วันพุธที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เขมรัฐตุงคบุรี เชียงตุง ตอนที่7 อลังการวัดใหญ่ วัดมหาเมียดมุนี

              รถสามล้อพาเราลงจากดอยเหมย พวกเราต้องคอยประคองขวดไวน์สามขวดที่เราซื้อมาจากร้านอาหารไม่ให้กระทบกันมาก ไม่งั้นเดี๋ยวจะอดกินคืนนี้ ขาลงรถแล่นได้ไวกว่าขาขึ้นนักสงสัยว่า น้ำหนักทั้งรถและคนคงจะช่วยถ่วงไปตามแรงโน้มถ่วงของโลกให้ลงได้ไวมากขึ้น ระหว่างทางรถแล่นผ่านหมู่บ้านชาวเขา ไกด์ถามพวกเราว่าจะแวะไปชมวิถีชีวิตชาวเขาตามหมู่บ้านมั้ย เราเห็นว่าจากถนนจะต้องเดินลงเขาไปอีกเยอะ แถมตอนเดินขึ้นกลับมาไม่อยากนึกภาพเลย คงจะแฮกน่าดู พวกเราปฏิเสธด้วยเกรงว่าจะไปเก็บภาพสวยๆที่วัดมหาเมียดมุนีไม่ทัน ว่าแล้วเราก็บอกคนขับให้รีบบึ่งรถลงเขากลับให้ไวเลย
            
                ขากลับไม่มีการราดน้ำเพื่อลดความร้อนของเครื่องยนต์เลยสักนิดแถมยังใช้เวลาน้อยกว่าด้วย ไม่ถึง6โมงเย็นพวกเราก็เดินทางมาถึงวัดมหาเมียดมุนี ในยามอาทิตย์อัสดงพอดี แสงสะท้อนยอดสีทองจากวัดช่างสวยงามยิ่งนัก น่าเสียดายที่พวกเราลงมาจากดอยเหมยช้าเกินไป กู่เจ้าฟ้าเชียงตุงจึงปิดไปแล้ว เข้าชมภายในไม่ได้เลยถ่ายรูปกันด้านนอกแทน วัดมหาเมียดมุนีเป็นวัดหลวงคือวัดที่ใหญ่ที่สุดกลางเวียงเชียงตุง และมีสถาปัตยกรรมอุโบสถแบบล้านนาที่สวยงามที่สุด วัดตั้งอยู่บนวงเวียนล้อมรอบไปด้วยถนน เราเดินเข้าไปนมัสการพระพุทธรูปภายใน มีชาวเชียงตุงมานั่งสมาธิอยู่2คน นอกจากนั้นก็แวะเวียนมาสวดมนต์ไหว้พระ ดูจากอายุคนเข้าวัดยังไม่มากเลย คงจะดีหากวัยรุ่นไทยเอาแบบอย่างบ้าง คนที่นี่เคร่งครัดในพระพุทธศาสนามากกว่าคนไทย เราชมจิตรกรรมฝาผนังที่เขียนด้วยทองคำบนพื้นผนังสีแดง เป็นนิทานชาดกเป็นตอนๆ เราอ่านภาษาเค้าไม่ออก
 ตู้รับบริจาคทำมาจากไม้สลักอย่างสวยงาม
 กู่เจ้าฟ้าเชียงตุง น่าเสียดายที่พวกเราเข้าชมไม่ทัน
 วัดมหาเมียดมุนียามอาทิตย์อัสดง
 บริเวณกู่เจ้าฟ้ายามอาทิตย์รอนแรม
 ชาวบ้านเข้ามาสวดมนต์ทำวัดยามเย็น
หลังคาแบบย่อมุมแบบล้านนา 

สักพักเราเดินออกมาข้างนอก แลเห็นพ่อค้าขายขนมบาเยียเตาเล็กๆน่ารักเชียว กำลังทอดรอลูกบาเยียสุก ความจริงบาเยียเป็นอาหารว่างมาจากอินเดีย แต่กลับพบเห็นได้ทั่วไปในพม่า เรานั่งรถต่อ ไกด์บอกว่าจะพาเราไปชมวัดที่เป็นสถาปัตยกรรมแบบพม่าแท้บ้าง พวกเราสนใจเลยให้เขาพาไป รถจอดที่วัดหลังใหญ่หลังหนึ่งสร้างก่อปูนอย่างดี แต่ดูเคร่งขรึมและไม่อ่อนช้อย มีการประดับประดาหน้าบัน เสา ซุ้มระเบียงตามแบบศิลปะพม่า  วัดพม่ามีทหารอยู่ผลัดเวรเฝ้าวัดประมาณ5คน ไม่มีชาวเชียงตุงเข้ามาทำบุญหรือกราบไหว้ ผิดกับวัดแบบล้านนาที่ไม่ต้องมีทหารมาเฝ้าเวรยาม แต่มีคนมาทำบุญตลอดทั้งวัน
 วัดแบบสถาปัตยกรรมพม่าหนึ่งเดียวและแห่งเดียวในเมืองเชียงตุง
คนพม่าเชื้อสายอินเดียก้มหน้าก้มตาทอดบาเยียเตาเดียว

ตอนหน้าจะพาไปชิมอาหารอินเดียกับพาไปเที่ยวราตรีนี้ที่เชียงตุงกันนะจ๊ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น