วันอังคารที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2555

บินเดี่ยวเที่ยวอินเดีย ตอนที่3 แบกเป้เที่ยวป้อมแดงใจกลางกรุงเดลลี (Red Fort Dehli)

          การส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของรากเหง้าวัฒนธรรมนั้นสำคัญยิ่งในการอนุรักษ์โบราณสถานต่างๆ รวมไปถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วย ดูได้จากคนอินเดียส่วนใหญ่มักจะเดินทางไปเที่ยวชมอุทยานประวัติศาสตร์และสถานที่สำคัญต่างๆ ในประเทศของตนกันทั้งนั้น โดยจะเห็นได้จากภาพในตอนต่อไปที่จะถ่ายติดแต่คนอินเดียเท่านั้น
Red Fort in greyscale
แผนผังของป้อมแดง ยืมจากเว็บเขามาอีกที

                ทางเข้าหลักของป้อมแดงคือ Lahore Gate ซึ่งตั้งตามชื่อเมืองๆหนึ่งในประเทศปากีสถาน บริเวณหน้าลานมีอินเดียมุงเป็นจำนวนมาก อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมถึงมีตำรวจคุ้มกันอย่างแน่นหนา พอโผล่เข้าไปใกล้ อ๋อพ่อซุปตาร์ แห่งเมืองภารตะมายืนถ่ายแบบอยู่ที่นี่เอง เขาชื่อนายราจีฟ (Rajeev) แสดงหนังหลายเรื่องและกำลังรุ่งสุดๆ ณ ขณะนี้
กองถ่ายเต็มไปด้วยตำรวจอารักขาอย่างแน่นหนา 
คนนี้แหละพ่อซุปตาร์ตัวจริง

                มาเข้าเรื่องต่อ เราต้องไปต่อคิวซื้อตั๋วเข้าชม อย่าลืมยื่นหนังสือเดินทางประเทศไทยไปด้วยนะ เพราะนี่คือบัตรส่วนลดที่ยิ่งใหญ่ จากค่าเข้าชมสำหรับชาวต่างชาติ 250 รูปี จะเหลือเพียง 10รูปี เท่านั้น ซึ่งว่าด้วยข้อตกลงระหว่างประเทศทางการทูตที่จะมีประเทศในแถบเอเชียใต้ทั้งหมด รวมไปถึงพม่าและไทยที่ได้รับข้อยกเว้นค่าธรรมเนียม แต่กฎข้อนี้ไม่ได้ครอบคลุมโบราณสถานอินเดียและอุทยานประวัติศาสตร์ทุกแห่งนะ เพราะบางแห่งก็ไม่ได้ร่วมรายการ ดังนั้นก่อนจะเข้าชมควรสอบถามให้ดีก่อน
จุดซื้อตั๋วเข้าชมป้อมแดง ช่วงเช้าคนยังไม่แน่น
  
ความภาคภูมิใจของชาวไทย แสดงหนังสือเดินทางกับค่าเข้าชม 10รูปี

                หลังจากซื้อตั๋วเข้าชมแล้วเราก็จะเดินผ่านทางเข้าหลักของป้อมแดง ซึ่งตัวป้อมนั้นสร้างขึ้นด้วยหินทรายสีแดงทั้งหมด ตัวกำแพงรอบนอกยาวถึง 2.5 กิโลเมตร ครอบคลุมเป็นทรงแปดเหลี่ยมด้านไม่เท่า และมีความสูงตั้งแต่ 18-33 เมตร สร้างขึ้นด้วยศิลปะแบบโมกุล (moghal) ในปี ค.ศ. 1638 สมัยที่จักรพรรดิชาห์ จาฮาน (Shah Jahan) ทรงย้ายเมืองหลวงจากอักราสู่เมืองเดลลี สร้างแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1648 ซึ่งตัวป้อมนี้อยู่ในเขตเมืองหลวงเก่าที่เรียกว่า โอลด์ เดลลี (Old Dehli)
กำแพงรอบป้อมแดงที่ทั้งสูงและยาวกว่า2กิโลเมตร 
Lahore Gate ทางเข้าหลักของป้อมแดง

                หลังจากผ่านประตูลาฮอร์เข้ามาแล้ว เราก็จะพบกับตลาดในเขตวังแบบโบราณชื่อว่าตลาดชัตต้าชอว์ก (Chatta Chowk) ลักษณะจะเป็นทางแคบๆ ยาวเรื่อยไปจนถึงทางเข้าชั้นใน ตลาดจะคล้ายกับอาเขตขายของในราคานักท่องเที่ยว จะเป็นของที่ระลึกในราคาที่แพงหูฉี่ มีทั้งเครื่องประดับอัญมณี ผ้าอินเดีย หินอ่อนแกะสลัก จานชาม กระเป๋า ฯลฯ ไม่แนะนำให้ซื้อของที่นี่ เป็นไปได้ขาออกควรเดินข้ามถนนไปที่ตลาด Chandni Chowk จะดีกว่า
ตลาด Chatta Chowk เป็นตลาดโบราณในเขตวัง

จะซื้อสินค้าที่นี่ควรคิดให้ดีก่อนเพราะราคาไม่เป็นมิตรเลย

ของที่ระลึกพวกกล่องหินอ่อนราคาสูงมาก และย่ามแบบอินเดีย 

เครื่องประดับและรูปเคารพก็มีจำหน่าย

          สุดทางของตลาด Chatta Chowk แล้วเราก็จะพบกับนอบัตกานา Naubat Khana หรืออีกชื่อหนึ่ง Drum House เป็นอาคารเล็กๆ สร้างด้วยหินทรายสีแดง เดิมสถานที่นี้เป็นที่บรรเลงของวงดนตรีขับกล่อมในวัง ซึ่งเล่นถึงวันละ 5 รอบ ชั้นบนจัดเป็นที่แสดงพิพิธภัณฑ์ทางด้านการทหาร มีอาวุธจัดแสดงภายในซึ่งภายในห้ามถ่ายรูป ด้านนอกถ่ายได้ ตัวอาคารมีการสลักหินทรายเป็นลวดลายอ่อนช้อยตามวัฒนธรรมแบบโมกุล
Naubat Khana สถานที่บรรเลงดนตรีขับกล่อมในวัง 
หินทรายสีแดงนำมาแกะสลักนูนต่ำอย่างบรรจง 

                เดินตามทางเดินข้ามสนามหญ้ามาอีกก็จะพบกับ Diwan-i-am อ่านออกเสียงว่า ดิวัน-อิ-อัม  ซึ่งบริเวณนี้จัดเป็นท้องพระโรง (Hall of Public Audience) ไว้ให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาติดต่อร้องทุกข์ ซึ่งอาคารนี้จะโดดเด่นด้วยซุ้มโค้งหยักที่เป็นเอกลักษณ์ของศิลปะโมกุล และภายในมีบัลลังก์หินอ่อนที่งดงามมากแกะสลักลวดลายแบบอ่อนช้อย เป็นบัลลังก์ที่ใช้ในการตัดสินว่าความคดีต่างๆ และไว้ชมดนตรีจากอาคารข้างหน้า
ดิวัน-อิ-อัม (Diwan-i-am) ศาลาร้องทุกข์ของประชาชน

บัลลังก์หินอ่อนว่าราชการ และสถาปัตยกรรมซุ้มประตูแบบโค้ง

ความงามของซุ้มประตูเมื่อมองลอดผ่านเลนส์ไป

            จากดิวัน-อิ-อัม ให้เดินตรงเข้าไปอีกจะเป็นสามแยกซ้าย-ขวา ทางขงามือจะเป็นพิพิธภัณฑ์ของมุมตัซ มาฮาล (Mumtaz Mahal Museum) จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้บางส่วนของราชวงศ์ ซึ่งเดิมเคยเป็นตำหนักประทับของพระมเหสีมุมตัซ มาฮาลของจักรพรรดิ ชาห์จาฮัน  ส่วนฝั่งด้านซ้ายมือคือตำหนัก รัง มาฮาล (Rang Mahal) แปลได้ตรงตัวคือตำหนักแห่งสีสัน มีการตกแต่งประดับประดาด้วยกระจกสีและกระเบื้องโมเสกต่างๆที่ผนังและเพดาน แต่น่าเสียดายที่ปัจจุบันทรุดโทรมลงไปมาก ทั้งที่เคยเป็นที่ประทับของมเหสี
จากดิวันอิอัม เมื่อเดินเข้าส่วนชั้นในจะต้องผ่านสวน 
พระตำหนัก Rang Mahal

การตกแต่งกระจกสีภายในตำหนักทรุดโทรมไปตามกาลเวลา

Khas-Mahal & Rang-Mahal

         ถัดจากตำหนักรังมาฮาล ก็จะเป็นตำหนักคาสมาฮาล (Khas-Mahal) เป็นห้องบรรทมของจักรพรรดิ มีระเบียงสวยๆไว้ชมวิวแม่น้ำ ติดกับตำหนักคาสมาฮาลจะเป็นดิวันอิกัส (Diwan-i-khas) เป็นท้องพระโรงสำหรับเข้าเฝ้าส่วนพระองค์ ใช้ต้อนรับแขกบ้านแขกเมือง สร้างจากหินอ่อนทั้งหลัง โดดเด่นด้วยศิลปะการฝังหินสีลงบนเนื้อหินอ่อนที่เรียกว่า Pietra Dura  และเพดานก็ยังสลักเสลาอย่างงดงาม เน้นภาพเป็นลายดอกไม้บนพื้นสีขาว น่าเสียดายที่บัลลังก์นกยูงที่ใช้ว่าการได้ถูกกษัตริย์เปอร์เซียยกกลับประเทศไปเมื่อทำศึกสงครามชนะกรุงเดลี ซึ่งปัจจุบันบัลลังก์นี้อยู่ในประเทศอิหร่าน ความงามของดิวันอิกัสงดงามจนถึงขนาดที่มีบทประพันธ์กล่าวถึงซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า “ If there is a paradise on earth. It is this. It is this. It is this.”
ตำหนัก Khas Mahal

มุมอีกด้านหนึ่งของตำหนัก Khas Mahal

ตำหนัก Diwan-i-khas 
นี่แหละงานฝังหินสีลงบนหินอ่อนที่เค่าเรียกว่า "พิเอทร่า ดูร่า" (Pietra Dura) 

หินอ่อนฉลุงดงามขนาดที่นักเรียนอินเดียเองยังต้องมาชม

      Royal Hamman อยู่ตอนเหนือของตำหนักดิวันอิกัส เป็นสระน้ำแบบตุรกีลักษณะเป็นโรงอาบน้ำแบบโบราณสร้างด้วยหินอ่อนทั้งหลังและปิดทึบ ตรงกลางห้องมีน้ำพุ จัดแต่งเป็นห้องซาวน่าและมุมแต่งตัว สมัยโบราณจะนำกลีบกุหลาบมาโรยเพื่อให้กลิ่นหอมฟุ้งไปทั้งโรงอาบน้ำ
โรงอาบน้ำแบบตุรกี 
                มัสยิดโมติ (Moti Masjid) สร้างโดยกษัตริย์ออรังเซบ (Aurangzeb) ไว้เป็นที่สวดมนต์โดยเฉพาะของพระองค์เอง แต่มัสยิดที่นี่ไม่เปิดให้คนทั่วไปเข้าชมนะ
มัสยิดโมติอยู่ทางซ้ายของภาพเป็นมัสยิดเล็กๆ

                Shahi Burj เป็นห้องทำงานส่วนตัวของจักรพรรดิ ชาห์จาฮาน ปัจจุบันปิดไม่ให้เข้าชม อยู่ตอนเหนือสุดของอาณาจักรป้อมแดงซึ่งอยู่ติดกับแม่น้ำ
Shahi Burj กั้นไม่ให้คนทั่วไปเข้าชม 
Pavillion ตั้งอยู่ปลายสุดของสวน

                และพลาดไม่ได้กับสวนสไตล์โมกุลแบบสี่เหลี่ยมที่เชื่อมตรงกลางระหว่างทุกตำหนัก น่าเสียดายที่มันดูแห้งแล้งเกินไป ไม่มีน้ำในสระ และสระตรงกลางก็เป็นที่ตั้งของ Zafar Mahal ตำหนักย่อส่วนขนาดเล็กที่เราเองก็ไม่ทราบว่าสร้างขึ้นเพื่ออะไร รู้แต่ว่าเป็นมุมถ่ายรูปที่น่าจะดูดีที่สุดแล้วภายในอุทยานป้อมแดงนี้ เด็กนักเรียนชาวอินเดียเริ่มทนไม่ได้ที่เห็นเรายกกล้องถ่ายโน่นนี่นั่นตลอด สุดท้ายก็มาขอเข้าเฟรมด้วยและแปลกใจที่เห็นเราแบกเป้เที่ยวคนเดียว
Zafar Mahal กลางสระน้ำที่แห้งสนิท 
สวนสวยสไตล์โมกุลที่ดูแห้งแล้งเหลือเกิน 
ขอถ่ายรูปกับแฟนคลับชาวอินเดียก่อนนะ 
ต้องนี่สิเฮนน่าอินเดียของแท้

ตอนต่อไปพาชมมัสยิดจามาและพาเที่ยวตลาดย่านปาหะกันจ์ ก่อนขึ้นรถไฟไปเมืองจัยปูร์








ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น