วันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ครั้งแรกกับการแบกเป้เที่ยวอินโดนีเซีย ตอนที่9 หลงรักคฤหาสน์โบราณ T Jong A Fie Mansion และแวะช็อปสินค้าตลาดผ้าพื้นเมือง

"There on the earth where I stand,  I hold the sky. Success and glory consists not in what I have gotten but in what I have given" -Tjong A Fie
        เป็นเช้าอีกวันที่พวกเราไม่ต้องรีบตื่น แบบว่าสบายๆ เพราะเรานัดกันไว้ประมาณเก้าโมงเราจะออกไปเดินตลาดค้าผ้ากันจากที่สืบหาข้อมูลแหล่งช้อปปิ้งพื้นเมืองจากพนักงานโรงแรมอยู่นาน เราทานข้าวผัดสับปะรด (Nasi Goreng Nanes) รองท้องไปก่อน1จาน และน้ำชาผลไม้ด้วยในราคาโปรโมชั่นของโรงแรม My Hotel ในราคาเพียง 23,100 รูเปีย เมื่ออิ่มท้องแล้วสมาชิกทุกท่านก็พร้อมออกเดินทาง สมาชิกที่เหลือไม่ทานมื้อเช้าแต่บอกว่าจะไปหาทานเอาที่ตลาดเผื่อว่าอาจจะไปเจออะไรก็ตามที่น่าจะอร่อยกว่า
คฤหาสน์ท่านเจ้าสัว Tjong A Fie ณ เมืองเมดาน

ข้าวผัดสับปะรดที่รสชาติเป็นสับปะรดที่สุดเท่าที่เคยทานมา
            พวกเราเลือกใช้เส้นทางเดียวกันกับเมื่อวานคือ เดินผ่านย่านร้านค้าอะไหล่เครื่องยนต์และข้ามทางรถไฟ คนเมืองเมดานก็ยังเดินตามท้องถนนกันน้อยเช่นเคย เราเดินผ่านคฤหาสน์จีนโบราณ ซึ่งมีชื่อว่า Tjong A Fie Mansion เป็นคฤหาสน์โบราณสไตล์จีน สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1900 อยู่บนถนน Jend Ahmad Yani  คล้ายกับที่เมืองปีนังและภูเก็ต เจ้าของคฤหาสน์เป็นมหาเศรษฐีคนแรกแห่งเกาะสุมาตราที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก แน่นอนล่ะท่านชื่อ Tjong A Fie ท่านเกิดในปี ค.ศ. 1860 ในหมู่บ้าน Sung Kow รัฐกวางตุ้ง ประเทศจีน ต่อมาได้ย้ายเข้ามาทำการค้าเป็นร้านขายของชำในเมืองเบลาวัน ในปีค.ศ. 1877 จนกิจการขยายใหญ่โตรุ่งเรือง ภายใต้การปกครองของท่านสุลต่านเดลีแห่งเกาะสุมาตรา ต่อมารัฐบาลของฮอลแลนด์ได้มอบหมายให้ร่วมรัฐบาล ซึ่งบทบาทหน้าที่ของท่านเจ้าสัวคือ การดูแลชุมชนชาวจีนบนเกาะสุมาตรา  Tjong A Fie ได้สิ้นลมในปี ค.ศ. 1921  ทายาทรุ่นปัจจุบันวัยประมาณ 50กว่าออกมาต้อนรับขับสู้อย่างเป็นกันเอง ค่าเข้าชมที่นี่ประมาณ 35,000 รูเปีย สาวๆได้ยินเช่นนั้นเลยขอปลีกตัวไปช้อปปิ้งผ้าผวยที่ตลาดผ้าพื้นเมืองที่อยู่ติดกันดีกว่า แต่ในเวลานั้นร้านค้าแต่ละร้านเพิ่งจะเปิดทำการกันไม่นาน
 บริเวณซุ้มประตูทางเข้ายังยิ่งใหญ่เลย
 ประวัติความเป็นมาของการสร้างคฤหาสน์หลังงาม
 จุดขายบัตรเข้าชมกับซุ้มขายของที่ระลึกเล็กๆน้อยๆ
 บริเวณทางเข้าคฤหาสน์ พื้นปูด้วยกระเบื้องอย่างดีจากอิตาลี

           เจ้าของบ้านได้พาชม T Jong A Fie Mansion ด้วยตัวเอง อธิบายเองเสร็จสรรพ นำชมแต่ละห้องตั้งแต่ห้องรับแขก ห้องเปียโนด้านล่าง ห้องครัว ซึ่งมีทั้งหมด 35ห้อง บ้านแบบสไตล์ชิโนโปรตุกีสนั้นตรงกลางบ้านมักจะเปิดหลังคาโล่งและมีสวนอยู่ตรงกลางบ้านเสมอ กระเบื้องปูพื้นของแต่ละห้องมักจะใช้กระเบื้องนำเข้าอย่างดีจากประเทศอิตาลี อายุอานามก็แทบจะเกิน 100ปี ไปแล้วโน่น การออกแบบบานพับหน้าต่างก็คล้ายกับเรือนปั้นหยาทางภาคใต้ของบ้านเรา ยามที่เดินขึ้นไปชั้นบนเราต้องตกตะลึงกับการตกแต่งอย่างเรียบง่ายและน่ารักเข้ากันไปหมดทั้งบ้าน โดยเฉพาะการตกแต่งเพดานห้องนั้นงดงามมาก ประดับด้วยโคมไฟระย้านำเข้าจากอิตาลี ชั้นบนมีทั้งห้องนอน ห้องแต่งตัว ห้องแสดงภาพถ่ายของตระกูลตั้งแต่อดีตไล่มาจนถึงปัจจุบัน ถึงตัวคฤหาสน์จะไม่ใหญ่นักแต่เราก็ใช้เวลาในการชื่นชมนานถึงชั่วโมงครึ่ง เราต้องขอขอบคุณท่านเจ้าของบ้านที่เอื้อเฟื้อเวลาในการนำชมและอธิบายข้อมูลอย่างละเอียด และหวังว่าจะมีผู้เข้าชมสถานที่มากขึ้นจะได้ไม่เงียบเหงาเกินไปเหมือนกับวันนี้ครับ
 ซ้ายมือคือทายาทคฤหาสน์รุ่นปัจจุบัน
 ลานว่างบริเวณกลางบ้าน
 เพดานไม้มีการวาดภาพจิตรกรรมแบบอิตาลีด้วย
 ห้องรับประทานอาหารตกแต่งสไตล์จีน

 บรรยากาศภายในห้องนอนและห้องแต่งตัว

 ห้องนอนใหญ่มีโต๊ะเขียนหนังสือขนาดเล็กๆ
 ห้องรับประทานอาหาร
 ห้องครัวที่มีการสุมฟืนเพื่อก่อไฟทำครัวแบบดั้งเดิม

 กระดานหมากขุมคล้ายกับของทางภาคใต้บ้านเรา
อดไม่ได้ที่จะขอแอ็คชั่นกับบานหน้าต่างบริเวณช่องกลางบ้าน

          เราได้แยกย้ายกันออกเดินช็อปปิ้งที่ตลาดค้าผ้าพื้นเมืองเพื่อที่แต่ละคนจะได้ของสมใจเพราะไม่ต้องมานั่งรอกันไงล่ะ ตลาดแห่งนี้มีของขายทุกอย่างที่เกี่ยวกับเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย มีทั้งผ้าเมตรเพื่อนำไปตัดชุด ผ้าโสร่งทั้งชายและหญิง เสื้อผ้าสำเร็จรูป ชุดคลุมฮิญาป หมวกกะปีเยาะห์ ฯลฯ การต่อรองราคาที่ตลาดแห่งนี้ต้องใช้ศาสตร์และศิลป์พอสมควร ถ้าซื้อสินค้า2-3ชิ้นขึ้นไปจะได้ราคาที่ถูกกว่าซื้อชิ้นเดียว แม่ค้าที่นี่พูดภาษาอังกฤษได้น้อยมาก เนื่องจากเป็นตลาดพื้นเมืองมิใช่ตลาดสำหรับนักท่องเที่ยวแต่อย่างใด หากจะต่อรองเรื่องราคาให้พยายามโชว์เครื่องคิดเลขแล้วกดราคาที่ต้องการลงไป  หากไม่มีก็ลองพูดคำว่า มาฮาล (Mahal) ซึ่งแปลตรงตัวว่า แพง คราวนี้คุณแม่ค้าเธอจะค้อนรึเปล่าก็ขึ้นอยู่กับโชคครับผม ทางที่ดีเขียนราคาใส่ลงแผ่นกระดาษแล้วขีดฆ่าไปเรื่อยๆ จะดีกว่า
 ดูอีกทีก็คล้ายกับตลาดอาหรับที่ขายเครื่องแต่งกายแบบมุสลิม
 เสื้อผ้าสตรีมุสลิมในตลาดค้าผ้าพื้นเมือง
 ตอนเช้าตลาดที่นี่ยังคงไม่ตื่น ร้านจะเปิดตอนสายๆ
 ร้านขายขนมถังแตกแบบพื้นบ้าน
                                                          ร้านอาหารแบบบุฟเฟ่ต์ที่เปิดบริการแต่เช้าในตลาด

            ผลพวงจากการเดินช็อปกว่าสองชั่วโมงแต่ละคนล้วนได้เสื้อผ้ากลับมาเล็กๆน้อยๆ มีทั้งชุดทำงาน เสื้อลำลองโดยเฉพาะเสื้อลายพื้นเมืองอินโดนีเซีย ชนิดที่ว่าลายพร้อย สนนราคาตัวละ 45,000 รูเปียห์ ส่วนผ้าโสร่งนั้นราคาจะอยู่ที่ 30,000-40,000 รูเปียห์ บางคนก็โดนฟันราคาเลือดสาดไปตามกัน ชนิดที่เรียกว่าอย่าถามกันดีกว่าว่าซื้อของกันมาราคาเท่าไหร่ เพราะหากรู้ว่าใครได้ของมาราคาถูกกว่ามาก มันจะเจ็บใจซะเปล่าน่ะสิครับพี่น้อง
 เสื้อผ้าพิมพ์ลายพื้นเมืองอินโดนีเซีย แนะนำว่าควรซักด้วยมือ
ผ้าบาติกงานพิมพ์ลายด้วยมือหายากในท้องตลาด

 คณะทัวร์ลูกเป็ดระหว่างทางเดินกลับพร้อมกับหิ้วของพะรุงพะรังกลับโรงแรม

บรรยากาศเหลืองๆแห่งเมืองเมดาน


         เราเดินจนเที่ยงถึงเวลาที่จะต้องกลับมาเก็บสัมภาระที่ฝากไว้กับทางโรงแรม เพื่อเตรียมขึ้นรถรับส่งของทางโรงแรมให้ไปส่งที่สนามบินโปโลเนีย เพื่อที่จะเดินทางกลับในเที่ยวบินรอบบ่ายสามโมง พวกเราเลยต้องทำลายเสบียงขนมที่ซื้อมาเมื่อวานกับบรรดาผลไม้อินโดฯ ซึ่งมีทั้งสละกรอบ แตงอินโดฯ ให้หมดเกลี้ยงก่อน เพื่อที่จะได้แบกของไปให้น้อยที่สุด  เราซื้อชาเสาวรสดื่มในราคาขวดละ 5,200 รูเปียห์ และแวะซื้อบุหรี่สัญชาติอินโดนีเซียไปฝากหนุ่มๆ 2ซอง ในราคาซองละ 7,600 รูเปียห์
 
ถ่ายรูปกันเป็นที่ระลึกหน่อยก่อนเดินทางกลับ

               สำหรับค่าโดยสารขากลับที่รถโรงแรมจะพาพวกเราคณะทัวร์ลูกเป็ดไปส่งที่สนามบินนั้น เค้าก็คิดราคาเดิมคือหัวละ 20,000 รูเปียห์ แต่เพื่อความสบายใจว่าปลอดภัยกลับถึงบ้านแน่นอนและไม่ต้องอารมณ์เสียกับการฟันราคาพวกเราจึงยินดีจ่าย ไม่ถึงครึ่งชั่วโมงรถก็มาส่งถึงที่หมาย พวกเราต้องทานข้าวกันก่อนขึ้นเครื่องนะไม่งั้นหิวตาลายแน่ ร้านข้าวแกงที่อยู่ด้านหน้าสนามบินนั้นช่างไม่น่าทานเอาเสียเลย พวกเรายอมลากกระเป๋าข้ามถนนมานั่งทาน KFC ในปั๊มน้ำมันยังจะดีกว่า ไก่ทอดที่นี่หน้าตาไม่เหมือนสากลนะ คือเนื้อไก่จะแห้งกว่า เนื้อไม่ฟู และผงแป้งกรอบจะมีน้อยกว่า ดังนั้นความอร่อยจึงสู้ของสากลไม่ได้ เพราะทาง KFC เองก็คงจะปรับสูตรให้เหมาะกับแต่ละท้องถิ่นด้วย โดยเฉพาะอาหารชุดทุกชุด มักจะมีข้าวสวยพ่วงมาด้วย 1ห่อ ค่าอาหารชุดไก่ทอดกับข้าวของ KFC ราคา 15,900 รูเปียห์
 รถช็อปเปอร์คันงามของเจ้าของโรงแรม
 ท่าอากาศยานนานาชาติโปโลเนียยามกลางวัน
ป้ายโฆษณาเชิญชวนให้ไปเที่ยวเมืองบันดาอาเจะห์ ตอนบนสุดของเกาะสุมาตรา


            พวกเรายังมีเวลาเหลือเฟือเมื่อทานเสร็จยังสามารถเช็คอินแล้วเดินช็อปปิ้งในสนามบินได้อีก เพียงแต่ว่าขากลับทุกท่านจะต้องเตรียมเสียค่าภาษีสนามบินคนละ 75,000 รูเปียห์ ขอให้กันเงินในส่วนนี้ไว้เลย เพราะที่นี่ไม่รับเงินสกุลอื่นด้วย ภายในสนามบินยังมีแหล่งละลายทรัพย์อีกเพียบ มีทั้งร้านค้าขายของที่ระลึกพื้นเมือง  ร้านขายเหล้า เบียร์ บุหรี่ แต่สินค้าที่ขึ้นชื่อที่สุดคือ กาแฟขี้ชะมดครับ อันกาแฟขี้ชะมด หรือ Kopi Luwag ซึ่งเป็นกาแฟที่มีราคาแพงที่สุดในโลก ราคาตั้งในสนามบินประมาณซองละ 100 กรัม ราคา 1ล้านรูเปียห์ ขึ้นไป คิดเป็นเงินไทยมูลค่าหลายพันบาท คนไทยไม่มีใครกล้ารับประทานครับ เพราะเป็นเมล็ดกาแฟที่เกิดจากการย่อยในตัวของชะมดแล้วถ่ายมูลออกมา เค้าก็จะไปเก็บเม็ดกาแฟในมูลชะมดนั่นแหละครับ มาตากแห้งและคั่วทำเม็ดกาแฟอีกที
 สิ้นสุดภาระกิจของคณะทัวร์ลูกเป็ดกันแล้วคร้าบ
 จุดนั่งรอภายในสนามบินโปโลเนีย
 ร้านขายเสื้อผ้ายี่ห้อโปโลของแท้ แต่แบบเชยมากๆ
 โต๊ะเจ้าหน้าที่ตรวจคนขาออกเปิดโล่งแบบนี้เลย
ร้านขายของที่ระลึกที่ดักละลายทรัพย์นักท่องเที่ยว

จวนเวลาใกล้บ่ายสามทางสนามบินจึงประกาศให้พวกเราขึ้นเครื่อง ซึ่งอาคารสนามบินขาออกนั้นมีสองชั้น เราต้องเดินขึ้นบันไดเลื่อนไปขึ้นเครื่องข้างบนนะครับ มีจุดให้นั่งรอผู้โดยสารน้อยมาก ยังมีร้านค้าของที่ระลึกพื้นเมืองคอยดูดทรัพย์นักท่องเที่ยวอีก เที่ยวบินขากลับเราเจอนักช็อปชาวไทยที่มากับทัวร์เมดานพากันเลือกซื้อของกันใหญ่ราวกับว่ากลัวเงินรูเปียเหลือกลับบ้าน มาเมดาน (Medan) คราวนี้ได้รับความประทับใจและความทรงจำดีดีหลายอย่าง ถ้ามีโอกาสมาเยือนอินโดนีเซียอีกครั้ง เราขอไปเกาะบาหลีนะ งั้นครั้งหน้าเจอกันที่บาหลีนะครับ สวัสดี
ไปตั้งหลายวันได้ของติดไม้ติดมือมาแค่นี้เอง



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น