วันอังคารที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เขมรัฐตุงคบุรี เชียงตุง ตอนที่4 เลียบหนองตุง ชมพระชี้นิ้ว แลบ้านเจ้านายเก่า

           พวกเราทั้งสี่กลับจากตลาดเพราะใกล้เวลาที่ไกด์จะพาไปชมเมืองเชียงตุงแล้ว แสงแดดเริ่มแรงขึ้น เราเดินสวนทางกับชาวเชียงตุงทั้งวัยสาวและวัยชรา เป็นภาพแห่งความแตกต่างที่อยู่กันกลมกลืนของแต่ละชนชาติ เรากลับมานั่งรอไกด์ที่หน้าเกสต์เฮ้าส์ เลยได้สนทนากับนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ 4 คน ที่มาพักที่นี่ เค้าบอกว่าเค้ากำลังจะเดินทางไปมัณฑะเลย์ ไปทางเครื่องบินโดยขึ้นที่สนามบินเชียงตุง นั่นก็เป็นอีกเมืองที่น่าไปแต่ต้องบินภายในประเทศ ซึ่งค่าตั๋วแพงมากเพราะมีสายการบินเดียวคือ Air Bakan (แอร์บากัน) เป็นสายการบินผูกขาด ที่เกสต์เฮ้าส์มีบริการอาหารเช้าฟรีแค่กาแฟ นอกนั้นก็จะเป็นอาหารฝรั่งแบบอเมริกันซึ่งเราจะต้องสั่ง เค้าจะมาคอยบริการให้
 บรรยากาศบนท้องถนนเมืองเชียงตุงยามเช้า
ระหว่างนั่งรอไกด์กับรถสามล้อมารับหน้าโรงแรมที่พัก
 เด็กน้อยวิ่งข้ามถนนในยามเช้า
                ไกด์มาตรงเวลาพอดีพร้อมกับสามล้อคันเดิมและมีผู้ติดตามอีกคนเป็นชาวพม่าพูดไทยไม่ได้ ส่วนคนขับรถเด็กหนุ่มพูดภาษาไทยได้ชัดเจน  จุดแรกที่เราไปกันคือพระพุทธรูปชี้นิ้ว รถพาพวกเราขึ้นเนินไปเพราะวัดตั้งอยู่บนเนินสูง อากาศเย็นจับใจ เป็นพระแบบศิลปะพม่าหน้าขาวและเรียวคิ้วสวยลักษณะยืนชี้นิ้วไปทางเมืองเชียงตุง แลเห็นเณรน้อยกำลังตักทรายก่อสร้างอยู่ด้านล่างของวัดและเห็นอุบาสิกากำลังตั้งใจกวาดลานวัดอยู่ ที่นี่เค้าถือว่าหากใครได้กวาดลานวัดผู้นั้นจะได้บุญมาก ใครเล่าจะรู้ว่าประเทศที่อยู่ภายใต้การปกครองแบบเผด็จการทหาร ผู้คนจะเคร่งศาสนามากขนาดนั้น ไกด์บอกว่าที่นี่คดีอาชญากรรมน้อยมาก เพราะการปกครองของทหารเข้มงวดมากๆ  

               
ความงดงามของพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองเชียงตุงเป็นปางชี้นิ้วซึ่งหาดูได้ยากมาก
                                                  
สาวพม่ากวาดลานวัดซึ่งเป็นความเชื่อของวิถีชาวพุทธที่นั่นว่าจะได้บุญมากๆในการอุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนา
ด้านข้างของพิพิธภัณฑ์ซึ่งแสดงเครื่องแต่งกายของเหล่าชนกลุ่มน้อยต่างๆในพม่า


 อีกมุมมองหนึ่งของพระปางชี้นิ้ว
เณรน้อยช่วยกันโกยทรายเพื่อนำไปบูรณะวัด

                ด้านข้างของพระชี้นิ้วเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ชาติพันธุ์ แต่ปิดประตูไว้ เราเลยไปขอให้คนเฝ้าเปิดให้หน่อย ที่นี่มีคนเฝ้าคนเดียว เค้าเปิดให้เราเข้าไปชมฟรี ภายในมีหุ่นแสดงการแต่งกายประจำชาติต่างๆของชนกลุ่มน้อยที่มีในพม่าทั้งหมด ภายในพิพิธภัณฑ์นอกจากจะมีหุ่นแสดงเครื่องแต่งกายแล้ว ยังมีเครื่องถมทองสมัยโบราณเครื่องเงินและพระธาตุออกแสดงด้วย











ส่วนหนึ่งของเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่นำมาแสดงในพิพิธภัณฑ์
 เครื่องเงินโบราณของพม่าที่ใช้ในพิธีต่างๆ
 เครื่องภาชนะถมทองแบบโบราณวัสดุจะทำมาจากไม้และนำมาถมทอง
 
                 ออกจากวัดแล้วเราเดินทางไปชมวิวหนองตุงกันต่อ ไกด์พานั่งรถขึ้นเนินไปอีกเนินซึ่งสูงกว่าเนินแรก
 เค้าบอกว่าจะพาไปจุดชมวิวหนองตุงที่สวยที่สุด เค้าพาเราเดินเข้าไปในบ้านคนหลังหนึ่ง เจ้าของบ้านให้การต้อนรับเป็นอย่างดี สิ่งที่ปรากฏตรงหน้าเราคือ ชานบ้านที่เปิดโล่งไปสู่หนองตุงแลเห็นเมืองเชียงตุงจากมุมสูงทำให้พวกเราอดไม่ได้ที่จะเก็บภาพทิวทัศน์เหล่านั้น เหมือนเมืองเชียงใหม่ย้อนหลังไปราว50ปีที่แล้ว 

 หนองตุงเป็นสระที่ขุดขึ้นไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
 บ้านเรือนที่ปลูกรายรอบหนองตุงล้วนน่าอยู่ยิ่งนัก
รถบรรทุกไม้เก่าคร่ำคร่าแต่ก็ยังใช้งานแล่นได้อยู่
                บรรยากาศวิวบนจุดชมวิว แลเห็นทิวทัศน์ทั่วเมืองเชียงตุง และถนนย้อนยุคไปเมื่อ 50ปีที่แล้ว


                จากจากนั้นเรานั่งรถไปที่วังเก่า ชื่อวังเก่าเจ้าบุญวาส  รถพาเราไปตามถนนแคบๆ จนถึงบ้านตึกเก่าๆหลังหนึ่ง เป็นบ้านก่ออิฐแบบโบราณโชว์เนื้ออิฐเปลือย บางส่วนก็ทาสีขาว หน้าต่างแบบผู้ดีอังกฤษโบราณ หลังคาแบบบ้านโบราณ เป็นบ้านที่ได้รับอิทธิพลแบบอังกฤษเต็มๆ สร้างในสมัยที่เป็นอาณานิคมอังกฤษเป็นที่อยู่ของเจ้านายชั้นสูงสมัยนั้น เราได้เจอกับลุงเฝ้าตึกคนหนึ่งอายุ84ปี เค้าเล่าให้ฟังด้วยภาษาคำเมืองว่าเจ้านายเขาลี้ภัยไปอยู่อังกฤษนานแล้วด้วยสาเหตุจากการเมือง ปัจจุบันอายุก็มากแล้ว ลุงเปิดให้เราเข้าไปชมด้านใน ยังเก็บของทุกอย่างไว้เหมือนสมัยที่เจ้าของบ้านอยู่ มีการจัดเรียงอย่างเป็นระเบียบ โดยเฉพาะห้องรับแขกที่เป็นที่อ่านหนังสือมีการจัดวางได้น่ารักมากๆ เห็นแล้วนึกถึงร้านกาแฟหลายๆที่ในบ้านเราที่ชอบจัดองค์ประกอบร้านให้เก๋ไก๋และมีแนวทางเป็นของตนเอง  เราเดินชมภายในบ้านแล้วเราก็ออกมาข้างนอกที่เป็นอิฐเปลือย เห็นแล้วชวนให้นึกถึงละครชื่อดังสมัยก่อนเรื่อง บ่วงบรรจถรณ์ ที่ชาคริตเล่นคู่กับมาช่าที่มีการถ่ายทำจริงที่เมืองเชียงตุงเลย

 ภายในวังเก่าเจ้าบุญวาสยังคงร่มรื่นตกแต่งด้วยพรรณไม้สวยงาม
 คุณลุงวัย84ปี ผู้เฝ้าบ้านและนำชมบ้านเราให้ค่าทิปแกไปพอสมควร
 ข้าวของเครื่องใช้ภายในคุณลุงยังคงสภาพเดิมไว้เฉกเช่นวันที่นายลี้ภัยไป
 ด้านข้างของอาคารเป็นอิฐเปลือยสีแดงคงความเป็นอังกฤษไว้อย่างเหนียวแน่น
 ชีวิตสุดท้ายที่ยังต้องดำเนินต่อไปภายใต้ระบอบการปกครองแบบเผด็จการทหารพม่า
 วังเก่าเจ้าบุญวาสเมื่อมองจากนอกรั้วถนนด้านนอก
                จากนั้นเราออกไปที่วัดจอมคำ      เราเดินลงเนินไปเรื่อยๆ เข้าไปภายในวัด วัดพม่าจะเน้นมีหงส์อยู่ที่หน้าบัน และมีสิงโตคอยปกปักรักษาวัดเป็นการตกแต่งแบบล้านนา ใช้ไม้สักสร้างทำบานประตูและเสาในวัด มีจิตรกรรมภาพวาดฝาผนังแบบพม่า และบนเพดานอุโบสถก็มีการประดับตกแต่งอย่างสวยงาม สิ่งที่ชอบมากที่สุดคือตาลปัตรพระเทศน์ทำมาจากไม้แกะเป็นรูปนกยูงประดับกระจกสีและเปลือกหอยมุกงดงามมาก เจดีย์ด้านนอกมำเป็นเจดีย์ย่อมุมสีทองเหลืองอร่ามตามศิลปะแบบล้านนามองเห็นได้แต่ไกล เราอยู่ที่นี่ไม่นานก็จะต้องออกไปดอยเหมยกันต่อแล้ว เพราะนี่ก็ 11 โมงแล้ว

สิงโตตามความเชื่อของล้านนาว่าเป็นผู้ปกปักรักษาวัด
 พระพุทธรูปสร้างตามศิลปะแบบพม่าจะมีใบหน้าอันสวยงาม

ความงามวิจิตรของเพดานอุโบสถจะประดับด้วยกลีบบัวและห้อยตุง 
 ตาลปัตรไม้สักสลักเป็นรูปนกยูงประดับด้วยมุกและปีกแมลงทับงดงามมาก
 จิตรกรรมบนเสาแบบล้านนา
 ตุงขนาดต่างๆโรยห้อยลงมาจากเพดานอุโบสถ
 ภายนอกหอไตรเป็นสถาปัตยกรรมแบบล้านนา
 เจดีย์ย่อมุมแบบล้านนาทองอร่ามแลเห็นเด่นชัดจากเบื้องล่าง
 สถูปเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ
จิตรกรรมฝาผนังเล่าพุทธประวัติเป็นภาษาพม่าทั้งหมด

ตอนหน้าอย่าพลาดพบกับเรื่อง  กว่าจะถึงดอยเหมย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น