วันอังคารที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2555

บินเดี่ยวเที่ยวอินเดีย ตอนที่4 แบกเป้เที่ยวมัสยิดจามาและชมตลาดย่านเมนบาซ่าร์ ก่อนนั่งรถไฟไปเมืองจัยปูร์ (Masjid Jama & Shopping at Main Bazar)

             หลังจากที่เต็มอิ่มกับอุทยานประวัติศาสตร์ป้อมแดงแล้ว นักแบกเป้ขอเดินทางต่อไปชมยังละแวกใกล้เคียงหน่อย แบกเป้เที่ยวอินเดียคราวนี้เดินชิวๆมาก เพราะไม่มีใครมาคอยเร่งเวลา จะมีก็แต่ตารางรถไฟที่จองไว้แล้วเท่านั้น  เป้าหมายของเราคือมัสยิดจามา (Jama Masjid) ที่อยู่ห่างจากป้อมแดงไปราว 1 กิโลเมตร แต่เราขี้เกียจเดินเสียเหลือเกิน ขอนั่งรถสามล้อถีบเป็นพระยาน้อยชมตลาดบ้าง
ภาพสุดท้ายก่อนอำลา Red Fort ป้อมแดงแห่งกรุงเดลลี 

เดินไปตามถนนเลียบกำแพงป้อมเพื่อนั่งสามล้อถีบ

        รถสามล้อถีบก็เรียกจากหน้าตลาด Chandni Chowk (อ่านว่า ชานด์นี่ ชอว์ก) นั่นแหละ ตกลงราคากันที่ 20 รูปี แต่แล้วก็นั่นแหละ ของถูกไม่มีดีของฟรีไม่มีในโลกใช้ได้เสมอ เมื่อสารถีเริ่มเจรจาจะพาชมตลาดโดยที่ไม่ต้องเดินในเขตเมืองเก่าในเวลาชั่วโมงครึ่ง เราปฏิเสธไม่เอา ตลาดที่นี่ใหญ่และคนแน่นมาก ขายเสื้อผ้าข้าวของเครื่องใช้นานาชนิดและเสี่ยงต่อการถูกล้วงกระเป๋า แกรั้นจะเลี้ยวรถไปทางอื่นทั้งที่มัสยิดตั้งตระหง่านอยู่ด้านหน้า เราหัวเสียรีบกระโดดลงจากรถแล้วยื่นเงินให้เลย 20รูปี ให้มันจบๆไป
Meena Bazaar ตลาดหน้ามัสยิดจามา ที่เกิดเหตุ

           เสียงด่าทอดังลั่นไล่หลังมา แต่เราหูหนวกไปชั่วขณะแล้วไม่สนใจ ขอเดินเท้าต่อไปด้วยตนเองดีกว่า ระหว่างทางไปมัสยิด เราจะเดินผ่านตลาดนัดแห่งหนึ่งมีชื่อว่า มีนาบาซ่าร์ (Meena Bazar) เป็นตลาดนัดราคาถูกขายของไม่ค่อยมีคุณภาพเท่าไหร่ ท้องก็เริ่มหิวแลเห็นเพิงขายข้าวหมกแพะอยู่ด้านข้าง แต่ก็ไม่กล้ารับประทานทั้งที่ผู้คนนั่งทานกันเต็มก็เพราะเขาปรุงไว้นานแล้วน่ะสิ
Jama Masjid ในช่วงเที่ยงวันศุกร์ที่ผู้คนมาละหมาดใหญ่กัน

       มัสยิดจามา (Jama Masjid)เป็นมัสยิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในอินเดีย ตั้งอยู่บนเนินเขาเล็กๆที่ต้องเดินก้าวขึ้นบันไดไป สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1644 ในสมัยจักรพรรดิชาห์จาฮาน ตัวอาคารสร้างจากหินทรายสีแดงสลับกับหินอ่อน มีประตูเข้าออกถึง3ประตูด้วยกัน มัสยิดนี้สามารถจุคนได้ถึง 25,000 คน น่าเสียดายที่เป็นวันศุกร์มีการละหมาดใหญ่ คนนอกศาสนาอย่างเราจึงไม่สามารถเข้าชมได้ โดยมัสยิดจะเปิดสำหรับบุคคลทั่วไปอีกครั้งในเวลา 13.45 น.
ด้านทิศตะวันออกของมัสยิดจามาที่ใหญ่ที่สุดในอินเดีย 
ได้แต่มองตาปริบๆ แล้วถ่ายภาพยลตามช่องจากคนนอกศาสนา

         ผิดหวังจากมัสยิดจามา เราแบกเป้เที่ยวเดลีกันต่อ คราวนี้เราเดินผ่านย่านตลาด เชาวรีบาซ่าร์ (Chowri Bazaar) เป็นตลาดขายเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องสุขภัณฑ์ตลอดทั้งสาย เพื่อที่จะเดินไปลงรถไฟใต้ดินกลับไปย่านพาหะกันจ์ ถนนเส้นนี้จอแจน้อยที่สุดไม่นานเราก็ถึงทางเข้ารถใต้ดิน สียค่าตั๋วเพียง 8 รูปี เพียงสถานีเดียวก็ไปโผล่ที่สถานีรถไฟนิวเดลีแล้ว
Chwri Bazaar ตลาดขายเครื่องมือช่างและเครื่องใช้ไฟฟ้า 
เป็นตลาดที่ผู้คนไม่ค่อยจอแจไม่เบียดเสียด 
มะละกอลูกโตๆขายริมทาง

     เรากลับมาทานมื้อเที่ยงในยามบ่ายในย่านปาหะกันจ์ ตรงข้ามกับสถานีรถไฟ ลองทานอาหารอินเดียตอนใต้ดูบ้าง (South Indian) คราวนี้เราลองสั่ง ปาเนียร์ โดซ่า (Paneer Dosa) หรือเครปใส้ชีสสไตล์อินเดียมาทานในราคา 85 รูปี ทานร่วมกันกับชานมร้อน หรือ จัย (Chai)
ขนมเครปอินเดียหรือ โดซ่า (Dosa) กับชานมร้อน

แต่เท่านั้นเราก็ยังไม่อิ่มขอเบิ้ลต่อ ขอพาทุกท่านมาชิมขนมหวานอินเดียกันบ้าง ในอินเดียนั้น ร้านขนมหวานเขาก็จะขายแต่ขนมหวานกันอย่างเดียวไม่มีของคาว วิธีการขายจะชั่งเป็นกิโล แต่เราก็ไม่จำเป็นต้องบ้าจี้สั่งมาเป็นกิโลหรอกนะ เป็นขีดๆ เค้าก็ขาย ขอให้สั่งเขาว่า 100 หรือ 200 กรัมก็พอเข้าใจ ขนมบางชนิดที่ราคาแพงเขาก็จะขายเป็นชิ้นไม่ขายเป็นกิโล
แผงขายขนมแบบชั่งเป็นกิโล แบ่งขายเป็นกรัมเขาก็ขายนะ 
ผู้เขียนชอบมากซื้อติดไม้ติดมือเป็นประจำกันท้องว่าง

                สำหรับนักชิมมือใหม่ที่อยากหัดทานขนมหวานอินเดีย เราไม่แนะนำให้ท่านซื้อเยอะ เพราะรสชาติขนมแต่ละชนิดนั้นหวานแสบไส้มากๆ และมีกลิ่นนมเนยค่อนข้างมาก ส่วนผสมของขนมหวานส่วนใหญ่จะทำมาจาก แป้งสาลี นมแพะ ถั่วและเนย ซึ่งให้พลังงานสูงมาก เราเลยขอซื้อขนมติดตัวนิดหน่อยสัก อย่างละ 100กรัมไว้ทานแก้หิวบนรถไฟที่จะนั่งไปเมืองจัยปูร์ที่ยาวนานถึง 5ชั่วโมงก็แล้วกัน
สามหนุ่มพ่อค้าขนมหวาน

              ซื้อขนมหวานเสร็จ เวลายังเหลือ ขอพาทุกท่านชมถนนคนเดิน (Main Bazaar) หรือถนนข้าวสารแห่งย่านปาหะกันจ์ต่อ ตอนบ่ายที่นี่ดูมีชีวิตชีวากว่าตอนเช้ามากๆ ร้านรวงเปิดกันให้เต็มพรืดขายของในราคานักท่องเที่ยวมิใช่ราคาคนพื้นเมือง ขอแนะให้เดินช้อปแบบผ่านๆ เพราะยังมีที่ช้อปปิ้งให้ชมอีกหลายเมืองครับ สินค้าที่มีขายในถนนเส้นนี้ก็ได้แก่ เสื้อผ้า เครื่องประดับเงิน กระเป๋าปัก ของที่ระลึกต่างๆ แนะให้ต่อรองราคาเยอะๆ แบบไม่ต้องเกรงใจพ่อค้าเลย เพราะราคาสุดท้ายที่คุณตัดสินใจไม่เอานั่นแหละ เมื่อคุณเดินจากไปแล้วเขาจะรีบตะโกนบอกราคาใหม่ที่คุณพอใจ
ถนนคนเดินย่าน Main Bazaar Pahrganj 
เสื้อผ้าสไตล์อินเดียสีสันฉูดฉาดมีให้ชมทั่วไป

พาหนะขนส่งแบบท้องถิ่นภายในตลาด 

ส่วนอันนี้เป็นพาหนะรุ่นล่าสุดของเมืองนี้

               จากถนนคนเดินเมนบาซ่าร์ เรากลับมายังที่พักเพื่อแบกเป้เที่ยวจัยปูร์กันต่อ โดยไม่ลืมที่ฝากกระเป๋าใหญ่ไว้เป็นหลักประกันว่าเราจะกลับมาพักอีกในคืนวันที่  5  เราสามารถลงรถใต้ดินที่สถานีนิวเดลีไปยังสถานีชานด์นีชอว์ก เพื่อไปขึ้นรถไฟไปเมืองจัยปูร์  (Jaipur) ที่สถานีรถไฟโอลด์เดลลี (Old Dehli) ค่าโดยสารประมาณ 8 รูปี เราเพลิดเพลินกับการถ่ายรูปที่หน้าสถานีรถไฟจนเมื่อเบนกล้องมายังอาคารผู้โดยสารนั่นแหละ เราถึงถูกเจ้าหน้าที่ด่าว่าห้ามถ่ายรูป แหะ แหะ ลืมไปเลยว่าห้ามถ่ายรูปรถไฟ และสถานีทุกแห่ง
หน้าโรงแรมที่เราพัก กลางวันกลายสภาพเป็นหน้าร้านขายของ

รถเมล์ พาหนะหลักในการเดินทางในกรุงเดลลี 
ห้องสมุดประชาชนเดลลี หน้าสถานีรถไฟ Old Dehli

      บรรยากาศที่สถานีรถไฟหากใครไม่แข็งแรงพอขอให้นำผ้าปิดจมูกมาด้วย เพราะทั้งฝุ่นและกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ที่ลอยมาเตจมูกเป็นระยะๆ รถไฟไปเมืองจัยปูร์เข้าเทียบชานชาลาที่ 3 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คนแน่นมากๆ ดีที่เราซื้อตั๋วชั้นสองไว้เป็น Sleeper Class เป็นตู้นอนแบบไม่มีแอร์ ซึ่งมี 6ที่นั่งหันหน้าเข้าหากัน ยามกลางคืนจะปรับเลื่อนเป็นเตียงนอนได้3เตียง สองแถว น่าเสียดายที่ถ่ายรูปมาให้ชมไม่ได้
รูปสุดท้ายที่ถ่ายหน้าสถานีรถไฟ Old Dehli

            รถไฟออกตรงเวลาบ่ายสามครึ่งเป๊ะ วิ่งผ่านไปตามย่านสลัมใจกลางกรุงเดลลีจนกระทั่งออกมาชนบท ทิวทัศน์จึงน่าดูขึ้น เพื่อนร่วมทางของเรามีชาวอินเดีย 2 คน ชาวฮอลแลนด์2คน และชาวสุรินัม1คน เต็มที่นั่งพอดี แต่ละคนเดินทางไปยังต่างเมืองกัน เราลงก่อนเขาที่เมืองจัยปูร์ ประมาณ 2ทุ่มครึ่ง ระหว่างทางจะมีพ่อค้าเดินเร่ขายของกินตลอดทาง แต่เรามีเสบียงขนมหวานอินเดียติดตัวมาแล้วพร้อมด้วยส้มจี๊ดจากเมืองไทย  เราไม่ลืมที่จะแบ่งปันเพื่อนร่วมทาง แล้วพวกเขาก็แบ่งปันบิสกิตจากฮอลแลนด์ และผลไม้ให้เราได้ชิมเช่นกัน พวกเขาต่างทึ่งกับส้มขนาดมินิ เพราะไม่เคยเห็นกันมาก่อนพร้อมกับชมว่าอร่อยเหลือร้าย
                เวลาผ่านไป 5 ชั่วโมงรวดเร็วมาก เรานั่งหลับๆตื่นๆ หากคิดจะลุกไปเข้าห้องน้ำขอให้นำของมีค่าติดตัวไปด้วย ถ้าคิดจะนอนหลับยาวก็จงล่ามโซ่กับกระเป๋าไว้ด้วย เพราะที่อินเดียมีชื่อเสียงในด้านลักกระเป๋ามากๆ รถไฟถึงเมืองจัยปูร์ตรงตามกำหนดเวลาพอดี เรารีบเดินแหวกจากกลุ่มรถรับจ้างที่พยายามจะเดินตามตื๊อให้จงได้  เราเดินไปทานมื้อดึกที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งใต้ถุนโรงแรมที่อยู่ครงข้ามกับสถานีรถไฟ สั่งแกงมะเขือเทศทานกับจาปาตี (Tomato Chadney)และโยเกิร์ตอีก1ถ้วย ทั้งชุดราคา 72 รูปี เป็นอาหารมื้อหนักก่อนออกเดินหาที่พักต่อ
มื้อเย็นแบบจัดเต็มแถมด้วยโยเกิร์ตช่วยย่อย 
ตบท้ายด้วยเครื่องเทศช่วยดับกลิ่นปาก

            เราเดินออกจากร้านเลียบทางรถไฟไปแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนใหญ่ไปจนถึงห้าแยกขนาดใหญ่  ระยะทางไม่น่าจะต่ำกว่ากิโล เพื่อไปยังถนน เอ็ม ไอ (
MI Road
)
ซึ่งถนนย่านนี้จะเป็นย่านที่พักที่ค่อนข้างหรูหราและราคาแพง มีภัตตาคารขึ้นชื่อมากมาย เราหวังว่าจะมีเกสต์เฮ้าส์สักแห่งในย่านนี้ แล้วเราก็เดินไปเจอกับโรงแรมแห่งหนึ่งเป็นห้องแอร์ราคาอยู่ที่ 1100 รูปี เราจะนอนที่นี่2คืน เลยถามเขาว่าพอมีเกสต์เฮ้าส์ที่รคาถูกกว่านี้หรือไม่
ถนนย่าน M.I. Road ยามค่ำคืนเมืองจัยปูร์

เขาแนะนำให้เลี้ยวเข้าซอยข้างๆ เลยได้มาเจอกับ Cocoon Guesthouse เป็นห้องแถวแคบๆเล็ก ด้านล่างให้เช่าเป็นร้านค้า ชั้นบนเป็นห้องพักจำนวน 12ห้อง และมีภัตตาคารอยู่บนดาดฟ้า สนนราคาห้องพักคืนละ 300 รูปี เป็นห้องพักเดี่ยวมีห้องน้ำในตัวไม่มีแอร์ แต่มีน้ำอุ่น อีกทั้งเตียงสะอาดมาก เราตอบตกลงพัก2คืนทันที ประหยัดค่าห้องไปได้อีกเยอะ เหนื่อยนักก็พักผ่อนซะแล้วมาตะลุยเมืองจัยปูร์กันต่อในวันรุ่งขึ้น
ที่พักแม้ทางเข้าโทรม แต่ห้องพักสะอาดและคนพักเกือบเต็ม

ที่อยู่ของ Cocoon Guesthouse : Oneza Complex, Chameli Market,
Opp. G.P.O. M.I. Road
, Jaipur 302.001 India Tel: +91-141-2216964
 E-Mail: info@the-cocoon.com  http://www.the-cocoon.com/  












ตอนต่อไปจะพาทุกท่านชมนครสีชมพูที่สวยงามแห่งเมืองจัยปูร์ทั้งวัน

1 ความคิดเห็น:

  1. นึกว่าใครซะอีก..คนใกล้ตัว^^
    พี่มาเดลี ห้าวันยังไม่ได้ไปไหนเลย
    พอจะไปก็โดนแขกที่นี่ห้ามสารพัด เซ็งเบย
    ไว้จะมาหาข้อมูลใหม่นะจ๊ะ

    ตอบลบ