ท้องอิ่มจากร้านที่แนะนำในหนังสือโลกเหงายามบ่ายก็ได้เวลานั่งรถตุ๊กๆ ออกไปชมป้อมแอมแมร์ที่อยู่นอกเมือง ซึ่งมีชื่อเรียกว่า Amber Fort อยู่ห่างจากตัวเมืองจัยปูร์ออกไปประมาณ 11กิโลเมตร การเดินทางจะมีรถเมล์ที่วิ่งออกไปจำสายไม่ได้ ราคาประมาณ 20รูปี กับนั่งรถตุ๊กๆ ออกไปราคาจะประมาณ 150 รูปี เราเลือกที่จะนั่งรถตุ๊กๆออกไปเพราะระหว่างทางจะมีพระราชวังกลางน้ำให้ชมซึ่งเราสามารถบอกให้คนขับหยุดได้ไม่เหมือนกับการโดยสารรถเมล์ ที่จะขอลงกลางทางก็คงจะลำบาก พระราชวังแห่งนี้มีชื่อว่า จัลมาฮาล (Jal Mahal) ซึ่งแวะได้แค่ถ่ายรูปเพราะไม่มีเรือโดยสารข้ามไปชม ส่วนบริเวณลานชมวิวนั้นมีอูฐไว้ให้เช่าขี่ชมบรรยากาศสมกับเป็นเมืองแห่งมหาราชาด้วย
แผนที่เมืองจัยปูร์ ที่เห็นพื้นที่สีม่วงคือเขตเมืองสีชมพู
รถตุ๊กๆ แดนภารตะผู้ซึ่งไม่เคยกดมิเตอร์สำหรับนักท่องเที่ยว
Jal Mahal พระราชวังกลางทะเลสาบ
ระหว่างทางริมทะเลสาบมีอูฐไว้ให้บริการนักท่องเที่ยวขึ้นขี่ชมเมือง
Amber Fort อ่านออกเสียงว่า “แอมแมร์ฟอร์ต” เป็นป้อมปราการและกำแพงเมืองยาวเหยียดตั้งอยู่บนเขาหินทราย ตัวป้อมใหญ่จะถูกทาด้วยสีเหลืองนวล สร้างขึ้นในสมัย ราชวงศ์ราชปุต (Rajput) โดยมหาราชามานซิงค์ (Maharaja Man Singh) ในปี ค.ศ. 1952 และมาเสร็จสิ้นในสมัย สะหวายจัยซิงห์ ซึ่งต่อมาได้ย้ายเมืองจัยปูร์ลงสู่พื้นราบ
เมื่อเดินผ่านทางเข้าด้านหน้าแล้วมองย้อนกลับไป
ริมกำแพงเมืองจะต้องขุดสระขนาดใหญ่ไว้เสมอ
ความยิ่งใหญ่อลังการของ Amber Fort ที่เห็นเบื้องหน้า
การขึ้นชมป้อมปราการหากใครมีกำลังขาขอให้เดินขึ้นเถอะ ไม่เหนื่อยอย่างที่คิดแถมประหยัดตังค์ด้วย ใช้เวลาเดินไม่ถึง 15 นาทีด้วยซ้ำ อีกวิธีหนึ่งคือนั่งรถจี๊บขึ้นไปเสียค่าโดยสารคนละ 20 รูปี ต้องรอคนเต็มรถถึงจะออก วิธีสุดท้ายที่ชาวตะวันตกชื่นชอบมากที่สุดคือ นั่งช้างขึ้นไปชมป้อมในราคา 600 รูปี ต่อเที่ยว ให้อารมณ์แบบมหาราชาอย่างแท้จริง
ทางเข้าหลักจะต้องเดินเลียบสระขนาดใหญ่ก่อน
เดินขึ้นบนป้อมคุ้มค่าเหนื่อยเมื่อมองย้อนลงมาเห็นเมืองอยู่เบื้องล่าง
ไม่ต้องกลัวเหงา มีเพื่อนร้วมอุดมการณ์เดินเท้าขึ้นอีกเยอะ
เมื่อเดินขึ้นมาถึงทางเข้าป้อมด้านซ้ายมือจะเป็นจุดซื้อตั๋วเข้าชม ชาวต่างชาติคิดในอัตรา 200 รูปี ไม่มีส่วนลดพิเศษสำหรับคนไทย ด้านขวามือจะเป็นวัดชิลาเทวี (Shila Devi Temple ) ด้านในเป็นศาลเจ้าแม่กาลี ขึ้นชื่อว่าเป็นวัดประจำป้อมแอมแมร์เลยทีเดียว
บริเวณจุดซื้อตั๋วเข้าชม มองอีกด้านจะแห้งแล้งคล้ายทะเลทราย
ป้อมปราการบนยอดเขา
ลานกว้างในเชตพระราชฐานชั้นนอก
ถัดจากประตูทางเข้าก็จะเป็นเขตพระราชฐานซึ่งเป็นลานกว้าง มีอาคารสร้างด้วยหินทรายสีแดงและหินอ่อนสลักเป็นศาลาว่าการที่เรียกว่า ดิวันอิอัม (Diwan-i-am) และตรงกลางลานจะเป็นประตูทางเข้าเขตพระราชฐานชั้นในอันวิจิตรบรรจงที่สุด คือประตูกาเนชโพล (Ganesh Pole) สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1640 เป็นศิลปะการวาดสีลงบนปูนเปียกที่เรียกว่า เฟรสโก (Fresco) ผสมผสานกับศิลปะประดับหินสีลงบนหินอ่อนด้วย แค่จุดนี้ก็ทำให้เราได้ชื่นชมกับความอ่อนช้อยของศิลปะโมกุลได้แบบไม่รู้เบื่อ
Diwan-i-Am ศาลาว่าราชการประจำป้อมแอมแมร์
ความงดงามอ่อนช้อยของประตูทางเข้า Ganesh Pole
ศิลปะภาพวาดสไตล์โมกุลบนเพดานประตู
ศิลปะการวาดสีลงบนปูนเปียก
เดินลอดประตู Ganesh Pole มาเบื้องซ้ายคือตำหนักฤดูหนาว ชีสมาฮาล (Khas Mahal) ตั้งอยู่ในเขตพระราชฐานชั้นใน เป็นห้องส่วนตัวของมหาราชาและมหารานี ภายในสุดอลังการด้วยกระจกชิ้นเล็กๆตกแต่งเต็มห้องทั้งเพดานและผนัง เมื่อจุดเทียนยามค่ำคืนสวยงามมากจะเป็นประกายวิบวับเต็มห้อง น่าเสียดายที่ภายในกั้นเชือกไม่สามารถเดินเข้าไปเยี่ยมชมได้เต็มตา
กระจกวาววับภายใน Sheesh Mahal
ความเป็นมาของตำหนัก Sheesh Mahal
อาคารชีสมาฮาลสร้างจากหินอ่อนทั้งหลัง
ภายในตำหนักชีสมาฮาล ห้ามเข้าไปข้างใน
ขณะนี้กำลังบูรณะซ่อมแซมตำหนักชีสมาฮาลอยู่
ด้านข้างตำหนักเป็นสวนสวยสไตล์โมกุลรูปทรงดาวหกแฉกที่ไม่สามารถเดินลัดสวนได้ ถัดขึ้นไปทางขวามือคือ ตำหนักสุขนิวาส (Sukh Niwas) นับว่าเป็นตำหนักแห่งความสุข สามารถเดินเลาะเข้าไปสู่ฮาเร็มที่เป็นตำหนักชั้นในสุดได้คือ Zanana และ Baradari เป็นตำหนักที่สงวนไว้เฉพาะนางในวังและมหารานีเท่านั้น บาราดารีเป็นพื้นที่ตรงกลางเป็นห้องเล็กๆ ส่วนภายในซอยเป็นห้องเล็กๆ อีกมากมายรายรอบ ว่ากันว่าน่าจะเป็นห้องนอนของเหล่าสนมและนางในทั้งหลาย ซึ่งในส่วนของฮาเร็มยังมีห้องใต้ดินด้วย ไม่แนะนำให้เดินลงไปเพราะมืดและเหม็นกลิ่นฉี่ค้างคาวมากๆ
มองลอดหน้าต่างจากตำหนักสุขนิวาส
ด้านบนของตำหนักสุขนิวาส
หน้าต่างฉลุสวยงามกับสวนสวยสไตล์โมกุล
สวนสวยหน้าตำหนักสุขนิวาส
ส่วนของฮาเร็มชั้นใน ส่วนของซานาน่า (Zanana)
Baradari ตั้งอยู่ตรงกลางของเขตพระราชฐานชั้นใน
ตำหนักฮาเร็มทาด้วยสีชมพูอ่อน เพิ่งทาได้ไม่นานมานี้
ประวัติตำหนักของมหาราชามานซิงห์ (Man Singh)
ภาพวาดสวยๆภายในตำหนัก
อันนี้ก็ภาพวาดเป็นเรื่องเป็นราว
สุดท้ายเป็นทางเดินแบบบังคับให้เดินออก จุดนี้เราจะพบกับร้านขายของที่ระลึกเล็กๆมากมาย แต่ราคาไม่เป็นมิตรเอาเสียเลย มีทั้งผ้าสวยๆ หินอ่อนแกะสลัก แต่ที่ดึงดูดทุกสายตามากที่สุดคงจะหนีไม่พ้นหุ่นชักแบบอินเดีย ซึ่งพี่แกใช้กลยุทธการขายผ่านการละเล่นที่เสมือนจริง เขาได้นำหุ่นมาชักที่หน้าม่านโรงละครเล็กๆของเขาจริงๆ เราออกมาด้านนอกได้พบกับสองสาวชาวไทยอีกครั้งหนึ่ง โลกช่างกลมดีจริง เราจึงบอกเธอให้รีบเข้าไปชมด้านในก่อนที่มันจะปิด เพราะนี่ก็สี่โมงกว่าแล้ว
จุดชมวิว ณ จุดสูงสุดของป้อมแอมแมร์
หลากหลายสีสันส่าหรี กับหุ่นชักของอินเดีย
หุ่นชักสะกดสายตาได้ทุกคู่โดยเฉพาะเด็กๆ
จุดขายของที่ระลึกเล็กๆน้อยๆภายในป้อม
หินอ่อนแกะสลักลาย ราคาแพงเกินไปพ่อค้ายืนรอจนเซ็ง
แรงยังพอเหลือเดิน แลเห็นป้อมสูงๆ ตั้งตระหง่านเหนือกำแพงเมืองบนเขาขึ้นไป ป้อมนี้มีชื่อว่า ป้อมไจกราห์ (Jaigrah Fort) สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1976 ในสมัยมหาราชาสะหวายจัยซิงห์ที่2 ไว้คุ้มกันเมืองแอมแมร์ บนป้อมมีปืนใหญ่ขนาดยักษ์ตั้งอยู่ แต่น่าเสียดายนักที่แสงแดดเริ่มหมด ในขณะที่เราเดินขึ้นเขาผ่านประตูเล็กๆของป้อมขึ้นไปเรื่อยๆ มีแต่คนเดินลง จนกระทั่งเราพบกับหนุ่มอินเดียกลุ่มใหญ่ เขาไม่แนะนำให้เดินขึ้นไปต่อเพราะมันมืดแล้วอันตรายทางค่อนข้างเปลี่ยว เราเชื่อคนพื้นที่ยอมเดินลงมาแต่โดยดีพร้อมกับได้มิตรภาพเพิ่มขึ้นมาอีกกลุ่มใหญ่
หนทางสู่ป้อมไจกราห์
เบื้องบนนั่นไงป้อมไจกราห์
ก่อนเข้าเขตป้อมถ้าเดินมาจากป้อมแอมแมร์จะต้องผ่านประตูนี้
น่าเสียดายที่เวลาหมดเสียก่อน ท้าทายน่าปีนยิ่งนัก
มีแต่คนเดินลงสวนลงมาทั้งนั้น เรากลับดีกว่า
มิตรภาพใหม่ๆเกิดขึ้นได้เสมอที่นี่
มุมสูงสวยๆ แลเห็นเมืองแอมแมร์เบื้องล่าง
ผู้คนทยอยเดินทางออกจากป้อมแอมแมร์ Amber Fort เราเดินข้ามถนนเพื่อไปขึ้นรถประจำทางฝั่งตรงข้าม และคอยสังเกตดูป้ายหน้ารถว่าคันไหนวิ่งเข้าเมือง (in bound) ผ่าน Pink city หรือไป M I Road เราขึ้นหมด รถมาทุก 10-15 นาที ค่าโดยสารแสนถูกเพียง 20 รูปี นั่งรถผ่านพระราชวังแห่งสายลม และเขตทริโปเลียบาซ่าร์ ผู้คนมาจับจ่ายใช้สอยในตลาดเนืองแน่นมาก เรานั่งรถผ่านประตูเมืองสีชมพูออกไปเข้าเขตถนนสายเครื่องประดับ สองข้างทางมีแต่ห้างทอง เราลงจากรถย่านนั้น อยากแวะเข้าไปชมสักร้านแต่ราคาก็แพงเหลือเกิน แต่ละร้านมีทหารยามอารักขาอย่างเข้มงวดจนเราไม่กล้าถ่ายรูปหน้าร้าน
ผู้คนต่างพากันกลับบ้าน
อาทิตย์อัสดงลงตรงหุบเขาป้อมแอมแมร์
เดินตามถนนมาเรื่อยๆ ขออนุญาตพาทุกท่านแวะชิมร้านขายโยเกิร์ตปั่นที่อร่อยและมีชื่อมากที่สุดในเมืองนี้ก่อน โยเกิร์ตหรือนมเปรี้ยวที่นี่เค้าจะเรียกว่า “ลาซซี่” Lassi คนที่นี่เขาทานกันเหมือนร้านนมสดบ้านเรา ร้านที่เราแนะนำให้ทานวันนี้ชื่อร้าน “ลาซซี่ วัลลา” Lassi Wala เปิดให้บริการมานานแล้วตั้งแต่ปี ค.ศ. 1944 เป็นร้านเก่าแก่ มีลูกค้ามานั่งทานไม่ขาดสาย นอกจากจะขายนมเปรี้ยวแล้วยังขายชาร้อน เครื่องดื่มเย็นอื่นๆ และอาหารว่างด้วย สนนราคาต่อแก้วค่อนข้างแพง เราสั่ง Mango Lassi มาทานแก้วหนึ่ง ราคาอยู่ที่ 40รูปี แต่เสน่ห์ของร้านนี้อยู่ที่แก้วที่นำมาใส่เป็นแก้วดินเผานั่นเอง ร้านนี้เปิดตั้งแต่ 11โมงเช้า ถึง 3ทุ่ม
ท้องถนนเมืองจัยปูร์ยามค่ำคืนกับร้านฟาสต์ฟู้ด
Lassi Wala ร้านโยเกิร์ตปั่นสุดอร่อยขึ้นชื่อประจำเมือง
ได้เวลานักแบกเป้ชวนชิมอีกครั้ง มื้อเย็นมื้อนี้เราจะพาทุกท่านชิมอาหารอินเดียแบบสไตล์มุกไลห์ (Muglhai Food) ตามท้องถนนในย่าน เอ็ม. ไอ. มีให้เลือกสรรรับประทานมากมาย มีทั้งที่เป็นร้านซื้อกลับบ้านที่เป็นร้านขายไก่ย่างหมักเครื่องเทศเพียงอย่างเดียว (Chicken Tandoori) ร้านขายเนื้อสัตว์ย่างแบบอาหรับที่เรียกว่า “เคบับ” (Kebab) ซึ่งมีทั้งเนื้อไก่และเนื้อแพะแต่ละร้านมีลูกค้าอุดหนุนกันเนืองแน่น
ภัตตาคารชั้นหนึ่งและร้านอาหารแบบซื้อกลับไปทานที่บ้าน
และแล้วเราก็มาสะดุดอยู่ที่ภัตตาคารฮานดี (Handi Restaurant) ถนน เอ็ม.ไอ.ซึ่งเป็นร้านที่ขายอาหารอินเดียสไตล์มุกไลห์ ที่หาได้ทั่วไปในรัฐราชาสถาน ด้านบนของภัตตาคารเป็นโรงแรมระดับสี่ดาว ดังนั้นรับประกันเรื่องความสะอาดของอาหารได้เลย แต่ราคาอาจสูงไปนิด จานละ 200รูปีขึ้นไป ด้านหน้าของภัตตาคารเป็นครัวที่เขาโชว์การทำอาหารกันตรงนั้นเลย มีทั้งเตาย่างไก่ เตาโอ่งปิ้งนาน การตกแต่งภัตตาคารทำแบบกระท่อมพื้นเมือง ถนัดทำอาหารประเภทปิ้งย่าง เราเลยขอสั่งแกงไก่ย่าง (Chicken Tandoori Curry) มาทานควบคู่กับนานกระเทียม (Garlic Nan ) และน้ำอัดลม ในราคาทั้งชุด 250 รูปี
ครัวอยู่หน้าร้าน พ่อครัวแสดงฝีมือโชว์ลูกค้าอย่างเต็มที่
Handi Restaurant ถนัดอาหารจำพวกปิ้งย่าง
มาแล้ว นานกระเทียมกับแกงไก่ย่างพร้อมเครื่องเคียงแก้เลี่ยน
บรรยากาศภัตตาคารตกแต่งแบบกระท่อมพื้นเมืองอินเดีย
พอได้อาศัยทานให้หายหิว จากนั้นเดินต่อมาที่วงเวียนหอนาฬิกาที่เดิมที่เราเดินผ่านในตอนเช้า จากนั้นเดินเลี้ยวซ้าย เราก็จะพบกับโรงภาพยนตร์ราชมันเดียร์ (Rajmandir Cinema) ออกแบบเป็นอาคารสมัยใหม่ แต่อายุก็หลายปีแล้วล่ะ สร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1976 ยามค่ำคืนก็งดงามไปอีกแบบ เป็นโรงหนังที่ใหญ่ที่สุดในเมืองจัยปูร์ มีโปรแกรมหนังใหม่เข้าฉายเรื่อยๆ และแน่นอนเป็นภาพยนตร์อินเดียล้วนๆ อยากจะชมหนังภารตะแท้ๆสักเรื่องก่อนนอน แต่ก็เกรงว่าจะเข้าไปนั่งหลับหลังท้องอิ่ม และกลัวไม่มีซับภาษาอังกฤษให้อ่านด้วย เลยขอกลับห้องนอนแล้วกัน
โรงหนังแห่งเดียวในเมืองจัยปูร์
ซัมซุงเดินทางมาถึงที่นี่แล้ว เลือกใช้พรีเซนเตอร์เป็นคนอินเดียทั้งหมด
ตอนต่อไปพาทุกท่านเดินทางข้ามเมืองอีกครั้งสู่รัฐอุตระประเทศ เพื่อชมอนุสรณ์แห่งความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ทัชมาฮาล (Taj Mahal)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น