วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ครั้งแรกกับการแบกเป้เที่ยวอินโดนีเซีย ตอนที่4 Carolina Hotel และชมวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของหมู่บ้าน Batak

            อากาศยามค่ำคืนเย็นสบายเสียจนไม่อยากลุกออกจากที่นอนเลย  และไม่อยากอาบน้ำด้วย เพิ่งรู้ว่ามาเที่ยวอินโดนีเซียครั้งแรกทำไมเราถึงต้องเจออากาศหนาวในเดือนเมษาด้วย ก็เพราะว่าเราอยู่บนที่สูงน่ะสิ เดือนเมษายนถึงได้หนาวจับจิตได้  พวกเราไปทานอาหารเช้าของโรงแรมซึ่งรวมอยู่กับค่าที่พัก ที่นั่นมีให้เลือกสองอย่างคือแบบอเมริกันและแบบอาหารพื้นเมืองอินโดนีเซีย  เพื่อนเราส่วนใหญ่สั่งอาหารเช้าแบบอเมริกัน แน่นอนล่ะมันต้องมาเป็นชุดขนมปังไข่ดาว แต่ที่น่าแปลกคือมีผลไม้มาให้ด้วย ซึ่งผลไม้ของเค้าจะหั่นใส่จานมาแล้วโรยด้วยมะพร้าวขูด ผงโกโก้และก็นมข้นหวานครับ ทำให้เพื่อนเราหลายคนไม่กล้าทานกลัวว่ามันจะไปรวมกันอยู่ในท้อง ส่วนชุดของเราเป็นข้าวผัดไข่ดาว (Nasi Goreng) ทานคู่กับข้าวเกรียบและชาร้อน บริกรที่นี่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้เป็นอย่างดีไม่ต้องลุ้นเสียให้เมื่อยว่าจะพูดได้หรือไม่
 Carolina Hotel มีท่าน้ำให้ลงไปเล่นน้ำ
 ห้องพักที่พวกเรานอนกันเมื่อคืนอยู่ชั้นบน ชั้นล่างจะเป็นอีกห้องหนึ่งไม่เกี่ยวกัน
 บรรยากาศของ Lake Toba ยามเช้าตรู่
 อาหารเช้าแบบอเมริกันจัดเป็นชุดมาตรฐาน
 Nasi Goreng ชุดข้าวผัดสไตล์อินโดนีเซีย
 ชาร้อนไว้ทานกับข้าวผัดมันๆ จะช่วยลดความเลี่ยนของอาหาร
ผลไม้สไตล์อินโดฯ จัดใส่จาน ทรงเครื่องเสียจนเพื่อนเราไม่กล้ารับประทาน

                แสงแรกแห่งวันนี้เริ่มสาดมา พวกเราต้องรีบทำเวลาถ่ายรูปบริเวณโรงแรมให้หนำใจก่อนที่จะออกเดินทางกันต่อ เป็นที่น่าเสียดายยิ่งนักเพราะโรงแรมนี้สร้างกระดานกระโดดน้ำและสร้างท่าน้ำให้ลงไปเล่นน้ำจืดด้วย เห็นแบบนี้แล้วถ้ามาคราวหน้าคงขอพักต่ออีกสักคืนเป็นแน่  น้ำในทะเลสาบโทบา (Lake Toba) ใสจนน่าแหวกว่ายมากๆ แต่เวลาก็ไม่เคยรอคอยใคร ไกด์มารอพร้อมรถตู้อยู่ด้านหน้าโรงแรมแล้ว พวกเราจึงต้องรีบเก็บกระเป๋าแล้วออกไปจากที่นี่ เพราะจุดต่อไปไกด์จะพาพวกเราไปยังหมู่บ้านจำลองวิถีชีวิตของชาวบาตัก (Batak House)

เราทุกคนอยากโดดน้ำเล่นแต่ก็ทำไม่ได้
ห้องพักแบบบ้านทั้งหลัง สนนราคาจะแพงกว่าแบบห้องเดียว
นี่แหละจุดกระโดดน้ำของโรงแรม
ประตูหน้าห้องตกแต่งสไตล์ Tobanese
                โรงแรมที่เราพักเป็นแหลมติ่งส่วนหนึ่งที่ยื่นออกมาจากเกาะ ซึ่งภาษาพื้นเมืองเค้าเรียกว่า ตุ๊ก ต๊ก (Tuk Tuk) และบริเวณตุ๊กตุ๊กนี่แหละมีโรงแรมไว้บริการนักท่องเที่ยวเยอะมาก คาดว่าวันหยุดคนมาพักน่าจะเยอะกว่านี้ พวกเรามาวันธรรมดาร้างเชียว รถตู้พาวิ่งผ่านรีสอร์ตริมทะเลสาบลัดเลาะขึ้นเขาไปเรื่อยๆ จนมาหยุดที่เนินเขาแห่งหนึ่ง สะดุดตาด้วยสิ่งปลูกสร้างคล้ายสถูปสี่เหลี่ยมสีเหลือง ด้านบนมีรูปปั้นคล้ายนักรบตั้งอยู่ตามฐานแต่ละชั้น เมื่อเราหันไปถามไกด์เค้าจึงอธิบายว่านี่คือ Stupa นั่นแหละคือสถูปสำหรับกษัตริย์นั่นแหละถูกแล้ว
 Raja Siallagan Stupa
 บริเวณทางเข้า Stone Chair of King Siallagan
สถูปอันเป็นที่เคารพสักการะของอดีตกษัตริย์ผู้ปกครองชาวโทบา
                หมู่บ้านนี้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า “Stone Chair of King Siallagan” ภายในจะมีทั้งบ้านกษัตริย์โบราณ ลานประชุม ลานพิพากษา และลานประหาร ซึ่งลานต่างๆจะทำมาจากหินภูเขาไฟ ลานพิพากษาจะมีชื่อเรียกว่า “Siallagan Ambarita”ทางเข้าหมู่บ้านมีรูปสลักเป็นคนหน้าตาน่ากลัว ภายในจะมีบ้านโบราณสไตล์บาตักปลูกเรียงกันเป็นแถวๆหลายหลัง    บ้านทุกหลังจะมีบันไดทางขึ้นตรงกลาง ชั้นใต้ถุนจะไว้เลี้ยงสัตว์และเก็บพืชผลทางการเกษตร ที่หมู่บ้านนี้จะมีไกด์ท้องถิ่นคอยอธิบายด้วย ก่อนขึ้นบ้านทุกคนจะต้องกล่าวคำว่า “ Horas” อ่านว่า โฮร่า จะต้องเปล่งเสียงคำนี้ดังๆ3ครั้ง เพื่อทำความเคารพ ถ้าอยากรู้ว่าบ้านหลังใดมีภรรยากี่คนก็ให้สังเกตที่จำนวนเต้านมที่แกะสลักจากไม้ที่อยู่หน้าบ้าน ยิ่งมีมากเท่าไรย่อมแสดงถึงฐานะที่มั่งคั่งเท่านั้น  ว่ากันว่าบ้านบางหลังมีเมียถึง12 คน ลูกเป็นร้อย โอ้แม่เจ้า แล้วจะเลี้ยงดูกันอย่างไรไหว ไกด์อธิบายว่าแต่ก่อนถ้าบ้านใครมีลูกมากก็ยิ่งดี เพราะจะได้มีแรงงานไว้ใช้ในการเกษตร ไม่ต้องจ้างผู้อื่น
 ปากทางเข้าหมู่บ้านมีหินแกะสลักรูปคนแลน่าเกรงขาม
 Tomok Village of Raja Siallagan
 ไกด์อธิบายรายละเอียดก่อนขึ้นบ้าน โปรดสังเกตุว่าบ้านนี้มีเต้านม4คู่
 Tomok Village
ซ้ายมือคือคนขับรถนำเที่ยวและเป็นไกด์ในตัวด้วย
                ไกด์ท้องถิ่นนำทางพวกเราขึ้นด้านบน ซึ่งบนบ้านจะมีครัวและส่วนรับประทานอาหารอยู่กลางบ้าน ที่นอนน่ะเหรอเค้าก็นอนรวมกันอยู่รอบๆครัว กระจายกันทั่วห้องนั่นแหละ แทบจะไม่มีพื้นที่ส่วนตัวเพราะมีลูกกันมาก บางมุมของบ้านก็ตั้งกี่ไว้ทอผ้าพื้นเมืองและทำงานหัตถกรรมจักสาน บางหลังหน้าบ้านก็มีสัญลักษณ์ตัวตุ๊กแกติดอยู่หน้าบ้าน ซึ่งตามความเชื่อของชาวบาตักนั้น ตุ๊กแกเป็นสัตว์นำโชคนะครับมิใช่สัตว์อัปมงคลแบบที่พวกเราเข้าใจกัน
 ครัวทุกหลังจะตั้งอยู่กลางบ้าน เพราะต้องทานพร้อมกันทั้งครอบครัว
 แต่ก่อนวัสดุมุงหลังคาจะเป็นหญ้าแห้งมัดเป็นตับ แต่ปัจจุบันใช้สังกะสี
 งานหัตถกรรมแกะสลักหน้ากากอันขึ้นชื่อของที่นี่
ผ้าทอของชุมชนที่นี่ลายจะคล้ายคลึงกับลายไทย
            ไกด์พาพวกเรามายังลานพิพากษา(Ambarita)  ซึ่งทำมาจากหินศิลาล้วนๆ อายุมากกว่า 200ปี ลักษณะเป็นโต๊ะกลมตั้งอยู่ใต้ต้นไทร เก้าอี้มีตะไคร่จับจนเขียวครึ้ม บริเวณนี้เป็นที่ตัดสินคดีความต่างๆของบ้านเมืองซึ่งกษัตริย์เท่านั้นที่จะมีสิทธิ์ในการชี้เป็นหรือชี้ตาย ถ้าชี้เป็นติดกับลานพิพากษามีคุกไว้จองจำผู้กระทำผิด แต่ถ้าชี้ตายถัดจากลานพิพากษาไปอีกหน่อยจะเป็นลานประหารครับ
 บริเวณลานพิพากษา (Ambarita)
แบบจำลองการจำคุกในสมัยก่อน
       ลานประหารนี่แหละไกด์เค้าอธิบายทุกขั้นตอนของการปะหารพร้อมกับสาธิตท่าทางอย่างละเอียดจนพวกเราเห็นภาพน่ากลัวเลยล่ะ โดยเริ่มตั้งแต่นำนักโทษประหารจับมานุ่งโสร่งสั้นผืนเดียว แล้วนอนบนลานทรมานจากนั้นเค้าก็จะค่อยๆนำมีดมาเฉือนมือ เท้าทิ้ง บ้างถูกกรีดเอาอวัยวะภายในออกมากองไว้บนโต๊ะวงกลมตรงกลาง หรืออีกกรณีหนึ่งคือนำนักโทษไปเข้าเครื่องประหารหัวมังกร เอาคอพาดหินแล้วใช้เพชฌฆาตฟันคอขาดโชะ ท่ามกลางความน่าสะอิดสะเอียนเพราะพวกเรานึกภาพตาม แต่ไม่ยักจะมีคราบเลือดตามโต๊ะเก้าอี้ สงสัยว่าจะถูกน้ำฝนชะล้างไปหมดแล้ว แต่ความจริงที่โหดร้ายไปกว่านั้นคือ กษัตริย์ที่นี่เมื่อประหารนักโทษแล้วเสร็จ จะต้องกินหัวใจสดๆ ของผู้วายชนม์และนำเนื้อและชิ้นส่วนอื่นๆ มาประกอบอาหารให้ทานกันทั้งหมู่บ้าน
 ถึงแล้วแดนประหาร
 ไกด์สาธิตด้วยการไปนอนบนแท่นทรมาน
 เพชฌฆาตเสื้อแดงลงมือสับคอนักโทษแล้ว
 โต๊ะกลมนี้มีไว้วางอวัยวะภายในของนักโทษ
ปฏิทิณแบบบาตักโบราณ (Batak Calendar)
                ฟังเรื่องสะอิดสะเอียนเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้วก็มีคณะทัวร์จีนกลุ่มใหญ่มาลงแล้วก็ส่งเสียงดังมาก พวกเขาต่างเข้ามาจับจองพื้นที่บริเวณลานพิพากษา หลังจากที่ไกด์ท้องถิ่นบรรยายเสร็จเขาก็ได้ขอค่าทิปไกด์ด้วยเป็นเงินจำนวนหนึ่งแต่ก็ไม่มากเกินไป พวกเราเลยต้องไปดูสินค้าพื้นเมืองที่ระลึกในร้านขายของที่มีแต่คนขายแต่ไม่มีคนเดิน คนขายพูดแต่ภาษาอินโดนีเซียอีกแล้ว ของที่ระลึกที่จำหน่ายจะคล้ายกันไปหมด มีทั้งปฏิทิณแบบบาตัก (Batak Calendar) ไม้แกะสลัก ผ้าปัก ผ้าทอ กระเป๋าปักแบบพื้นเมือง ฯลฯ แต่สนนราคาไม่ถูกเลยสักนิด พวกเราเมินไม่มีใครซื้อของสักคนเลยเดินไปขึ้นรถตู้ที่จอดรออยู่บริเวณหน้าสถูป

ร้านขายของที่ระลึก ที่เห็นห้อยแขวนนั่นคือBatak Calendar

ตอนต่อไป พาข้ามเรือกลับสู่ฝั่ง Parapat ชวนชิมอาหารกลางวันและชิมชาตอนบ่าย ตบท้ายด้วยบ้านที่ยาวที่สุดในโลก

 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น