วันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เขมรัฐตุงคบุรี เชียงตุง ตอนที่1 กว่าจะถึงเชียงตุง

         นี่นี่เธอไปเชียงตุงกันมั้ย  มันเป็นทริปที่น่าสนดีนะ ถ้าเราไปกันช่วงหลังปีใหม่อากาศคงดีมากๆ แล้วอีกอย่างนั่นคือแผ่นดินพม่า เป็นส่วนที่เราสามารถพูดภาษาไทยได้ และคนก้ไม่ค่อยได้ไปกันเท่าไร   นี่เป็นคำพูดเชิญชวนของเพื่อนสนิทเราผู้รักในการเดินทางท่องเที่ยวไปยังเมืองที่มีกลิ่นอายย้อนยุค หลังจากวันนั้นมาเราก็ลองหาข้อมูลจากรีวิวท่องเที่ยวจากเว็บอื่นๆ หาข้อมูลล่าสุดที่มีการโพสเพื่อดูวิธีการไปและการท่องเที่ยวที่นั่น ต่างคนต่างช่วยกันไปหา ก็พบว่ากระทู้รีวิวที่ทันสมัยที่สุดนั้นเป็นของปี 2551 เอ แล้วข้อมูลมันจะใช้ได้ไหมนี่  เพราะตอนหลังมีคนพูดให้ฟังว่าการเดินทางเข้าประเทศพม่าทางรถยนต์ยุ่งยากขึ้น หากจะเดินทางจะต้องมีไกด์ควบคุมนำทางไป 1 คนต่อกลุ่ม พวกเราไม่อยากถูกกักตัวและกักบริเวณในระบอบเผด็จการทหาร
      
                สุดท้ายพวกเราก็จองรถทัวร์ไปแม่สายกันล่วงหน้าเกือบ 2สัปดาห์ เพราะช่วงเวลาที่พวกเราทั้ง4ชีวิตไปกัน ตรงกับวันหยุดยาวช่วงตรุษจีนพอดี ได้ซื้อตั๋วล่วงหน้าทั้งหมด4ที่ เดินทางออกจากกรุงเทพฯช่วงเย็น ไปถึงแม่สายก็เช้าพอดี นี่เป็นทริปที่เกิดขึ้นโดยใช้เวลาในการเตรียมตัวน้อยมาก
            วันเดินทางเรารีบกลับบ้านแต่วันไปอาบน้ำแต่งตัวเพราะเราต้องเดินทางกันครึ่งค่อนวัน เดี๋ยวมันจะเปรี้ยวเค็มไปซะก่อนที่จะถึงพม่า  ทริปนี้เราตั้งไว้4วัน  ไปถึงสถานีขนส่งหมอชิตที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คนที่จะเดินทางกลับภูมิลำเนาตนเองที่ต่างจังหวัด อากาศคืนนั้นค่อนข้างอบอ้าว พอได้เวลารถออกพวกเราก็ขึ้นไปนั่งหลับกันบนรถ แต่มันก็หลับได้ไม่เต็มที่หรอก ต้องพยายามหลับ เพื่อเก็บแรงเอาไปใช้ในวันรุ่งขึ้นให้มากที่สุด
รถทัวร์ใช้เวลาเดินทางประมาณ 10 ชั่วโมงก็เดินทางมาถึงสถานีขนส่งแม่สาย ระหว่างทางก่อนที่รถจะถึงนั้นเราสังเกตเห็นผู้คนสองข้างทางล้วนแต่สวมเสื้อกันหนาว อากาศข้างนอกคงเย็นแน่ๆ เราคิด แล้วถ้าเราเดินทางไปถึงเชียงตุง มันมิหนาวแย่รึ  ทันที่ที่รถจอดเทียบท่าที่สถานี ประตูรถเปิดออกลมเย็นตีเข้าหน้าเย็นยะเยือก โอ้โหนี่เราหนีคลื่นความร้อนอบอ้าวจากกรุงเทพฯ มาเจอความเย็นยะเยือกที่แม่สายซะนี่
                พอก้าวลงจากรถได้เราก็แยกย้ายกันไปทำธุระส่วนตัวเข้าห้องน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน เสร็จสรรพก็ออกไปหาข้าวเช้ากิน เราทานกันแบบง่ายๆ ทานเสร็จแวะซื้อไก่ทอดกับข้าวเหนียวแถวหน้าด่านตุนเป็นเสบียงต่อ พอเก้าโมงก็ได้ฤกษ์เดินทางข้ามด่านไปทันที เราต้องเอาหนังสือเดินทางไปไว้ที่ด่านท่าขี้เหล็กฝั่งพม่าจนกว่าเราจะกลับ โดยไม่ต้องผ่านการแสตมป์ตราแต่ออกเป็นหนังสือผ่านแดนชั่วคราว (Boarder Pass) แทน ลักษณะจะเป็นเล่มพับครึ่งพร้อมกับติดรูปถ่ายสีหน้าตรงขนาด1นิ้ว ซึ่งเราจะต้องเตรียมไปจำนวน4ใบ ติดสมุดประจำตัว1ใบ นอกนั้นเขาคงเอาไปทำเป็นประวัติบันทึกการเข้าออก เราเสียค่าธรรมเนียมเหยียบแผ่นดินคนละ 150บาท รวมไปถึงค่าธรรมเนียมในการจ้างไกด์นำทางอีกวันละ 1000 บาท 3วัน รวมเบ็ดเสร็จ 3000บาท พอหารสี่ออกมารวมค่าเหยียบแผ่นดินตกคนละสองพันกว่าบาท แพงเหมือนกันนะ ที่ด่านจะมีทหารและเจ้าหน้าที่ตม. ท่าทางขึงขังแต่จริงแล้วเป็นมิตร  เราเจอเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองหญิงคนหนึ่งเป็นคนใจดี เธอเชื้อเชิญให้นั่งรอไกด์ก่อนไกด์กำลังจะเดินทางมาถึง ส่วนรถโดยสารที่จะไปเชียงตุงนั้น เที่ยวต่อไปออกประมาณเที่ยงใช้เวลาเดินทางประมาณ 4ชั่วโมงก็จะถึงเมืองเชียงตุง
หน้าตาหนังสือผ่านแดนเป็นแบบนี้ ไม่ต้องประทับตราพาสปอร์ตให้ยุ่งยาก
 ประตูต้อนรับสู่ดินแดนสามเหลี่ยมทองคำที่หลายท่านรู้จักเป็นอย่างดี
ตามทางเดินสู่ประเทศเมียนมาร์


                พวกเรามีเวลาเหลือเฟือในช่วงเช้า เลยตัดสินใจฝากสัมภาระไว้กับห้อง ตม. โดยต้องไม่ลืมที่จะปรับเวลานาฬิกาข้อมือให้มันช้ากว่าเมืองไทยประมาณครึ่งชั่วโมง แล้วไปเดินดูของในตลาดท่าขี้เหล็กกัน เนื่องจากยังเช้าอยู่ ร้านรวงต่างๆจึงเปิดน้อยมาก คนขายของที่นี่พูดไทยกันได้ทุกคนแต่อาจสำเนียงแปร่งหูไปบ้าง  เดินไปเจอะอาหารแปลกๆ ทั้งถั่วกวนแบบแขก ก๋วยเตี๋ยวแบบไทยใหญ่ ข้าวแรมฟืน บาเยีย ข้าวราดแกง ฯลฯ หน้าตาแตกต่างจากอาหารฝั่งแม่สายเลย เพราะใช้เนื้อสัตว์น้อยมาก เดินไปดูร้านขายซีดี หนังเพลง หมายตาของไว้ก่อนแล้วเดี๋ยวขากลับเราจะมาสอย  เราเดินดูของไปเรื่อยๆแบบไม่มีจุดหมาย ผ่านร้านขายของเลียนแบบแบรนด์ดัง ทั้งกระเป๋า ผ้าพันคอ และเสื้อผ้า จนเวลาประมาณ11โมง ก็เดินกลับกันมาที่ฝากของก็พบว่าไกด์มารออยู่แล้ว เค้าเป็นชายร่างสันทัดคน ตัวไม่สูงนัก หน้าตาคล้ายคนจีนผสมกับไทยใหญ่ เค้าแนะนำตัวเค้าชื่อแสนมุ้ง   จะเป็นไกด์ที่จะมาให้บริการนำเที่ยวเราเป็นเวลา 3วัน ตลอดทริปนี้
 รถสามล้อที่พาเราไปส่งที่สถานีเดินรถ เป็นรถรุ่นเล็ก 1คัน นั่งได้แค่สองคน
 จักรยานเป็นพาหนะหลักของเด็กๆ เมืองท่าขี้เหล็ก
สองล้อแบบพอเพียงมีให้เห็นทั่วไปในเมียนมาร์
                เราจะต้องนั่งรถสามล้อจากด่านท่าขี้เหล็กไปที่สถานีขนส่งท่าขี้เหล็ก ซึ่งหากออกไปประมาณ 10กิโลเมตร เค้าคิดในอัตราเหมาประมาณ 250บาทต่อเที่ยว เราแอบบ่นว่าทำไมแพงจัง เค้าเลยอธิบายว่าน้ำมันที่นี่ราคาสูงกว่าฝั่งไทยมาก  เป็นประสบการณ์แปลกใหม่ที่เราได้นั่งรถสามล้อแบกเป้ รถแล่นไปตามท้องถนนที่เต็มไปด้วยฝุ่นละอองจนบางครั้งต้องอุดจมูก อากาศเริ่มร้อนขึ้นบ้างแล้ว ไม่นานรถสามล้อก็พามาส่งถึงท่ารถ เราไปซื้อตั๋วรถทั้งหมด 5ใบรวมไกด์ไปด้วย ค่าตั๋วเดินทางคนละ 350บาท  ยังไม่ได้เวลาที่รถใหญ่จะออก เราเลยต้องกินเสบียงรองท้อง นั่นคือ ข้าวเหนียวไก่ทอดทานรองท้องไปก่อน

 รถขายผลไม้ข้างทาง มะม่วงดิบท่าทางจะเปรี้ยว

รถโดยสารที่จะพาพวกเราไปเมืองเชียงตุงจอดเทียบท่าอยู่
                

          พลันสายตาเราเหลือบไปเห็นร้านขายก๋วยเตี๋ยวข้างทางอยู่ มีผู้คนนั่งกินอยู่มากมาย เป็นโต๊ะเล็กๆกินแบบนั่งยองๆ มันก็น่าลองทานดูนะเดี๋ยวจะหาว่ามาไม่ถึง แล้วเราเลยไปสั่งก๋วยเตี๋ยว แบบพม่ามาทาน คนขายพูดภาษาไทยได้ เธอเล่าว่าเธอเป็นคนไทยใหญ่ไปทำงานอยู่พัทยาร่วม10ปี แล้วก็กลับมาทำงานในบ้านเกิดเธอเองคือท่าขี้เหล็ก พอเราถามเธอว่า แล้วอยากจะกลับไปทำงานในเมืองไทยอีกบ้างมั้ย เธอบอกว่าจะไม่กลับไปเมืองไทยอีกแล้วเพราะเหนื่อยมาก มาขายก๋วยเตี๋ยวที่นี่เหนื่อยน้อยกว่า

              
ระหว่างที่เธอลวกเส้นเราสังเกตเห็นเครื่องปรุงและผักเต็มไปหมด แต่ไม่ยักจะมีเนื้อสัตว์ มีแต่เต้าหู้และสิ่งที่มีลักษณะคล้ายกับเยลลี่ตัดเป็นก้อนสี่เหลี่ยมสีเหลืองบ้างสีม่วงบ้าง มาทราบทีหลังว่ามันทำมาจากถั่วหมัก บางแห่งเรียกว่าข้าวแรมฟืนนั่นเอง เราสั่งก็ก๋วยเตี๋ยวแบบแห้งน้ำขลุกขลิก เพื่อนสั่งแบบน้ำมาทาน แต่ละชามโรยผักมาเยอะเชียว ทุกชามจะใส่พริกและผงชูรสเป็นช้อนๆ มิน่าล่ะ เพื่อนเราพอตักเข้าปากไปแล้วทำหน้าไม่ถูกเลย เราเองก็เคยชินกับการใส่ผงชูรสอยู่แล้วเลยไม่มีปัญหา รสชาติของชามแห้งน้ำขลุกขลิกจะออกเค็มและเผ็ด ส่วนชามแบบน้ำรสจะอ่อนกว่า สรุปว่าทั้งข้าวเหนียวไก่ทอดและก๋วยเตี๋ยวเล่นเอาเราจุกไปเลย ค่าก๋วยเตี๋ยวคิดเป็นเงินไทยแล้วประมาณ 20กว่าบาทเอง
 ด้านซ้ายคือก๋วยเตี๋ยวแบบน้ำ ขวาคือแบบแห้ง ทุกชามรสจัดด้วยเครื่องปรุงและผงชูรส

                พอได้เวลาขึ้นรถพวกเราก็ขึ้นไปนั่งกันบนรถ รถโดยสารที่นี่จะไม่เปิดแอร์วิ่งลมโกรก รถราที่นี่จะแปลกอยู่อย่างหนึ่งคือเป็นรถพวงมาลัยขวาเป็นส่วนใหญ่แต่กลับขับชิดขวา คนละด้านกับฝั่งไทยแล้วอย่างนี้จะแซงได้อย่างไร งงเอากับเค้าสิ รถออกจากท่ารถได้สักพักก็วิ่งเข้าไฮเวย์และเสียค่าผ่านทาง แบบทางด่วนบ้านเราแต่ไม่มีทางยกระดับนะ  เจ้าหน้าที่เก็บเงินใส่เครื่องแบบทหาร พอเรายกกล้องจะถ่ายด่าน ไกด์แสนมุ้งรีบปรามทันทีบอกว่า ทางราชการเค้าห้ามถ่ายรูปทหาร ด่านตรวจต่างๆ รวมไปถึงสถานที่ราชการทุกประเภทไม่เช่นนั้นจะถูกยึดฟิล์ม ซ้ำร้ายกว่านั้นอาจจะยึดกล้องไปเลย พอผ่านด่านจ่ายเงินไปได้ไม่ทันไรรถก็แวะจอดที่ด่านตรวจ คราวนี้ทุกคนลงจากรถหมด ไกด์บอกพวกเราว่าไม่ต้องลง แล้วเค้าเอาหนังสือผ่านแดนชั่วคราวของพวกเราลงไปจัดการให้แทน ไกด์อธิบายว่าทุกคนที่นี่เวลาเดินทางออกไปนอกเมืองที่ตนอยู่จะต้องพกบัตรประจำตัวและลงทะเบียนที่ด่านเวลาไปตามเมืองต่างๆ แจ้งว่าเดินทางออกมาจากเมืองไหนและปลายทางจะไปเมืองไหนไปด้วยวัตถุประสงค์อะไร คล้ายกับการลงบันทึกตรวจคนเข้าเมือง หรือนี่คือการกำจัดสิทธิ์ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของประชาชนเพื่อควบคุมมิให้เดินทางมากนัก พวกเราเป็นชาวต่างชาติเลยได้นั่งอยู่บนรถ พอเหลียวมองไปนอกจากพวกเราสี่คนแล้วก็ไม่เห็นว่าจะมีชาวต่างชาติที่ไหนอีก สักพักใหญ่คนพม่าทั้งหมดก็ขึ้นรถและล้อหมุนต่อ
 แอบถ่ายด่านเก็บค่าผ่านทางพม่า งานนี้มีลุ้นว่าจะถูกยึดกล้องมั้ย

                รถออกวิ่งไปได้นานจนพวกเราหัวโยกหัวคลอนด้วยอิ่มจากมื้อเที่ยง บนรถมีคนพม่าพูดภาษาไทยโต้ตอบกันสำเนียงแบบทางเหนือ อ้อไม่ใช่สิ พวกเค้าเป็นชาวไทยใหญ่ และคนไทยที่เหลือในดินแดนรัฐฉานซึ่งเป็นเขตปกครองตนเอง บางคนก็พูดกันเป็นภาษาพม่า ทีวีบนรถเปิดละครพม่าให้ทุกคนบนรถได้ดูกัน เราฟังไม่ออก แต่เป็นละครแนวแม่ผัวลูกสะใภ้ ไม่ต่างจากบ้านเรามากนัก ดาราหญิงหน้าตาสวยคมผิวออกเหลือง แต่นัยน์ตาสวยมาก นี่เองที่เค้าเรียกว่าผิวพม่านัยน์ตาแขก ส่วนดาราชายผิวจะเข้มตาคมหน้าตาคล้ายคนอินเดียผมหยักศก ตัวสูงใหญ่แบบยุคมิตร ชัยบัญชาโน่น ละครได้สร้างความเพลิดเพลินบนรถถึงแม้เราจะฟังไม่ออกก็ตาม บางฉากก็สามารถชวนให้คนดูบนรถที่เป็นคนท้องถิ่นขบขันได้



ร้านค้าริมทางและชนกลุ่มน้อยตามรายทาง                   รถจอดแล้วแวะให้คนทำธุระ
                รถจอดแวะพักที่ร้านค้าข้างทาง ให้ผู้โดยสารได้ลงไปทำธุระส่วนตัว ส่วนใหญ่จะแวะกินข้าวกัน ร้านข้าวแกงพม่าคนแน่นเชียว ร้านก๋วยเตี๋ยวก็ไม่แพ้กัน แลเห็นสาวพม่านั่งกินแป้งราดน้ำพริกอยู่ท่าทางน่าอร่อย พวกเรายังอิ่มกันอยู่เลยซื้อน้ำและซื้อผลไม้ขึ้นไปทานกันบนรถ เราเอาอ้อยขึ้นมาเคี้ยว มันช่างสดชื่นเสียจริงช่วยผ่อนคลายความเหนื่อยล้าที่เราอดนอนมาเมื่อคืน แล้วรถก็เดินทางต่อไป ระหว่างทางก็มีคนลงบ้าง  สองข้างทางยังคงเป็นเส้นทางธรรมชาติ ถนนเป็นแบบสองเลนมีรถวิ่งสวนไปมาน้อย อากาศยังบริสุทธิ์อยู่มาก แลเห็นวิถีชุมชนที่เขาอยู่กันแบบเรียบง่าย การปลูกบ้านเรือนจะคล้ายคลึงกับภาคเหนือ มีชนกลุ่มน้อยปลูกบ้านอยู่ตามหุบเขา ประมาณ 4โมงกว่า รถก็พาพวกเรามาถึงเมืองเชียงตุง
สาวเมียนมาร์กำลังทานแป้งราดน้ำพริกอย่างเอร็ดอร่อย

รถขายผลไม้ที่เราซื้ออ้อยไปทานกันบนรถ












ตอนหน้าเราจะพาไปย่ำราตรีเมืองเชียงตุงกันนะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น