สวัสดีเมียนม่าร์ ดินแดนแห่งพุทธภูมิ ดินแดนที่เต็มไปด้วยพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัดในพระศาสนา ดินแดนที่ร่ำรวยด้วยศิลปวัฒนธรรม ดินแดนที่เต็มไปด้วยผู้คนที่เป็นมิตร มีน้ำใจโอบอ้อมอารี ไม่โหดร้ายเหมือนในพงศาวดารประวัติศาสตร์ชาติไทยที่กล่าวขานกันสักนิด ดินแดนที่เป็นสวรรค์ของนักถ่ายภาพจากทั่วโลกซึ่งครบครันทั้งวัดวาอารม วิถีชีวิตและผู้คน รวมไปถึงนักแบกเป้ท่องเที่ยวอย่างเราด้วย ก่อนที่ทุกท่านจะเดินทางเข้าไปท่องเที่ยวประเทศพม่า ทางเราได้รวบรวมข้อมูลเท่าที่จำเป็นมาให้ท่านผู้อ่านได้ติดตามกันครับ
ภูมิศาสตร์ประเทศพม่า
ประเทศสหภาพพม่า (Union of Myanmar) มีพื้นที่ทั้งหมด 676,578 ตารางกิโลเมตร ถือว่าใหญ่กว่าประเทศไทยเล็กน้อยครับ พรมแดนตอนเหนือติดกับจีน ทิศตะวันตกจรดอินเดีย บังกลาเทศ และทะเลอันดามัน ทิศตะวันออกจรดไทยและลาว พื้นที่ตอนบนจะเป็นพื้นที่สูงและประกอบด้วยเทือกเขาเป็นส่วนใหญ่ ส่วนพื้นที่ตอนล่างจะเป็นที่ราบลุ่มแม่น้ำอิระวะดี (คนพม่าอ่านออกเสียง เอยาวะดี) แม่น้ำสาละวินและแม่น้ำสะโตง บางจุดน้ำท่วมขังได้ในฤดูมรสุม เมืองหลวงแห่งใหม่ชื่อกรุงเนปีดอว์ (Naypyitaw) ตั้งอยู่ตอนกลางประเทศบริเวณ Bago Division นักท่องเที่ยวไม่ได้รับอนุญาตให้ค้างคืน ณ เมืองหลวง แต่หากสามารถแล่นผ่านได้ ส่วนเมืองหลวงเก่าคือกรุงย่างกุ้ง (Yangon) ที่เราจะพาคุณผู้อ่านทั้งหลายไปเยี่ยมชมนั่นแหละครับ
ประเทศพม่าแบ่งพื้นที่การปกครองกันเป็นภาคส่วน มีทั้งเป็นส่วน (Division) และเป็นรัฐ (State) เท่าที่ทราบมาการเดินทางไปยังพื้นที่ที่เป็นส่วน เพียงแค่ทำวีซ่าก็สามารถเดินทางไปได้ทั่ว เช่น Bago, Yangon, Mandalay, Magway, Sagaing, Tanintharyi เพราะพื้นที่เหล่านี้ไม่ได้ปกครองโดยชนกลุ่มน้อย หรือชนชาติอื่นๆ ส่วนพื้นที่ที่เป็นรัฐ เช่น รัฐฉาน (Shan State), รัฐคยา (Kaya State), รัฐระไคย์ (Rakhine State ) บางพื้นที่มีปัญหาเปราะบางด้านการปกครอง ดังนั้นการท่องเที่ยวดินแดนที่เป็นรัฐต่างๆ เหล่านี้ ทางรัฐบาลทหารพม่าจึงต้องมีการควบคุมด้วยการออกกฎการเดินทางต้องมีไกด์ควบคุมคณะทัวร์เท่านั้น ไม่มีไม่ได้ (สามารถกลับไปอ่านบทความเที่ยวเมืองเชียงตุงได้) ยกเว้นรัฐมอญ (Mon State) ที่พอจะไปเที่ยวได้บ้าง
ภูมิอากาศพม่า
ทางตอนบนของประทศพม่าจะมีอากาศที่ร้อนและแห้งแล้ง และหนาวเย็นในฤดูหนาว ปริมาณน้ำฝนทั้งปีจะน้อยเพราะอยู่ในเขตเงาฝน อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปี 21 องศาฯ ส่วนตอนล่างอากาศจะร้อนชื้นกว่าและมีฝนตกชุกในฤดูมรสุม เพาะปลูกได้มากกว่าตอนบน อุณหภูมิเฉลี่ย 32 องศาฯ จริงแล้วประเทศพม่านั้นสามารถเดินทางไปเที่ยวได้ทั้งปีครับ แต่นิยมไปเที่ยวกันในฤดูหนาวคือช่วงเดือน ตุลาคม-มกราคมกันมากกว่าฤดูร้อน ที่อากาศจะร้อนมาก ในเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน ส่วนฤดูฝน จะเป็นช่วงเดือนพฤษภาคม-กันยายน ช่วงนี้ฝนจะตกถี่และบางครั้งตกทั้งวัน ซึ่งคือช่วงที่ผมเดินทางแบกเป้ไปเที่ยวนั่นแหละครับ
การเดินทางเข้าประทศพม่า
การเดินทางทางรถ สามารถเข้าได้สองด่านคือ ด่านท่าขี้เหล็ก จังหวัดเชียงราย และด่านแม่สอด เข้าจังหวัดเมียววดี เหมาะแก่การเดินทางไปรัฐมอญ และเดินทางไปรัฐฉาน (เชียงตุง) ซึ่งได้กล่าวไว้แล้วในทริปเชียงตุงครับ แต่การเดินทางข้ามแดนด้วยรถยนต์ในประเทศพม่ายังไม่เป็นที่นิยมครับ ก็ด้วยขั้นตอนอันยุ่งยากนานาประการที่รัฐบาลใช้ควบคุมคนไทยไม่ให้ออกนอกเส้นทางที่กำหนดไว้ด้วยการให้ไกด์ควบคุมนั่นแหละครับ และยังต้องทำวีซ่าด้วย
การเดินทางโดยเครื่องบิน วิธีนี้จะเดินทางเข้าประเทศพม่าได้สะดวกที่สุดครับ แต่ต้องทำวีซ่าในประเทศไทยก่อนนะ ไม่แนะนำให้ทำ Visa on Arrival ครับ เพราะจ่ายแพงกว่าและมีความเสี่ยงที่จะเป็นลูกผีลูกคนโดนกักตัวที่สนามบินนะครับ ซึ่งกาเรเดินทางสามารถเริ่มต้นได้ทั้งที่เชียงใหม่และกรุงเทพฯ โดยนำสู่จุดหมายปลายทางคือเมืองย่างกุ้ง ซึ่งมีสายการบินให้เลือกดังนี้ เช่น การบินไทย, แอร์เอเชีย, บางกอกแอร์เวยส์, แอร์บากัน , สายการบินนานชาติพม่า, แอร์มัณฑะเลย์ แต่ถ้าจะบินภายในไปยังเมืองพุกาม, มัณฑะเลย์ ผมขอแนะนำให้ใช้บริการ Air Bagan, Air Mandalay จะดีกว่าครับ
การบินไทย www.thaiairways.co.th
สายการบินแอร์เอเชีย www.airasia.com
สายการบินบางกอกแอร์เวยส์ www.bangkokair.com
สายการบินนานาชาติพม่า www.maiair.com
สายการบินแอร์บากัน www.airbagan.com
สายการบินแอร์มัณฑะเลย์ http://www.air-mandalay.com/
การขอวีซ่าเข้าประเทศพม่า
การเดินทางไปพม่าจะต้องขอวีซ่าในทุกกรณีครับ ซึ่งสามารถไปขอได้ที่ สถานเอกอัครราชทูตสหภาพพม่า ประจำประเทศไทย 132 ถ.สาธรเหนือ เขตบางรัก กทม. โทร. 0-2233-7250, 0-2234-4789 เวลาเปิดทำการ จันทร์-ศุกร์ 9.00-17.00น.
สถานเอกอัครราชทูตประเทศสหภาพพม่า ประจำประเทศไทย
ทางเข้าสถานทูตจะอยู่ในซอยข้างถนนสาธร
ค่าใช้จ่ายสำหรับวีซ่าท่องเที่ยว 810บาท พำนักได้ 28วัน และวีซ่านักธุรกิจ 1,440บาท พำนักได้ 3เดือนครับ การทำวีซ่าที่สถานทูตนั้นสิ่งที่ต้องเตรียมมาคือ รูปถ่ายสีขนาด2นิ้ว จำนวน 3 รูป พื้นหลังต้องเป็นสีขาวนะครับ และตัวหนังสือเดินทางเล่มจริง พร้อมกับสำเนาหนังสือเดินทางมาด้วย 1ฉบับ กรอกข้อมูลรายละเอียดในใบยื่นคำร้องขอวีซ่าให้เรียบร้อย ที่สำคัญควรระบุสถานที่พักในเมืองที่เราจะเดินทางไปด้วย อาจใช้เป็นชื่อโรงแรมได้ครับ เวลาที่แนะนำให้ไปยื่นคำร้องขอทำวีซ่า แนะนำให้ไปช่วงเช้าก่อนเที่ยงจะดีที่สุดครับคนไม่ค่อยเยอะ เพราะเวลารับตัวเล่มสามารถไปรับในวันรุ่งขึ้นได้เลย แต่ส่วนมากเค้าจะนัดรับช่วงเย็นก่อนสถานทูตปิดครับ
ระบุเวลาในการมาขอวีซ่าอย่างชัดเจน ถ้าหลังบ่ายสามจะเป็นการรับตัวเล่มวีซ่า
บรรยากาศภายในสถานทูตพม่าคนไม่เยอะ
ใบนี้ไว้ไปรับตัวเล่มหนังสือเดินทาง ห้ามทำหายนะ
การเตรียมตัวแลกเงิน
สกุลเงินที่เป็นที่ยอมรับและสามารถใช้จ่ายได้อย่างแพร่หลายนั้นคือ เงินจ๊าด (Kyat) MMK ซึ่งเป็นสกุลเงินของพม่าเองครับ เป็นเงินธนบัตรครับ มีธนบัตรย่อยตั้งแต่ 100, 200, 500, 1000, และ5,000 จ๊าดครับ สกุลเงินนี้ไม่สามารถหาแลกได้ตามตลาดมืดในไทยครับ เพราะว่ามีน้อยมาก ทางที่ได้ให้กำเงินยูเอสดอลลาร์ไปแลกที่นั่นจะคุ้มกว่านะครับ ซึ่งอัตราการแลกเปลี่ยนจะอยู่ที่ 1 U$ = 700-750 Kyat หรือถ้าคิดเป็นเงินไทยก็ 1บาท จะแลกได้ 23-25 จ๊าด ซึ่งในกรุงย่างกุ้งนั้น นักท่องเที่ยวสามารถแลกเงินได้ตามร้านรับแลกเงินทั่วไป ส่วนใครจะได้อัตราอยู่ที่เท่าไรก็สุดแต่โชคชะตาครับ หากได้ธนบัตรเยินๆเน่าๆมาไม่ต้องตกใจนะครับ เพราะที่นี่เค้าถือว่ายังใช้งานได้ แต่ถ้าจ่ายไปแล้วแนะนำให้ใช้ทิชชูเช็ดมือสักนิดก็ดี ก่อนที่จะเอาไปลูบหน้าหรือทานข้าว
ส่วนเงินยูเอสดอลล่าร์นั้นสามารถใช้จ่ายเป็นทางเลือกเสริมได้ครับ ในกรณีที่คุณจะไปจ่ายค่าห้องพักโรงแรม ซึ่งส่วนใหญ่จะคิดเงินเป็นดอลล่าร์ และค่าทัวร์ ตลอดจนค่าแท็กซี่ไปสนามบิน และการซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ๆ ในตลาดอัญมณี ซึ่งบัตรเครดิตก็สามารถใช้ได้ครับ ตามสนามบินหรือร้านค้าใหญ่ๆ ส่วนเงินบาทไทยนั้น จะยอมรับตามสถานที่ท่องเที่ยวที่คนไทยไปกันเยอะๆ เช่นตามวัด หรือตลาดอัญมณี และตลาดที่อยู่ติดชายแดนไทยครับ
อาหารการกินของพม่า
ไปพม่าแล้วเราจะทานอาหารพม่าได้หรือไม่ อร่อยมั้ย หลายคำถามที่เป็นกังวลเรื่องการกิน ขอตอบง่ายๆสั้นๆว่า สบายมากครับ อาหารพม่าหน้าตาจะคล้ายๆกับอาหารไทยเกือบทุกประการ เพราะเค้าจะทานข้าวกับกับข้าวเหมือนบ้านเราเลย กับข้าวของเขาก็มีทั้งแกง มีทั้งผัด มียำ และมีน้ำพริกผักสดผักลวกคล้ายบ้านเรา แต่สิ่งหนึ่งที่จะแตกต่างกันออกไปก็คือ คนพม่าเมื่อทำครัวจะใส่น้ำมันลงไปผัดหรือปรุงอาหารเยอะมากๆ บางครั้งอาจทำให้อาหารมันและเลี่ยนได้ เรามีทางแก้เลี่ยนด้วยการรับประทานอาหารกับชาร้อนครับจะช่วยล้างเมือกในลำคอได้ ส่วนอาหารจานเส้นก็จะมีก๋วยเตี๋ยวพม่าใส่ถั่วน้ำขลุกขลิก คล้ายกับที่เชียงตุง และขนมจีนน้ำยาของพม่า หรือที่เรียกว่า “โมฮิงคา” (Mohinga) และยังมีข้าวซอยพม่า (Kaukswe) มาให้ลิ้มลองอีกด้วย
ตัวอย่างสำรับอาหารพื้นเมืองของพม่า
อาหารพม่าหน้าตาคล้ายอาหารไทย แต่ปริมาณน้ำมันที่ใช้ผัดทอดนั้นต่างกัน
สถานที่ท่องเที่ยว
สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศพม่า ส่วนใหญ่จะหนักไปทางวัดวาอาราม วังเก่า และสถานที่ที่มีความสวยงามทางศิลปวัฒนธรรม เป็นแหล่งสวรรค์ของนักบุญ ช่างภาพ และผู้ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม คนพม่านี้มีจิตศรัทธาอันแรงกล้าในพระพุทธศาสนาขนาดที่ว่า หากเข้าในเขตวัดแล้วต้องถอดทั้งรองเท้าและถุงเท้าตั้งแต่ทางเข้าวัดเลยทีเดียว มิได้ถอดรองเท้าหน้าอุโบสถแต่อย่างใด แม้แต่วัยรุ่นหนุ่มสาวก็เข้าวัด วัดจึงเป็นศูนย์รวมจิตใจชาวพุทธพม่าทุกคน
การเข้าชมวัดถ้าเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญจะต้องเสียต่าเข้าชมวัดด้วย และใครก็ตามถือแบกกล้องอันใหญ่โตมาก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมนำกล้องเข้าไปถ่ายรูปเช่นกัน ขอให้เตรียมเศษธนบัตรดอลล่าร์หรือเงินจ๊าดมาด้วย ที่สำคัญวัดที่พม่าปิดค่อนข้างดึก โดยเฉพาะเจดีย์ชเวดากองปิดตอนประมาณ3ทุ่ม วัดอื่นๆ ก็เปิดถึงมืดเช่นกัน ส่วนพวกพิพิธภัณฑ์ หรือวังมักจะปิดประมาณ 16.30-17.00 น.
ของซื้อของฝาก
สำหรับบรรดานักช็อปทั้งหลายนั้นแนะนำให้ไปตลาดสก๊อต หรือตลาดโบซ่กอ่อองซาน ซึ่งที่นั่นจะเป็นตลาดขายสินค้าพม่าเพื่อให้นักท่องเที่ยวมาจับจ่ายซื้อของ แต่ราคานั้นถือว่าแพงเอาเรื่องอยู่ ให้ต่อรองราคาให้ดีก่อนตกลงซื้อขายกัน สินค้าขึ้นชื่อคือ อัญมณีจำพวก หยกและทับทิมพม่า ซึ่งราคานั้นไม่ถูกเลยสักนิด ทับทิมพม่าแท้หายากเต็มที ปัจจุบันล้วนเดินทางมาจากแอฟริกาแทบทั้งสิ้น ทับทิมที่มาจากเหมืองโมก๊ก (Mogok) นั้นแทบจะหมดไปจากเมืงพม่าแล้ว
สินค้าพวกงานฝีมือก็ได้รับความนิยมไม่แพ้อัญมณี มีทั้งเครื่องถมไม้ลงยา งานแกะสลักไม้สัก สร้อยหิน กำไลหิน เครื่องดนตรี เครื่องสำอางทานาคา (Thanaka) เสื้อผ้าพื้นเมืองทั้งผ้าถุง โสร่ง (โลงจี) รวมไปถึงหนังสือภาษาพม่า บทสวดมนตร์ ฯลฯ
Postcard ที่ระลึกจากแหล่งท่องเที่ยว
งานไม้ลงรักปิดทอง
ภาษาพม่า รู้สักนิดก่อนเดินทาง
ภาษาพม่ามีวรรณยุกต์เสียงสูงๆ ต่ำๆ คล้ายภาษาไทย การออกเสียงผิดเพี้ยนจะทำให้ความหมายแตกต่างไปด้วย ต่อไปนี้จะเป็นภาษาที่ใช้กันในชีวิตประจำวัน
สวัสดี = มิงกะลาบา
สบายดีมั้ย = เนเก๊าปาตะลา
สบายดี = เนเก๊าปาแด
ไม่สบาย = เนมะเก๊าบู
เป็นไง? = แบโลเนตะแล
นี่คืออะไร = บาแล
คุณเข้าใจไหม = นาแล่ปาตะลา
ฉันเข้าใจ = จอนอ นาแลปาแด
ไม่เป็นไร = เก็กซะมะซีบาบู
ได้โปรด = เจซูเบย์
ขอบคุณมาก = เจซูตินปาแด
คุณกำลังจะไปไหน = เคมยาแบตวามะ โลแล
เท่าไหร่ (ใช้คิดเงิน) = แบเล่าเหล?
คนพม่าใจดีและเป็นมิตรเกือบทุกคน
คำแนะนำบางอย่าง
- ติดถุงผ้าหรือพลาสติกสำหรับใส่รองเท้าเวลาไปวัด เพราะต้องถอดรองเท้าและถุงเท้าหรือถุงน่องด้วย ถ้ากลัวรองเท้าหายก็จงนำติดตัวไปเถิด
- ติดถุงผ้าหรือพลาสติกสำหรับใส่รองเท้าเวลาไปวัด เพราะต้องถอดรองเท้าและถุงเท้าหรือถุงน่องด้วย ถ้ากลัวรองเท้าหายก็จงนำติดตัวไปเถิด
- การเข้าชมวัดหรือสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญควรแต่งกายสุภาพเรียบร้อย ไม่สวมเสื้อสายเดี่ยว เสื้อกล้าม กางเกงขาสั้นหรือกระโปรงสั้น ควรให้เกียรติสถานที่
- แลกแบงค์ย่อย USD ไว้ด้วย เพราะเวลาใช้งาน ค่าเข้าชม ค่ากล้อง จะสะดวกกว่าแบงค์ใหญ่
- ตอนแลกแบงค์พม่า เงินจ๊าด(Kyat) พยายามใช้แบงค์ USD แบงค์ใหญ่ตั้งแต่ 100 USD ขึ้น จะได้เรทที่ดีกว่าใช้แบงค์ย่อย
- ถ้าชอบทานรสจัดๆ เผ็ดๆ ก็ติดพริกน้ำปลา น้ำจิ้มทะเล ซอส เพราะอาหารพม่านั้นมันมากๆ
- การสื่อสารพวก internet ไม่ค่อยดี อย่าหวังพึ่งสิ่งเหล่านี้ อย่างพวกใบจองโรงแรมหรือเอกสารก็ปรินท์ติดตัวไปเลย 2 ชุด
- สำเนาเอกสารสำคัญ พาสปอร์ตวีซ่าติดตัวและติดกระเป๋าไปด้วย
- โทรศัพท์ใช้ไม่ได้เลย อย่าหวังว่าจะโรมมิ่งหรือซื้อซิมที่โน่น เพราะซิมการ์ดกับค่าโทรราคาแพงมาก ไม่มีสัญญาณ หรือแม้แต่การโทรที่โรงแรมบางที่กลับประเทศไทยก็ไม่ติด สัญญาณไม่ดี
- เตรียมแบงค์ 10 USD ที่สภาพดีๆ ไม่ยับ ไม่ขาด ไม่มีรอยปั๊มใดๆติดใส่หนังสือเอาไว้จ่ายที่สนามบินย่างกุ้งขากลับด้วย จ่ายพร้อมใบยืนยันการบิน
- แลกแบงค์ย่อย USD ไว้ด้วย เพราะเวลาใช้งาน ค่าเข้าชม ค่ากล้อง จะสะดวกกว่าแบงค์ใหญ่
- ตอนแลกแบงค์พม่า เงินจ๊าด(Kyat) พยายามใช้แบงค์ USD แบงค์ใหญ่ตั้งแต่ 100 USD ขึ้น จะได้เรทที่ดีกว่าใช้แบงค์ย่อย
- ถ้าชอบทานรสจัดๆ เผ็ดๆ ก็ติดพริกน้ำปลา น้ำจิ้มทะเล ซอส เพราะอาหารพม่านั้นมันมากๆ
- การสื่อสารพวก internet ไม่ค่อยดี อย่าหวังพึ่งสิ่งเหล่านี้ อย่างพวกใบจองโรงแรมหรือเอกสารก็ปรินท์ติดตัวไปเลย 2 ชุด
- สำเนาเอกสารสำคัญ พาสปอร์ตวีซ่าติดตัวและติดกระเป๋าไปด้วย
- โทรศัพท์ใช้ไม่ได้เลย อย่าหวังว่าจะโรมมิ่งหรือซื้อซิมที่โน่น เพราะซิมการ์ดกับค่าโทรราคาแพงมาก ไม่มีสัญญาณ หรือแม้แต่การโทรที่โรงแรมบางที่กลับประเทศไทยก็ไม่ติด สัญญาณไม่ดี
- เตรียมแบงค์ 10 USD ที่สภาพดีๆ ไม่ยับ ไม่ขาด ไม่มีรอยปั๊มใดๆติดใส่หนังสือเอาไว้จ่ายที่สนามบินย่างกุ้งขากลับด้วย จ่ายพร้อมใบยืนยันการบิน
- ปลั๊กไฟที่พม่าเหมือนกับของประเทศไทย ดังนั้นไม่ต้องเตรียมปลั๊กต่อ3ตาไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น