วันพฤหัสบดีที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2553

เที่ยวสิงคโปร์ในราคาประหยัด ตอนที่2 ลองนั่ง Airport Link เหยียบแผ่นดินกับอาหารมื้อแรก

ตั๋วเครื่องบินเราออกเวลา 9.40 น. เราควรจะไปถึงสนามบินก่อนประมาณ2ชั่วโมงเพื่อเช็คอิน แล้วเราจะไปสนามบินสุวรรณภูมิให้ทัน7.40น. ล่ะ เช้าและการจราจรในกรุงเทพฯทุกท่านก็ทราบกันดีอยู่ เราจัดกระเป๋าได้2ใบ ใบหนึ่งเป็นเป้ใส่กล้อง อีกใบเป็นกระเป๋าเสื้อผ้า เราทราบมาว่ารถไฟเชื่อมไปสนามบินสุวรรณภูมิ หรือที่เราเรียกกันว่า Airport Link ได้เปิดให้ทดลองใช้งานแล้วโดยในช่วงเช้าจะเปิดตั้งแต่7.00-10.00 น. เราเลยอยากลองนั่งดู เราลงรถไฟฟ้าที่สถานีพญาไทเดินเลี้ยวซ้ายเข้าสถานี Airport Link พญาไท รถเค้าออกทุกๆ15นาทีทุกเที่ยวให้บริการฟรีจนกว่าจะมีการเปิดอย่างเป็นทางการ ในเดือนสิงหาคมประมาณนั้น เราไปรับตั๋วฟรีที่เคาน์เตอร์ขายตั๋ว เดินผ่านช่องขึ้นบันไดเลื่อนไป  เรายืนรอรถไม่นานรถก็วิ่งมาหน้าตาขาวสะอาดสะอ้านประตูรถเปิดออก เราเดินเข้าไปเลือกที่นั่งแบบหันหน้าเข้าหากัน ประตูปิดเสียงดังสนั่นแถมยังเลื่อนปิดอย่างรวดเร็วด้วย เหมือนประตูรถเมล์เลย  จังหวะออกตัวกรชากแรงใช้ได้หลายคนตัวเอนเอียงต้องหาที่ยึดเหนี่ยว ภายในแอร์เย็นฉ่ำ ผู้ใช้บริการยังน้อยอยู่คงยังไม่ทราบกระมัง แต่ก็มีคนนั่งไปทำงานบ้างแล้ว
 ตั๋วฟรีที่เปิดให้บริการเพียงเดือนเดียวเท่านั้น
โฉมหน้ารถไฟฟ้า Airport Link


                รถไฟ Airport Link พาเราไปถึงสนามบินใกล้ๆ8โมง ใช้เวลาใกล้เคียงกับการนั่งแท็กซี่ไปแต่ประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้เยอะ รถมุดดินลงไปสิ้นสุดที่ชั้นใต้ดินของนามบิน เราขึ้นชั้นบนไปที่เคาน์เตอร์เช็คอินของเจ็ทสตาร์ เจ้าหน้าที่เอาใบพริ้นท์เที่ยวบินของเราไปออกเป็นตั๋วแข็งให้ แล้วเราก็ผ่านการเช็คกระเป๋าเข้าสู่ภายในดิวตี้ฟรี  เราเดินดูของได้สักพักใหญ่ก็ไปนั่งรอที่ Gate เพราะมันได้เวลาที่เค้าจะเรียกขึ้นเครื่องแล้วสิ แลเห็นนกเหล็กของเจ็ทสตาร์ลำขนาดย่อมจอดเทียบงวงอยู่
เจ้านกยักษ์แห่ง JetStar จุผู้โดยสารประมาณ 200ท่าน
นิตยสารมีไว้ให้ผู้โดยสารอ่านระหว่างรอเครื่อง
            เครื่องออกล่าช้าจากเดิมกลายเป็นออก 10โมง พนักงานต้อนรับบนเครื่องมีความหลากหลายมาก มีทั้งเอเชี่ยนหน้าหมวย ไปจนถึงอินเดียนผิวแทน แต่ไม่ยักมีแหม่มสาวเป็นแอร์ ทั้งหมดเป็นคนเอเชียล้วนๆ แต่ก็ให้บริการอย่างเต็มที่ไม่แพ้กัน พวกเธอเลื่อนรถเข็นอาหารมาเสนอเพราะราคาตั๋วไม่รวมมื้ออาหาร เที่ยวบินนี้ใช้เวลาสองชั่วโมงเราอดไม่ได้ที่จะม่อยหลับไป จนเครื่องใกล้จะร่อนลงนั่นแหละเราจึงตื่นจากภวังค์มาอีกครั้ง เป็นคนหลับง่ายมันก็ดีเช่นนี้แล
                เจ้านกยักษ์จวนจะร่อนลงแตะรันเวย์ แลเห็นอาคารตึกระฟ้าอยู่เป็นกระจุกและม่านหมอกสีเทาลอยอยู่เหนือยอดตึกเหล่านั้น นี่มันหมอกหรือควัน หรือมลพิษที่เมืองใหญ่ๆพึงมีกันนี่ เหลียวไปอีกฝั่งของช่องแคบสิงคโปร์ซึ่งเป็นเมืองยะโฮร์บาห์รูของมาเลเซียนั้น แลเห็นแต่ป่าไม้และสวนปาล์มน้ำมันสลับกันไป มีพื้นที่สีเขียวอย่างชัดเจน เป็นความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงเพียงแค่ข้ามแผ่นน้ำ
 บันไดเลื่อนที่สูงเท่ากับตึกสี่ชั้นของสนามบินที่ Terminal2
 บริเวณทางลงไปยังจุดเชื่อมต่อรถใต้ดิน MRT

                นกเหล็กร่อนลงจอดอย่างปลอดภัยที่สนามบินชางงี (Changi Airport) ผู้คนต่างแย่งกันลงจากเครื่องให้เร็วที่สุด ไม่เข้าใจจะรีบร้อนไปใย  พวกคุณก็ต้องไปเข้าแถวรอที่ตรวจคนเข้าเมืองอยู่ดี เราสะพายเป้เดินไปถึงช่องด่านตรวจคนเข้าเมือง บุคลิกของเจ้าหน้าที่ตม. เป็นสากลโลกคือจะเคร่งขรึมไร้อารมณ์ แต่ที่นี่ท่าทางจะขึงขังมากเป็นพิเศษ คอยตรวจตราสิ่งที่ผิดกฎหมาย เพราะที่นี่กฎหมายด้านยาเสพติดนั้นรุนแรงมาก หากขนสิ่งเสพติดเพียงนิดเดียวก็ถึงขั้นประหารชีวิตกันเลยทีเดียว  เราเดินออกจากด่านตรวจก็ตรงรี่ไปที่ Singapore Visitor Center อันเป็นแหล่งรวมข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวรวมไปถึงแผนที่เดินทาง เรารีบไปหยิบแผนที่รถไฟฟ้ามาทันทีด้วยแผนที่ที่เรานำไปเป็นแผนที่ปี2550 สมัยที่กำลังสร้างสาย Cicle Line ยังไม่เสร็จ แต่ปัจจุบันสร้างเสร็จหมดทุกสายเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายรอบแล้ว เราปรับนาฬิกาให้เร็วขึ้น 1ชั่วโมง ซึ่งเวลาท้องถิ่นตอนนี้คือบ่ายโมงครึ่งแล้ว เราต้องหาเสบียงใส่ท้องเสียหน่อย ครั้นจะออกไปทานนอกสนามบินก็ขี้เกียจหาร้านพาลจะโมโหหิวไปเสียก่อน  เรามาหยุดที่ร้านฟาสต์ฟู้ดขายอาหารพื้นถิ่นพวกก๋วยเตี๋ยว เราสั่ง Laksa อ่านว่า หลักซา มาทาน1ชาม ราคา $3.90 ราคาไม่แพงเกินไปเมื่อเทียบกับปริมาณอาหารที่เท่ากับก๋วยเตี๋ยวบ้านเราถึงสองชาม ไอ้เจ้าหลักซาหน้าตาคล้ายก๋วยเตี๋ยวแกงแบบแขกผิดกันตรงที่ว่าเค้าไม่ใส่เนื้อสัตว์ ใส่ไข่ต้มผ่าครึ่งกับเต้าหู้แทน น้ำแกงเป็นกะทิใช้พริกแกงแดงมีไอเผ็ดออกมาเล็กน้อย เราทานจนเกลี้ยงชามเติมพลังชีวิตไปได้ถึงดึกเลยทีเดียว
Laksa ก๋วยเตี๋ยวแกงประจำชาติชาวลอดช่อง เผ็ดร้อนด้วยเครื่องเทศ

ตอนต่อไปเราจะพาไปเช็คอินเข้าที่พักกันนะจ๊ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น