วันจันทร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ครั้งแรกกับการแบกเป้เที่ยวอินโดนีเซีย ตอนที่ 5 ชมตลาด Tomok Pier ริมน้ำ ข้ามฝั่งกลับParapat ชวนชิมอาหารอินโดนีเซียและจิบน้ำชายามบ่าย

                แพคเกจทัวร์ท่องเที่ยวทั่วโลกคล้ายคลึงกันหมด เพื่อเป็นการกระจายรายได้สู่ชุมชนนั้นๆ ไกด์จึงได้พาคณะเราแวะช็อปปิ้งที่ตลาดท่าเรือโตม็อก (Tomok Pier)อีกครั้งก่อนกลับ ไกด์ให้เวลา1ชั่วโมงกับการช็อปปิ้งของที่ระลึกก่อนที่จะไปลงเรือขากลับเที่ยว10โมงเช้า อากาศเริ่มหายหนาวแสงแดดเริ่มแผดจ้า แต่การค้าขายในตลาดสดริมท่าเรือยังคงดำเนินต่อไปทั้งผักผลไม้สด ปลาสดๆมีมาให้คัดสรร แม่ค้าแต่งกายแบบคนพื้นเมืองมีผ้าโพกศรีษะหลากสีสัน พวกเราเดินไปดูของที่ร้านค้าริมทางซึ่งมีเสื้อผ้าสีสันฉูดฉาดสไตล์อินโดนีเซีย บ้างก็มีการสกรีนหรือปักลงไปที่เนื้อผ้าเป็นที่ระลึกว่า Lake Toba หรือไม่ก็ Samosir Island  ของที่ระลึกก็มีทั้งตุ๊กตารูปคนรูปสัตว์แกะสลักไม้ ปฏิทิณแบบบาตัก ตลับใส่ของ พวงกุญแจที่ระลึกไปจนถึงโปสการ์ดไว้ให้สะสมหรือส่งไปรษณีย์กลับบ้านอย่างที่นักแบกเป้หลายคนชอบส่งกัน พวกเราหลายคนซื้อเสื้อเชิ้ตสไตล์อินโดนีเซียเป็นที่ระลึก และซื้อพวงกุญแจไปเป็นของฝากเพราะเหมาโหลต่อรองราคาได้ดีกว่า ประมาณว่า 10แถม1 พ่อค้าคนนี้ใจดีต่อรองได้ พูดภาษาอังกฤษได้นิดหน่อย นับเป็นความประทับใจเล็กๆ ที่เกิดขึ้นบนเกาะซาโมซีร์แห่งนี้
 ร้านค้าริมทางบริเวณท่าเรือ Tomok
 แม่ค้าชาวมุสลิมนั่งขายปลาน้ำจืดสดๆที่จับได้จากทะเลสาบแห่งนี้
  หลากหลายสินค้ามีจำหน่ายในตลาดสดแห่งนี้

บริเวณร้านค้าขายของที่ระลึกริมทางราคาไม่แพง

                ได้เวลาสิบโมงพวกเราทุกคนต้องลงเรือเพื่อข้ามกลับไปยังฝั่ง Parapat City ใช้เวลาเดินทาง 45นาทีเช่นกัน แต่ความแตกต่างที่เกิดขึ้นในเรือเที่ยวขากลับนี้คือ ได้มีรถเมล์โดยสารท้องถิ่นขึ้นมาด้วย1คัน บนหลังคารถมีสัมภาระมากมาย เด็กรถกำลังจัดระเบียบอยู่ ผู้โดยสารคาดว่าน่าจะเดินทางมาจากที่ไกลๆสักแห่งบนเกาะซาโมซีร์แห่งนี้ พอได้ลงเรือผู้โดยสารต่างก็กรูกันออกมาซื้อข้าวห่อที่มีขายอยู่บนเรือ แกะห่ออกมาแล้วคล้ายกับข้าวมันแกงไก่ คนที่นี่เค้าทานอาหารกันด้วยมือครับเหมือนกับที่อินเดียเลย ทานกันเป็นล่ำเป็นสันน่าจะไม่ได้ทานอะไรเลยตั้งแต่เช้า สักพักเรือก็ออกท่ามกลางแดดจ้า และแล่นถึงฝั่งพาราพัทอย่างปลอดภัยไร้มรสุมไม่น่ากลัวเหมือนกับขามา
 รถโดยสารท้องถิ่นใช้วิ่งบนเกาะซาโมซีร์
 เรือข้ามฟากชนิดแบบลำเล็ก
 เก็บภาพจากบนเรือก่อนที่เรือจะออก  
เด็กรถกำลังสาละวนกับการจัดของบนหลังคารถโดยสาร

ลาแล้วจ้าเกาะซาโมซีร์แล้วพบกันใหม่นะ

         Parapat City ในวันนี้ร้อนมากๆ ไม่เหมือนกับตอนขามาเลยสักนิด คนขับพาขับรถขึ้นเขาไปแวะชม Niagara Hotel ซึ่งเป็นโรงแรมห้าดาวที่พวกทัวร์มักจะมานอนกันที่นี่เพื่อชมวิวเมืองพาราพัททั้งเมืองแต่ไม่มีใครลงจากรถสักคนเพราะแดดจ้ายามใกล้เที่ยงนั่นเอง  ทุกคนเลยลงมติว่าให้คุณไกด์พาไปทานอาหารเที่ยงเลยจะดีกว่าเพราะหิวกันแล้ว เมื่อเปลี่ยนแผนคุณไกด์เลยต้องยกหูโทรไปแจ้งร้านอาหารว่าคณะเราจะมาเยือนแล้ว มื้อกลางวันมื้อนี้เป็นอาหารอินโดนีเซียพื้นเมือง ชื่อร้าน Istana Minang II ร้านตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับมัสยิดใหญ่ประจำเมืองพาราพัทซึ่งหลังคาสร้างจากโลหะแวววาว มัสยิดนี้มีชื่อว่า Masjid Raya Taqwa Parapat มื้อกลางวันชุดนี้จัดเต็มเช่นเคย มีแกงกะหรี่ปลา แกงแพะ แกงขนุน ปลาทอด ไก่ทอด ผัดผัก ใบมันผัด และน้ำพริกสามอย่าง อาหารมื้อนี้รสชาติจัดจ้านอย่าบอกใคร อร่อยกว่ามื้อกลางวันเมื่อวานมาก แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือ ใช้น้ำมันประกอบอาหารเยอะไปหน่อย อาหารแต่ละจานจึงชุ่มไปด้วยน้ำมัน คณะเราก็ซัดกันจนพุงกางจนลืมไปว่าเดี๋ยวรถจะต้องขึ้นเขาลงห้วยไปอีกไกลกว่าจะกลับถึงเมืองเมดาน
 แสงแดดจ้ายามเที่ยงของเมืองพาราพัท
 มัสยิดใหญ่คู่บ้านคู่เมืองพาราพัท
 ร้านอาหารพื้นเมืองอินโดนีเซียที่ขึ้นชื่อของที่นี่
 ตู้โชว์กับข้าวหน้าร้านเห็นปลาราดพริกแล้วสีน่ากลัวมาก
 สำรับกับข้าวอินโดนีเซียมื้อนี้มีชามใส่น้ำไว้สำหรับล้างมือด้วย
แกงกะหรี่ปลาและปลาทอดเลิศรส
            ยามบ่ายรถพาขึ้นเขาวกวนไปตามเส้นทาง เมื่อผ่านจุดชมวิวสวยๆที่เห็นทะเลสาบโทบา พวกเราก็อดไม่ได้ที่จะขอให้คนขับได้จอดแวะเพื่อให้พวกเราได้ถ่ายรูปกัน สองข้างทางเป็นพื้นที่สูงเราจึงพบเห็นการทำเกษตรพืชเมืองหนาวอาทิ อโวคาโด เสาวรส สตรอเบอรี่ ฟักทอง หน่อไม้ฝรั่ง มะเขือเทศ ฯลฯ ไกด์พาพวกเรามาชิมชาขิง (Ginger Tea) แสนอร่อยแก้หนาวที่ Siantar Hotel ที่นี่เป็นโรงแรมบนที่สูงพร้อมห้องอาหารไว้บริการนักท่องเที่ยว ไกด์บอกว่าชาขิงที่นี่รสชาติดีที่สุด พวกเราเลยลองสั่งชาขิงบ้าง กาแฟร้อนบ้างมาทานควบคู่กับกล้วยหอมทอด มันช่างเข้ากันดีเสียนี่กระไร  ทานเสร็จแล้วก็ออกไปถ่ายรูปสวนดอกไม้รอบโรงแรม เสร็จแล้วก็ออกเดินทางกันต่อไปยังบ้านสไตล์บาตักหลังที่ยาวที่สุด
 พวกเราคณะทัวร์ลูกเป็ดทั้งเจ็ดพร้อมแล้วจ้า
 Siantar Hotel Restaurant ชาขิงรสเลิศมีขายที่นี่
การจิบน้ำชายามบ่ายนี่แก้หนาวได้จริงๆ
 โชว์ส่วนประกอบของชาขิงว่าจะต้องใส่อะไรลงไปบ้าง 
กล้วยหอมทอดรสหวานทานแกล้มกับชาขิงได้เป็นอย่างดี

            บรรยากาศเริ่มครึ้มฟ้าครึ้มฝนเมื่อใกล้บ่ายสาม ไกด์ได้พาพวกเรามายังบ้านแบบบาตักหลังที่ยาวที่สุดในโลก มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า Permatang Parmpa เป็นอาณาจักรบาตักที่ใหญ่ที่สุดบนเกาะสุมาตรา อาณาจักรนี้อยู่กันถึง12ครอบครัว มีภรรยา12คน มีลูกด้วยกัน99คน เยอะมากๆ บ้านหลังนี้สร้างแบบเดิมๆยังใช้ใบหญ้ามุงหลังคาอยู่ ไม้ค่อนข้างใหม่ บริเวณทางขึ้นเค้าจะมีเชือกไว้ให้โหนขึ้นด้วย สำหรับคนที่ปีนขึ้นบ้านไม่ไหว บ้านหลังนี้ได้แยกส่วนรับแขกออกจากตัวบ้านอย่างสิ้นเชิง บริเวณครัวยังคงไว้กลางบ้านและนอนกันเป็นตับเช่นเคย แตกต่างกันตรงที่บ้านนี้มีหลายภรรยาเขาจึงทำห้องประกอบกามกิจแยกมาต่างหากอีกห้องหนึ่งในห้องโถงยาวนี้ บ้านหลังนี้ปกครองโดยกษัตริย์ทั้งหมด 14 ท่าน เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ. 1624-1947 ปกครองกันมายาวนานก่อนที่จะหมดสิ้นระบอบนี้ ชื่อของราชวงศ์มีชื่อเรียกว่า Raja Kerajaan Purba  ตำแหน่งกษัตริย์ที่นี่เรียกว่า ตวน (Tuan) โดยใช้คำนี้นำหน้าทั้งหมดทุกคน           บริเวณด้านนอกตัวบ้านหลังยาวมีเรือนรับรองแขกบ้านแขกเมือง ป้อมปราการไว้ป้องกันข้าศึกศัตรู และที่เด็ดกว่าก็คือโรงตำข้าวที่มีไม้เรียงไว้เพื่อตำข้าวเป็นแถวยาว ถ้าเป็นสมัยนี้คงจะเป็นโรงงานอุตสาหกรรมไปแล้ว หน้าที่ของภรรยาคือต้องตำข้าว ดังนั้นเมื่อมีภรรยาเยอะก็เลยจำเป็นต้องมีโรงตำข้าวเยอะด้วย เค้าเรียกว่ามีภรรยาและลูกทั้งทีก็เหมือนมีแรงงานไว้ใช้สอย ฮาฮา
 บริเวณเรือนรับรองของ Permatang Parmpa
 ทำเนียบกษัตริย์ผู้ปกครองทั้งหมด 14 คน
 ห้องสำหรับทำกิจกรรมอย่างว่าเป็นห้องเล็กๆ
 โลงศพตั้งไว้ในบ้านแลดูน่ากลัว
 บ้านหลังใหญ่ย่อมมีครัวส่วนกลางหลายจุด
 ด้านข้างของPermatang Parmpa จะเห็นได้ว่าตัวบ้านยาวมาก
อาณาบริเวณบ้านยังคงมีเรือนหลังเล็กๆอีกหลายหลัง
 โรงตำข้าวขนาดใหญ่
โรงตำข้าวมีครกทั้งหมด 20 หลุม

ตอนต่อไปพายุฝนกระหน่ำหนักจนอดชมน้ำตกสวยและภูเขาไฟแห่งเมือง Berastagi

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น