สิ่งแรกที่เราชาวแบกเป้จะต้องทำคือการหาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศที่จะไปนั้นให้มากที่สุด เพื่อจะได้ไม่ถูกเชือดคาเขียง และจะได้ไม่มึนโฮ หรือหลงเอ๋อตามสถานที่ต่างๆ เราชาวแบกเป้ต้องมีสติ มิฉะนั้นสตางค์อาจหายวับไปจากกระเป๋าได้จากความตั้งใจของผู้หวังดี (หวังฟัน) ซึ่งในสมัยนี้มีผู้มาเขียนรีวิวเกี่ยวกับฟิลิปปินส์เป็นภาษาไทยน้อยมาก ที่ดังๆหน่อยจะมีของพี่วุฒิและพี่เคท ส่วนฉบับภาษาอังกฤษนั้นหาอ่านได้ทั่วไป แต่ต้องแปลเอาเอง อันดับต่อมาคือการจองตั๋วเครื่องบิน มีสายการบินหลายสายที่ให้บริการทั้งการบินไทยและฟิลิปปินส์แอร์ไลน์เจ้าเก่า ที่บินตรงระหว่างกรุงเทพฯและมะนิลามาเนิ่นนานแล้วแต่ราคาค่อนข้างสูง นอกจากนั้นยังมีแอร์เอเชียแต่ต้องไปขึ้นที่กัวลาลัมเปอร์ ครั้งนี้เราเลือกสายการบินน้องใหม่คือ สายการบินเซบูแปซิฟิก ทิ่เปิดเที่ยวบินตรงใหม่ระหว่าง กรุงเทพฯ-คลาร์ก ราคารวมเริ่มต้นที่1190 และกรุงเทพฯ-มะนิลา ราคารวมเริ่มต้นที่ 1590บาท เลยเกิดความคิดว่า เราน่าจะไปได้นะ ว่าแล้วก็ลองเลือกดู เราเลือกบินตรงมะนิลา เพราะไม่อยากต่อรถเข้าเมืองมะนิลาที่สนามบินคลาร์ก Clark International Airport ซึ่งใช้เวลามากกว่า2ชั่วโมง ในการเดินทางเข้ากรุงมะนิลา หากบินตรงลงมะนิลาเครื่องก็จะนำไปลงที่สนามบิน Ninoy Aquino อ่านว่า “นินอย อะคิโน่” ตั้งตามชื่ออดีตผู้นำฟิลิปปินส์ ซึ่งสนามบินจะใช้ตัวย่อว่า NAIA
เราเลือกวันที่จะเดินทางไปฟิลิปปินส์ เห็นว่า4วันน่าจะเพียงพอต่อการเดินทางในมะนิลาทั้งหมด เลยเลือกเดินทางวันพฤหัส กลับวันอาทิตย์ ผลปรากฏว่าเราได้ตั๋วเดินทางวันที่7 ตุลาคม 2553 เวลาตีหนึ่ง ไปถึงที่มะนิลาประมาณตีห้า (เวลาที่นั่นเร็วกว่าไทย1ชั่วโมง ) และขากลับวันที่ 10ตุลาคม 2553 เวลาสามทุ่ม มาถึงกรุงเทพฯห้าทุ่ม ของสายการบินเซบูแปซิฟิก สามารถเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ http://www.cebupacificair.com/
ได้ตั๋วโปรโมชั่นรวมภาษีสนามบินทุกอย่างแล้ว รวมอยู่ที่4000บาท ถึงแม้จะแพงไปนิดแต่ก็คุ้มค่ากับการเดินทางไปเปิดหูเปิดตากับเมืองแปลกและประเทศที่คนไทยเค้าไม่ค่อยไปกัน
อันดับต่อไปคือการแลกเงิน แนะนำให้ควรแลกเงินก่อนไปเที่ยวประเทศต่างๆ ทุกประเทศ ไม่ควรไปแลกในประเทศนั้นๆ เพราะเราอาจไม่รู้สถานที่แลก และอาจต้องแลกในอัตราที่แพงกว่าปกติอีกด้วย เงินดอลลาร์สหรัฐก็สามารถใช้ได้ที่ฟิลิปปินส์เช่นเดียวกัน แต่เค้าจะทอนมาเป็นเงินเปโซ อัตราแลกเปลี่ยนระหว่างเงินไทยกับเงินฟิลิปปินส์อยู่ที่ 1เปโซ เท่ากับ 0.7บาท ตัวย่อของสกุลเงินคือ PHP ย่อมาจาก Philippines Peso ที่โน่นค่าเงินจะต่ำกว่าบ้านเรา และค่าครองชีพโดยรวมก็ถูกกว่า ดังนั้นเราสามารถกินได้เต็มที่ไม่ต้องประหยัดเรื่องกินนัก
ย่านมากาติเป็นย่านธุรกิจ ค่าครองชีพที่นี่จะสูงกว่าย่านอื่นๆ
ย่านปารานันย่า (Paranaque) ที่พักถูกแต่เต็มไปด้วยแหล่งเสื่อมโทรม
ย่านพาไซ (Pasay City) รถติดมาก
ย่านมะนิลาเบย์ ที่พักก็แพงเช่นกันเพราะอยู่ติดทะเล
ต่อไปเรื่องที่พัก อย่างที่บอกไว้ตั้งแต่ตอนต้น หากคุณไปเมืองมะนิลา ไม่จำเป็นต้องจองล่วงหน้านานๆ เพราะไม่ใช่เมืองท่องเที่ยวโดยตรง มีโรงแรมเหลือเฟือให้พัก ขอเพียงให้รู้จักย่านที่จะพักเพื่อที่จะได้บอกแท็กซี่ได้ถูกว่าจะไปไหน ถ้าต้องการที่พักที่มีระดับ และความปลอดภัยสูง แนะให้ไปพักย่านมากาติ (Makati ) ราคาจะเริ่มต้นที่900 บาทขึ้นไป เพราะที่นั่นคือย่านธุรกิจ หากพักย่าน Ermita ที่อยู่ใกล้ Manila Bay ล่ะก็จะประมาณ 600บาทขึ้นไป หากเป็นย่าน Pasay ราคาก็จะถูกลงอีก เพราะคล้ายกับย่านดินแดงของบ้านเรา ราคาก็จะไม่ถึงพันบาท แต่ถ้าคุณจะไปพักร้อนตามเกาะที่ขึ้นชื่อเช่น เซบู (Cebu) ปาลาวัน (Palawan ) หรือ บอราเคย์ (Boracay) ที่เป็นชายหาดที่สวยงามที่สุดและขึ้นชื่อล่ะก็ คุณอาจต้องจองที่พักล่วงหน้า และค่าที่พักย่อมไม่ต่ำกว่าสามพันบาท ราคาแพงใกล้เคียงกับโรงแรมแถวกระบี่ ภูเก็ตเลย
นี่แหละโรงแรมที่แพงที่สุดและดีที่สุดในมะนิลา Manila Hotel ตั้งอยู่ติดกับอินทรามูรอส
โรงแรมลอยน้ำที่ดัดแปลงจากเรือ ค่าห้องแพงระยับริมอ่าวมะนิลาเบย์
โรงแรมเพนนินซูล่าที่เป็นมาตรฐานสากลทั่วโลก ย่านมากาติ
ตอนต่อไปพบกับ การเหินฟ้าสู่กรุงมะนิลาและการเข้าที่พักตั้งแต่เช้ามืด
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น