วันอาทิตย์ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

บินเดี่ยวเที่ยวอินเดียตอนที่ 8 แบกเป้เที่ยวอักรา ชมอนุสรณ์แห่งความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ทัชมาฮาล (Taj Mahal)

        
         วันนี้ต้องตื่นแต่เช้าอีกวันเพื่อไปที่สถานีขนส่งนั่งรถประจำทางไปเมืองอักรา (Agra City) เมื่อคืนขี้เกียจเดินทางเพราะเกรงว่าจะไปถึงที่นั่นดึกและเดินไปหาที่พักยากอีกแบบที่เราเคยเป็นมา ออกจากห้องพักตั้งแต่ 7โมง เพื่อมาขึ้นรถที่สถานีขนส่งประจำเมืองจัยปูร์ เรียกรถตุ๊กๆไปส่งที่สถานีขนส่งในราคา 100 รูปี แพงไปหน่อยแต่ก็ช่างมันเถอะ ระหว่างทางมีการก่อสร้างรถใต้ดินในเมืองจัยปูร์ด้วย อีกต่อไปเมืองจัยปูร์คงจะเจริญไม่แพ้เมืองหลวงนิวเดลีและโกลกาตา เพราะเมืองขยายออกไปเรื่อยๆ 
สถานีขนส่งประจำเมืองจัยปูร์ยามเช้าตรู่

รถสามล้อพามาส่งหน้าสถานี เราต้องเดินไปที่ชานชาลาที่สาม ซึ่งเป็นชานชาลาสำหรับรถประจำทางปรับอากาศชั้นหนึ่งและสำหรับชาวต่างชาติ เราได้ซื้อตั๋วรถนั่งปรับอากาศไปเมืองอักราในราคา 407 รูปี ตัวรถใหม่และสะอาดมาก ออกเดินทางเวลา 8โมงตรง เวลาที่เหลือเราสามารถหาอาหารเช้าทานที่สถานีขนส่งได้ ซึ่งหนีไม่พ้นอาหารพวกชาร้อนกับปุรีทอดสองชิ้น ในราคา 30รูปี
พาหนะสุดหรูที่จะพาเราเดินทางไปยังเมืองอักรา ข้างรถจะมีของดีเมืองจัยปูร์ 
จุดซื้อตั๋วรถวีไอพี ณ ชานชาลาที่สาม 
จุดรอรถชานชาลาที่สาม รถโดยสารชั้นหนึ่งส่วนมากจะจอดที่นี่

รถออกเดินทางตรงเวลาไม่มีสายเลยสักนิด แล่นผ่านออกนอกเมืองผ่านกำแพงเมืองแล้วก็พบกับเขตกึ่งทะเลทรายดูแปลกตาไปอีกแบบ มีบ้านเรือนกระจายเป็นหย่อมๆ พอข้ามเขตเข้ารัฐอุตรประเทศ ทะเลทรายแห้งแล้งก็หายไปทิวทัศน์สองข้างทางก็เปลี่ยนไปเป็นทุ่งหญ้าและทุ่งนาแทน รถโดยสารเที่ยวนี้ใช้เวลาเดินทาง 5ชั่วโมง จะถึงเมืองอักราประมาณบ่ายโมง ระหว่างทางรถได้จอดแวะให้ทำธุระส่วนตัวที่จุดพักรถด้วย มีอาหารให้บริการเหมือนบ้านเรา
ระหว่างทางจากรัฐราชาสถานสู่รัฐอุตระประเทศ 
จุดพักรถริมทางมีให้บริการเหมือนบ้านเรา ห้องน้ำสะอาดมากๆ 
แผงขายขนมริมทางก่อนถึงเมืองอักรา 
นี่ก็แผงขายขนมเจลาบี แป้งทอดทั้งนั้น

รถจอดประมาณ 15 นาทีก็ออกเดินทางต่อ ทางหลวงในอินเดียทุกสายจะต้องจ่ายค่าผ่านทางเสมอโดยจ่ายเป็นระยะๆ เริ่มเข้าเขตเมืองบ้านเมืองก็เริ่มแออัดมากขึ้น จุดหมายปลายทางของเราอยู่ที่ สถานีขนส่งอิดกาห์ (Idgah Bus station)  ตั้งอยู่ชานเมืองอักราไกลจากสถานที่ท่องเที่ยวทั้งปวง แต่อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟอักรา ที่มีชื่อว่า Agra Cantt Station อ่านว่า "อักรา คันต์" และใกล้สนามบินอักรา รถโดยสารไม่ได้จอดที่สถานีขนส่งแต่มาจอดที่โรงแรมซากุระ (Sakura Hotel) แทน
สถานีขนส่งอิดกาห์ (Idgah Bus Station) 
โรงแรมซากุระที่เราเข้าพักในเมืองอักรา อยู่ติดกับสถานีขนส่ง

ด้วยความขี้เกียจเดินหาที่พักในเมืองอักรา ทั้งสภาพตึกและย่านที่อยู่นับว่าไม่เลวทีเดียวสำหรับการพักค้างคืน เราเลยเข้าไปสอบถามราคาของห้องพักโรงแรมซากุระ เค้าบอกราคามาที่ 500 รูปี สำหรับห้องพักเตียงเดี่ยวไม่มีแอร์  แต่มีน้ำอุ่นให้บริการ ทีเด็ดกว่านั้นคือโถส้วมพี่แกไม่มีสายชำระให้ฉีดล้าง แต่แกฝังหัวฉีดไว้ใต้เบาะรองนั่งนั่นเลย
สภาพห้องนอนและห้องน้ำของโรงแรม โปรดสังเกตที่ฉีดน้ำตรงโถส้วม

หลังจากเช็คอินเป็นที่เรียบร้อยก็ขอทานอาหารเที่ยงสักหน่อย เรานั่งทานในร้านอาหารของโรงแรมนั่นแหละเห็นว่ามันสะอาดดี สั่งแกงถั่วกับแป้งจาปาตี (Dal Curry with Japatis) มาทานเป็นมื้อบ่ายในราคา 85 รูปี ก่อนออกเดินทางไปจองตั๋วรถไฟเดินทางไปเมืองเดลีต่อในวันพรุ่งนี้เย็น เรานั่งตุ๊กๆออกไปซื้อตั๋วล่วงหน้าที่สถานีรถไฟอักรา เมื่อไปถึงปรากฏว่าเคาน์เตอร์ซื้อตั๋วล่วงหน้าเขาปิดทำการวันอาทิตย์ ให้มาซื้อในวันรุ่งขึ้นแทน
พร้อมเดินทางกันต่อหรือยัง นี่ไงแผนที่เมืองอักรา (Agra Map) 
เติมพลังด้วยแกงถั่วและจาปาตีย่าง

สารถีตุ๊กๆ ถามต่อว่าจะเหมาไปเที่ยวทัชมาฮาลต่อเลยหรือไม่ ขอคิดราคา500 รูปี เราปฏิเสธว่ามันแพงเกินไป เขาก็อ้างว่าทัชมาฮาลอยู่ไกลออกไป10กว่ากิโลเมตรและรถติดมากด้วย เขาพยายามเดินตามตื๊ออยู่นาน สุดท้ายเราเดินไปที่เคาน์เตอร์ Prepaid Taxi ที่มีอยู่ตามสถานีรถไฟ เพื่อซื้อทัวร์เหมาเที่ยวในเมืองอักราและเมืองฟาเตห์ปูร์สิครี ในราคา 1,250 รูปี ใช้เวลานำเที่ยววันครึ่ง ราคาเป็นที่น่าพอใจ เพราะเป็นรถแท็กซี่ติดแอร์ พาเที่ยวสถานที่สำคัญสามแห่งคือ ทัชมาฮาล, ป้อมอักรา และพระราชวังฟาเตห์ปูร์สิครี ที่อยู่ไกลออกไป 45 กิโลเมตรนั่น
เหมารถที่เคาน์เตอร์นี้แพงหน่อยแต่อย่างน้อยก็ไม่โดนฟันหัวแบะ 
สถานีรถไฟอักรา คันต์ (Agra Cantt Station)
เมื่อจ่ายเงินแล้วให้เก็บใบเสร็จนี้ไว้ ห้ามทำหายในกรณีที่โชเฟอร์เบี้ยวนัด

           คนขับรถคนใหม่แกชื่อ ตาฮีร์ (Tahir) เป็นมุสลิมอินเดียชวนเราคุยตลอดทาง จุดหมายปลายทางแรกที่เขาจะนำไปส่งคือ ทัชมาฮาล (Taj Mahal) เราบอกว่าเราคงใช้เวลาที่นั่นนานนะ ไม่ต้องรอหรอกกว่าจะเที่ยวชมเสร็จก็คงจะมืดค่ำ เขาตอบตกลงจะได้ไม่ต้องเป็นภาระทั้งเขาและเรา แล้วนัดเวลาให้มารับพรุ่งนี้เวลา เก้าโมงเช้าที่โรงแรมซากุระ
ใครไม่อยากเดินเข้าไป 500 เมตร ก็มีอุฐให้บริการขี่ สนนราคาค่อนข้างแพง 
สองชีวิตที่แม้ต่างสายพันธุ์กันแต่ก็เป็นเพื่อนกัน

            เรามาถึงทัชมาฮาลเวลาใกล้สี่โมงเย็น ถ่ายรูปแดดกำลังสวย รถจอดด้านประตูเข้าทางทิศตะวันตกต้องเดินเท้าเข้าไปอีกประมาณ 500 เมตร  ที่นี่เขาจะเว้นพื้นที่โดยรอบทัชมาฮาลไว้ให้เป็นเขตปลอดมลพิษห้ามรถวิ่ง เพราะควันไอเสียจากน้ำมันรถนี่แหละเป็นตัวทำลายหินอ่อนโดยตรง ทำให้สีของตำหนักหินอ่อนเปลี่ยนไปจากสีขาวเป็นสีเหลือง ซึ่งอาคารทัชมาฮาลนั้นได้รับผลกระทบมาจากโรงงานอุตสาหกรรมในเมืองอักราโดยตรง ก่อให้เกิดฝนกรดตกลงมาทำร้ายอาคารหินอ่อนทั้งหลังให้กลายเป็นสีเหลือง
เจ้าถิ่นตัวจริงระหว่างทางเดินไปทัชมาฮาล 
คิวเข้าชมยาวเหยียดบริเวณจุดซื้อตั๋วเข้าชม
อัตราค่าจ้างถ่ายรูปที่สมเหตุสมผล 

                หลังจากเดินเท้าเข้าไปถึงจุดซื้อตั๋วเข้าชมทัชมาฮาล เราก็ต้องอึ้งกับผู้คน คนและก็คน ทำไมมันมากมายมหาศาลเช่นนี้ ถามเขาเขาก็บอกว่าเพราะเป็นวันอาทิตย์ทุกคนหยุดกันทำงานกัน แต่ถ้าเป็นวันศุกร์ทัชมาฮาลก็ปิดทำการทั้งหมด แต่ถ้าเป็นวันจันทร์ตัวพิพิธภัณฑ์ภายในก็ปิดอีก ที่นี่เขาเปิดให้เข้าชมตั้งแต่ 8.00 -19.00 น. ถ้าเป็นคืนพระจันทร์เต็มดวงเค้าจะเปิดให้บริการเป็นพิเศษในตอนกลางคืนด้วย โรแมนติกซะไม่มี 
การเข้าชมยามค่ำคืนก็ให้ความสวยงามไปอีกแบบ 

วกมาเรื่องคิวเข้าชมยาวก่อนที่นี่มีอาชีพหนึ่งที่ทำเงินได้เป็นพิเศษ นั่นคืออาชีพลัดคิวเข้าชมทัชมาฮาลสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติหรือคนอินเดียด้วยกันเอง โดยคิดค่าหัวอยู่ที่คนละ100รูปี หน้าที่ของเขาคือเดินลัดเลาะเข้าไปแทรกแถวหน้าสุด หน้าที่ของเราคือเป็นผู้เดินตามให้ทัน เขาสามารถนำเราไปถึงจุดซื้อตั๋วได้ภายใน 3 นาที ในขณะที่ถ้าคุณรอคอยคิวตามปกติ อาจต้องใช้เวลาถึง 1 ชั่วโมง
ทางเดินก่อนทางเข้าหลักของทัชมาฮาล 

ความละเอียดของงานแกะสลักหินทรายตรงประตูทางเข้า 
เมื่อลอดประตูนี้เข้าไปก็จะพบกับความยิ่งใหญ่ของทัชมาฮาล

ค่าตั๋วเข้าชมทัชมาฮาลสำหรับชาวต่างชาติอยู่ที่ 750 รูปี แต่ถ้าแสดงหนังสือเดินทางประเทศไทยค่าตั๋วเข้ชมจะถูกลงเหลือเพียง 510 รูปี โดยหางตั๋วเข้าชมนั้นสามารถนำไปแลกซื้อตั๋วเข้าชมอักราฟอร์ต (Agra Fort) สุสานเบบีทัช (Baby Taj) สุสานจักรพรรดิอัคบาร์ (Akbar Tomb) และพระราชวังฟาเตห์ปูร์สิครี (Fatehpur Sikri) ได้ในราคาพิเศษเพียงแห่งละ 10 รูปี แต่ต้องภายในวันเดียวกันเท่านั้น
โฉมหน้าตั๋วเข้าชมทัชมาฮาล ราคาพิเศษ 510 รูปี 
ความยิ่งใหญ่อลังการของสุสานทัชมาฮาล (Taj Mahal)

ทัชมาฮาล (Taj Mahal) ถือว่าเป็นสุดยอดแห่งสถาปัตยกรรมแห่งศิลปะโมกุล วัตถุประสงค์จริงๆ สร้างขึ้นเพื่อเป็นสุสานและอนุสรณ์สถานเพื่อระลึกถึงมเหสีมุมตัซ มาฮาล (Mumtaz Mahal)  แห่งพระจักรพรรดิ ชาห์จาฮัน ผู้ซึ่งสิ้นพระชนม์ไปก่อนวัยอันควร แต่ก็ได้ให้กำเนิดรัชทายาทถึง 14 พระองค์และสิ้นพระชนม์จากกรให้ประสูติในปี ค.ศ. 1631 ยังความเสียใจมาสู่พระจักรพรรดิมากๆ จึงทรงสร้างทัชมาฮาลขึ้น เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความรักที่มีต่อองค์พระมเหสี
ด้านขวามือคือประตู Chowk-i-Jilo Khana

การเข้าชมทัชมาฮาลนั้นจะต้องเดินผ่านประตู Chowk-i-Jilo Khana ซึ่งเป็นประตูที่จะพาลอดไปสู่ยุคอดีตกาลสมัยราชวงศ์โมกุล นักท่องเที่ยวหลายคนชูกล้องถ่ายตั้งแต่อยู่ในประตูทางเข้า เพราะฉากหลังคืออาคารหินอ่อนสีขาวงดงามอยู่เบื้องหน้า เมื่อก้าวพ้นประตูออกมาแล้วเราก็จะเดินผ่านสวนสวยสไตล์เปอร์เซียที่มีชื่อว่า สวนชาร์แบกจ์ (Charbagh) เป็นสวนสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่แบ่งออกเป็นสองข้างเท่ากันเป็นผืนสี่เลี่ยมจัตุรัส ตรงกลางมีสระน้ำสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่  จุดนี้เป็นที่นิยมในการถ่ายรูปมากเพราะจะถ่ายได้เงาสะท้อนของอาคารทัชมาฮาล
มุมถ่ายรูปยอดนิยมคือ มุมลอดซุ้มประตู กับมุมเงาสะท้อนน้ำให้เห็นตัวอาคาร

จุดนี้เองเราได้จ้างช่างภาพมาถ่ายรูปส่วนตัว ก็เพราะว่าเราเป็นนักแบกเป้เที่ยวอินเดียคนเดียวน่ะสิ ก็เลยไม่มีใครถ่ายให้  เราได้ว่าจ้างให้ตากล้องท้องถิ่นมาถ่าย 12 ท่า ในราคา 1,000 รูปี เมื่อถ่ายเสร็จ เราต้องจ่ายเงินแล้วเขายื่นคูปองให้เราไปรับภาพที่ด้านนอกก่อนที่ทัชมาฮาลจะปิดลง ซึ่งตรงนี้ต้องนัดเวลาและสถานที่ให้ดีนะ ไม่เช่นนั้นจะเสียเงินฟรีๆ

เมื่อเดินจนสุดทางแล้วจะเป็นจุดที่ทุกคนต้องถอดรองเท้าแล้วฝากไว้ที่เคาน์เตอร์รับฝาก หรือจะกองเป็นกลุ่มไว้ด้านหน้าก็ได้ซึ่งคนอินเดียเขาทำกันแบบนี้ แต่สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติแล้ว เขาจะแจกถุงครอบรองเท้าแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้งมาให้ วิธีการให้สวมถุงนี้ลงบนรองเท้าของท่านโดยไม่ต้องถอดออกเลย
ผู้คนเนืองแน่นในยามเย็น
ภายในอาคารมัสยิดซ้ายและขวา

วิธีการเดินให้เดินไปชมมัสยิดที่อยู่ด้านซ้าย และอาคารที่อยู่ด้านขวาก่อน แล้วค่อยออกมาต่อคิวด้านหน้าเพื่อเข้าชมสุสานและหีบพระศพด้านในตัวอาคารหินอ่อน อาคารด้านซ้ายและขวาถือเป็นอาคารแฝดสร้างขึ้นด้วยหินทรายสีแดง มีการสลักลวดลายลงสีอย่างงดงาม
อาคารแฝดสร้างด้วยหินทรายสีแดง 
ภายในอาคารแฝดที่ไม่ใช่มัสยิด

           เราเดินมาถึงตัวอาคารหินอ่อนอันเป็นสุสานหินอ่อนสีขาวหลังใหญ่ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำยมุนา (Yamuna River)  ตัวฐานอาคารเป็นแปดเหลี่ยมมีโดมหัวหอมขนาดใหญ่ตั้งอยู่ตรงกลาง  โดยรอบมีเสาสูงสี่ด้านนั่นคือหออะซาน (Minaret) มีความสูงประมาณ 40 เมตร สร้างจากหินอ่อนเช่นกัน ภายในอาคารทัชมาฮาลด้านในห้ามถ่ายรูป เป็นห้องค่อนข้างมืดเป็นที่ตั้งของหีบพระศพพระจักรพรรดิชาห์ จาฮาน และพระมเหสีมุมตัซ มาฮาล ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบอาคารแปดเหลี่ยมไม่ว่าจะมองจากมุมใดก็สวยเสมอ
ทัชมาฮาลยามตะวันรอน ไม่ว่ามองมุมใดก็สวยงาม 
หออะซาน (Minaret) ยามแสงอาทิตย์ลับขอบฟ้า
                เอกลักษณ์ของทัชมาฮาล นอกจากเป็นอาคารหินอ่อนทั้งหลังแล้ว ยังมีเทคนิคการฝังหินและพลอยมีค่าลงบนหินอ่อนด้วยเทคนิคพิเศษที่เรียกว่า พิเอทรา ดูร่า (Pietra Dura) ซึ่งพลอยที่ใช้มีหยก เทอร์คอยซ์ หินลาพิส ลาซูลี่ และยังมีเทคนิคการฝังหินอ่อนสีดำลงบนหินอ่อนสีขาวเป็นตัวอักษรอารบิคคัมภีร์อัลกุรอ่านด้วย ที่เรียกว่า Calligraphic Panels ซึ่งปรากฏให้เห็นรอบตัวอาคารเลย ดังนั้นระยะเวลาในการก่อสร้างทัชมาฮาลจึงกินเวลาตั้งแต่ ค.ศ. 1631-1653 และใช้แรงงานชั้นดีมากกว่า 20,000 คน กว่าจะแล้วเสร็จ
ทัชมาฮาลมุมมองจากสวนเปอร์เซีย 
การรอคอยระหว่างต่อแถวเพื่อเข้าชมภายใน
Pietra Dura ศิลปะการฝังหินมีค่าลงบนหินอ่อน
Calligraphic Panels การฝังหินอ่อนดำลงบนแผ่นหินอ่อนขาว

                การเข้าชมทัชมาฮาลยามเย็นถึงแม้จะมีข้อเสียคือ ผู้เข้าชมอาจน่นไปนิดต้องต่อคิวรอนาน และถ่ายรูปออกมาก็ติดแต่คน คนและก็คน แต่ก็ยังมีข้อดี เมื่อตะวันใกล้ลับฟ้า อาคารทัชมาฮาลจะสะท้อนแสงสีเหลืองออกมา และบรรยากาศริมแม่น้ำยมุนานั้นน่านั่งมากๆ ลมจากแม่น้ำพัดเอื่อยๆ ถึงหน้าหนาวน้ำจะแห้งไปสักนิดก็ตาม
ทัชมาฮาลสีเหลืองนวลยามต้องแสงแดดยามเย็น 
ด้านหลังสุดของทัชมาฮาลคือแม่น้ำยมุนา 
Yamuna River สองฝั่งแม่น้ำยมุนายามเย็น

                ความมืดเริ่มโรยตัวเข้ามาอากาศเริ่มเย็นลงทันที อย่าลืมว่าเรามีนัดรับภาพที่ให้เขาถ่ายไว้ด้านนอก โชคดีที่ตากล้องยังไม่กลับ เค้ายังรอเราอยู่ซึ่งเป็นรายสุดท้ายพอดี เราเดินออกจากทัชมาฮาลบริเวณประตูฝั่งทิศใต้ (South Gate) เมื่อเดินออกมาก็จะพบกับร้านขายของที่ระลึกเกี่ยวกับทัชมาฮาลมากมาย มีทั้งเสื้อยืด กระเป๋า ผ้าคลุมต่างๆ ขนมอินเดีย ที่น่าขึ้นชื่อมากที่สุดเห็นจะเป็นหินอ่อนแกะสลักรูปทรงต่างๆ มีทั้งแกะเป็นตลับ กล่องสบู่ ทัชมาฮาลจำลอง พระพิฆเนศร ฯลฯ แต่ราคาแพงมาก
มีแต่คนเดินออกเพราะว่าแสงแดดหมดแล้ว 
หน้าร้านขายของที่ระลึกบริเวณทางออกทิศใต้ (South Gate)

     เราเลือกที่จะทานมื้อเย็นที่ร้านอาหารในย่านทัชกานจ์ (Taj Ganj) สั่งข้าวหมกไก่มาจานหนึ่ง แต่รสชาติไม่ได้เรื่อง มาทานคู่กับนมเปรี้ยว Lassi ในราคา 85 รูปี เลยไม่ขอลงโฆษณาร้านนี้ให้เพราะเขาใช้เครื่องเทศซองปรุงข้าวหมก มันถึงไม่เข้าเนื้อไก่ ต่อจากนั้นเราขอใช้บริการอินเตอร์เน็ตที่นี่เสียหน่อยในราคาครึ่งชั่วโมง 20 รูปี ความเร็วถือว่าช้ากว่าประเทศไทยเยอะ พอสื่อสารกันได้ หลังจากนั้นก็โบกรถแท็กซี่กลับที่พักในราคา 60 รูปี พรุ่งนี้เรามีนัดกับคุณตาฮีร์ ที่จะมารับเราไปเที่ยวพระราชวังฟาเตห์ปูร์สิครี และป้อมอักรา
บริเวณประตูทางออกทิศใต้ South Gate

ตอนต่อไปมาดูกันว่าทำไมเราถึงพลาดท่าเสียทีให้กับพระราชวังฟาเตห์ปูร์สิครี



               

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น