วันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

อินเดีย ใครๆก็ไปได้ ตะลุยกัลกัตตาแบบไม่ง้อทัวร์ ตอนที่9 ชวนชิมมื้อกลางวันระดับภัตตาคาร แวะชม Indian Museum และเยือนย่านเมืองเก่า B.B.D. Bagh

                แท็กซี่พาพวกเรามาส่งที่สถานีเอสพลานาด (Esplanade) ยามบ่ายเพื่อทำตามความประสงค์ที่พวกเราอยากจะลิ้มลองอาหารอินเดียระดับภัตตาคาร ซึ่งสองสามีภรรยาชาวสเปนได้แนะนำไว้ว่าอยู่ตรงข้ามกับห้างสรรพสินค้าซิตี้มาร์ท (Citimart) ซึ่งตั้งอยู่บนถนน Surendra Nath Banerjee เป็นย่านการค้าใหญ่ใกล้กับ New Market เช่นกัน  ร้านนี้มีชื่อว่า ภัตตาคารรุจิกา (Ruchika Restaurant) ว่าไปชื่อคนอินเดียกับชื่อคนไทยนั้นคล้ายคลึงกันมากครับ เป็นผลจากการที่เราไปยืมใช้คำภาษาบาลีสันสกฤตนั่นเองครับ ร้านรุจิการาคาอาหารจะสูงกว่าร้านทั่วไปประมาณเท่าตัว อาหารเสริฟ์มาในจานโลหะ เราสั่งข้าวหมกไก่ซึ่งที่นี่ทำได้อร่อยมากครับ หอมกลิ่นเครื่องเทศมากๆ เครื่องเทศข้าวหมกเค้าใส่มาเป็นใบเป็นก้านเลยครับมิได้เป็นผงข้าวหมกสำเร็จรูปรสชาติเข้มข้นสุดๆ แล้วเราก็สั่งแกงไก่แบบไร้กระดูกพร้อมกับแกงถั่วมาด้วย เนื้อไก่ไร้กระดูกนุ่มสุดๆแทบจะละลายในปากเลยครับรสแกงใช้ได้เลยทีเดียว มื้อนี้อร่อยจริงไม่มีผิดหวังครับทานไม่หมดด้วยเพราะปริมาณอาหารต่อจานนั้นเยอะมาก พวกเราต้องห่อข้าวหมกไก่กลับที่พักครับ สนนราคามื้อนั้นตกอยู่ที่ 310 รูปี ราคาไม่ถึงกับแพงมากนัก แต่ถ้าเทียบกับร้านอาหารอื่นๆ ในอินเดีย จัดว่าแพงครับ

 ภัตตาคารรุจิการาคามิตรภาพ
 ดูจากราคาอาหารแล้วนับว่าใช้ได้เลยทีเดียวเพราะร้านนี้ไม่เน้นมังสวิรัติ

 ข้าวสวยที่นี่เป็นข้าวบาสมาติ เมล็ดจึงเรียวยาวและสวยมาก
 แกงถั่วที่นี่มีการตกแต่งหน้าอาหารแบบกาแฟลาเต้ด้วย
 แกงไก่ไร้กระดูกอย่างอร่อย
ข้าวหุงปรุงอย่างเทศ รสพิเศษใส่ลูกเอ็น (จากกาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน)
                 เสร็จแล้วพวกเราก็เดินช้อปปิ้งสักครู่ที่ห้างซิตี้มาร์ทซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามกับภัตตาคาร อันมีสัญลักษณ์หน้าห้างเป็นตัวสไปเดอร์แมนกำลังไต่ป้ายหน้าห้างอยู่ ใครเดินผ่านไปมาย่อมจำได้ด้วยว่าเปรียบเสมือนแลนด์มาร์คของย่านการค้าแห่งนี้เลยครับ เมื่อเข้าไปชมสินค้าภายในห้างพบว่าที่นี่จะมีสองชั้น แยกชั้นสำหรับสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีอย่างชัดเจนเลยครับ โดยของผู้ชายจะอยู่ชั้นล่าง ของผู้หญิงอยู่ชั้นบน ราคาสินค้าที่นี่ต่อรองไม่ได้ครับแต่ก็ไม่ผิดหวังเลยครับ เพราะว่าราคาถูกกว่าตลาดข้างนอกด้วยซ้ำ หากรู้เช่นนี้เราคงไม่ต้องไปเดินเลือกร้านข้างนอกและต่อราคาให้เสียเวลาเลยครับ  พวกเราได้เลือกซื้อเสื้อผ้าสไตล์อินเดีย ผ้าพันคอ ผ้าคลุมไหล่ และปลอกหมอนกลับมาเป็นที่ระลึกครับ ราคามิตรภาพจริงๆ

  พื้นที่บริเวณหน้าห้าง Citimart สินค้าราคามิตรภาพ มาง่ายให้สังเกตตัวสไปเดอร์แมน

บริเวณปากทางเข้าย่านการค้าสถานี Esplanade
ปลอกหมอนสไตล์อินเดียเหมาะแก่การซื้อเป็นของฝาก


               พอได้ช้อปปิ้งเป็นที่หอมปากหอมคอแล้ว พวกเราต้องเอาทั้งเสบียงอาหารมื้อค่ำและข้าวของไปเก็บที่โรงแรมก่อนครับ จากนั้นก็เดินเท้าเลี้ยวซ้ายออกไปด้านหลังที่พักอันเป็นที่ตั้งของ Indian Museum หรือพิพิธภัณฑ์แห่งชาติอินเดียครับ  พิพิธภัณฑ์แห่งนี้สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1814 โดยสถาปนิกชาวอิตาเลียน เป็นพิพิธภัณฑ์แห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดในอินเดียครับ เต็มไปด้วยห้องจัดแสดงวัตถุมากกว่า 40ห้อง มีทั้งห้องแสดงซากพืช ซากสัตว์ โลกแมลง ห้องแร่และหิน ภูมิศาสตร์ อารายธรรมมนุษย์โบราณ ห้องแสดงหน้ากาก ผ้า ฯลฯ บรรยายไม่หมดครับ เอาเป็นว่าเหมาะสมกับเด็กมาทัศนศึกษามากกว่าผู้ใหญ่ครับ มีการจัดแสดงวัตถุแบบง่ายๆ ไม่มีลูกเล่นแบบพิพิธภัณฑ์มีชีวิตหรือ Live Museum นะครับ พิพิธภัณฑ์นี่ตั้งอยู่บนหัวถนน Sudder และ J.N. Road ครับ  เปิดให้บริการทุกวันยกเว้นวันจันทร์ ตั้งแต่ 10.00-17.00น. ครับ ค่าเข้าชมสำหรับชาวต่างชาติคนละ 150 รูปี มีพื้นที่สำหรับฝากสัมภาระด้านนอกด้วยครับ แน่นอนครับด้านในห้ามถ่ายรูปเด็ดขาด แต่พวกเราก็แอบถ่ายมาอีกจนได้ครับ แต่ละห้องจัดแสดงนั้นกว้างใหญ่มาก เดินอย่างไรก็ไม่ทั่วและไม่ทันกับเวลาเพียง2ชั่วโมง เพราะที่นี่ปิด5โมงเย็น แอบประทับใจห้องแสดงหน้ากากที่จะต้องปีนขึ้นไปถึงชั้น6ครับ พอ5โมงปุ๊บ เสียงออดดังขึ้นแบบเสียงออดโรงเรียนเลิก ห้องจัดแสดงต่างๆเริ่มปิดตัวลง ทั้งที่ยังมีคนอินเดียเดินชมอยู่เป็นจำนวนมาก ผู้คนก็เลยกรูลงมาออกันอยู่ข้างล่างอย่างแน่นเนือง บริเวณด้านล่างลานน้ำพุมีการเล่นดนตรีขับกล่อมผู้เข้าชมด้วยครับ
 ลานน้ำพุบริเวณชั้นล่างของ Indian Museum
จุดแสดงดนตรีสดขับกล่อมซึ่งเป็นเพลงบรรเลงล้วนๆ

         พวกเราเดินชมพิพิธภัณฑ์อยู่นานจนคอแห้งเป็นผง เราจะต้องออกมาเติมความสดชื่นกันหน่อย ด้านนอกพิพิธภัณฑ์มีของขายคล้ายกับเมื่อวาน เจ๊จัดแจงสั่งน้ำส้มเช้งคั้นมาดื่มแก้กระหายเห็นคนอินเดียต่อคิวซื้อกันยาวเชียว น้ำส้มคั้นสดราคาแก้วละ 20 รูปีครับ ดื่มแล้วจะต้องคืนแก้วเค้าด้วยนะครับ ผลไม้ที่นี่ขายกันแบบแปลกๆครับ เค้าจะหั่นทุกอย่างใส่ในจานไว้ให้คนซื้อทานกันสดๆ ไม่ขายแยกเป็นอย่างๆครับ เราเรียกรถแท็กซี่อีกครั้งเพื่อไปยังย่าน B.B.D. Bagh   ซึ่งเป็นย่านเมืองเก่า ถามใครก็ไม่มีใครรู้จักว่ามันอยู่ตรงไหน พวกเราต้องชี้จุดบนแผนที่ให้แท็กซี่ดู แต่สุดท้ายเค้าก็หลงทางพาพวกเราไปส่งที่ Nakhoda Mosque พวกเราเลยต้องลงเดินกันอานเลย ระหว่างทางก็ได้ถ่ายรูปรถรางซึ่งแล่นผ่านไปมา วันอาทิตย์รถยนต์ตามท้องถนนบางตาเมื่อเทียบกับวันเสาร์ นี่คงเป็นวันครอบครัวจริงๆ สำหรับชาวเมืองกัลกัตตา
 ดูจากเครื่องคั้นน้ำส้มแล้วน่าอร่อยจริงๆ
 หน่วยกล้าตายลองชิมน้ำส้มเช้งคั้นแล้ว
 ผลไม้ที่นี่เค้าจะหั่นแล้วคละรวมกันขายเป็นจานๆ 
 หลากสีสันของรถรางในเมืองกัลกัตตา
รถรางมีรอยชนตัวถังเหล็กยุบรอบคัน บ่งบอกอายุการใช้งาน
 หากมองเผินๆจะนึกว่าอยู่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ
 รถออสตินถูกจัดฉากถ่ายรูปครั้งแล้วครั้งเล่า
 ระหว่างทางเดินไป B.B.D. Bagh
ขอแชะภาพกับรถตำรวจซักหน่อย

            B.B.D. Bagh เป็นย่านหรูใจกลางเมืองที่เต็มไปด้วยศูนย์ราชการต่างๆ และตึกเก่าๆสมัยยุคอาณานิคม แต่อาคารที่นี่ได้รับการบูรณะฟื้นฟูนะ ไม่ปล่อยให้เก่าคร่ำคร่าเหมือนกับบริเวณนอกเมือง กลุ่มอาคารย่านนี้มีทั้งที่ทำการไปรษณีย์  สำนักงานป่าไม้  โบสถ์ ธนาคารแห่งชาติอินเดีย และสถานที่ราชการอื่นๆอีกมาก ด้วยความที่พวกเราไปเยือนในเย็นวันอาทิตย์ สถานที่ราชการและย่านเมืองเหล่านั้นจึงถูกทิ้งเป็นเมืองร้าง ถนนใหญ่โล่งและสะอาดตา ไร้ซึ่งผู้คนเดินตามท้องถนน คงเหลือแต่พวกเราเท่านั้น และการ์ดที่ยืนอารักขาตามสถานที่สำคัญต่างๆ เลยจับมาถ่ายรูปด้วยกันเสียเลย บริเวณจุดศูนย์กลางจัตุรัส B.B.D. Bagh มีบ่อน้ำสี่เหลี่ยมจัตุรัสเป็นแลนด์มาร์คด้วย ว่าแต่คุณภาพของน้ำนั้นไม่ไหวแล้วครับ รถรางแล่นมาสุดสายบริเวณนี้พอดี ที่นี่มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า Dalhousi Square ครับ  พวกเราเดินอยู่ได้เพียงสักครู่ความมืดก็เข้าปกคลุมไปทั่ว ไม่เหลือผุ้ใดเดินถนนอีก ถนนสายนี้เป็นของพวกเราเท่านั้น รีบเดินครับ ควรรีบเดินไปยังที่สว่างและปลอดภัยมันเงียบเกินไปเสียแล้ว พวกเราเลยเดินไปสั่งน้ำส้มคั้นมาทานกันอีก และเรียกแท็กซี่บริเวณนั้นกลับไปที่ย่านเอสพลานาดในราคา 70รูปี
 ธนาคารแห่งชาติอินเดียและโบสถ์ St. Andrew

อาคารอะไรไม่ทราบรู้เพียงแต่ว่าสีสวยดี
 ถ่ายกับเหล่าการ์ดยามว่าง

 อาคารที่ทำการไปรษณีย์ยามพลบค่ำ
จัตุรัส B.B.D. Bagh (Dalihouse Square)
 น้ำส้ทเช้งคั้นสดเป็นที่พึ่งที่ดีที่สุดยามกระหาย
เดินกันไม่ไหวแล้วขอโบกแท็กซี่กลับซักหน่อย

ตอนต่อไปบทส่งท้ายชมกระบวนการปรุงอาหารอินเดียกันถึงก้นครัวเลยครับ อย่าเพิ่งเบื่อกันไปก่อนนะครับ

             

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น