดวางหน้าร้านให้สวยและดูน่ารับประทานเสียก่อน
 โฉมหน้าอาหารที่เราสั่งมาในวันนี้ มีชุดแป้งนิ่ม2ชุด และโรตีแกงถั่ว1ชุด
              ต้องขอขอบคุณในความมีน้ำใจไมตรีของเจ้าของร้าน แล้วเราจะมาเยือนท่านอีก

           ล้อหมุนออกจากร้านอาหารอินเดียตอนเก้าโมงกว่า เช้าวันจันทร์ที่รถบนท้องถนนหยุดนิ่งไม่แพ้บางกอก โชคดีแล้วที่พวกเราเผื่อเวลาไว้สำหรับการจราจรที่ค่อนข้างติดขัดในกัลกัตตา แต่ก็ถือว่ายังติดน้อยกว่ากรุงมะนิลา ฟิลิปปินส์ รายนั้นเดินยังไปได้ไวกว่ารถแล่นเสียอีก รถติดทำให้เราได้เห็นวิถีชิวิตที่รีบเร่งของคนเมือง ทั้งแย่งกันอาบน้ำที่ก๊อกสาธารณะ เด็กๆรีบไปโรงเรียน พ่อค้าเปิดร้านขายของ  ผู้คนแออัดบนรถเมล์ ฯลฯ  แต่สิ่งที่ทำให้ประหลาดใจมากๆ คือสลัมข้างถนนครับ ที่นี่เค้าก่อสร้างได้ถึง2-3ชั้นด้วยวัสดุที่ไม่ดีนัก นึกแล้วเสียวแทนหากวันใดวันหนึ่งมีลมพายุแรงๆพัดพังผู้คนจะอยู่กันอย่างไร
 ชนชั้นกรรมาชีพก็ต้องก้มหน้าก้มตาทำงานหนักไป
 สามล้อคันนี้จะขอเงินค่าถ่ายรูปเขา
 บนรถเมล์ผู้คนแออัดในเช้าวันจันทร์
 ในรูปล่างซ้ายคนโฆษณาเครื่องประทินผิวหน้าตาคุ้นๆ
               ย่านสลัมในเมืองกัลกัตตาที่ไม่น้อยหน้ามะนิลา ฟิลิปปินส์
 หนุ่มๆทำภาระกิจส่วนตัวกันข้างถนน
ประเทศอินเดียคือสรวงสวรรค์ของวัว
           ระยะทางเพียงไม่ถึง30 กิโลเมตร แต่ใช้เวลามากกว่า1ชั่วโมง รถแท็กซี่ก็พาพวกเรามาส่งที่สนามบิน Netaji แบบไม่ค่อยสบอารมณ์นัก ก็ทั้งรถติดทั้งโดนคนพื้นที่ตกลงราคามาก่อนนี่จ๊ะนายจ๋า ฉานเลยไม่กล้าเรียกร้องอะไรเพิ่มน่ะนาย เวลาสิบโมงกว่าได้เวลาเช็คอินพอดี มาเที่ยวอินเดียครั้งนี้ช้อปปิ้งผ้าผ่อนเยอะไปหน่อยเลยต้องเสียค่าโหลดกระเป๋าเพิ่ม ใครก็ตามที่เดินทางมาอินเดียด้วยใจที่แน่วแน่ว่าจะไม่ซื้ออะไรเลย บอกได้คำเดียวเลยว่ายาก ด้วยราคาของล่อตาล่อใจซะขนาดนี้ ทีมนักแบกเป้งบน้อยยังต้องยอมจัดหนักเพื่อให้มีของไปฝากเพื่อนๆ กันถ้วนหน้า  ระหว่างนั่งรอเครื่องพวกเราก็ได้ไปซื้อชาอินเดียแท้ๆติดไม้ติดมือไปฝากเจ้านายกันอีก ร้านค้าในสนามบินมีชาจำหน่ายทั้งชาดาร์จีลิ่ง (Darjeeling Tea) ชาอัสสัม (Assum Tea) ฯลฯ ราคาก็ตกประมาณกล่องละ 45-55รูปี เป็นชาถุงบรรจุกล่องละ 25ซอง ถ้าราคานอกสนามบินคงถูกกว่านี้มากๆ นี่แหละประเทศผู้ผลิตชา  ก่อนขึ้นเครื่องยังได้ผูกมิตรกับกลุ่มสาวเหลือน้อยชาวฟิลิปปินส์ พวกเธอจะกลับประเทศแต่แวะผ่านเมืองไทย1คืน โดยเธอจะไปซื้อโน้ตบุ๊ค เลยมาขอคำปรึกษาพวกเราว่าจะไปซื้อที่ไหน เมืองไทยยังคงเป็นแหล่งสวรรค์สำหรับนักช้อปเสมอ เรานั่งคุยกันเพลินจนได้เวลาเครื่องทะยานออกตอนเที่ยงครึ่ง ใช้เวลาบินสองชั่วโมงเศษๆ ยังคิดอยู่ว่าหากประเทศอินเดียไม่มีการแบ่งแยกชนชั้นวรรณะ สังคมคงจะน่าอยู่มากกว่านี้ จึงขออยากฝากให้ทุกท่านได้คิดว่า ไปต่างประเทศแต่ละครั้งขอให้ลองย้อนมองดูประเทศของเราด้วย ประเทศอินเดียนั้นยังคงมีเสน่ห์มนตราอยู่มากด้วยว่าผู้คนยังคงรักษาเอกลักษณ์วัฒนธรรมประเพณีไว้อย่างเหนียวแน่น  หากจะมองอย่างลึกซึ้งแล้วประเทศอินเดียก็เปรียบเสมือนหนังสือเล่มใหญ่ที่อ่านไปเท่าไหร่ก็ไม่มีวันจบ แล้วฉันจะกลับมาเยี่ยมเธอใหม่ สิ้นปีนี้นะ อินเดีย

 เด็กน้อยเดินทางไปโรงเรียน
 ภารกิจลับๆที่ไม่ลับตาคนของหนุ่มๆ ข้างถนน
 น่าสงสารก็แต่แพะกลุ่มนี้ที่พวกมันเห็นเพื่อนตัวเองห้อยต่องแต่งบนขื่อ
 สมณชีพราหมณ์ของที่นี่แต่งตัวคล้ายสงฆ์?
 รูปเคารพเจ้าแม่ทั้งหลายวางขายเกลื่อนกลาดริมทาง
 รถเจ้าภาพของที่นี่นั่นคือ TATA
โปสการ์ดไว้ย้ำเตือนความทรงจำ แล้วเราจะกลับมาหาเธอใหม่ปลายปีนี้นะจ๊ะ
Coming Soon we promised.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น