วันเสาร์ที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2554

อินเดีย ใครๆก็ไปได้ ตะลุยกัลกัตตาแบบไม่ง้อทัวร์ ตอนที่6 เที่ยวละไมเมืองกัลกัตตา ชมสะพานแลสถานีรถไฟในย่าน Howrah

                พวกเราเที่ยวเพลินจนลืมดูเวลา อ้าวติดเที่ยงอีกแล้วแต่พวกเราไม่มีใครหิว สงสัยโรตีทอดหน้าวัดยังคงแน่นท้องอยู่ เพื่อไม่ให้เสียเวลาท่องเที่ยวพวกเราต้องกากบาทเลือกสถานที่ที่ไม่ใช่วัดและต้องเป็นสถานที่ที่เปิดตลอดเวลาซึ่งก็เหลือแต่ Howrah Bridge และ Howrah Station ซึ่งคือสะพานอันยิ่งใหญ่กับสถานีรถไฟอินเดียขนาดมหึมานั่นเอง

             เราต้องเรียกแท็กซี่อีกตามเคยด้วยว่าหน้าวัดไม่มีระบบขนส่งมวลชนใดๆทั้งสิ้น เราเรียกรถแท็กซี่ให้พาไปส่งที่สถานีรถไฟฮ้าวหร่าห์ พวกเราต้องคอยกดราคาค่าแท็กซี่อีกแล้ว ใกล้ๆแค่นี้เรียกมาตั้ง 200 รูปี เราต่อแบบไม่หักคอจนเกินไปขอแค่ 150 รูปีก็แล้วกัน รถพาวิ่งซอกแซกไปในเขตเมือง Howrah ได้เห็นกิจวัตรที่ชาวอินเดียทำกันข้างถนน ทั้งอาบน้ำซักล้างอะไรกันตลอดทั้งวัน พอเที่ยงแล้วรถค่อนข้างติดสลับกับหยุดนิ่ง แถมรถข้างหน้ายังเฉี่ยวกันกระจกหูช้างหลุดอีก พอชนกันคู่กรณีต่างรีบลงมาจากรถ ด่าทอกันเสียงดังนึกว่าจะได้เห็นมวยอินเดียซะแล้วแต่ที่ไหนได้พี่แกเล่นหยิบกระจกหูช้างกลับเข้ารถแล้วขับต่อไปทั้งคู่เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น พวกเราไม่สงสัยเลยว่าเหตุใดรถทั้งเก่าและใหม่ในอินเดียต่างก็มีร่องรอยการชนรอบคัน
 วัวนอนกันเกลื่อนในเขตเมือง คนที่นี่เค้านับถือวัวกันนะ
 กิจวัตรริมทางในเขตเมืองกับก๊อกน้ำสาธารณะ
 ราคาน้ำมันในอินเดียไม่ได้ถูกไปกว่าเมืองไทยเลย กลับจะแพงกว่าด้วยซ้ำ
 รถโดยสารทุกคันของที่นี่ใช้ยี่ห้อทาทา (TATA) เท่านั้น
 แรงงานคนที่นี่ยังมีเหลือเฟือไม่ต้องพึ่งพาเครื่องจักร
 นี่ก็อีกหนึ่งแรงงานแบกนุ่น ไม่ต้องแบกหิน
สารถีสามล้อถีบยังรอผู้โดยสารอย่างสบายอารมณ์

ตำรวจจราจรที่นี่คงปวดตับไม่น้อยกับรถราที่วิ่งกันอย่างดุเดือด
                รถพาพวกเรามาจอดที่เชิงสะพาน Howrah และชี้ว่าสถานีรถไฟให้ข้ามถนนไปฝั่งตรงข้าม พวกเราลงมาจากรถแล้วข้ามถนนไปอย่างยากลำบากด้วยว่ารถราที่นี่ไม่ใคร่หยุดให้คนข้ามสักเท่าใดนัก  Howrah Bridge มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า Rabindra Setu หรือ รพินทระ เซตู ถือป็นสะพานข้ามแม่น้ำที่กว้างที่สุดเป็นอันดับสามของโลก เปิดใช้งานในปีค.ศ. 1943 เป็นสะพานข้ามแม่น้ำฮูคลี่ เชื่อมระหว่างเมืองกัลกัตตาและเมืองฮาวร่า โครงสร้างสะพานเป็นสะพานแขวนมีความยาว 450 เมตร และกว้าง 30 เมตร ผู้คนสามารถเดินสัญจรจูงวัวควายหรือเข็นรถ ลากรถบนสะพานได้ ด้วยว่าทางเดินเท้าสองฝั่งของสะพานนั้นกว้างมากๆ นี่แหละครับวิถีอินเดียผู้คนที่นี่เดินขึ้นสะพานกันครับไม่ยอมเสียค่ารถหรือเรือข้ามฟาก รถบนสะพานก็เคลื่อนตัวได้ช้ารถแน่นตลอดทั้งวัน โครงสร้างเหล็กดูขึงขังและแน่นหนาสมกับที่อังกฤษได้วางรากฐานไว้
 สามคนอลเวงกับ Howrah Bridge
 ถ่ายจากบนรถแท็กซี่ โปรดสังเกตว่ามันมีกี่เลน
คนอินเดียเป็นชนชาติที่ขยันเดินกันมากครับ ขนาดแบกข้าวของเต็มไปหมดยังไม่ยอมเสียค่ารถเลย
                พวกเราเดินผ่าน Howrah Bus Station เป็นสถานีขนส่งแบบเดียวกับต่างจังหวัดบ้านเรา ผู้คนเบียดเสียดยัดเยียดกันบนรถ บางคันคนต้องตีตั๋วพิเศษขึ้นไปนั่งบนหลังคารถ ความสะอาดของท่ารถไม่ต้องพูดถึงเลย ให้ทุกท่านสังเกตสิ่งปฏิกูลตามพื้นถนนในภาพถ่ายละกันครับ ที่นี่พวกเราได้เจอกับ เคอิตา (Keita) หนุ่มญี่ปุ่นที่พักโรงแรมที่เดียวกับเราแล้วไปสังสรรค์กันยามค่ำคืนด้วยกัน ดูท่าทางเค้าจะดีใจมากที่เจอกับพวกเราที่นี่เพราะว่าเค้ามาคนเดียวดังนั้นพวกเราก็เลยดึงเค้ามาเป็นเพื่อนร่วมทางอีกคน
 ความวุ่นวายของท่ารถโดยสาร เพื่อเราอดใจไม่ไหวขอแชะกับรถท้องถิ่นสักภาพ

ท่ารถโดยสารวิ่งระหว่างเมือง ดูดีดีจะเห็นคนหีบน้ำอ้อยขายด้วย
                   เราทั้งสี่เดินผ่านอาคารตึกสีแดงคลาสสิคขนาดใหญ่โต ตึกนั้นแหละคือสถานีรถไฟ (Howrah Station) สถานีรถไฟแห่งนี้เป็นสถานีใหญ่เป็นสถานีต้นทาง ท่านสามารถเดินทางไปสิกขิม ดาร์จีลิ่งได้ที่นี่ แต่คงต้องนั่งค้างคืนไป1คืน ท่านสามารถไปเมืองคยา พาราณสี หรือนั่งเลยไปนิวเดลี อักรา ก็สามารถขึ้นที่นี่ได้อีก และแน่นอนที่สุดสถานที่แห่งนี้ห้ามถ่ายรูปอีกแล้วครับ พวกเราชูกล้องถ่ายแชะๆ ไม่ทันไร ขนาดตั้งกล้องอยู่อีกฝั่งของถนนยามที่อยู่ฝั่งตรงข้ามเห็น เค้ายังตะโกนเสียงดังชี้มือมาทางกล้องของพวกเราเลย สถานีรถไฟทาด้วยสีแดงบรรยากาศเก่าคลาสสิคไม่แพ้หนังแฮรรี่พ็อตเตอร์เลยครับ ได้สูดกลิ่นไออังกฤษในดินแดนภารตะมากๆ เมื่อเดินเข้าไปข้างใน เสียงสุภาพสตรีประกาศเที่ยวรถดังกึกก้องทั้งภาษาฮินดีและภาษาอังกฤษบอกเที่ยวรถที่จะออกเดินทาง ผู้คนมากมายและดูวุ่นวายตามแบบฉบับของเมืองใหญ่ทั่วโลก มีป้ายเตือนระวังภัยมิจฉาชีพติดอยู่ทุกที่ น่าเสียดายที่พวกเราไม่สามารถถ่ายรูปได้เลย พวกเราเดินไปตามชานชาลาต่างๆ มีรถที่เตรียมจะออก เพิ่งสังเกตว่ารางรถไฟอินเดียกว้างประมาณ2เมตรได้ รางกว้างกว่าไทยเยอะ ตู้รถนอนของเค้าจึงมีขนาดใหญ่โต และนอนได้ตามแนวขวางของตู้เลย เราแอบไปดูตู้นอนและทักทายกับคนอินเดียที่อยู่บนตู้นอนด้วย พวกเราเดินเก็บบรรยากาศในสถานีจนทั่วจนออกมาสูดอากาศควันพิษข้างนอกอีกครั้ง ได้เวลาที่จะเคลื่อนพลไปดูที่อื่นต่อแล้ว
 ความยิ่งใหญ่ของอาคารสีแดง Howrah Station
 ความจริงตอนนี้อากาศเริ่มร้อนแล้ว สังเกตได้จากสีหน้าแต่ละท่าน
 Howrah Station มิใช่สถานีฮ็อกวอร์ดของแฮรี่พอตเตอร์นะ
นี่เป็นภาพสุดท้ายก่อนถูกยามเฝ้าสถานีตะโกนด่ามาครับ
ตอนต่อไปมาเจอกับกลโกงแท็กซี่ของอินเดียและพาชมเมืองเดินขาลากกับ Kolkata Sightseeing

 

1 ความคิดเห็น:

  1. สวัสดีครับ เห็นบล็อกแล้ว น่าสนใจดีครับ
    ผมจะไปอินเดีย มกรานี้
    อยากขอคำแนะนำครับ
    max_ibo@hotmail.com
    ขอเมล์ติดต่อได้มั้ยครับ

    ตอบลบ