วันอังคารที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

บินเดี่ยวเที่ยวอินเดียตอนที่ 10 แบกเป้เที่ยวอักรา ชมความงามของป้อมอักราปิดท้ายเมืองอักราก่อนมุ่งหน้ากลับกรุงเดลลี (Agra Fort)

         ฉันเริ่มเบื่อกับการนำเสนอแพ็กเกจของคุณตาฮีร์ที่พยายามนำมาโน้มน้าวเราเรื่อยๆ ตั้งแต่ขอเสนอขับรถไปส่งถึงกรุงเดลลี โดยเขาคิดราคาเหมารถ 3000 รูปี นั่นมันแพงกว่าค่าตั๋วเครื่องบินต้นทุนต่ำพวก Kingfisher หรือ Jet Airways อีกนะ รู้ทั้งรู้ว่าเราซื้อตั๋วรถไฟแล้ว เมื่อการเจรจาไม่เป็นผลเขาจึงอาสาพาไปชมร้านแกะสลักหินอ่อนเป็นการตอบแทนจากที่เราเลี้ยงเขาในมื้อกลางวัน
Next station Agra Fort

                อันที่จริงการพาชมร้านขายหินอ่อนแกะสลักก็คือการพาหมูไปเชือดให้ซื้อของนั่นแหละ เพราะตัวคนพามาก็จะได้รับส่วนแบ่งหรือค่าคอมมิสชั่นนั่นเอง แต่งานนี้จะเป็นการเชือดหมูหรือรีดเลือดจากปูกันแน่ เพราะยิ่งวันท้ายๆของทริป นักแบกเป้คนนี้เลือดก็จางลงทุกทีเพราะทรัพย์นั้นโดนดูดไปเยอะแล้ว
ตัวอย่างชิ้นงานและหินที่มีค่าชนิดต่างๆที่นำมาฝังลงบนหินอ่อน

                ร้านขายหินอ่อนนั้นสินค้าที่ราคาย่อมเยาที่สุดคือตลับยาอม กล่องใส่ของเล็กๆ ราคาเริ่มต้นที่ 800 รูปี หากใหญ่ขึ้นมาหน่อยก็ 2000 รูปี งานฝีมือชิ้นใหญ่ๆ พวกโต๊ะ เก้าอี้ไม่ต้องพูดถึง หลายหมื่นรูปีเลยทีเดียว มีบริการจัดส่งสินค้าทางเรือด้วยนะส่งถึงบ้านแน่นอน แต่คงโดนเก็บภาษีแน่ๆ งานฝีมือเป็นศิลปะการฝังหินมีค่าลงบนเนื้อหินอ่อน กรรมวิธีการผลิตเฉกเช่นเดียวกันกับการฝังหินลงในอาคารทัชมาฮาล นั่นคือจุดขายของเขา เราได้ไปชมกระบวนการผลิตของเขาด้วยที่หลังร้าน อัญมณีและหินมีค่าที่คัดสรรมาฝังล้วนเป็นหินชั้นดี มีทั้ง Lapis Lazuli, Turqouise, หยก ฯลฯ
เบื้องหลังงานฝีมือขึ้นชื่อของเมืองอักรา

ขั้นตอนการเจียรหินและการฝังหิน เด็กๆก็ทำได้ 

                คุณตาฮีร์คงผิดหวังที่นักแบกเป้เคี่ยวๆอย่างเราไม่ซื้อของอะไรสักอย่าง เขาเลยเหวี่ยงเราด้วยการนำไปส่งไว้ที่ป้อมอักรา (Agra Fort) โดยปล่อยให้เราท่องเที่ยวอิสระเหมือนเมื่อวานที่ทัชมาฮาล โดยเขาอ้างว่าจะไปงานบุญของมุสลิมที่จะจัดขึ้นในเย็นนี้  เออเอ็งจะไปไหนก็ไปเถอะ ข้าเบื่อและรำคาญเอ็งเต็มทีแล้ว ก่อนลงจากรถเขาเอ่ยปากขอค่าทิปเป็นธรรมเนียม เราเลยอ้างว่าได้เลี้ยงมื้อกลางวันคุณไปแล้วไง เขาบอกว่านั่นไม่ใช่ค่าทิป เราเข้าใจเลยจ่ายค่าทิปเขาไป 150 รูปี  เขาขอให้เขียนRecommend ให้ในบันทึกส่วนตัวของเขา เราเลยถามเขาว่าเขียนเป็นภาษาไทยได้หรือไม่ เขาบอกว่าได้ เผื่อมีนักท่องเที่ยวคนไทยขึ้นมาใช้บริการ เราเลยเขียนบ่นเป็นชุดเลย เรื่องการให้ระวังรถโดยสารแท็กซี่ จะได้ไม่มีปัญหาอีกในภายหลัง

            เราลงที่หน้าป้อมอักรา ด้านหน้ามีอนุสาวรีย์กษัตริย์ทรงม้าศึก เดินตรงเข้าไปต่อแถวซื้อตั๋วเข้าชม เจ้าหน้าที่อธิบายว่าค่าตั๋วเข้าชม  60 รูปี เพราะหางบัตรเข้าชมทัชมาฮาลเป็นของเมื่อวาน ต้องเข้าชมภายในวันเดียวกันถึงจะได้ราคา  10 รูปี เราเข้าใจอย่างน้อยก็ยังดีกว่าเสียอัตราเต็ม 300 รูปี สำหรับนักท่องเที่ยวทั่วไปที่ไม่ใช่กลุ่ม BIMSTEC
ตั๋วเข้าชม Agra Fort

                ประตูทางเข้าป้อมอักรามีชื่อว่าประตูอมาร์ซิงห์ (Amar Singh Gate) เป็นจุดที่จอดรถทัวร์และรถรับจ้างทุกชนิด เมื่อผ่านประตูเข้ามาแล้วก็จะเจอแต่ป้อมหินทรายสีแดงคล้ายกับป้อมแดง (Red Fort) ที่กรุงเดลลี เพียงแต่ว่าที่นี่สภาพสมบูรณ์กว่ามาก
นี่ไงทางเข้าหลักของ Agra Fort 
Amar Singh Gate ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังปรตูสร้างด้วยหินทรายสีแดง

                เดินตามทางผ่านพระราชวัง Jahangir Mahal อ่านว่า จาฮานกีร์ มาฮาล ที่อยู่ทางขวามือ สร้างในสมัยพระจักรพรรดิอัคบาร์ ประมาณปี ค.ศ. 1570 ด้านหน้ามีโอ่งน้ำใบใหญ่สมัยโบราณตั้งอยู่ ผนังของพระราชวังมีการแกะสลักลวดลายงดงาม แม้แต่ด้านหลังพระราชวังก็งดงามไม่แพ้ด้านหน้าสามารถยืนชมทัชมาฮาลริมแม่น้ำยมุนาได้ที่นี่ ว่ากันว่าเป็นพระราชวังที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุด ศิลปะการตกแต่งภายในเป็นการผสมผสานระหว่างฮินดูกับโมกุล
พระราชวังจาฮานกีร์ มาฮาล 
ทางเดินเข้าสู่เขตพระราชฐานชั้นในกับเจ้าจ๋อนั่งเฝ้าวัง

โอ่งน้ำใบใหญ่ใช้งานได้จริงตั้งอยู่หน้าพระราชวัง 

สภาพสมบูรณ์ของพระราชวังแทบหาที่ติมิได้

ลานโล่งตรงกลางพระราชวังซอยออกเป็นห้องเล็กๆมากมาย 
มุมหนึ่งของลวดลายสลักที่ใช้ตกแต่งห้อง 
ลวดลายแกะสลักหินทรายตามเสาแต่ละจุดก็ไม่ซ้ำกัน

ด้านหลังพระราชวังมีหลุมปริศนา คนลงไปได้ทั้งตัวเลย 
ลวดลายแกะสลักลงหินทรายสีแดง บริเวณเสาประตู

หลังพระราชวังจะเป็นช่องหน้าต่างมองออกไปเห็นทัชมาฮาล

            ถัดจากตัวพระราชวังมาแล้วก็จะเป็นสวนสไตล์โมกุลแบบเดียวกับที่ป้อมแอมแมร์ ที่นี่มีชื่อว่า Anguri Bagh ลักษณะการจัดสวนคล้ายกับจิ๊กซอว์ สร้างขึ้นในสมัยจักรพรรดิชาห์ จาฮาน ด้านหลังของสวนมีตำหนักหินอ่อนขนาดเล็กสองหลังคือ ตำหนักคาสมาฮาล (Khas Mahal) เป็นห้องบรรทม และตำหนักชีสมาฮาล (Shish Mahal) ที่เป็นห้องแต่งตัวประดับเศษกระจกแวววาวแบบเดียวกับป้อมแอมแมร์
Anguri Bagh สวนสวยสไตล์โมกุลคล้ายจิ๊กซอว์

ตำหนักหินอ่อนคาสมาฮาลวางเด่นอยู่ตรงกลาง

ตำหนักชีสมาฮาล 
ภายในตำหนักมีการเจาะช่องเป็นทรงเรขาคณิตต่างๆ

ตำหนักหินอ่อนกับหลังคาที่แปลกตาออกไป 
ชมกันอีกครั้งชัดๆ กับสวนรูปจิ๊กซอว์

                เดินเลยจากสองตำหนักหินอ่อนมาแล้วก็จะถึงวังหินอ่อนขนาดเล็กชื่อว่า Musamman Burj ไม่สามารถเข้าชมด้านในได้ เพราะเขาสร้างรั้วกั้นไว้ทั้งหลัง วังหินอ่อนเล็กๆนี้มีศิลปะการฝังหินทั้งหลังที่เรียกว่าเพ็ททราดูร่าทั้งหลัง ติดกับวังแห่งนี้เป็นท้องพระโรงใช้ว่าราชการขนาดเล็กๆ คือ ดิวันอิกัส Diwan-i-khas
ยอดโดมฉัตตรีของตำหนักเมื่อเทียบกับทัชมาฮาลที่อยู่ไกลออกไป 
 Musamman Burj ไม่สามารถเข้าชมด้านในได้เพราะกั้นรั้วเอาไว้ 
สนามหญ้าเขียวๆหน้าตำหนักมุสมัน เบิร์จ

                ฝั่งตรงข้ามกับวังเล็กๆก็จะเป็นตำหนักปลา Macchi Bhawan แต่ก่อนสนามหญ้าเขียวๆหน้าตำหนักเคยเป็นบ่อปลามาก่อน มีฝูงปลาแหวกว่ายไปมาใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของเล่ากษัตริย์ทั้งหลาย แต่ปัจจุบันถูกถมที่จนกลายเป็นสนามหญ้าน่าเสียดายยิ่งนัก
ใครบ้างจะรู้ว่าสนามหญ้าเขียวๆนี้เดิมเคยเป็นวังมัจฉามาก่อน

            ลึกเข้าไปด้านในสุดของตำหนักปลาเป็นมัสยิดนากีน่า (Nagina Masjid) เป็นมัสยิดหินอ่อนสีขาวทั้งหลังย่อส่วนลงมาขนาดเล็กมาก สร้างในสมัยพระเจ้าชาห์ จาฮาน เพื่อให้พระสนมทั้งหลายใช้ละหมาด จุดเด่นคือยอดโดมหินอ่อน 3ยอด
มัสยิดนากีน่าขนาดกะทัดรัดพร้อมยอดโดม 3ยอด 
สถานที่ชำระล้างร่างกายก่อนทำพิธีละหมาด สร้างจากหินอ่อน

                เมื่อชมมัสยิดเสร็จจะมีทางบังคับให้เดินลงไปเพื่อโผล่ด้านนอก เราก็จะเดินผ่านอาคารดิวันอิอัม (Diwan-i-am) ซึ่งจุดเด่นของอาคารนี้อยู่ที่โค้งเพดานที่คล้ายกับกลีบดอกไม้ ลักษณะเดียวกันกับที่ป้อมแดงไม่มีผิดเพี้ยน แล้วเราก็ต้องเดินออกไปยังทางเดิมเพื่อออกไปถนนด้านนอก เป็นการสิ้นสุดการชมป้อมอักรา
ขอชะโงกหน้าชมวิวก่อนกลับ 
ชายคนนี้หากินกับการให้นักท่องเที่ยวซื้อขนมเพื่อเลี้ยงกระรอก
อาคารดิวันอิอัมซุ้มโครงสร้างรูปกลีบดอกไม้ 
ทางเดินกลับออกไปสู่ถนนด้านนอก

เดินออกจากป้อมอักราตรงทางเข้าเดิม มีแต่เหล่ารถรับจ้างคอยทึ้งนักท่องเที่ยวราวกับว่าเราเป็นดารา วิธีหลบหลีกให้ดีที่สุดให้นำผ้าพันคอมาคลุมหน้าตาให้มิดชิด เพียงเท่านี้คุณก็จะดูเป็นแขกมัวร์แล้ว เราเดินเลียบกำแพงป้อมอักราไปเรื่อยๆ ตามทางประมาณ 800 เมตร ก็จะถึงตลาดใหญ่แห่งหนึ่งในเมืองอักรา มีชื่อว่า คินารีบาซ่าร์ Kinari Bazaar คนไทยคงจะเรียกชื่อตลาดนี้ว่าตลาดกินรี ตลาดแห่งนี้มีสินค้าขึ้นชื่อคือ ผ้าส่าหรีหลากสีสันนานาชนิด คุณผู้หญิงจะชอบมาซื้อผ้าส่าหรีปักดิ้นทองกันที่นี่ ยามเย็นเต็มไปด้วยผู้คนเบียดเสียดเดินกันจนแทบจะไหลตามกัน เราเป็นห่วงทรัพย์สินส่วนตัว เงินก้อนสุดท้ายที่เหลืออยู่ก่อนที่มันจะอันตรธานไป เลยขอแยกตัวออกมาก่อนที่จะเข้าไปใจกลางตลาด
ทางเดินเลียบป้อมอักราไปตามถนน
ด้านนอกมีแต่รถรับจ้างจอดเรียงเต็มไปหมด

                ฝั่งตรงข้ามกับตลาดคินารีบาซ่าร์เป็นมัสยิดจามา (Jama Masjid) มีขนาดใหญ่ไม่แพ้มัสยิดจามาที่กรุงเดลี แต่เวลาเที่ยวของเรานั้นหมดลงแล้ว เราจะต้องเรียกรถตุ๊กๆ เพื่อให้ไปส่งที่โรงแรมซากุระเพื่อทานมื้อเย็นและเก็บกระเป๋าไปยังสถานีรถไฟอักราคันต์ รถตุ๊กๆ คิดราคา 100 รูปี ท่ามกลางการจราจรที่ติดขัดในยามเย็นและระยะทางไกลจากโรงแรมมาก
                เมื่อมาถึงโรงแรมเราก็สั่งมื้อเย็นทานที่โรงแรมเลย เราสั่ง Mutton Mughlai มาทานกับนาน หอมเนื้อแพะย่างมากๆ เพราะเค้านำเนื้อแพะมาย่างเตาถ่านก่อนที่จะนำมาแกงน้ำแบบขลุกขลิก เราสั่ง Lassi มาช่วยย่อยอาหารด้วย สนนราคามื้อนี้ 181 รูปี
มื้อเย็นทานหรูไม่แพ้มื้อกลางวัน ขนาดกินคนเดียวนะ

                ทานอิ่มแล้วเราก็เรียกรถตุ๊กๆหน้าโรงแรมให้ไปส่งที่สถานีรถไฟอักราคันต์  ในราคา 40 รูปี ไปขึ้นรถไฟสาย Taj Express ที่เราได้ซื้อตั๋วล่วงหน้าไว้รอบทุ่มหนึ่ง ปลายทางที่เราจะไปลงไม่ใช่สถานีนิวเดลี แต่เป็นสถานี นิซามุดดิน (Hazrat Nizamuddin) อันเป็นย่านชุมชนมุสลิมที่ใหญ่ที่สุดในกรุงเดลี ห่างจากเขตเมืองเก่าและย่านปาระกันจ์ (Pahrganj) ลงไปทางทิศใต้ประมาณ 30 กิโลเมตร
แอบถ่ายสถานีรถไฟ Agra Cantt Station บริเวณชานชาลาจอดรถ
จริงๆแล้วเค้าห้ามถ่ายสถานีรถไฟ แต่เราแอบใช้มือถือถ่าย
                รถไฟมาตรงเวลาพอดี ก้าวขึ้นไปบนตู้โดยสารเป็นชั้นปรับอากาศเบาะกำมะหยี่ แต่แอร์ไม่เย็นเอาเสียเลย อากาศข้างนอกมันเย็นกว่ามาก ถอดเสื้อกันหนาวออกแล้วก็ยังร้อน บนรถมีเจ้าหน้าที่จากตู้เสบียงหิ้วอาหารและน้ำมาขายเรื่อยๆ เราภาวนาให้ถึงที่หมายเร็วๆ เพราะอากาศบนรถร้อนมากๆ และแล้วรถก็มาจอดเทียบที่สถานีนิซามุดดินเวลา 22.30 น.
ภายในห้องโดยสารรถนั่งปรับอากาศของรถไฟสาย Taj Express
                ถ้าคุณเที่ยวแบบแบกเป้เที่ยวแล้วมาถึงเมืองแต่ละเมืองในตอนดึกนั้น แนะนำให้ใช้บริการรถรับจ้างที่เคาน์เตอร์ Prepaid Taxi จะดีกว่าเพราะไม่ต้องเสียเวลาต่อรองราคา เป็นราคาที่ตายตัวและไปถึงที่หมายได้รวดเร็วกว่า เราก็ได้ใช้บริการที่สถานีรถไฟนิซามุดดิน มีคนอินเดียต่อคิวเข้าใช้บริการหลายคน เราให้รถตุ๊กๆไปส่งที่ถนน Main Bazar ในราคาเพียง  95 รูปี ใช้เวลาเดินทางประมาณครึ่งชั่วโมงก็ถึงที่หมาย กลับเข้ามาเช็คอินที่โรงแรมเดิม Lord’s Hotel ในราคาคืนละ 550  รูปี แล้วพรุ่งนี้เราค่อยเที่ยวเก็บตกในกรุงเดลีกันต่อ

ตอนต่อไปเป็นวันสุดท้ายจะพาเที่ยวเก็บตกสถานที่ท่องเที่ยวเพิ่มเติมในกรุงเดลลี อย่าพลาดนะจ๊ะ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น