ก่อนอื่นทางทีมงานของเราต้องขอขอบคุณแอร์เอเชียที่ให้ความกรุณาปล่อยโปรโมชั่นอินเดียในราคาถูกแบบไม่น่าเชื่อ ให้พวกเราได้เดินทางไปสำรวจเมืองกัลกัตตากัน ซึ่งทางแอร์เอเชียเค้าก็จะจัดโปรโมชั่นไปอินเดียเรื่อยๆ ทั้งเมืองเดลลีและเมืองกัลกัตตา โดยสามารถคลิกดูรายละเอียดโปรโมชั่นได้ที่ http://www.airasia.co.th สำหรับทริปกัลกัตตานี้เราซื้อตั๋วเครื่องบินตั้งแต่เดือนธันวาคม แต่เดินทางเดือนกุมภาพันธ์ วันที่4-7 ได้ราคาไปและกลับเที่ยวละ590บาทเองครับ มันช่างถูกเสียจริง เมื่อรวมค่าภาษีสนามบินไปแล้ว และค่าใช้จ่ายอื่นๆไปแล้วก็ตกประมาณ 2275บาท เท่านั้นเอง ด้วยราคาค่าตั๋วเครื่องบินที่ถูกเหลือเชื่อแบบนี้สามารถทำให้พวกเราไปทานอาหารดีดีได้สบาย และเหลือเงินใช้จ่ายช้อปปิ้งเหลือเฟือ
วันเดินทางห้ามลืมพริ้นท์ตั๋วมาเด็ดขาดนะ ไม่งั้นอดเที่ยว
โปรโมชั่นแอร์เอเชียบินมาไทย ถ่ายจากฝั่งอินเดีย
ทริปกัลกัตตา 4วัน 3คืนนี้ มีผู้ร่วมเดินทางทั้งหมด3คนรวมผมด้วย มีเพื่อนเก่าเจ้าประจำ1คน และเจ๊เจ้าของร้านที่เป็นลูกค้าเราอีก1ท่าน ก่อนเดินทางแทบจะไม่ได้หาข้อมูลอะไรเลย นอกจากที่พักและสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญเท่านั้นกับแผนที่เมือง แต่สุดท้ายก็ไม่ได้จองโรงแรมล่วงหน้าด้วยเราถือคติว่าถ้าไม่เห็นสภาพห้องก่อนเราไม่จ่ายนะ ยิ่งในเว็บไซต์ด้วยแล้ว หลายที่รูปถ่ายสวยงามแต่ห้องจริงกลับคนละเรื่อง พวกเราจึงทำแค่ค้นหาสถานที่ท่องเที่ยวและพิมพ์มันออกมาดูแล้วเลือกว่าจะไปที่ไหนกันบ้าง แต่ก็ไม่ได้ลงรายละเอียดว่าวันนี้จะไปไหนกันเพราะอยากให้ตารางท่องเที่ยวของเรายืดหยุ่นที่สุด จากนั้นเราต้องไม่ลืมไปหาที่แลกเงินกัน เพราะที่นั่นใช้เงินสกุลรูปีกัน โดยเราแลกที่อัตรา 1รูปี เท่ากับ 0.7บาท ที่นั่นค่าเงินถูกกว่าบ้านเรา เราเอาเงิน5พันบาท แลกมาได้เจ็ดพันกว่ารูปี แล้วเราก็ไม่ลืมที่จะแลกเงินดอลลาร์มาด้วยเพื่อใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดต่างๆตามสนามบิน เอาล่ะได้เวลาเริ่มเดินทางกันแล้ว
เช้าวันที่ 4 กุมภาฯ พวกเรามาถึงที่สนามบินสุวรรณภูมิกันตั้งแต่แปดโมงเช้า เพราะเที่ยวบินเราออกประมาณ 10.30น. ไปถึงที่นั่นประมาณ 11.30น. (เวลาที่อินเดียช้ากว่าไทยประมาณ 1ชั่วโมงครึ่ง) พวกเราไม่ต้องต่อแถวเช็คอินเพราะบางคนก็ได้เช็คอินผ่านเว็บไซต์แล้ว ส่วนเราเช็คอินผ่านตู้เช็คอินอัตโนมัติที่แอร์เอเชียมีให้บริการ ไม่ต้องไปต่อแถวยาวเหยียดกับคนอินเดียทั้งหลายที่เดินทางโน่น พวกเราเลยมีเวลาไปนั่งจิบกาแฟ เดินดูสินค้าปลอดภาษีภายในสนามบินได้อีก ก่อนที่เค้าจะเรียกให้ผู้โดยสารเที่ยวบินกัลกัตตาทั้งหมดไปที่ประตูทางออก
Ome & Patt กำลังเช็คเมล์ที่มีให้บริการที่ประตูขาออก
นกเหล็กลำนี้เที่ยวบิน FD3782 จะนำพวกเราเหินฟ้าไปสู่แดนภารตะ
เมื่อไปถึงประตูทางออก ผู้ร่วมเดินทางในเที่ยวบินนี้ส่วนใหญ่เป็นคนอินเดีย แล้วก็มีฝรั่งปะปนบ้างแล้วก็คนไทยนี่แหละมีทั้งคณะพระภิกษุสงฆ์และแม่ชีผู้ไปแสวงบุญ รวมทั้งผู้ติดตามเดินทางไปเป็นกลุ่ม จากการพูดคุยเบื้องต้นทำให้ทราบว่าพวกเขาต้องต่อรถไฟจากกัลกัตตาเพื่อเดินทางไปยังเมืองคยาและพาราณสี โดยใช้เวลามากกว่า8ชั่วโมง ดังนั้นทริปนี้พวกเราก็อยู่แต่ในเมืองกัลกัตตาเที่ยวชมเมืองให้ทั่วก็แล้วกัน
พอขึ้นเครื่องจนถึงเครื่องออก เหล่านางฟ้าก็ออกมาทำงาน พวกเธอทั้งหมดเป็นคนไทยเพราะนี่คือเที่ยวบินของบริษัทไทยแอร์เอเชียนางฟ้าจึงเป็นคนไทยทั้งหมด เราสามคนกระจายกันนั่งตามที่ของตนเองเพราะตอนซื้อไม่ได้จองที่นั่งไว้ ขาไปเที่ยวบินนี้เต็มลำทีเดียว นั่งไปสักพักเริ่มหิวซะแล้วเพราะเราตื่นกันแต่เช้า เลยลองสั่งซาโมซ่าไส้ผักมากิน (Samosa) รูปร่างหน้าตาคล้ายกะหรี่พัฟ ใส่มาในกล่องพร้อมน้ำจิ้มมาซาล่าสีเขียวสดเผ็ดร้อนเครื่องเทศรสชาติไม่เลวเลยทีเดียว สักพักนางฟ้าเธอก็เอาใบกรอกเข้าเมืองมาให้กรอก (Arrival Card) เอกสารต้องกรอกให้ครบทุกช่องนะอย่าลืมว่าเราเป็นชาวต่างชาติ ถ้าไม่อยากเสียเวลาตอนตรวจคนเข้าเมือง ควรจะระบุที่อยู่ในอินเดียซึ่งคือโรงแรมที่เราจะเข้าพักลงไป พวกเรายังไม่ได้จองที่พักกัน แต่เราก็เขียนชื่อโรงแรมลงไปว่า International Youth Hostel Kolkata เพียงแค่นี้เราก็จะผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองได้ฉลุย
โฉมหน้าบัตรขาเข้า (Arrival Card) ต้องกรอกรายละเอียดให้ครบ
แอร์คนสวยกำลังทำหน้าที่อยู่จ้า
อาหารทานเล่นบนเครื่องของเรา ซาโมซ่าไส้ผัก (Vegetable Samosa)
พวกเราใช้เวลาอยู่บนเครื่องสองชั่วโมง ผมได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับสาว (แก่) ชาวญี่ปุ่นเธอเดินทางมาเที่ยวอินเดียตามลำพัง ส่วนเจ๊นั้นไม่ค่อยสบายจึงม่อยหลับไป เพื่อนเราน่าสงสารนั่งอยู่ท้ายสุดของเครื่องติดกับห้องน้ำ พอเครื่องลงแตะรันเวย์ที่สนามบินเมืองกัลกัตตา พวกเราก็พบกับความเรียบง่ายของสนามบินที่นี่ ซึ่งไม่มีการตกแต่งแบบอลังการให้หวือหวาฟู่ฟ่าแต่ประการใด สนามบินที่นี่มีไว้ใช้งานจริงและออกจะขาดการบำรุงรักษาเสียด้วยซ้ำ สภาพอาคารแลเก่าและทรุดโทรมตามกาลเวลา พวกเราออกมายืนรอกระเป๋าที่โหลดใต้ท้องเครื่อง ซึ่งมีของเจ๊เพียงใบเดียวเท่านั้นที่โหลดเสื้อผ้าและข้าวของเครื่องใช้มาเต็มพิกัด เพราะเราสองคนสัมภาระน้อยหรือมักง่ายก็ไม่รู้สิ กระเป๋าถึงเบาและใส่ของมาน้อยมาก
ผู้ร่วมเดินทางในครั้งนี้ เจ๊แพทและโอม
มุมกาแฟเล็กๆประจำสนามบินเนตาจีฯ
ผู้คนต่างมายืนรอรับกระเป๋าที่นี่
คณะสงฆ์และผู้ติดตามที่เดินทางมาแสวงบุญกันที่นี่
ร้านค้าปลอดอากรประจำสนามบิน
พวกเรากำลังจะเดินทางออกจากสนามบินกันแล้ว
มุมกาแฟเล็กๆประจำสนามบินเนตาจีฯ
ผู้คนต่างมายืนรอรับกระเป๋าที่นี่
คณะสงฆ์และผู้ติดตามที่เดินทางมาแสวงบุญกันที่นี่
ร้านค้าปลอดอากรประจำสนามบิน
พวกเรากำลังจะเดินทางออกจากสนามบินกันแล้ว
เมื่อไปถึงสนามบินสิ่งแรกที่พวกเราจะต้องไปหานั่นคือ Tourist Information Office ที่อยู่ตามสนามบิน แต่ปรากฏว่าที่นี่ไม่มีแม้แต่แผนที่เมือง พอถามเจ้าหน้าที่ เขากลับโบ้ยมือให้ไปอีกอาคารหนึ่ง สงสัยเมืองนี้คงจะไม่ได้อยู่ในแผนโปรโมทการท่องเที่ยวเป็นแน่ พอพวกเราก้าวเท้าออกไปข้างนอกอากาศเย็นสบายกำลังดี มีแดดออกเล็กน้อยทั้งที่เป็นตอนเที่ยงกว่าแล้ว เราถึงรู้ว่าชื่อเต็มของสนามบินคือ Netaji Subhash Chandra Bose International Airport โหชื่อสนามบินคุณท่านยาวมาก แต่คนอินเดียทั่วไปเรียกที่นี่อย่างสั้นๆว่า Dum Dum Airport หรือสนามบินดัมดัม เพราะตั้งอยู่ในยานเมืองชื่อดัมดัม นั่นเอง
ชื่อเต็มของสนามบินดัมดัม เห็นไหมล่ะว่ายาวจริง
เพื่อเพิ่มความขลังของอาคารเลยต้องยืมแท็กซี่มาเป็นพร็อพเสียหน่อย
พวกเราสามคนพร้อมตะลุยกัลกัตตากันแล้วจ้า
ตอนต่อไปจะพาทุกท่านไปชมความยุ่งเหยิงอันมีเสน่ห์แห่งเมืองกัลกัตตา และตามหาโรงแรมที่พักกันครับ