วัดเชียงทองราชวรวิหาร ครั้งนึงเราเคยมาเยือนที่นี่เมื่อปี 2548
เราอดไม่ได้ที่จะนำภาพจากกล้องฟิล์มที่เคยถ่ายไว้
มาเปรียบเทียบกับสิ่งที่เราเห็นตรงหน้าในโลกปัจจุบันด้วย และมันทำให้เราได้รู้ว่าแม้กาลเวลาจะหมุนผ่านไปก็ไม่ได้ทำให้ความสวยงามของวัดเชียงทองลดน้อยลงเลย
จริงๆ มีคนทำแบบนี้มาก่อนเรานานแล้ว แต่เราเพิ่งจะลุกขึ้นมาทำ (2005 VS 2017)
เป็นการ Throw back trip ที่มีความสุขจริงๆ
วัดเชียงทองเป็นวัดที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุดและงดงามที่สุดในเมืองหลวงพระบาง
เป็นวัดที่ไม่ได้ถูกทำลายด้วยภัยสงคราม
ตัววัดตั้งอยู่บริเวณริมสุดของเมืองติดกับแม่น้ำ ถ้าขี่จักรยานมาจากย่านตลาดเช้ามันก็จะไกลๆหน่อย
วัดเชียงทองสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ราวๆปี พ.ศ.2102 เป็นศิลปะล้านช้างที่สมบูรณ์ที่สุด
หลังคาสิมหรืออุโบสถเป็นหลังคาจั่วสูงและลาดต่ำลงมาแบบหลายชั้นดูงดงาม
โดยขึ้นอยู่กับกำลังทรัพย์ของผู้สร้าง ยิ่งมีหลายขั้นมากๆ อุโบสถนั้นก็จะยิ่งงดงาม
และสิมของวัดเชียงทองตรงกลางของหลังคาจะมีช่อฟ้าประดับด้วย
โดยที่วัดแห่งนี้ได้มีช่อฟ้ามากถึง 17 ยอดเลยทีเดียว
มาถึงแล้ว ทางเข้าวัดเชียงทองจากฝั่งถนนเส้นหลัก
น่าเสียดายที่ซุ้มจำหน่ายตั๋วทำขึ้นมาแบบชั่วคราว
ลองนับดู ช่อฟ้าที่สิมหลักมียอดถึง 17 ยอดเลย
ก่อนจะเข้าชมวัดเชียงทองเราจะต้องจ่ายค่าตั๋วเข้าชมก่อนคนละ
20000กีบ จากประตูทางเข้าฝั่งถนน เวลาเปิดปิด 6.00-17.30 น. วัดแห่งนี้เข้าออกได้สองทาง
คือฝั่งถนนสักกะลินกับฝั่งถนนเลียบแม่น้ำ
เมื่อเข้ามาทางซ้ายเราจะเห็นโรงเมี้ยนโกศก่อน
ภายในเป็นสถานที่เก็บพระโกศและราชรถของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา
อาคารเป็นไม้ทาสีทองอร่ามพร้อมกับสลักลวดลายตามประตูเป็นเรื่องราวรามเกียรติตอนต่างๆ
โรงเมี้ยนโกศเรือนสีทองอร่าม
ราชรถบรรจุพระโกศของเจ้ามหาชีวิตประเทศลาว
ประตูไม้แกะลวดลายเรื่องเล่ารามเกียรติ
เราเดินผ่านอาคารปูนที่มีการเขียนลายลงรักปิดทองสวยงามแบบที่หาที่ไหนไม่ได้อีกจากสิมหลัก
และเดินผ่านหอพระม่านกับหอพระพุทธไสยาสน์ให้สังเกตภาพกระจกสีบนพื้นปูนสีชมพูกับสีแดงให้ดี
ศิลปะแบบนี้หาไม่ได้จากวัดอื่นๆ เราเรียกศิลปะแบบนี้ว่า ลายดอกดวงหลวงพระบาง
โดยลวดลายจะเป็นลายวิถีชีวิตของหลวงพระบาง แต่ภาพที่มีชื่อเสียงมากที่สุด
ถือว่าเป็นไฮไลท์ที่ทุกคนต้องมาถ่ายภาพคือ ภาพต้นทองหรือต้นงิ้วนั่นเอง
อยู่ด้านหลังของหอพระ
ลายนี้พบเห็นได้ตามของที่ระลึกทั้งกระดาษสาและผ้าปักลายก็ล้วนนำลวดลายจากวัดนี้ไปทำครับ
สิมหรืออุโบสถหลักวัดเชียงทอง
พระประธานประจำสิมหลัก
ลวดลายงานลงรักปิดทองภายในสิม
แม้แต่ด้านบนหลังคาก็ยังคงลวดลายงดงาม
ลอยดอกดวง สไตล์หลวงพระบางแท้ๆ
หน้าต่างในตำนานที่หอพระที่ทุกคนต้องมาโผล่หน้าถ่ายรูป
นี่แหละหอพระม่านที่ต้องเอาตาแนบรูที่ประตูเพื่อชมพระข้างใน
นี่ก็คือลวดลายต้นงิ้วในตำนานที่มาเป็นลายผ้าและกระดาษสา
กาลเวลาผ่านไป12ปี ลวดลายยังคงงดงามตามเดิม
ลายลงรักปิดทองของสิมวัดเชียงทอง
ลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์แสดงถึงวิถีชีวิตของชาวหลวงพระบาง
ลวดลายที่หน้าต่างในตำนาน
ด้านหน้าของสิมวัดเชียงทอง
ป้ายวัดเชียงทองในปัจจุบันเมื่อเทียบกับอดีต
เสร็จจากทริปสุดท้ายที่วัดเชียงทองเราก็ได้กลับมายังที่พักตุ้ยโฮมสเตย์
เพื่ออาบน้ำและพักผ่อนก่อนที่จะออกไปดินเนอร์อาหารฝรั่งเศสแท้ๆ
ในตัวเมืองหลวงพระบาง
ก่อนอื่นเราไม่ลืมที่จะกล่าวขอบคุณและให้ทิปคนขับรถสำหรับการเดินทางที่ราบรื่นในวันนี้
รถของโรงแรมมารอรับพวกเราที่บันไดด้านล่างของวัดเชียงทอง
ห้องนอนขนาดใหญ่ของตุ้่ยโฮมสเตย์
ห้องน้ำโล่งโปร่งขนาดใหญ่ แต่งตัวในห้องได้เลย
ทริปกินเที่ยวหลวงพระบางครั้งนี้ต้องจัดเต็ม สรรหาพาชิมให้ทั่ว ดังนั้นมื้อที่สี่ของหลวงพระบางจึงเป็นอาหารฝรั่งเศส
ซึ่งอาหารสัญชาตินี้มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของคนลาว สังเกตได้จากมีข้าวจี่ปาเต้
หรือขนมปังบาแก็ต (Baquette) ขายอยู่ทุกมุมเมือง
ด้วยว่าประเทศลาวครั้งหนึ่งเคยเป็นอาณานิคมของประเทศฝรั่งเศสนั่นเอง
พักผ่อนเสร็จได้เวลาเดินออกไปหามื้อเย็นทานกัน
นี่ไงแซนด์วิชฝรั่งเศส หรือข้าวจี่ปาเต้ในถาษาลาว
มาถึงแล้วร้าน เลเลฟัง เราจะมาชิมอาหารฝรั่งเศสกันที่นี่
ภัตตาคารที่เราจะพาทุกท่านไปชิม มีชื่อว่า ร้านเลเลฟัง
(L’Elephant
Restaurant) เป็นภาษาฝรั่งเศศ แปลว่า ช้าง นั่นเอง ร้านเลเลฟังหาง่ายเพราะตั้งอยู่หัวมุมถนนตรงข้ามกับวัดหนองสีคูณเมือง
ตึกเป็นอาคารทรงโคโลเนียลทาสีเหลืองสวยงาม ภายในมีโต๊ะเยอะมาก เวลาเปิดปิด
12.00-14.00 น. สำหรับมื้อกลางวัน และ 18.00 -22.00 น. สำหรับมื้อเย็น
สำหรับหน้าไฮและวันสุดสัปดาห์ควรโทรจองล่วงหน้าเพราะโต๊ะจะเต็ม
แม่ไม่สนที่จะเริ่มกินเลยมัวแต่ฟินกับการส่งรูปอาหาร
จานนี้พายผักโขมพร้อมสลัดเครื่องเคียงจ้า
ซุปมะเขือเทศสไตล์ฝรั่งเศส
ภายในร้านเต็มไปด้วยชาวตะวันตกและข้าราชการลาวมาเลี้ยงรับรองแขกกัน
การให้บริการจะเป็นแบบสไตล์ฝรั่งเศสมีบริกรใส่ชุดสุภาพเรียบร้อย
เมนูอาหารมีทั้งแบบตามสั่ง A La Carte และอาหารแบบคอร์ส ซึ่งจะเสริ์ฟไปตามลำดับขั้น
เริ่มตั้งแต่จานเรียกน้ำย่อย จานหลักและของหวาน เราสองแม่ลูกสั่งกันมาคนละเซ็ท
ราคารวมกันทั้งหมด 320000 กีบ จะมีจานไหนเด็ดมั่งมาดูกัน
จานนี้เป็นเมนูปลาอบ เมนูนี้ค่อนข้างคลีน
จานนี้เป็นสะโพกไก่อบซอส
แม้แต่แผ่นรองแก้วยังมีLogo เลย
ว้าว Caramel Custard ของชอบเลย
หลังจากท้องอิ่มแล้วกองทัพต้องเดินด้วยขาต่อไปจ้า
เราจะพาแม่ไปออกกำลังกายด้วยการเดินฝ่าลมหนาวจากร้านอาหารไปจนถึงตลาดกลางคืน (Night
Market) หรือที่คนที่นั่นเรียกว่าตลาดมืดนั่นเอง
ตลอดทั้งสองฝั่งถนนเต็มไปด้วยร้านขายของงานฝีมือ งานไอเดียเก๋ๆ มากมาย
นี่เป็นแค่ตัวอย่างเล็กๆของร้านที่เปิดมาให้พวกเราได้เข้าไปชื่นชม เสพศิลปะ
ไม่ซื้อไม่หา เจ้าของร้านก็ไม่ว่ากัน
เจ้าของร้านกับอีเห็นที่เลี้ยงไว้
แม่ฉันถูกใจกระเป๋าคลัชท์ ร้าน Passa Paa
ลายผ้าร้านนี้ค่อนข้างทันสมัย เราชอบคุณแม่ก็ชอบ
กระเป๋าย่ามผ้าร้านนี้สีสดมาก
ร้านPassa Paa ของมีเอกลักษณฺ์เฉพาะ สวยงามทุกชิ้น
ตลาดมืดหรือถนนคนเดินที่เมืองหลวงพระบาง เปิดตั้งแต่ 18.00 -24.00น. ตั้งอยู่บนถนนสีสะหว่างวง ติดกับหอพิพิธภัณฑ์หลวงพระบางและพระธาตุพูสี ถ้าเดินดูแบบผิวเผินอารมณ์จะคล้ายกับถนนคนเดินที่เชียงใหม่หรือปาย
ที่เต็มไปด้วยของพื้นเมือง ของอาร์ตๆขาย จะแตกต่างบ้างก็ตรงที่มีเสื้อยืดสกรีนลายเมืองหลวงพระบางเต็มไปหมด
นอกจากนี้ยังมีผ้าซิ่นทอมือ ผ้าฝ้ายพื้นเมือง กระเป๋าปัก
โดยเฉพาะลายช้างจะเหมือนกับงานเชียงใหม่มากๆ จะซื้ออะไรให้ต่อรองราคาให้ดี
ไม่ต้องรีบซื้อ ลองเดินดูหลายๆร้านแล้วเทียบราคาเอา
เพราะแต่ละร้านขายสินค้าใกล้เคียงกันหมด แต่ถ้าจะซื้อผ้าทอมือไปซื้อที่บ้านซ่างค้องจะดีกว่า
เพราะตอนกลางวันจะเห็นลวดลายต่างๆได้ชัดกว่าครับ
จำได้ไหม ลายต้นทองหรือต้นงิ้วที่วัดเชียงทอง
ของที่ระลึกที่นี่หากดูเผินๆ จะคล้ายของตามถนนคนเดินในภาคเหนือบ้านเรา
ผ้าทอมือที่นี่ราคาจะสูงกว่าบ้านผานม ให้ลองต่อรองราคาดีดี
ร้านขายผ้าที่ตลาดมืดมีเยอะมาก
แม่ฉันติดใจผ้ากันเปื้อนทำจากผ้าฝ้ายปักลาย ตกผืนละ200 บาท สอยได้กลับมา2ผืน
ดึกๆหน่อยหลังสี่ทุ่มคนก็บางเบาแล้ว
พรุ่งนี้เราจะพาตื่นแต่เช้าไปเดินชมตลาดเช้าประจำเมืองหลวงพระบางกันครับ
ไปดูกันว่าตลาดสดประจำเมืองเค้าจะขายของอะไรกันบ้าง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น